3 Min

รู้ไหมโลมาฉลาดระดับจับหมึกยักษ์มา “ประกอบอาหาร” ได้

3 Min
1482 Views
05 Jul 2021

ชอบกิน หมึกยักษ์ ไหมครับ?

หมึกยักษ์เป็นอาหารที่มีเนื้อสัมผัสเฉพาะพอสมควร และถือเป็นวัตถุดิบระดับ ปราบเซียน ในการแข่งทำอาหาร เพราะมัน ปรุงรส ยากมาก

อย่างไรก็ดี มันก็เป็นแหล่งโปรตีนที่ดีมากๆ ดังที่มนุษย์หลายๆ วัฒนธรรมก็จับมันมาทำเป็นอาหารปกติ

ซึ่งในบางวัฒนธรรมก็มีการกินหมึกยักษ์แบบเป็นๆ ดังเช่นเกาหลีใต้ และหลายคนก็อาจเคยเห็นคลิปคนเกาหลีใต้กินหมึกยักษ์เป็นๆ ทั้งตัวอยู่บ้าง

แต่รู้ไหมครับว่า จริงๆ การกินแบบนี้อันตรายมาก เพราะถ้ากินไปซี้ซั้ว หมึกอาจติดคอตายได้ เพราะบริเวณหนวดมันมีความสามารถในการดูดพื้นผิวสารพัดได้แน่นมากๆ และนั่นรวมถึงคอด้วย

พูดง่ายๆ คือกินเข้าไปน่ะได้ แต่มันอาจไป ติดคอ เราได้ และจริงๆ ถ้าจะกินให้ปลอดภัย ต้องหั่นเป็นท่อนเล็กๆ ก่อนกิน

ทีนี้ อยากให้ลองนึกภาพไปตามธรรมชาติว่าตัวอะไรกินหมึกยักษ์บ้าง

โดยทั่วๆ ไป คำตอบคือพวกฉลาม เพราะมันเป็นสัตว์ที่ฟันคมพอที่จะแยกหมึกยักษ์เป็นชิ้นๆ ก่อนจะลงไปย่อยเป็นสารอาหารที่จำเป็นในกระเพาะ

แต่รู้ไหมครับว่า โลมา ก็กินหมึกยักษ์

ฟังเผินๆ อาจไม่มีอะไร แต่ลองนึกภาพว่า โลมาเนี่ย ตัวพอๆ กับมนุษย์ คอก็พอๆ กัน ดังนั้นกินหมึกยักษ์เป็นๆ เข้าไป มันติดคอตายได้ และมันก็มีเคสที่โลมากินแล้วติดคอตายจริงๆ มาเกยตื้นตามชายหาด

แต่โลมาส่วนใหญ่สามารถกินหมึกยักษ์ได้โดยไม่ติดคอตาย และไม่ต้องหั่นก่อนกินแบบมนุษย์ด้วย

คำถามคือมันทำยังไง?

คำตอบง่ายๆ มันมีเทคนิคที่เรียกกันว่า เขย่าและทุ่ม” (shake-and-toss) ซึ่งจะเรียกว่าเป็นเทคนิค ประกอบอาหาร ของโลมาก็ได้

ซึ่งเทคนิคก็ตรงตัว คือมันจะเอาหมึกขึ้นไปบนผิวน้ำ แล้วใช้ปากจับหมึกยักษ์เขย่าไปมา หรือไม่ก็ฟาดบนผิวน้ำรัวๆ ซึ่งพอทำอย่างต่อเนื่องไปสักพัก หมึกยักษ์จะนุ่มนิ่มอ่อนแรง กินง่าย ไม่ติดคอ หรือบางทีก็จะขาดเป็นชิ้นๆ เลย กินไปปลอดภัยแน่ๆ เพราะตายสนิทแล้ว

เทคนิคพวกนี้อาจฟังดูโหดร้าย แต่จริงๆ โลมาก็เป็นสัตว์ที่ โหด อยู่แล้ว แค่มันหน้าตาน่ารักเท่านั้น

ประเด็นที่น่าสนใจคือเทคนิคพวกนี้แสดงให้เห็นถึงความฉลาด ของโลมา เพราะเทคนิคที่ว่านี่ถือว่าซับซ้อนทีเดียวในการที่จะจับอะไรมากิน คือไม่ได้เรียบง่าย แบบงับๆ แล้วกลืนแบบสัตว์ที่เราเห็น ตามธรรมชาติ ปกติ

หรือพูดอีกแบบ การกินอะไรที่ต้องทำนอกเหนือจากการเอาใส่ปากไป เคี้ยวๆ แล้วกลืนมันต้องใช้สติปัญญา และจะเรียกมันว่าการ ประกอบอาหาร ก็พอได้

และทั้งหมดนี้ก็ทำให้เราน่าจะมองย้อนถึงตัวมนุษย์เอง ที่จริงๆ มนุษย์เราคือสัตว์ที่มี แหล่งอาหาร ที่ซับซ้อนที่สุดในโลกแล้ว ไม่มีตัวอะไรบนโลกที่มีอาหารการกินมากมายเท่ากับมนุษย์

ซึ่งถ้าพูดในเชิงวิวัฒนาการมันไม่ใช่เพราะเรา เรื่องมาก อยากกินของอร่อยๆ แต่มันเป็นเพราะเรามีการส่งทอดทางวัฒนธรรมการ ประกอบอาหาร ที่ซับซ้อน คือเราไม่ได้มีฟันที่แหลมคมระดับกัดเนื้อเหนียวๆ ได้เหมือนสัตว์นักล่าจำนวนมาก แต่สิ่งที่เราทำก็คือเอามาหั่นให้เป็นชิ้นเล็กๆ ให้เคี้ยวง่ายขึ้น หรือเอาไปย่างจนนิ่มหรือเอามาตุ๋นให้เนื้อเหนียวๆ กินได้ เราไม่มีปัญญาย่อยกระดูก แต่เราก็เอามาต้มเพื่อสกัดเอาสารอาหารจากกระดูกมาให้มากที่สุด ฯลฯ

นี่คือ การประกอบอาหาร ของมนุษย์ เป้าหมายดั้งเดิมมันไม่ใช่ ความอร่อย แต่เพื่อจะสกัดเอาสารอาหารจากธรรมชาติมาป้อนระบบทางเดินอาหารให้ได้มากที่สุด และที่เราต้องทำแบบนี้ เพราะกิจกรรมพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตใดๆ ก็คือการ กิน

การกินคือการเติมสารอาหารที่จำเป็นต่อการมีชีวิตเข้าร่างกายให้ดำเนินต่อไป และสิ่งมีชีวิตใดที่ยิ่งกินได้เยอะและหลากหลาย โอกาสรอดและแพร่พันธุ์ก็ยิ่งสูง

และในแง่นี้เอง การที่โลมามีเทคนิค ประกอบอาหาร และใช้กับหมึกยักษ์จึงแสดงให้เห็นว่าพวกมันมีสติปัญญาสูงหรือกระทั่งมีวัฒนธรรมบางอย่าง

และก็ไม่แปลกเลยที่มนุษย์จะรู้สึกใกล้ชิดกับสัตว์ชนิดนี้ เพราะมันไม่ได้แค่น่ารัก แต่เป็นสัตว์น้อยชนิดในธรรมชาติที่น่าจะถือว่ามี สติปัญญาสูง ใกล้เคียงกับมนุษย์เลยทีเดียว

อ้างอิง