Curse of Knowledge หรือคำสาปทางความรู้ เป็นเหมือนความเอนเอียงในการตัดสินใจหรืออคติในการตัดสินใจรูปแบบหนึ่ง (cognitive bias) ค้นพบตั้งแต่ปี 1989 โดยนักเศรษฐศาสตร์ 3 คน ได้แก่ Colin Camerer George Loewenstein และ Martin Weber
ในช่วงปี 1990 มหาวิทยาลัย Stanford ทำการทดลอง โดยแบ่งผู้เข้าร่วมทดลองเป็น 2 กลุ่ม
‘คนเคาะ’ กับ ‘คนฟัง’
ฝ่ายคนเคาะจะได้รับรายชื่อเพลงชื่อดังอย่างพวก Happy Birthday แล้วก็พยายามเคาะเป็นจังหวะให้คนฟังที่ไม่รู้ชื่อเพลงนั้นตอบให้ได้ว่ามันคือเพลงอะไร
คุณคิดว่าใน 120 เพลง พวกเขาจะทายถูกกี่เพลงกัน?
คนเคาะคิดว่า พวกเขาจะสามารถเคาะให้คนฟังทายถูกได้มากถึง 60 เพลงหรือ 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ความเป็นจริง คนฟังสามารถตอบได้เพียง 3 เพลง หรือ 2.5 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น
พอเรารู้แล้วว่าแต่ละเพลงคืออะไร เราก็ไม่สามารถจินตนาการถึง ‘ความไม่รู้’ ไม่ออกเลยด้วยซ้ำ และนั่นมันก็คือคำสาปแห่งความรู้ที่เกิดขึ้นกับเรานั่นเอง
ในสถานการณ์จริง ลองนึกภาพอาจารย์ระดับศาสตราจารย์ที่มาสอนหนังสือก็ได้ ทุกคนต่างรู้ดีว่าคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่มีความรู้มาก แต่ในบางครั้งพวกเขากลับเป็นอาจารย์ที่สอนไม่ค่อยรู้เรื่อง สอนเร็วเกินไป สอนข้ามไปมา ซึ่งมันก็อาจจะเป็นเพราะว่า พวกเขามีความรู้มากเกินไป และไม่เข้าใจว่า การไม่เข้าใจ หรือไม่รู้ในเรื่องที่พวกเขาเชี่ยวชาญเป็นแบบไหนกันแน่
ไม่ใช่แค่ในโลกของการเรียน การทำงานที่มีลำดับขั้นตอน เมื่อผู้ส่งสารเกิดมี Curse of Knowledge อาจจะทำให้ไม่สามารถสื่อสารหรือถ่ายทอดคำสั่งสู่พนักงานระดับอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ แถมถ้าเป็นหัวหน้างาน อาจจะขาดความเข้าใจลูกน้องในทีม ว่าทำไมพวกเขาถึงทำไม่ได้ พวกเขาไม่เข้าใจอะไรกันแน่ เพราะคุณอาจจะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ไม่ได้ซับซ้อนอะไรเลย
การมีความรู้ที่หลากหลาย การมีความรู้ที่รอบด้าน นับว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็อย่าลืมด้วยว่า พวกเราทุกคนมีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน มีขอบเขตของความรู้ไม่เหมือนกัน ง่ายสำหรับเรา อาจไม่ง่ายสำหรับเขา จะสื่อสารอะไรก็อย่าลืมประเด็นนี้ เพื่อคุณจะได้เป็นคนที่เก่งและก็สามารถถ่ายทอดการสื่อสารได้ดีกว่าที่เคยเป็นมา
อ้างอิง:
- Harvard Business Review. The Curse of Knowledge. https://bit.ly/3isDxst