4 Min

ทำไมจระเข้ถึงไม่มีวิวัฒนาการมากว่า 200 ล้านปี?

4 Min
7203 Views
12 Mar 2021

ทุกวันนี้ในโลกของความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เรามักจะใช้อุปมาทางวิวัฒนาการโดยเทียบสิ่งเก่าๆ ที่อยู่โดยไม่ยอมเปลี่ยนแปลงว่า “ไดโนเสาร์” ที่ไม่ยอมวิวัฒนาการและจะสูญพันธุ์ไปในที่สุด

แนวความคิดแบบนี้อาจทรงพลังในทางการเมือง แต่ในความเป็นจริง เราอาจลืมไปว่าบนโลกนี้ ก็มีสัตว์จำนวนหนึ่งที่ “ไม่วิวัฒนาการ” มาตั้งแต่ในยุคไดโนเสาร์ และทุกวันนี้ก็ยังอยู่ดีมีสุข

ซึ่งสัตว์จำพวกที่ว่าและเราน่าจะรู้จักกันดีที่สุดก็คือ “จระเข้”

จระเข้ สัตว์ที่ไม่วิวัฒนาการกว่า 200 ล้านปี?

จระเข้ปัจจุบันสายพันธุ์แม่น้ำไนล์

จระเข้ปัจจุบันสายพันธุ์แม่น้ำไนล์ | Wikipedia

ตามหลักฐานทางฟอสซิล จระเข้ที่หน้าตาแบบทุกวันนี้พบมาตั้งแต่ 200 ล้านปีก่อนแล้ว และถึงแม้ว่าวันนี้จระเข้จะมีหลายสายพันธุ์ แต่หน้าตาพวกมันแทบไม่ต่างกันเลย และนั่นก็คือไม่ต่างจากเมื่อ 200 ล้านปีก่อน

ถามว่าแปลกไหม? คำตอบคือ “แปลก” เพราะสัตว์ส่วนใหญ่จะมีวิวัฒนาการกระจายออกไปหลากหลายสายพันธุ์ที่หน้าตาแตกต่างกันมาก เช่นนกที่เกิดหลังจระเข้หลายล้านปี ในปัจจุบันก็ไม่มีนกที่หน้าตาเหมือนนกยุคแรกอีกแล้ว และมันก็ได้วิวัฒนาการแตกสายพันธุ์ไปราวๆ 10,000 สปีชีส์ ซึ่งมีตั้งแต่ตัวเล็กจิ๋วแบบฮัมมิงเบิร์ด ไปจนถึงตัวเบ้อเริ่มแบบนกกระจอกเทศ

ส่วนจระเข้น่ะเหรอ ทุกวันนี้มีเพียง 25 สปีชีส์ แถมหน้าตาไม่ต่างจากเมื่อ 200 ล้านปีก่อนอีกด้วย

นี่จึงเป็นปริศนาทางวิวัฒนาการอย่างมากว่าทำไมจระเข้ถึงไม่มีวิวัฒนาการมาเป็นเวลา 200 ล้านปีเช่นเดียวกับสัตว์อื่นๆ

หรือว่าจริงๆ เราเข้าใจวิวัฒนาการผิด?

สัตว์ที่พยายามวิวัฒนาการน่ะ ตายหมดแล้ว

คุยมาถึงตรงนี้ เราอาจต้องกลับไปคำถามง่ายๆ ว่า “ทำไมต้องวิวัฒนาการ?” เราต้องเข้าใจก่อนว่าไม่มีสิ่งมีชีวิตชนิดใดในโลก “นึกสนุก” ตื่นขึ้นมาอยากวิวัฒนาการก็วิวัฒนาการ เพราะวิวัฒนาการเป็นกระบวนการคัดสรรตามธรรมชาติที่ทำให้การกลายพันธุ์บางอย่าง ลักษณะทางสายพันธุ์บางอย่างถูกสืบทอดมาในสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์นั้น เช่น สิ่งมีชีวิตเพศผู้ก็ต้อง “วิวัฒนาการ” ให้สิ่งมีชีวิตเพศเมียยอมและอยากผสมพันธุ์ด้วย เช่น ในสัตว์บางสายพันธุ์ เพศผู้ก็จะดูสวยงามกว่าเพศเมีย (เช่น นกยูง) นักล่าก็ต้องปรับตัวตามเหยื่อ เหยื่อน้อยลง มันก็ต้องวิวัฒนาการให้ตัวเล็กลง เป็นต้น

