‘หนี้’ ไม่ใช่ผู้ร้ายในชีวิตเธอเสมอไป เพราะ ‘หนี้ดี’ ช่วยสร้างรายได้ & วินัยการเงิน
เวลามีใครพูดเปรียบเทียบว่า ‘ทำงานเหมือนบ้านเป็นหนี้’ คนที่ฟังส่วนใหญ่น่าจะเข้าใจตรงกันว่าคนๆ นั้นน่าจะต้องทำงานหนักมาก และอาจเหมาหมดทั้งการทำโอที จ็อบนอกเวลา ไปจนการหาอาชีพเสริมอื่นๆ เพื่อจะได้แบ่งเบาภาระหนี้ที่มีอยู่
ฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องดีที่คนทำงานอย่างขยันขันแข็ง แต่ก็ทำให้เกิดภาพขึ้นในใจว่า ‘หนี้’ คือผู้ร้ายที่เป็นตัวจำกัดอิสระทางการเงิน ทั้งยังตีกรอบไม่ให้คนหาจุดสมดุลระหว่างการทำงานและการหาความสุขในชีวิตได้ จนใครๆ ก็มักจะสอนลูกสอนหลานว่า ‘ชีวิตปลอดหนี้’ คือชีวิตที่ดีที่สุด
แต่ถ้าไปถามนักเศรษฐศาสตร์หรือนักการเงินที่เชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะ อาจไม่ได้มีคำเตือนชัดเจนตายตัวเกี่ยวกับหนี้ขนาดนั้น เพราะการมี ‘หนี้ดี’ ก็มีประโยชน์ต่อชีวิต และช่วยให้หลายคนเติบโตทางเศรษฐกิจได้เช่นกัน เพียงแต่เราต้องแยกให้ออกก่อนว่า ‘หนี้ดี’ กับ ‘หนี้เสีย’ ต่างกันอย่างไร
หนี้ดีคือหนี้ที่ช่วยสร้างรายได้
คำนิยามของ ‘หนี้ดี’ หรือ good debt ค่อนข้างจะกว้างแต่สถาบันการเงินหรือเว็บไซต์ที่ปรึกษาด้านการลงทุนมักระบุว่าหนี้ประเภทนี้คือการลงทุนเพื่อให้เกิดความมั่นคงช่วยเพิ่มมูลค่าและต่อยอดทางด้านโอกาสในชีวิตและส่งผลเชิงบวกต่อผู้เป็นหนี้
ตัวอย่างหนี้ดีเหล่านี้ก็เช่น หนี้เพื่อการศึกษา, หนี้เพื่อการลงทุนทำกิจการ, หนี้เพื่อที่อยู่อาศัย เช่น การผ่อนบ้าน ผ่อนคอนโด เหล่านักการเงินมองว่านี่คือหนี้สินที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มในอนาคต ซึ่งก็เป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะที่จริงปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อความมั่นคงของชีวิตแบบโยงใยกันเป็นทอดๆ
การลงทุนเพื่อการศึกษาจะช่วยให้บุคคลนั้นๆ มีความรู้ที่จำเป็นต่อชีวิต และมีโอกาสในอาชีพการงานมากขึ้น ขณะที่การซื้อที่อยู่อาศัยเป็นการสร้างความมั่นคงระยะยาว เพราะจะเป็นสินทรัพย์อย่างหนึ่งของผู้ถือครอง และการลงทุนเพื่อทำกิจการก็จะช่วยต่อยอดความมั่งคั่งได้ ซึ่งการเป็นหนี้เพื่อปัจจัยที่ว่ามาทั้งหมดนี้ถือเป็นหนี้ดี หรือหนี้เชิงบวก
ส่วนการเป็นหนี้หรือการกู้เงินซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ไม่ยั่งยืนหรือเสื่อมสภาพเร็ว เช่น รถยนต์ สินค้าแฟชั่นหรูหราราคาแพง ไม่ค่อยถูกมองว่าเป็นการลงทุนหรือเป็นหนี้ดีสักเท่าไหร่ เพราะสิ่งเหล่านี้มักถูกจัดอยู่ในประเภทหนี้เลว (bad debt) หรือหนี้ที่ส่งผลเชิงลบ เพราะถือครองไปสักระยะอาจราคาตก แถมยังไม่ค่อยจะช่วยต่อยอดให้เกิดรายได้หรือโอกาสทางเศรษฐกิจอื่นๆ มากนัก จึงต่างกับการเป็นหนี้เพื่อนำเงินไปลงทุนเป็นเจ้าของกิจการซื้อขายสินค้าเหล่านี้
เป็นหนี้แล้วดีกับชีวิตได้ ต้องมี ‘วินัยทางการเงิน’ ด้วย
สิ่งสำคัญก่อนตัดสินใจเป็นหนี้เพื่อไปลงทุนเชิงบวกทั้งหลายที่ว่ามาแล้ว จำเป็นจะต้องประเมินความสามารถของตัวเองในการ ‘จ่ายคืน’ หรือ ‘ชำระดอกเบี้ย’ ตามเงื่อนไขก่อนเป็นอันดับแรก เพราะนี่คือกุญแจสำคัญที่จะสร้างวินัยทางการเงินและนำไปสู่การปลดหนี้อย่างราบรื่นในอนาคต
