ในการต่อสู้เพื่อหาเทคโนโลยีที่จะให้อายุยืนยาวขึ้น มนุษย์ก็ได้ไปตามตำรา ‘เคล็ดลับอายุยืน’ นอกสายพันธุ์ของมนุษย์ เราค้นพบว่าทำไมเชื้อโรคใดๆ ถึงทำร้ายค้างคาวไม่ได้ ทั้งยังค้นพบอีกว่าทำไมสัตว์อย่าง ‘หมาน้ำ’ ถึงงอกอวัยวะที่ขาดไปได้ทุกส่วน
แต่ปริศนาที่ยิ่งใหญ่คือ ‘อายุขัย’
อะไรทำให้สัตว์ชนิดหนึ่งอายุสั้น ขณะเดียวกันสัตว์อีกชนิดกลับอายุยืน? บางคนคงคิดว่าเพราะ ‘ขนาดตัว’ หรือเปล่า? จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะแม้ว่าเราจะมีสัตว์ยักษ์อย่างฉลามกรีนแลนด์ที่อายุยืนยาวกว่า 200 ปี หรือราว 3 เท่าของมนุษย์ แต่ถ้าหันมาดูยีราฟอายุขัยเฉลี่ยของมันเพียง 25 ปี หรือราว 1 ใน 3 ของมนุษย์
นักวิจัยได้ทดลองเอาเซลล์จากทางเดินอาหารของสัตว์ 16 ชนิดมาเพาะเลี้ยงเพื่อดูอัตราการกลายพันธุ์ แล้วก็ได้คำตอบที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature ฉบับเมษายน 2022 ว่า จริงๆ แล้ว สัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่งจะอายุยืนแค่ไหนขึ้นอยู่กับอัตราการกลายพันธุ์ของเซลล์ พูดง่ายๆ คือยิ่งกลายพันธุ์ถี่ก็ยิ่งอายุสั้น
อธิบายง่ายๆ คือเซลล์มนุษย์กลายพันธุ์เฉลี่ย 47 ครั้งต่อปี และมนุษย์ก็มีอายุขัยเฉลี่ย 84 ปี ในขณะที่ตุ่นหนูไร้ขนและยีราฟกลายพันธุ์เฉลี่ย 90 กว่าครั้งต่อปี และอายุขัยเฉลี่ย 25 ปี ส่วนสิงโตกลายพันธุ์เฉลี่ย 160 ครั้งต่อปี อายุขัยเฉลี่ยมันเลยเป็น 21 ปี ส่วนหนูกลายพันธุ์เฉลี่ยเกือบ 800 ครั้งต่อปี มันจึงมีอายุขัยเฉลี่ยแค่ 4 ปี
ดังนั้น ในแง่นี้ถ้าเราหาทางทำให้อัตราการกลายพันธุ์ของเซลล์มันช้าลง เราก็น่าจะอายุยืนขึ้น แต่มันยังไม่จบแค่นั้น เพราะทางวิทยาศาสตร์มันยังมีปัญหาที่ความรู้ยังไม่แก้นั่นคือ ‘มะเร็ง’
เป็นที่รู้กันว่ามะเร็งคือขีดจำกัดของสิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่ มันคือจุดที่เซลล์กลายพันธุ์ไปถึงจุดหนึ่งแล้วก็จะทำลายตัวเอง ดังนั้นในแง่นี้ทางทฤษฎี ยิ่งมีเซลล์ในร่างกายมากมันก็ยิ่งน่าจะมีความเสี่ยงมะเร็งมาก เพราะมันมีเซลล์ให้กลายพันธุ์เยอะ
แต่ความจริงกลับไม่เป็นแบบนั้น สิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่จำนวนมาก กลับไม่ได้มีอัตราการเป็นมะเร็งมากตามจำนวนเซลล์ของร่างกาย สิ่งนี้เรียกว่า ‘Peto’s Paradox’ และทุกวันนี้มันก็ยังเป็นปริศนาอยู่ ซึ่งมันก็คงจะยังแก้ไขไม่ได้ เพราะนั่นหมายถึงการรู้ ‘สาเหตุที่แท้จริง’ ของมะเร็ง ไม่ใช่แค่ ‘ปัจจัยเสี่ยง’ อย่างที่รู้กัน และนั่นหมายความว่าเราจะสามารถยับยั้งมะเร็งได้จาก ‘ต้นเหตุ’ จริงๆ ไม่ใช่ต้องมาหลบเลี่ยงสิ่งที่เรียกรวมๆ ว่า ‘สารก่อมะเร็ง’ สารพัดในโลกยุคปัจจุบัน
บอกตรงๆ ว่านั่นยังอีกไกล เพราะยุคนี้แม้ว่าเราจะพอหาทาง ‘รักษามะเร็ง’ แทบทุกชนิดได้บ้างแล้ว แต่เราก็ยังไม่สามารถที่จะพุ่งเป้าไปที่ ‘สาเหตุ’ ของมะเร็งในภาพรวมได้เลย
อ้างอิง
- IFLS. Why Do Humans Live Longer Than Giraffes? New Study Might Have The Answer. https://bit.ly/3Pwhou2