ตรงนี้เราจะเห็นว่ามันต้องมีปัจจัยบางอย่างมา “บีบ” ให้สิ่งมีชีวิตต้องวิวัฒนาการเสมอ ดังนั้นถ้าไม่มีอะไรมาบีบ สิ่งมีชีวิตก็จะไม่มีวิวัฒนาการ หรือให้ตรงกว่านั้นก็คือมันก็จะวิวัฒนาการไปแล้วพบว่าเป็นอย่างเดิมนี่แหละดีที่สุด

และนี่แหละครับคือจระเข้

ถ้าดูหลักฐานฟอสซิล เราจะพบว่าจริงๆ จระเข้ไม่ได้ไม่มีวิวัฒนาการไปหน้าตาแบบอื่นอย่างที่เชื่อกัน เพราะจริงๆ มีหลักฐานยืนยันว่าจระเข้ได้วิวัฒนาการไปมีหลายลักษณะมาก ไม่ว่าจะเป็นเวอร์ชั่นแบบไดโนเสาร์ที่ยืนสองขาได้ เวอร์ชั่นหน้าสั้นชอบขุดดิน หรือเวอร์ชั่นมีครีบแทนเท้า และสามารถว่ายน้ำได้อย่างคล่องแคล่วว่องไวในมหาสมุทร

สายพันธุ์ต่างๆ ที่เกิดจากการวิวัฒนาการให้สรีระฉีกจากเดิมของจระเข้ | The Conversation

แต่ผลลัพธ์เหรอ? สายพันธุ์พวกนี้สูญพันธุ์ไปหมด และสายพันธุ์ที่เหลือก็คือพวกที่ “ไม่ยอมวิวัฒนาการ” นั่นแหละ และนี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมจระเข้ทุกวันนี้ถึงหน้าตาเหมือน 200 ล้านปี

พวกมันไม่ได้ “ไม่วิวัฒนาการ” กลับกัน พวกที่พยายามจะวิวัฒนาการน่ะ ตายหมดแล้ว

วิวัฒนาการแบบสมดุลและเชื่องช้า

ภาวะของจระเข้ทำให้คำอธิบายด้านวิวัฒนาการต่างๆ มีปัญหามาก มันเลยต้องสร้างคำอธิบายทางวิวัฒนาการใหม่ว่าจระเข้เป็นสิ่งมีชีวิตที่เรียกได้ว่า ‘วิวัฒนาการแบบสมดุลและเชื่องช้า’ (punctuated equilibrium)

ถ้าจะอธิบายง่ายๆ ก็คือ สิ่งมีชีวิตที่วิวัฒนาการแบบนี้ จะวิวัฒนาการอย่างช้ามากๆ กล่าวคือถ้าไม่จำเป็น มันจะไม่วิวัฒนาการ

ถามว่า “ข้อดี” ของวิวัฒนาการแบบนี้คืออะไร?

ต้องเข้าใจก่อนว่า บางทีถ้าสภาพแวดล้อมเปลี่ยน บางทีสิ่งมีชีวิตก็จะ “รีบ” วิวัฒนาการไปให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมเลย แต่ถ้าสภาพแวดล้อมกลับมาเป็นแบบเดิมแบบเฉียบพลัน ผลก็คือไอ้สิ่งมีชีวิตที่วิวัฒนาการใหม่ไปจนลักษณะทางกายภาพเปลี่ยน มันก็ไม่ได้เหมาะกับสภาพแวดล้อมแบบเดิม แต่ครั้นจะวิวัฒนาการกลับเป็นแบบเดิมก็ไม่ทันเวลา ผลสุดท้ายก็คือพวกมันสูญพันธุ์ในที่สุด

นี่เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับจระเข้สายพันธุ์ที่รอดมาจนถึงปัจจุบันเป็น เพราะพวกมันคือสายพันธุ์จระเข้ที่ไม่ยอมวิวัฒนาการไปตามสภาพแวดล้อม แค่มันพออยู่ได้ก็พอ ไม่รู้จะวิวัฒนาการไปทำไม

ถ้าว่ากันตามตรง จากที่มัน “พออยู่ได้” ในสภาพแวดล้อมต่างๆ กันหลายแบบ ก็เพราะมันเป็นสิ่งมีชีวิตที่ “สมบูรณ์แบบ” มากๆ คือมันเป็นโคตรนักล่าที่พลังโจมตีสูง พลังป้องกันก็สูงจากผิวหนังโคตรหนา ระบบภูมิคุ้มกันก็ดีระดับขาขาดก็ไม่ติดเชื้อจนตาย

