Select Paragraph To Read
- ต่อให้มีค่าตอบแทนในการบริจาคเลือด ก็ไม่ใช่การจัดการที่ดีในระยะยาว
- ตัวเลขนี้ทำให้เห็นชัดเลยว่าประเทศรายได้สูงมีผู้บริจาคเลือดมากกว่า
ช่วงที่ผ่านมา เกิดปัญหาขาดแคลนเลือดบ่อยๆ ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเชิญชวนคนไทยไปบริจาคเลือดกันเยอะๆ แต่ความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์ระยะหลังๆ มีคนจำนวนมากโพสต์ในทำนองว่าไม่อยากบริจาคเลือดให้องค์กรที่เอาเปรียบประชาชน และพาดพิงกรณี ‘สภากาชาดไทย’ ได้โควตาวัคซีนป้องกันโควิด ‘โมเดอร์นา’ 1 ล้านโดส ไปกระจายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้มีคนมองว่านี่คือการปาดหน้าไปจากโควตาวัคซีนที่ประชาชนจ่ายเงินจองกับโรงพยาบาลเอกชน
สภากาชาดไทยแถลงปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด แต่ยังมีคนมองว่าเรื่องนี้ทำให้เกิดวิกฤตศรัทธาต่อสภากาชาด คนก็เลยไม่ไปบริจาคเลือด แต่ที่จริงแล้วปัญหาขาดแคลนเลือดเกิดขึ้นทั่วโลก และยิ่งหนักขึ้นในยุคโควิดระบาด เพราะต้องทุ่มเทบุคลากรในการควบคุมโรค แต่ความต้องการใช้เลือดเพื่อรักษาพยาบาลกลับเพิ่มขึ้น และหลายชาติสั่งจำกัดการเดินทางเพื่อคุมโควิด ทำให้การไปบริจาคเลือดยิ่งยากขึ้นด้วย
ในเมื่อปัญหาขาดแคลนเลือดคือประเด็นร่วมกันของคนทั่วทั้งโลก แล้วจะทำอย่างไรถึงจะเกิดความยั่งยืนในการจัดหาและเก็บเลือดสำรองให้เพียงพอ นี่คือโจทย์ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) บอกให้รัฐบาลแต่ละประเทศหาคำตอบกันให้ได้
เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจริงและเป็นปัญหามาตลอดคือ ปริมาณเลือดไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้งานถือเป็น ‘เรื่องปกติ’ และเกิดขึ้นเป็นประจำทุกๆ ปี
กรณีของไทย คนที่บริจาคเลือดประจำต้องเว้นช่วงบริจาคเพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูตัวเอง คนกลุ่มนี้จึงบริจาคเลือดประมาณปีละครั้งหรือสองครั้ง ช่วงที่ไม่มีคนบริจาคจึงเกิดปัญหาขาดแคลนเลือด เพราะเลือดที่คนบริจาคส่วนใหญ่เพียงพอต่อการใช้งานในช่วงนั้นๆ แต่ไม่มีพอจะเก็บสำรอง ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมักจะรณรงค์ให้ผู้บริจาคเลือดแบบ ‘ขาจร’ มาช่วยอุดช่องโหว่นี้ ซึ่งบริษัทเอกชนหรือภาครัฐหลายๆ แห่งก็จะช่วยเกณฑ์คนในสังกัดไปช่วยกันบริจาคแบบอุ่นหนาฝาคั่ง
แต่ประเด็นคือการเกณฑ์คนไปบริจาคหลายครั้ง อาจไม่ได้เลือดในสัดส่วนเท่ากับปริมาณคนที่ไปบริจาค เพราะคนที่แข็งแรงพอเท่านั้นถึงจะบริจาคเลือดได้ หลายๆ คนที่อยากบริจาคแต่สุขภาพไม่พร้อมในวันที่เจาะเลือดก็มีอยู่เยอะ การนับหัวคนบริจาคจึงไม่อาจรับประกันว่าจะได้เลือดในปริมาณที่คาดหวัง
ส่วนข้อมูลในแผนปฏิบัติการของสภากาชาดไทยที่เผยแพร่ในปี 2021 ชี้ว่า ราว 94 เปอร์เซ็นต์ของเลือด ประมาณ 2.743 ล้านยูนิตที่ได้รับบริจาคโดยเฉลี่ย มาจาก 178 หน่วยของสภากาชาดทั่วประเทศ แต่ถ้าดูให้ละเอียดจริงๆ จะพบว่าหน่วยรับบริจาคเลือดเคลื่อนที่และบุคลากร ‘มีจำนวนจำกัด’ แถมยังกระจุกตัวในกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่ ทำให้การบริจาคเลือดในระดับภูมิภาคมีปริมาณน้อย
การจัดหาทรัพยากรรองรับการบริจาคเลือดให้ครอบคลุมแต่ละพื้นที่ จึงน่าจะเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่สำคัญของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และต้องสื่อสารให้เข้าใจความจำเป็นของการจัดหาเลือด โดยเฉพาะในยุคที่สังคมไทยกำลังจะกลายเป็น ‘สังคมผู้สูงอายุ’ ซึ่งหมายความว่าในอนาคตจะมีผู้ป่วยต้องใช้เลือดในการรักษาพยาบาลโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ในปริมาณที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงไม่ควรปล่อยให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดหาเลือดตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมจนสร้างความไม่พอใจให้กลุ่มคนจำนวนมาก และต้องหาทางแก้ไขเรื่องนี้ให้เร็ว เพราะปัญหาขาดแคลนเลือดที่เป็นอยู่ปกติก็ยากจะรับมืออยู่แล้ว ถ้าคนส่วนใหญ่ที่เคยบริจาคเลือดหยุดบริจาคไปจริงๆ ก็จะยิ่งส่งผลกระทบไปทั้งระบบ
