ส่องความต่างระหว่างความคิด ‘ฝ่ายซ้าย’ VS ‘ฝ่ายขวา’ เมื่อสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายเห็นค่าไม่ใช่สิ่งเดียวกัน
Select Paragraph To Read
- ‘ความกลัว’ และ ‘ความมั่นคงปลอดภัย’ มีผลต่อแนวคิดของคนในสังคม
- สิ่งสำคัญที่ต้องปกป้อง ‘ต่างกัน’ ทำให้เกิดความขัดแย้ง
การปะทะกันทางความคิดและการใช้กำลังกับผู้เห็นต่างระหว่างกลุ่มคนที่มีแนวคิด ‘ขวา’ กับ ‘ซ้าย’ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาตลอดในประวัติศาสตร์ของหลายๆ ประเทศ
ถ้าแบ่งแบบคร่าวๆ ในเชิงอุดมการณ์ทางการเมือง ผู้ที่สนับสนุนแนวคิดฝ่ายขวาจะอยู่ในฝั่ง ‘อนุรักษนิยม’ ซึ่งมักจะยึดมั่นกับจารีตประเพณีดั้งเดิม รวมถึงเชื่อในการบริหารจัดการอำนาจแบบลำดับขั้น จึงไม่ค่อยจะยอมรับแนวคิดว่ามนุษย์นั้น ‘เท่าเทียมกัน’ คนกลุ่มนี้จึงมักจะต่อต้านความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ซึ่งส่งผลต่อระบบหรือโครงสร้างทางอำนาจที่พวกเขายึดถือ
ขณะที่ฝ่ายซ้ายสนับสนุนแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมและเสมอภาค ไม่เห็นด้วยกับการจัดสรรอำนาจในแบบลำดับขั้น ทั้งยังเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดความหลากหลายในด้านต่างๆ ในสังคม จึงไม่ต่อต้านการรื้อสร้างหรือทำลายระบบที่มองว่าเป็นอุปสรรคต่อความเปลี่ยนแปลง จึงถูกจัดอยู่ในฝั่ง ‘เสรีนิยม’
แต่ฝ่ายขวาจัด หรือ far-right ที่สนับสนุนให้ใช้มาตรการรุนแรงกำจัดผู้เห็นต่าง รวมถึงมีการอ้างแนวคิดนี้ก่อเหตุสังหารหมู่หรือฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ผู้ที่ถูกมองว่า ‘ด้อยกว่า’ และเป็นเหตุการณ์ที่พบเห็นได้ในหลายๆ ประเทศ รวมถึงไทยที่มีคำว่า ‘ขวาพิฆาตซ้าย’ ให้ได้ยินกันจากการปราบปรามผู้เรียกร้องประชาธิปไตยและการปฏิรูปการเมืองหลายครั้งในอดีต
จึงมีผู้พยายามศึกษาระบบคิดเชิงจิตวิทยาของกลุ่มผู้ที่มีแนวคิดแบบขวากับซ้าย เพื่อหาทางออกในการอยู่ร่วมกันโดยที่ไม่ต้องมีใครเข่นฆ่าใคร
‘ความกลัว’ และ ‘ความมั่นคงปลอดภัย’ มีผลต่อแนวคิดของคนในสังคม
Pew Research ในสหรัฐอเมริกา เป็นหนึ่งในสถาบันที่ทำวิจัยเรื่องแนวคิด ‘ขวา’ กับ ‘ซ้าย’ เพื่อทำความเข้าใจกลุ่มประชากรที่สนับสนุนพรรคอนุรักษนิยมอย่างรีพับลิกันและพรรคเสรีนิยมอย่างเดโมแครตที่เป็นพรรคการเมืองหลักของประเทศ
งานวิจัยนี้เก็บข้อมูลต่อเนื่องนับสิบปีหลังจากเกิดวินาศกรรมตึกเวิลด์เทรดและกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ในเหตุการณ์ 9/11 เมื่อเดือนกันยายน 2544 พบว่าประชากรอเมริกันที่ตอบแบบสอบถามเห็นด้วยกับวิธีการของรัฐบาลฝ่ายอนุรักษนิยมมากขึ้น เห็นได้จากการที่ผู้สนับสนุนให้ใช้กำลังอาวุธทำสงครามต่อต้านก่อการร้ายมีจำนวนเพิ่มขึ้น แม้แต่กลุ่มประชากรในพื้นที่ที่เป็นฐานเสียงของพรรคเสรีนิยม ทำให้ผลวิจัยสรุปว่า ‘ความหวาดกลัว’ มีผลให้คนหันไปยึดแนวคิดฝ่ายขวาเพิ่มขึ้น
ขณะที่การวิจัยของ World Values Survey ซึ่งจัดทำในปี 2010 – 2014 สอบถามความคิดเห็นประชากร 60,378 คนจาก 56 ประเทศ อ้างอิงภัยคุกคามด้านต่างๆ ได้แก่ สงคราม การใช้ความรุนแรง ความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปัญหาเศรษฐกิจ ความยากจน และการที่รัฐใช้อำนาจเข้าควบคุมสอดส่องพลเมือง พบว่า ‘ภัยคุกคามทางเศรษฐกิจ’ เป็นประเด็นที่คนในหลายๆ ประเทศกังวลมากที่สุด และมองว่าผู้อพยพที่เข้ามาในประเทศอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาชีพการงานและสาธารณสุข จึงเห็นด้วยกับการใช้มาตรการกีดกันและควบคุมผู้อพยพที่มักเสนอโดยฝ่ายอนุรักษนิยม