กฎเหล็กของการกู้ยืม คือ อย่ากู้เกินความสามารถในการจ่ายคืนของตัวเอง เช่น หนี้เพื่อการศึกษา ก็ต้องดูว่าหลักสูตรการศึกษาที่ลงทุนเรียนรู้นั้นเป็นที่ต้องการของตลาดงานมากน้อยเพียงไร และมีเงินเดือนเริ่มต้นสำหรับเด็กจบใหม่เป็นอย่างไร ทั้งยังต้องประเมินยาวๆ ไปถึงโอกาสก้าวหน้าหรือเติบโตทางอาชีพ เพื่อจะได้ข้อมูลใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุดว่าในอนาคตจะมีรายได้เท่าไร และจะแบ่งจ่ายหนี้ในแต่ละเดือนอย่างไร ส่วนการลงทุนเพื่อที่อยู่อาศัยต้องประเมินทำเลและสภาพแวดล้อมโดยรอบของอสังหาริมทรัพย์ที่จะซื้อ ขณะที่การลงทุนเพื่อทำกิจการก็ต้องประเมินตลาด, ความเสี่ยง และสภาพการแข่งขันกับคู่แข่งอย่างรอบคอบ เพื่อวางแผนธุรกิจและประเมินรายได้–ผลกำไร
นอกจากนี้ การชำระหนี้อย่างมีวินัย คือ ตรงเวลาและเต็มจำนวนที่ระบุในเงื่อนไข ก็จะเป็นอีกโอกาสหนึ่งที่สร้างประวัติทางการเงินที่ดีให้ผู้เป็นหนี้ หรือที่เรียกกันแบบง่ายๆ ว่าเป็นคนมีเครดิตดีนั่นเอง
การมีประวัติการผ่อนชำระหนี้ดีมาตลอดมีผลอย่างมากเมื่อเกิดเหตุสะดุดในชีวิตจนไม่อาจชำระหนี้ได้ตามกำหนดโดยเฉพาะช่วงเวลาคับขันเช่นในสถานการณ์วิกฤตโรคระบาดหรือเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติจนส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนจำนวนมากในสังคมสถาบันการเงินหรือผู้ปล่อยกู้ก็มีแนวโน้มที่จะผ่อนผันหรืออนุมัติการกู้ฉุกเฉินให้กับลูกหนี้ที่มีประวัติดีเหล่านี้ก่อนลูกหนี้ประวัติไม่ดี
สรุปแล้วการมีหนี้ไม่ใช่เรื่องไม่ดีเสมอไป ถ้าคนในสังคมเข้าใจว่าการเป็นหนี้เพื่อสร้างโอกาสในชีวิตก็คือการลงทุนอย่างหนึ่ง และที่สำคัญ หนี้อาจเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในชีวิตของใครหลายคนได้อีกเหมือนกัน แต่ถ้าเลือกได้ก็ขอให้เป็นหนี้เพื่อสร้างแรงผลักดันแต่พอดี อย่าให้ถึงขั้นเป็นแรงกดดันในชีวิตจนกลายเป็น ‘มรดกหนี้’ ตกทอดไปถึงคนอื่นในครอบครัว
ก่อนจะรวยเงิน มารวยความรู้กันก่อน!
สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางการเงินของทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกคนรายได้หด เงินเก็บหาย รายจ่ายเพิ่ม
ปีนี้ฉันจะรวย จึงถือกำเนิดขึ้นมา เพื่อเป็นแคมเปญที่พาทุกคนรวย(ความรู้) อาจจะไม่ใช่เพื่อรวยแต่เพื่อรอดกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านข้อมูลทางการเงินที่จับต้องได้และครบครันทั้งรูปแบบบทความอินโฟฯและวิดีโออย่าให้เรื่องการเงินเป็นเรื่องน่ากลัวอยู่กับเงินด้วยความรู้ความเข้าใจ
หลังโควิด-19 ผ่านพ้นไป มาเตรียมตัวรวยไปด้วยกัน!
แต่ถึงจะยังไม่รวยในเร็ววันก็ไม่เป็นอะไร มีความรู้ไว้ เดี๋ยววันใดวันนึงก็ต้องรวย!
มาติดตามเนื้อหาอื่นๆ ในแคมเปญปีนี้ฉันจะรวยได้ที่ : https://www.brandthink.me/campaign/pi-ni-chan-cha-ruai
อ้างอิง
- BOT. ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการแก้หนี้ระยะยาวเพิ่มเติม ด้วยการรีไฟแนนซ์และการรวมหนี้. https://bit.ly/3n2Ekoo
- NCB. หนี้ดีก่อให้เกิดรายได้อย่างไร แบบไหนคือหนี้ที่ดี. https://bit.ly/31Bmgdw
- Investopedia. Debt Management. https://bit.ly/34xVX9j