“เด็กสมัยนี้ไม่อดทน” คุยกับ 7 เด็กรุ่นใหม่ ไม่อดทนจริงไหม แล้วทำไมย้ายงานบ่อย
“เอะอะก็จะลาออก เรื่องแค่นี้ทำไมถึงทนไม่ได้วะ”
คำพูดเชิงเหน็บแนมที่ได้เปล่งออกมาจากหญิงชายผู้ผ่านประการณ์ชีวิตมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน กับบรรทัดฐานของการทำงานที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างยาวนาน จนกลายเป็นค่านิยมที่ไม่ว่ากี่ยุคกี่สมัยก็ต้องทำตามๆ กันไปดั่งเช่นประเพณีที่สืบทอดต่อกันมา
หากต้องการอยู่ในโลกแห่งการทำงาน ‘ความอดทน’ คือ สิ่งจำเป็นลำดับต้นๆ ที่ทุกคนพึงต้องมี กรอบการทำงานหลายเรื่องถูกตีขึ้น นักเดินทางมากมายที่ก้าวเข้ามาต้องตกลงสู่วงจรที่ยากจะหลีกเลี่ยง
ผู้ใหญ่หลายคนมักมองว่าการลาออกโดยที่เริ่มต้นทำงานได้ไม่นาน คือความล้มเหลวที่ไม่ควรเกิดขึ้น บางครั้งสิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนเครื่องมือที่ใช้วัดผลการทำงาน ผู้ไม่ทนงานจะถูกตีตราว่าความสามารถไม่ถึงขั้น จึงต้องเตร็ดเตร่แล้วจากไป
ทว่าเรื่องเหล่านี้มันถูกต้องแล้วจริงหรือ เหตุใดเด็กจบใหม่หลายคนที่ออกจากงานอย่างรวดเร็ว ถึงถูกตราหน้าว่าเป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือเป็นพวกไม่เอาถ่าน เพราะอะไรถึงต้องมองว่าพวกเขาเหล่านี้คือกลุ่มก้อนของคนที่ไร้ความอดทน
ยุคสมัยย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แนวคิดใหม่ๆ ย่อมผุดขึ้นไม่รู้จบ ลองเปลี่ยนจากคำพูดถากถางเป็นการรับฟังดูไหม ว่าเด็กจบใหม่นั้นคิดเห็นอย่างไร พวกเขาต้องพบเจออะไรบ้างในชีวิตการทำงาน บางครั้งการเปิดใจเพื่อรับฟังอาจได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าสำหรับทั้งสองฝ่ายก็เป็นได้
“ไม่ใช่ว่าไม่อยากอดทน แต่ถ้าเราไม่มีความสุขเราจะทนทำไม” แนน-พรรษพร หมั่นพลศรี
ในบางครั้งงานที่ทำอยู่ก็ไม่ได้ทำให้เราเติบโต หรือมองเห็นอนาคตมากนัก สำหรับเด็กจบใหม่หลายๆ คน การมองไปข้างหน้า เพื่อวาดฝันอนาคตที่มั่นคงของตนเองดูจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เหมือนกับ ‘แนน’ พรรษพร หมั่นพลศรี หนึ่งในเด็กรุ่นใหม่ไฟแรงที่มักมองว่าชีวิตของตัวเองในอนาคตจะออกมาเป็นอย่างไร
แนนเล่าถึงเหตุผลที่ทำให้เธอต้องลาออกจากงานมาจากตัวงานที่ซ้ำเดิมในทุกๆ วัน ไม่มีความท้าทายอะไรใหม่ๆ เข้ามา ประกอบกับความรู้ที่หยุดนิ่ง จนตัวเธอไม่สามารถนำไปต่อยอดอะไรได้ เมื่อมองไปในอนาคตไม่เห็นทางที่สดใส จึงเลือกที่จะเดินออกมา
การลาออกของเธอไม่ได้เกี่ยวกับความไม่อดทนต่องาน แต่เมื่อเห็นว่างานที่ทำอยู่ไม่สามารถตอบโจทย์ต่ออนาคตได้ เธอจึงตัดสินใจลาออกอย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาชีวิต
แนนไม่สนคำวิจารณ์ใดๆ ที่มักมองว่าการลาออกบ่อยคือสิ่งที่ดูไม่อดทน เธอกล่าวว่า
“ไม่ใช่ว่าไม่อยากอดทน แต่ถ้าไม่ใช่แล้วเราจะทนไปทำไม ในช่วงหนึ่งของชีวิต เราต้องรู้แล้วว่าเราอยากทำอะไรต่อไป ในตอนนี้เราสามารถลองได้อยู่ แต่ถ้าโตกว่านี้มันจะสายไปที่เราจะเปลี่ยนงานเล่นแล้ว มันไม่ผิดซักหน่อยที่เราจะลองเปลี่ยนเพื่อหาสิ่งที่ใช่ เพราะถ้ามันใช่แล้วเราจะเปลี่ยนทำไม”
แนวทางในการทำงานของแต่ละคนย่อมไม่ซ้ำกัน บางคนทำงานเพื่อหาเงินมาปรนเปรอความสุข บางคนทำงานเพื่อเป็นหน้าเป็นตาแก่วงศ์ตระกูล แต่สำหรับบางคนการทำงานก็เหมือนการวางรากฐานชีวิตให้มั่นคงเพื่ออนาคตของตนเอง
“หรือที่ทน เพราะต้องทน” ไปป์-ศรชัย บุญวัชราภัย
‘ไปป์’ ศรชัย บุญวัชราภัย เด็กรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนงานมาแล้วนับไม่ถ้วน หลังจากจบมาได้ 2 ปี เล่าถึงสาเหตุที่ทำให้ตัวเองเปลี่ยนงานบ่อย เป็นเพราะวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่ตอบโจทย์ ประกอบกับการถูกเอาเปรียบจากองค์กรที่ไม่ทำตามข้อสัญญา
หากจะถามว่าการเปลี่ยนงานบ่อยส่งผลกระทบไหม ไปป์เล่าว่าสิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล ถ้าเปลี่ยนงานบ่อยแต่มีโปรไฟล์ที่ดี มีผลสอบวัดระดับ หรือประสบการณ์ที่สามารถทำให้องค์กรเชื่อว่าเรามีศักยภาพสามารถทำงานให้องค์กรได้ นั่นจะไม่เป็นปัญหาในเรื่องการลาออก แต่กลับกัน หากคนคนนั้นไม่มีประสบการณ์ หรือผลคะแนนที่ใช้ในการยืนยันความสามารถได้ การลาออกจะเป็นผลลบต่อตัวบุคคลผู้นั้นมากกว่า
“แต่ถ้าจะถามว่าไม่อดทนจริงไหม ตอบเลยว่าจริง เพราะตอนนี้โอกาสมันเพิ่มมากขึ้น เราสามารถศึกษาแพลตฟอร์มต่างๆ เองได้ เรามีลู่ทางการเติบโตเยอะ คนรุ่นใหม่ที่คลุกคลีอยู่กับเทคโนโลยี เลยมีลู่ทางการไปต่อที่เยอะขึ้น เขาเลยไม่จำเป็นที่จะต้องอดทนกับสิ่งที่เขารู้สึกไม่ชอบ”
เขาได้กล่าวถึงประเด็นเรื่องการลาออกต่อว่า
“คนรุ่นเก่าเปลี่ยนงานไม่ได้แล้วหรือเปล่า หรือที่ทนอยู่ เพราะต้องทน อายุที่มากขึ้น โอกาสในการเปลี่ยนน้อยลงไหม จริงๆ แล้วตอนนี้การที่เราเปลี่ยนงานบ่อยมันเป็นเพราะโอกาสในชีวิต ไม่ได้เกี่ยวกับความไม่อดทนอะไร ตอนนี้เราสามารถเก็บเกี่ยวช่วงเวลาโอกาสในตอนนี้ได้”