แต่สิ่งที่โหดจริงๆ ของจระเข้ที่ช่วยให้พวกมันมีโอกาสรอดสูงไม่ว่าจะในภาวะใดๆ ก็คือพวกมันไม่จำเป็นต้องกินอาหารบ่อยๆ มีบันทึกว่าพวกจระเข้ตัวใหญ่ๆ สามารถไม่กินอาหารเป็นปีโดยไม่ตาย แม้ว่าตามธรรมชาติพวกมันจะกินอาหารประมาณอาทิตย์ละ 1 ครั้งก็ตาม

“ความลับ” ในการที่พวกมันไม่ต้องกินอะไรบ่อยก็คือระบบเมตาบอลิซึมในการสกัดสารอาหารของพวกมันดีมากๆ เรียกได้ว่าเก็บพลังไว้ทุกส่วนได้เต็มๆ นี่ยังไม่ต้องนับการที่มันเป็นสัตว์เลือดเย็นที่ไม่มีความจำเป็นต้องกินอะไรบ่อยๆ ในการรักษาอุณหภูมิร่างกายด้วย

นอกจากไม่ต้องกินบ่อยแล้ว จระเข้ยังเป็นสัตว์ที่แทบจะไม่เลือกกินเลย คือพวกมันกินอะไรก็ได้ สัตว์เป็นๆ ตัวเล็กตัวใหญ่กินได้หมด หิวๆ นี่แม้แต่ ‘หอย’ พวกมันก็ยังกินได้ ซากสัตว์แบบเศษเนื้อติดกระดูกมันก็กินได้ ซึ่งอันนี้ก็ต้องเข้าใจว่าพวกมันไม่ได้แทะเนื้อนะ แต่พวกมันมีความสามารถกินสัตว์ต่างๆ เข้าไปได้ทั้งกระดูกเลย

และนี่นำมาสู่ความลับที่โหดที่สุดของจระเข้ที่ “น้ำย่อย” ของมันถือว่ามีฤทธิ์ในการย่อยที่รุนแรงที่สุดในบรรดาสิ่งมีชีวิตใดๆ ในโลก และเป็นเหตุผลให้พวกมันแทบจะ “กินอะไรก็ได้” เพราะระบบย่อยอาหารจัดการย่อยสลายได้หมด

เพราะสมบูรณ์แบบ จึงไม่ต้องวิวัฒนาการ

ทั้งหมดที่ว่ามา จะให้อธิบายง่ายๆ แบบลัดสั้นที่สุดก็คือ การที่จระเข้ไม่วิวัฒนาการมาเป็น 200 ล้านปี หลักๆ ก็เพราะว่ามัน “สมบูรณ์แบบ” อยู่แล้ว

มันเป็นนักล่าที่ไม่ต้องกลัวอะไรมากินในระบบนิเวศของมัน มันไม่ได้ตัวใหญ่แบบต้องการอาหารมากมายเพื่อที่จะมีชีวิตรอด พร้อมกันนั้นมันก็เป็นสิ่งที่ไม่ต้องการกินอะไรบ่อยๆ เพื่อที่จะมีชีวิต และมันก็เป็นสัตว์ที่ไม่เลือกอาหารมาก เพราะระบบย่อยอาหารมันดีที่สุด มันเลยหาอาหารกินได้ง่ายด้วย

แล้วเรื่องทั้งหมดนี้ สอนอะไรเรา?

หนึ่ง ความคิดที่ว่า “ไม่วิวัฒนาการจึงสูญพันธุ์” อาจใช้ได้เฉพาะกับสิ่งมีชีวิตที่ดำรงอยู่อย่างไม่สมดุลและมีความสามารถทางกายภาพในการปรับตัวต่ำเท่านั้น เพราะตลอดประวัติศาสตร์ 200 ล้านปีของจระเข้ได้พิสูจน์แล้ว

สอง มันสอนให้เรารู้ว่าถ้าสิ่งมีชีวิตวิวัฒนาการมาจนถึงภาวะที่สมดุลหรือกระทั่ง “ความสมบูรณ์” แล้ว การพยายามวิวัฒนาการต่อไปอาจเป็นการ “หาทำ” ที่ทำให้สูญพันธ์ุไปในที่สุด ดังเช่นสายพันธุ์ญาติพี่น้องของจระเข้ในอดีตที่สูญพันธ์ุไปหมดแล้ว

สาม สุดท้าย ประเด็นไม่ใช่ “ทำไมจระเข้อยู่มาได้ 200 ล้านปีโดยไม่มีวิวัฒนาการ” แต่ประเด็นคือ “เพราะจระเข้ไม่มีวิวัฒนาการ มันถึงอยู่มาได้ 200 ล้านปี” ต่างหาก

อ้างอิง: