‘คนพิการ’ กลุ่มคนที่ถูกละเลยจากปัญหาโลกร้อน

2 Min
255 Views
15 Nov 2021

Select Paragraph To Read

  • ผลกระทบโลกร้อนที่มีต่อผู้พิการ

ภาพสะท้อนความบกพร่องในการแก้ไขปัญหาวิกฤตโลกร้อนที่เด่นชัดที่สุดในการประชุม COP26 หนนี้ คือความละเลยสิทธิของผู้พิการในการเข้าร่วมประชุม ดังตัวอย่างที่รัฐมนตรีของอิสราเอล คารีน เอลแฮร์ราร์ (Karine Elharrar ) ซึ่งต้องนั่งวีลแชร์ ไม่สามารถเข้าร่วมประชุม COP26 ได้ เพราะผู้จัดไม่ได้เตรียมทางไว้สำหรับกรณีผู้ที่มีล้อต่างขา

ในขณะเดียวกัน เมื่อพูดถึงผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ กลุ่มแรกๆ ที่จะถูกเอ่ยถึงคือ ประชาชนในประเทศยากจนแถบแอฟริกาที่ได้รับผลกระทบรุนแรงอยู่ในปัจจุบัน ตลอดจนกลุ่มเยาวชนและชนพื้นเมืองที่ตอนนี้เริ่มมีสิทธิมีเสียงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่กลุ่มคนพิการกลับไม่ค่อยมีการเอ่ยถึงสักเท่าไหร่

ผลกระทบโลกร้อนที่มีต่อผู้พิการ

ตามข้อมูลของธนาคารโลก (World Bank) ระบุว่า มีประชากรโลก 15 เปอร์เซ็นต์ เป็นผู้ประสบความทุพพลภาพบางรูปแบบ ที่ผ่านมามีหลายกรณีที่ผู้พิการต้องประสบกับปัญหาจากวิกฤตโลกร้อนจนถึงขั้นเสียชีวิต

ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์น้ำท่วมยุโรปเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ผู้เสียชีวิต 12 รายในเยอรมันไม่สามารถอพยพออกจากพื้นที่เพราะเป็นผู้ชราภาพและพิการ และภัยพิบัติก็เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ขณะที่ด้านของการช่วยเหลือพบว่า ผู้พิการที่ต้องนั่งรถเข็นไม่สามารถพาตัวเองขึ้นสู่เรือยางได้ รถโดยสารสำหรับอพยพส่วนใหญ่แทบไม่มีลิฟต์สำหรับผู้พิการ รวมไปถึงสถานที่หลบภัยต่างๆ ที่ขาดเครื่องมืออำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มคนพิการ เช่น ห้องน้ำ

ในกรณีนี้ยังครอบคลุมไปถึงผู้พิการทางจิตหรือผู้ป่วยทางจิตเภท ตัวอย่างที่ผ่านมาคนกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบอย่างหนักในเหตุการณ์คลื่นความร้อนที่เข้าปกคลุมสหรัฐอเมริกาหลายปีติดต่อกัน โดยผู้ป่วยโรคจิตเภทหลายคนจำเป็นต้องใช้ยาเพื่อรักษาอาการ ผู้ป่วยประเภทนี้มักทนความร้อนได้น้อยกว่าคนทั่วไป ทำให้เสี่ยงต่อโรคลมแดดและภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต

ประเด็นสำคัญอีกอย่างคือการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ซึ่งพบว่าผู้พิการทางการได้ยินหรือผู้ที่บกพร่องทางสายตาเป็นกลุ่มที่เข้าถึงข้อมูลได้น้อย ส่วนกลุ่มผู้ป่วยทางจิตมักมีเครือข่ายทางสังคมน้อยจึงขาดการรับรู้ข่าวสารที่ครบถ้วน

นั่นหมายความว่าเรายังขาดสื่อเหมาะสมสำหรับผู้พิการ โดยเฉพาะการแจ้งข่าวในเหตุการณ์ฉุกเฉิน

ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์หลายคนที่เป็นผู้พิการเริ่มใช้สิทธิและเสียงตัวเองเรียกร้องกันมากขึ้นว่าการแก้ไขวิกฤตโลกร้อนควรมี ‘พื้นที่เฉพาะของคนพิการ’ ให้พวกเราได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นในสิ่งที่เป็นและสิ่งที่พบ

เพราะนับตั้งแต่การประชุม COP16 เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ที่ได้บัญญัติคำว่า “บุคคลที่มีความทุพพลภาพ” ไว้ในกลุ่มได้รับผลกระทบจากวิกฤตโลกร้อนเป็นครั้งแรก ก็ไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายระดับชาติมากนัก

ในส่วนการประชุม COP26 แม้จะมีเซคชั่นพิเศษให้ผู้พิการได้แสดงความเห็นและเปิดพื้นที่ให้องค์กรด้านสิทธิสำหรับคนพิการได้เข้าร่วมเป็นครั้งแรก แต่ก็มีเสียงสะท้อนว่ายังเปิดพื้นที่ให้คนกลุ่มนี้น้อยเกินไป

กับอีกเรื่องคือการเสนอให้ผู้พิการได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในทีมตัดสินใจและกำหนดนโยบายต่าง ในการแก้ไขวิกฤตนี้ ก็ยังเป็นไปอย่างล่าช้าและไม่มีรูปธรรมที่ชัดนัก สวนทางกลับวิกฤตปัญหาที่เกิดบ่อยขึ้นและแรงขึ้นเรื่อยๆ

วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ค่อยๆ แผ่ขยายความรุนแรงอยู่นี้ เป็นเรื่องที่เราจะรีรอกันอีกไม่ได้ และไม่ควรทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะเราต่างก็เป็นมนุษย์เท่ากัน ที่ใช้อากาศหายใจร่วมกัน อาศัยอยู่บนโลกใบเดียวกัน และได้รับผลกระทบเหมือนๆ กัน

อ้างอิง

  • BBC. Climate change: Why are disabled people so affected by the climate crisis? https://bbc.in/3bHFJur
  • IDA. Persons with disabilities and climate action: How can we be more inclusive? https://bit.ly/3bSeNZ8
  • TFN. International first for disabled people at COP 26. https://bit.ly/3BUUOmX
  • World Bank. Disability Inclusion. https://bit.ly/3BJC35V