ถ้าสิ่งที่เราตรากตรำมานานไม่เป็นเหมือนที่เราตั้งใจ การเลือกเดินในเส้นทางอื่นก็เป็นทางเลือกที่ไม่แย่นัก ไม่แน่การเลือกถนนเส้นอื่นที่เราไม่รู้จัก ก็อาจทำให้เราเจอทางลัดที่จะส่งเราไปเจอจุดหมายได้เร็วขึ้น
“เงินสำคัญมากจริงๆ ในสมัยนี้
แต่เงินก็ยังไม่ได้สำคัญที่สุดกับจิตใจของเรา”
อ๊อฟ-สุรเกียรติ แสงเดือน
สำหรับบางคนอาจมองว่า เงิน คือเรื่องสำคัญที่สุดในการทำงาน แต่กับ ‘อ๊อฟ’ สุรเกียรติ แสงเดือน ไม่ได้มองเช่นนั้น เขายอมทิ้งข้อต่อรองที่ทำให้เขาได้เงินเยอะกว่า เพื่อเลือกมาอยู่ในที่ที่สบายใจกว่า
“ทำงานเพื่อให้ได้เงิน คือปัจจัยภายนอก เงินสำคัญมากจริงๆ ในสมัยนี้แต่เงินก็ยังไม่ได้สำคัญที่สุดกับจิตใจของเรา ถ้าเราต้องทำงานที่ทำให้เราดิ่งอยู่ตลอดเวลาก็อยากให้เอาตัวเราเองออกมาเลย งานเดี๋ยวก็หาได้ สักวันหนึ่งเราจะเจองานที่เหมาะสมกับตัวเราเอง”
ด้วยความที่อายุยังน้อย ทำให้อ๊อฟมีความคิดที่ว่ายังสามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์ได้อีกเยอะ และไม่จำเป็นต้องเร่งรีบเพื่อไปทำงานที่เครียดจนเกินไป เขายอมรับตรงๆ ว่า การลาออกจากงานของเขาในบางทีก็เหมือนกับการหนีปัญหา แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่คิดมาอย่างถี่ถ้วนแล้ว ไม่ใช่การตัดสินใจแบบทันทีทันใด
“ทุกอย่างมีสองด้าน งานแรกที่เราออกเลยก็เป็นด้านหนึ่งที่เราหนีปัญหาจริงๆ เรายังไม่รู้อะไรเลย เรายังไม่ทันได้แก้ปัญหาอะไรเลย แต่พอเป็นงานที่สอง เราแก้ไม่ได้ เพราะปัญหามันไม่ได้อยู่ที่ตัวเราแล้ว แต่ปัญหามันอยู่ที่เนื้องานซึ่งมันตายตัวอยู่แล้ว” อ๊อฟอธิบายถึงสาเหตุต่างๆ ที่ทำให้เขาลาออกว่า ในบางครั้ง ปัญหาที่เขาได้รับก็เป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ที่ตัวเองได้ การหาตัวเลือกอื่นน่าจะเป็นโอกาสที่ดีกว่า
แม้ว่าจะมีหลายคนที่บอกให้อ๊อฟอดทนกับงานไปก่อน แต่ต่างคนก็ต่างมุมมอง และเจ้าตัวคือผู้รู้ดีที่สุดว่าตัวเองนั้นรู้สึกอย่างไร เขารับฟังในทุกความเห็นแล้วนำมันมาไตร่ตรอง กระนั้นการตัดสินใจหลักก็ขึ้นอยู่กับตัวเองอยู่ดี เพราะหนทางชีวิตคือสิ่งที่เราต้องเลือกเอง
“ยุคสมัยนี้มันมีอิสระในการทำงานที่เปลี่ยนไป เราสามารถหารายได้ในรูปแบบต่างๆ ได้มากขึ้น” อ๋อง-ปิติคุณ ทองพิทักษ์
ฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนเข็มนาฬิกา ย่อมเป็นเครื่องบ่งบอกว่ายุคสมัยได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ความคิดของคนย่อมเปลี่ยนไปตามกาลเวลาเช่นกัน ‘อ๋อง’ ปิติคุณ ทองพิทักษ์ ผู้มีความคิดไม่อยากหยุดนิ่งอยู่กับที่ มองว่ายุคสมัยที่เปลี่ยนสามารถทำให้เราทำสิ่งต่างๆ ได้หลายอย่าง
ทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไรไม่มีใครรู้ ตัวอ๋องก็เหมือนกับคนทั่วไปทุกคน เขาไม่มีทางรู้ได้ว่าการเลือกเปลี่ยนที่ทำงานจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่งจะทำให้อะไรหลายๆ อย่างดีขึ้นไหม สิ่งที่ทำได้นั้นมีเพียงแค่อยู่กับมันไปให้ได้จนถึงที่สุด ถ้าไม่ชอบก็แค่หาที่ใหม่ เพราะเราไม่สามารถหนีจากสิ่งเหล่านี้ไปได้ง่ายๆ
เขามองว่าช่วงเวลาครั้งยังเป็นวัยรุ่น เปรียบเสมือนเวลาช่วงหนึ่งของชีวิตที่ตัวเราควรอิ่มเอมไปกับมัน การมีความสุขกับงานที่ใช่ก็เป็นสิ่งสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้เราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสบายใจ ขณะเดียวกันโลกที่เปลี่ยนไปทำให้เรามีตัวเลือกได้มากขึ้น เราไม่จำเป็นต้องทำงานที่ใช่เพียงอย่างเดียว แต่สามารถแปรเปลี่ยนสิ่งที่ชอบให้กลายเป็นเครื่องมือของอีกหนึ่งอาชีพ เพื่อสร้างรากฐานที่มั่นคงได้เช่นกัน
แต่กระนั้นการที่อ๋องเปลี่ยนงานหลายรอบทำให้ตัวเขานั้นสามารถเก็บเกี่ยว และได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมาย ช่องทางการสร้างรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน ทำให้เขารู้ว่าไม่จำเป็นที่จะต้องฝืนทนอยู่ในระบบเดิมๆ เพียงอย่างเดียว
สำหรับอ๋องมองถึงภาพการทำงานในระยะยาว เขาตามหางานที่เหมาะสมกับตัวเอง งานที่ลงตัวที่สุดสำหรับอนาคตของเขา ผนวกกับการทำอย่างอื่นควบคู่ไปด้วย เขาไม่ได้มองว่าการลาออกบ่อยผิดอะไร เพราะทุกคนยังสามารถลองผิดลองถูกได้เสมอ ยังไม่สายเกินไป
“เราไม่ได้มีปัญหากับคำว่าเหนื่อย
ถ้ามันเหนื่อยแล้วคุ้มค่ากับการที่เราจะได้อะไรมา เรายอม” เหิน-สิรภพ ช่องรักษ์
มุมมองของ ‘เหิน’ สิรภพ ช่องรักษ์ พนักงานบริษัทคนหนึ่งที่ลาออกมาแล้ว 2 ที่ แต่เมื่อฟังจากคำพูดที่คุยกัน ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าไฟของการทำงานในตัวเขาลดลงแม้แต่น้อย
“ปัญหาส่วนใหญ่ที่เจอคือเรื่องเนื้องาน เรารู้ว่าเราต้องทำอะไร แต่ถ้ายิ่งทำต่อไปมันยิ่งบั่นทอนเราแล้วทำให้เราอยู่กับที่ ไม่ได้พัฒนาอะไรเรา สุดท้ายเราจะมองว่ามันไม่โอเค”
คำพูดของเหินแสดงออกอย่างชัดเจนว่า สาเหตุที่เขาเปลี่ยนงานนั้นเป็นเพราะต้องการพัฒนาศักยภาพของตัวเองให้ได้มากที่สุด
เหินไม่ได้มองการลาออกบ่อยว่าคือ ความไม่อดทน ตัวเขาเพียงคาดหวังว่างานที่ได้รับจะสามารถท้าทายต่อศักยภาพของเขาได้ หากงานที่ทำนั้นถึงจุดที่พาเขาเดินหน้าต่อไม่ได้แล้ว การออกไปเพื่อหาอะไรใหม่ๆ คือโจทย์ที่เขาคิดว่าดีกว่า
“ตอนเราไปสัมภาษณ์งานที่ใหม่ เรารู้สึกดีที่เราจะไปทำมากเลยนะ เพราะเป็นที่เดียวที่เราไปทดสอบแล้วรู้สึกว่าเราทำสิ่งนั้นไม่ได้แน่นอน แต่พอลงมือทำมันแฮปปี้แบบสุดๆ เราไม่ได้มีปัญหากับคำว่าเหนื่อย ถ้ามันเหนื่อยแล้วคุ้มค่ากับการที่เราจะได้อะไรมา เรายอม”
ตัวเขาไม่ได้มองว่างานที่ทำเป็นงานที่ง่าย หรืองานที่ยาก เขาคิดเพียงแค่ว่างานไหนจะทำให้ตัวเองได้อะไรมามากที่สุด งานไหนที่ทำแล้วมีความสุข นั่นแหละคืองานที่ใช่สำหรับตัวเขา และอาจจะเป็นเช่นเดียวกันกับอีกหลายๆ คน
“เขาไม่ได้ต้องการคนเก่ง เขาต้องการคนที่เชื่อฟัง” ปัณ-ปัณณธร จันทรบูลย์
แนวคิดที่ไม่ตรงกันก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พนักงาน และตัวองค์กรจำต้องแยกทางกัน ‘ปัณ’ ปัณณธร จันทรบูลย์ เป็นหนึ่งในเด็กจบใหม่อีกคนที่จะมาเล่าสู่กันฟังในเรื่องราวที่ตนต้องประสบหลังจากเข้าทำงาน เมื่อครั้งเรียนจบ
ปัณได้เล่าเรื่องราวของตนในการทำงานที่แรกว่า เป็นเหมือนเครื่องมือที่ทำเพื่อบริษัทแบบเต็มรูปแบบเพียงเท่านั้น เขาไม่มีสิทธิ์ที่จะแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างใดๆ แม้ว่าตามตำแหน่งแล้วจะสามารถเสนอแนวทางความคิดได้
“เหมือนกับว่าคนรุ่นเก่ามีความคิดบางอย่าง เขาเคยพูดกับเราว่า เขาไม่ได้ต้องการคนเก่ง เขาต้องการคนที่เชื่อฟัง เป็นคนดี” ปัณเล่าด้วยน้ำเสียงที่งุนงง ปนกับความคิดน้อยใจที่ผู้ใหญ่ในองค์กรไม่ได้วัดค่าความสามารถจากงานที่แสดงออกมาให้เห็น
การถูกปิดกั้นความคิดทำให้เขารู้สึกไม่มีความสุขต่อการทำงาน ณ สถานที่แห่งนั้น คนเห็นต่างไม่สามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมขององค์กรนั้นได้ ซึ่งไม่เป็นดั่งที่ตัวปัณหวังไว้ เขามองว่านี่คือสิ่งที่ไม่สมควรเกิดขึ้น
“เรามองว่าคนรุ่นเก่าถูกสอนมาว่าให้เป็นคนว่านอนสอนง่าย ถึงจะอยู่ในชีวิตการทำงานได้ แต่เรามองว่า คนรุ่นใหม่มีสิทธิ์จะคิดและกล้าตัดสินใจมากขึ้น คุณมีสิทธิ์เรียกร้องสิทธิ์ของตัวเองมากขึ้น คุณไม่จำเป็นต้องยอมในสิ่งที่ไม่มีเหตุผล หรือเชื่อฟังคนเหล่านั้นที่ไม่มีเหตุผล”
