เชื่อว่าหลายคนในที่นี่รู้จัก “การออกเดท” ว่าคืออะไร แต่เราขอทวนอีกรอบเพื่อความเข้าใจตรงกัน
เดท (นาม) หมายถึง การนัดพบกันโดยมีการวางแผนล่วงหน้าสำหรับคนสองคนที่มีความสัมพันธ์เชิงความรัก (ตามความหมายของ Cambridge Dictionary) ซึ่งคำนี้ปรากฏขึ้นครั้งแรกในปี 1896 แต่วัฒนธรรมการเดทเริ่มต้นจริงๆ ช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเข้ามาของนวัตกรรมใหม่ๆ มากมาย (เช่น รถยนต์ฟอร์ด Ford Model T 1970 ที่ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมรถยนต์) ที่ได้ทำให้คนหนุ่มสาวได้มีพื้นที่ในการแสดงออกมากขึ้น รวมไปถึงเรื่องแนวความคิดของความรักที่กลายเป็นเรื่องที่เปิดเผยมากขึ้น อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญคือมีการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างสังคมที่ผู้หญิงเริ่มมีบทบาทมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา
ก่อนหน้าศตวรรษที่ 20 เป็นช่วงที่สังคมชายเป็นใหญ่ และมีบทบาททางสังคมมากกว่า ทำให้การออกเดทในช่วงเวลานี้จึงเป็นฝ่ายชายที่เป็นคนออกเงิน เพราะด้วยสถานภาพทางสังคมของฝ่ายหญิงที่ไม่ได้มีกำลังและบทบาทมากนัก แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยอีกรอบ การที่ชายและหญิงได้มีฐานะ, บทบาท และสถานภาพหลายๆ อย่างที่เท่าเทียมกันจึงเกิดคำว่า “แชร์” ขึ้นมาในที่สุด การออกเงินในการเดทจึงเป็นเรื่องของบุคคลสองคนที่ตกลงกัน ไม่ใช่ธรรมเนียมปฏิบัติอย่างที่เคยเป็นมาในยุคแรกอีกต่อไป
แล้ววัฒนธรรมการเดทเข้ามาในไทยเมื่อไรกันละ ? ของไทยเรานั้นได้รับอิทธิพลเรื่องการออกเดทในช่วงต้นทศวรรษ 2460 จนถึงทศวรรษ 2480 โดยในช่วงระยะเวลานี้เป็นช่วงที่บรรยากาศในสังคมไทยกำลังเปลี่ยนแปลง
อันที่จริงแล้ว การพัฒนาเรื่องความสัมพันธ์และความรักของสังคมไทยก็มีการพัฒนาไม่ต่างจากตะวันตกมากนัก เพราะแต่เดิมสังคมไทยยังค่อนข้างแคบ ความสัมพันธ์ระหว่างเพศจึงเป็นเรื่องที่ถูกมองว่าไม่สมควร นอกจากนั้นแล้วผู้หญิงยังเป็นเพศที่ไม่มีสิทธิ์ไม่มีเสียงในการเลือกคู่จนไปถึงแต่งงาน โดยมากมักเป็นการคลุมถุงชนเสียมากกว่า จนเมื่อมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นทำให้สังคมไทยเกิดพื้นที่ทางสันทนาการที่ขยายตัว เช่น โรงภาพยนตร์ สวนสาธารณะ ห้างสรรพสินค้า งานสมาคมและงานรื่นเริงต่างๆ การเดทจึงค่อยๆ เป็นที่แพร่หลายมากขึ้นตามยุคสมัย
จวบจนปัจจุบัน วัฒนธรรมการเดทก็ยังคงดำเนินอยู่ต่อไป แต่ก็ต้องเรียกได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยและโครงสร้างทางสังคม เช่น จากการเดทที่แต่ก่อนเคยเป็นเรื่องของคนสองคน ก็ดำเนินมาเป็นธุรกิจ Matching หรือธุรกิจหาคู่รักได้ และนอกเหนือจากนั้นแต่ละชนชาติก็มีวิธีการเดท และการนิยามการเดทที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับโครงสร้างทางสังคมที่แต่ละชนชาติมีมาแต่ดั้งเดิม และนี่เรายังไม่ได้พูดถึงเรื่องการหาคู่เดทที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างในโซนเกาหลีและญี่ปุ่นมีการ “นัดบอร์ด” ที่เป็นการพบเจอของชายและหญิงแบบเป็นกลุ่มเผื่อที่ว่า (อาจจะ) ได้มีคนพัฒนาความสัมพันธ์กันต่อไป ซึ่งการ “นัดบอร์ด” ที่ว่ามานี้ไม่ป๊อปในไทยเอาเสียเลย
และในที่สุดจากอดีตก็มาถึงยุคที่เรามีอินเทอร์เน็ตและสมาร์ตโฟนในมือที่จะทำให้เราสามารถ Swipe Right หรือ Left ในการ “เลือก” คนได้มากขึ้น
ส่วนในอนาคต เราก็ยังไม่แน่ใจว่าวัฒนธรรมการเดทจะเปลี่ยนผ่านไปในรูปแบบใดได้อีก แต่เชื่อได้ว่าการเปลี่ยนผ่านที่จะเกิดขึ้นต้องมีต้นตอมาจากบริบททางสังคม และสภาพเศรษฐกิจอย่างแน่นอน
อ้างอิง: