2 Min

‘ก้านสำลี’ หรือ ‘คอนตอนบัต’ อาจจะไม่สิ่งที่ดีนัก ในการทำความสะอาดหู

2 Min
1323 Views
27 Jun 2022

เมื่อมีอาการหูอื้อ แน่นในหู ผู้คนส่วนใหญ่มักนิยมใช้ก้านสำลีหรือที่เรียกกันติดปากว่าคอตตอนบัด’ (cotton bud) แหย่เข้าไปในหูเพื่อทำความสะอาด นำขี้หูออกมา แต่หารู้ไม่ว่านี่อาจเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง 

ดร.เจอร์รี ลิน (Dr. Jerry Lin) ผู้เชี่ยวชาญด้านหูคอจมูก มหาวิทยาลัยหลุยส์วิลล์ (University of Louisville) สหรัฐอเมริกา ได้อธิบายว่า การทำความสะอาดหูด้วยการใช้ก้านสำลีเป็นวิธีที่ผิด เพราะอาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่อหูได้

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ขี้หูไม่ได้สกปรกอย่างที่เราคิดกัน แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของร่างกาย ซึ่งสร้างจากเซลล์ที่อยู่ในหูชั้นนอกและช่องหู โดยขี้หูเป็นสารที่มีลักษณะมัน ผลิตจากต่อมไขมัน รวมกับฝุ่น เหงื่อ และเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันไวรัส และแบคทีเรียต่างๆ ไม่ให้เข้าไปในช่องหู

อย่างไรก็ดี โดยปกติช่องหูจะทำความสะอาดตัวเองอยู่แล้ว แต่ถ้าหากมีขี้หูสะสมมากเกินไปจนทำให้รู้สึกปวดหู มีปัญหาต่อการได้ยิน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความสะอาดด้วยตัวเอง หรือบางครั้งควรไปพบแพทย์

ดร.ลินกล่าวว่า การทำความสะอาดด้วยตนเองนั้นไม่ควรใช้ก้านสำลี เนื่องจากตัวก้านมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ทำให้เวลาแหย่ก้านเข้าไปในช่องหู จนดันขี้หูเข้าไปลึกมากๆ อาจจะถึงขั้นอัดแก้วหูทะลุได้

รวมถึงการใช้ยาไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen peroxide) หยอดเข้าไปในช่องหูขณะนอนตะแคง ก่อนที่จะลุกขึ้นนั่งแล้วปล่อยให้มันไหลออกมาให้หมด ก็เป็นอีกวิธีที่ถึงแม้ว่าแพทย์บางคนอาจจะใช้เป็นแนวทางในการทำความสะอาด ขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงที่จะระคายเคืองผิวหนังได้ ดร.ลิน กล่าวเพิ่มเติม

พร้อมกับแนะนำวิธีการทำความสะอาดหูที่ถูกต้องและปลอดภัย’ 3 วิธี ได้แก่

  1. ยาหยอดหู
    การใช้ยาหยอดหูช่วยรักษาการอุดตันของช่องหูได้ เนื่องจากสารในน้ำยาจะทำให้ขี้หูอ่อนตัวลงแล้วไหลออกมา ขณะที่ควรอ่านคำแนะนำก่อนใช้ เพื่อจะได้รู้ว่าควรใช้ปริมาณแค่ไหน อีกทั้งการใช้ยาหยอดหูในการหยอดไม่กี่ครั้งมักจะได้ผลทันที ส่วนคนไหนถ้าหากมีขี้หูเยอะ และเกาะแน่นอาจต้องทำสัก 2-3 ครั้ง
  2. เบกกิ้งโซดา
    อีกหนึ่งวิธีที่สามารถทำความสะอาดหู ซึ่งควรใช้วิธีนี้ติดกันเพียงแค่ 2 สัปดาห์เท่านั้น ไม่ควรเกิน โดยวิธีการทำคือ ใช้เบกกิ้งโซดาครึ่งช้อนชา เทน้ำผสมแล้วคนให้ละลาย นำไปบรรจุในหลอดหยด หรือขวดหยดยา

    หลังจากนั้นหยดลงในช่องหู 5-10 หยด ทิ้งไว้ราว 1 ชั่วโมงขี้หูจะอ่อนตัวลง และใช้กระบอกฉีดยาฉีดน้ำอุ่นเข้าไปในช่องหูสำหรับล้างทำความสะอาด พอเสร็จแล้วก็ต้องเอียงศีรษะไปด้านข้าง เพื่อให้น้ำไหลออก ที่สำคัญอย่าลืมเช็ดหูให้แห้งด้วยผ้าแห้งที่สะอาด และทำวันละครั้งหูจะโล่งปลอดโปร่ง
  3. น้ำมันมะกอก
    เป็นวิธีทำความสะอาดด้วยสารจากธรรมชาติ ที่สามารถใช้ได้ทั้งน้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอก หรือใช้เบบี้ออยล์ก็ได้เช่นกัน ซึ่งวิธีการทำก็จะเหมือนๆ กับการใช้เบกกิ้งโซดาเลย เพื่อทำให้ขี้หูนิ่ม และนำขี้หูออกมาได้ 

อย่างไรก็ดี ลองนำวิธีการข้างต้นไปปรับใช้ก็นับเป็นทางเลือกที่ปลอดภัย ช่วยป้องกันอาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ก้านสำลีในการแคะหู ที่สำคัญสามารถลดความเสี่ยงอันตรายต่อหูชั้นใน และแก้วหูได้เช่นกัน  

และสำหรับใครที่รู้สึกว่าขี้หูตันมากขึ้นกว่าเดิม หรือมีอาการอื่นๆ เพิ่มเติม ไปจนถึงคนที่มีโรคเกี่ยวกับหูนั้น ทางที่ดีที่สุดควรไปพบแพทย์เพื่อพึ่งพาการใช้เครื่องมือเฉพาะทาง ในการนำขี้หูออกมาอย่างปลอดภัย ไม่ควรกำจัดขี้หูด้วยตัวเองไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม 

อ้างอิง