จากประเด็นที่บอกกันว่า เด็กรุ่นใหม่มักไม่อดทนกับงาน มันอาจไม่เป็นความจริงเสมอไป ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับการปรับตัว ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปย่อมทำให้เด็กปรับตัวเข้าหาผู้ใหญ่เพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ ผู้ใหญ่เองก็ต้องปรับตัวเข้าหาเด็กด้วยเช่นกันเพื่อรับฟังมุมมองที่แตกต่าง
“เราทำงานเพื่อใช้ชีวิต ไม่ได้ใช้ชีวิตเพื่อทำงาน” จูน-เจนจิรา จิตรีเดช
คำพูดที่เปี่ยมไปด้วยแพสชั่นของ ‘จูน’ เจนจิรา จิตรีเดช นับเป็นเด็กจบใหม่คนหนึ่งที่เคยผ่านช่วงชีวิตการทำงานมาแล้วนักต่อนัก อีกทั้งยังมีภาระต่างๆ ที่ต้องคอยดูแล ประสบการณ์ร้อนหนาวนับไม่ถ้วน ทำให้เธอเรียนรู้ว่าวิถีแห่งความจริงในโลกของการทำงานนั้นเป็นเช่นไร
“เราต้องอยู่กับการทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน ถ้านับเวลาที่เรานอนไปอีก เราจะมีชีวิตเพื่อหาความสุขให้ตัวเอง 5 ชั่วโมงต่อวันเอง บางทีมันก็เกิน 8 ชั่วโมงด้วย เพราะต้องเอามันไปเครียดหลังเลิกงานต่อ ยิ่งทำให้ 5 ชั่วโมงแห่งความสุขมันไม่มีคุณภาพ เราทำงานเพื่ออยู่ ไม่ได้อยู่เพื่อทำงาน เพราะงั้นชีวิตเราอย่าให้ก้อนๆ นี้ทำให้เราไม่มีความสุข มีชีวิตเพื่อมีความสุข อย่าให้สิ่งเหล่านี้มันมาทำลายชีวิตเรา”
จากการตรากตรำทำงานหลังเรียนจบมากกว่า 4 ที่ ทำให้เธอเรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง จนท้ายสุดก็ได้งานที่ลงตัว ประสบการณ์เหล่านั้นได้สอนให้เธอเรียนรู้ว่าเธอทำงานไปเพื่ออะไร ไม่ใช่เพื่อให้คนอื่นดูถูก ไม่ใช่เพื่อทำให้สุขภาพจิตของตัวเองเสีย แต่เพื่อทำให้ตัวเองมีความสุขกับการใช้ชีวิต เพราะงานไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิตเรา
แต่ละคนมีเรื่องราวชีวิตที่ต่างกัน ไม่ใช่ว่าการทำงานระยะสั้นแล้วลาออกจะต้องเป็นเหตุให้ถูกตีตราว่าไร้ความอดทน หรือเป็นคนหนีปัญหา แต่เรื่องบางเรื่องก็เป็นสิ่งที่ไม่ว่านานเท่าไรก็ไม่ได้รับการแก้ไข แล้วเพราะเหตุใดเราถึงต้องทนอยู่ในปัญหาซ้ำซากที่เป็นดั่งเขาวงกตไร้ทางออก ในเมื่อทนไปก็ไม่มีอะไรดีขึ้น หากมีตัวเลือกที่ดีกว่าเข้ามา ทำไมเราจะไม่ไขว้คว้ามันไว้ล่ะ
อย่างไรก็ตาม ใครมีมุมมองต่อประเด็นที่ว่าการลาออกบ่อยเป็นเหมือนการ ‘ไม่ทนงาน’ แล้วจริงหรือที่การออกจากสิ่งที่เราไม่ชอบคือการ ‘หนีปัญหา’ ก็สามารถมาแชร์ประสบการณ์ หรือร่วมแสดงความคิดเห็นด้านล่างนี้กันได้เลย