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยอื่นๆ ที่ศึกษาเรื่องความกลัวเป็นแรงขับเคลื่อนของฝ่ายขวา แย้งว่า คนที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมอาจจะไม่ได้ขี้กลัวมากไปกว่าคนที่มีแนวคิดเสรีนิยมหรือฝ่ายซ้าย แต่น่าจะเป็นเพราะคนกลุ่มนี้มีปฏิกิริยามากกว่ากับสิ่งที่ตัวเองมองว่าเป็นภัยคุกคาม และมีฐานความคิดว่าต้องป้องกันหรือกำจัด เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายกับตัวเองและพวกพ้อง
ส่วนผลวิจัยของมหาวิทยาลัยเยลเมื่อปี 2017 สรุปเช่นกันว่า ผู้ที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมสามารถเปลี่ยนไปสนับสนุนแนวทางของฝั่งเสรีนิยมเพิ่มขึ้น ถ้าหากมีเงื่อนไขที่รับประกันหรือทำให้คนกลุ่มนี้รู้สึกได้ว่าชีวิตและสถานะทางสังคมของพวกเขาจะยังมั่นคงปลอดภัยเหมือนเดิม
สิ่งสำคัญที่ต้องปกป้อง ‘ต่างกัน’ ทำให้เกิดความขัดแย้ง
นอกจากนี้ ผลสำรวจความเห็นนักเรียนมัธยมปลายยุค 1980 ของสหรัฐฯ พบว่ากลุ่มที่เรียกตัวเองว่าฝั่งอนุรักษนิยมมองตัวเองว่าเป็นกลุ่มคนที่มีความรับผิดชอบ, มีระเบียบวินัย, ประสบความสำเร็จ และมุ่งมั่นทะเยอทะยาน ขณะที่ฝั่งเสรีนิยมจะมองตัวเองว่าเป็นคนอ่อนโยน สุภาพ และมีความรักให้ผู้อื่น
ส่วนผลสำรวจความเห็นนักเรียนมัธยมปลายสหรัฐฯ ในปี 2012 พบว่าฝ่ายขวามองตัวเองเป็นคนที่ซื่อสัตย์ ยึดมั่นในเกียรติยศ จารีตประเพณี หน้าที่ของพลเมือง เคารพในอำนาจรัฐ และเป็นคนดี ขณะที่คนที่นิยามตัวเองเป็นฝ่ายซ้าย เชื่อว่าตัวเองเป็นคนที่เห็นอกเห็นใจในมนุษย์ และยึดมั่นในความเป็นธรรม
แม้จะไม่อาจสรุปได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวาในประเทศอื่นๆ จะมองว่าตัวเองเหมือนกับกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจความคิดเห็นในสหรัฐฯ หรือไม่ แต่คาดว่าวิธีคิดหลักๆ น่าจะไม่ต่างกันมากนัก
อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยที่สรุปผลว่า คนที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมพึงพอใจในชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเองได้ง่ายกว่าคนที่มีแนวคิดเสรีนิยม เพราะคนกลุ่มหลังมีความคาดหวังว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงสังคมมากกว่าคนกลุ่มแรก และการเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของฝั่งเสรีนิยมหรือฝ่ายซ้าย อาจถูกมองว่าเป็นการพยายามทำลายค่านิยมหรือสิ่งที่เป็นคุณค่าของฝั่งอนุรักษนิยมหรือฝ่ายขวาได้ และในอดีตก็เคยมีกรณีที่ฝ่าย ‘ซ้ายจัด’ อย่างรัฐบาลยุคเขมรแดงที่ใช้วิธีสังหารหมู่กำจัดฝ่ายตรงข้ามในนามของการสร้างสังคมที่เท่าเทียมเช่นกัน
การปะทะกันระหว่างฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายเพื่อปกป้องอุดมการณ์หรือชุดความเชื่อของตัวเองจึงเกิดขึ้นอยู่เสมอ แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมและจิตวิทยามองว่าการถกเถียงเพื่อหาทางออกร่วมกันต้องพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง โดยต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะหลายประเทศมีเงื่อนไขที่ทำให้ฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายมีจุดยืนต่อประเด็นต่างๆ ไม่เหมือนกัน และขึ้นอยู่กับว่าผู้มีอำนาจขณะนั้นเลือกยืนอยู่ฝั่งไหนด้วย
อ้างอิง:
- Fear may no drive differences between conservatives and liberals. https://bit.ly/3lYFG3c
- Political Orientations Are Correlated with Brain Structure in Young Adults. https://bit.ly/3B90MjG
- Conservatives Might Not Have A More Potent Fear Response Than Liberals After All .https://bit.ly/3psHljX
- These key psychological differences can determine whether you’re liberal or conservative. https://bit.ly/3aTQMAm