ต่อให้มีค่าตอบแทนในการบริจาคเลือด ก็ไม่ใช่การจัดการที่ดีในระยะยาว
ถ้าดูจากข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารจัดการเลือดที่ WHO เผยแพร่ในปี 2020 ก็จะพบว่าทั่วโลกพึ่งพาการบริจาคเลือดเป็นหลัก ประมาณ 79 ประเทศทั่วโลก แต่ก็มีอีก 56 ประเทศที่มีการซื้อขายเลือด หรือไม่ก็ใช้วิธีขอเลือดจากสมาชิกครอบครัวของผู้ป่วยโดยตรง
ข้อมูลตรงนี้ยังบอกด้วยว่า ประชากรในประเทศรายได้สูงจะบริจาคเลือดมากกว่าประเทศที่มีรายได้ปานกลางและประเทศยากจน โดยสัดส่วนผู้บริจาคเลือดต่อจำนวนประชากร 1,000 คนในประเทศรายได้สูงจะอยู่ที่ 31.5 คน ประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง มีผู้บริจาคเลือด 15.8 คน ตามด้วย 6.8 คนจากกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับล่าง ส่วนประเทศรายได้ต่ำมีผู้บริจาคเลือดราว 5.0 คน
ตัวเลขนี้ทำให้เห็นชัดเลยว่าประเทศรายได้สูงมีผู้บริจาคเลือดมากกว่า
แต่การที่คนในประเทศรายได้สูงบริจาคเลือดมากกว่าคนในประเทศรายได้ปานกลางหรือรายได้ต่ำ ไม่ใช่ตัวชี้วัดว่าคนรายได้สูงมีจิตอาสาพร้อมจะบริจาคเลือดมากกว่าคนที่รายได้ต่ำ เพราะระบบบริหารจัดการเลือดในแต่ละประเทศต่างกัน
ถ้าประเทศไหนมีหน่วยรับบริจาคเลือดเคลื่อนที่และมีบุคลากรเพียงพอก็มีส่วนช่วยให้คนบริจาคเลือดได้มากกว่าประเทศที่ไม่มีทรัพยากรด้านนี้ ซึ่งกลุ่มหลังก็หนีไม่พ้นประเทศที่มีรายได้น้อยหรือประเทศยากจนนั่นเอง
ส่วนคนที่สงสัยว่าทำไมถึงไม่ใช้วิธีซื้อขายเลือดเพื่อเป็นแรงจูงใจให้มีเลือดเข้าสู่ระบบมากขึ้น ก็ต้องบอกว่าวิธีนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ‘เสี่ยงมาก’ เพราะจะยิ่งทำให้คนที่ให้เลือด ‘ปกปิดข้อมูลด้านสุขภาพ’ หนักยิ่งกว่าเดิม เพื่อให้เลือดของตัวเองมีราคาและขายได้
ผลที่ตามมาคือเลือดที่ได้รับจากการซื้อขายอาจจะ ‘ไม่ปลอดภัย’ เพราะผู้ที่มีโรคติดต่อหรือมีข้อบกพร่องทางพันธุกรรมอาจไม่พูดความจริงตอนให้เลือด และต้นทุนที่ใช้ในการจ่ายค่าเลือด การตรวจสอบเลือด ซึ่งรวมถึงบุคลากรและงบประมาณที่ไม่ใช่จำนวนน้อยๆ ก็จะพลอย ‘สูญเปล่า’ ทั้งหมด หลายประเทศจึงฟันธงว่าไม่ควรใช้วิธีนี้จัดหาเลือด เพราะไม่ยั่งยืน อีกทั้งต้องลงทุนมากขึ้น แต่โอกาสจะได้รับเลือดที่ใช้งานได้จริงกลับลดลง
อีกคำถามที่เกิดขึ้นมากในไทยก็คือ ข้อสงสัยจากผู้บริจาคเลือดที่มองว่าสภากาชาดไทยซึ่งเป็นองค์กรหลักในการบริหารจัดการเลือดของประเทศ ได้เลือดไปฟรีๆ อยู่ทุกปี แต่พอคนที่เคยบริจาคเลือดต้องใช้เลือดในการรักษาพยาบาล กลับมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมาจนน่าตกใจ
ก็คงต้องอธิบายให้เข้าใจสั้นๆ ว่า การได้เลือดมานั้นฟรีก็จริง แต่กระบวนการทำให้เลือดปลอดภัยและใช้งานได้จริงนั้น ‘ไม่ฟรี’ และมีต้นทุนสูงด้วย
อย่างไรก็ดี การที่สังคมตั้งคำถามแบบนี้ไม่ใช่เรื่องผิด และการชี้แจงหรือเปิดเผยขั้นตอนการทำงานอย่างโปร่งใส พร้อมให้ตรวจสอบ ก็น่าจะเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้คนเกิดความเข้าใจและไว้วางใจที่จะบริจาคเลือดเพิ่มขึ้นได้
อ้างอิง:
- สภากาชาดไทย. แผนปฏิบัติการด้านงานบริการโลหิตของประเทศไทย พ.ศ. 2565-2570. https://bit.ly/3EfBXoD
- Science Alert. The World Is Experiencing a Critical Shortage of Blood, First Global Count Reveals. https://bit.ly/3lpsoME
- WorkPoint Today. สภากาชาดไทย ขอเชิญชวนร่วมบริจาคเลือดให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศที่กำลังขาดแคลนเลือดทุกกรุ๊ป. https://bit.ly/3llxKs8
- World Health Organization. Blood safety and availability. https://bit.ly/3peuOik