ปกติเราจะเข้าใจกันว่าบรรดาประเทศมหาอำนาจนี่จะมีบทบาทสำคัญในการควบคุมความเป็นไปทางเทคโนโลยีของโลกใช่ไหม? แต่จริงๆ แล้วบางทีโลกมันก็ซับซ้อนกว่านั้น เพราะบางทีประเทศเล็กๆ ในแถบที่เป็นมุมมืดของโลกเลยก็ดันมามีบทบาทสำคัญต่อพัฒนาการด้านเทคโนโลยีของโลกได้เช่นกัน ถ้าประเทศนั้นดันไปกุมแร่บางอย่างที่มันสำคัญสุดๆ ต่อเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนแปลงโลก
และเราก็ไม่ได้พูดถึงประเทศวากันดาที่มีแร่ไวเบรเนียมในจักรวาลของ Marvel แต่เรากำลังพูดถึงแร่โคบอลต์ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (คนละประเทศกับสาธารณรัฐคองโกที่อยู่ข้างๆ)
เพราะโคบอลต์ราวๆ 70 เปอร์เซ็นต์ ที่มีอยู่บนโลกอยู่ในประเทศคองโก
แล้วแร่โคบอลต์มันสำคัญยังไงต่อความเป็นไปของโลก?
ในสมัยก่อนแร่โคบอลต์มีหน้าที่หลักๆ ในสังคมมนุษย์ก็แค่การเป็นสีย้อมสีฟ้า (มันเลยมีคำว่า Cobalt blue) แต่มาทุกวันนี้ แร่โคบอลต์นั้นกลายมาเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า และถือว่าเป็นแร่ที่แพงที่สุดในบรรดาแร่ที่ต้องใช้ในการทำแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้เทคโนโลยีทุกวันนี้ (แร่อื่นๆ ที่จำเป็นคือลิเธียม แมงกานีส และกราไฟต์ ซึ่งล้วนมีราคาถูกกว่าทั้งนั้น)
ถ้าใครเคยไปดูราคารถยนต์ไฟฟ้าทุกวันนี้ ก็คงจะโอ้โหกับความแพงของมัน ขนาดไม่โดนภาษีนำเข้ากระจุยกระจายก็ยังแพง และถึงจะอยากช่วยลดโลกร้อนแค่ไหน ก็คงจะไม่มีปัญญาจะซื้อมาใช้ และกลับไปใช้รถยนต์แบบน้ำมันตามเดิม
เคยสงสัยไหมว่าทำไมมันแพงนักหนา?
คำตอบง่ายๆ เลย ‘แบตเตอรี่’
ก็คงไม่ต้องอธิบายกันมากมายนะว่าแบตเตอรี่นี่เป็นส่วนประกอบที่สำคัญสุดๆ ที่ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นรถยนต์ไฟฟ้าและต่างจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน ซึ่งแบตเตอรี่แบบที่พกพาได้ ชาร์จเพิ่มได้ และสามารถจุไฟฟ้าระดับที่มันสามารถขับเคลื่อนรถยนต์ไฟฟ้าจนขับได้เป็นวันๆ ได้ก็เป็นเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นมาไม่นานนี้เอง มันจึงทำให้โลกทุกวันนี้มีรถยนต์ไฟฟ้า
แต่ก็เหมือนเทคโนโลยีใหม่ๆ ส่วนใหญ่ที่เพิ่งออกมา ราคามันแพงสุดๆ ราคารถยนต์ไฟฟ้าทุกวันนี้นี่แทบจะเรียกได้ว่าครึ่งหนึ่ง หรือเกินครึ่งด้วยซ้ำ (ในกรณีรุ่นถูกๆ) มันคือราคาของแบตเตอรี่ สมมติง่ายๆ ก็คือ ถ้ารถยนต์ไฟฟ้ามันราคาสัก 1.2 ล้านบาท ราวๆ 600,000 บาท นี่คือค่าแบตเตอรี่อย่างเดียวเลย
อย่างไรก็ดี มันก็เหมือนเทคโนโลยีอื่นๆ ที่พอมันเริ่มแพร่หลายในวงกว้าง ราคาก็จะค่อยๆ ถูกลงๆ จากสมัยก่อนโน้นที่คงต้องมหาเศรษฐีเท่านั้นที่จะมีเงินซื้อรถยนต์ไฟฟ้าใช้ มาตอนนี้ชนชั้นกลางระดับบนๆ หน่อยก็พอสู้ราคาได้ละ
ก็ไม่ต้องอะไรมาก Tesla Model S ซึ่งเป็นรุ่นแรกเลยของ Tesla นี่ราคาเปิดตัวในปี 2012 มันราวๆ 3 ล้านบาท (เน้นว่าในอเมริกานะ ซึ่งรถยนต์ถูกกว่าบ้านเราเยอะ อธิบายง่ายๆ บ้านเราภาษีรถที่ผลิตในบ้านเราเองก็ราวๆ 40-70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนรถนำเข้าจะโดนไปราวๆ 200-300 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นรถ Tesla Model S ถ้ามาขายบ้านเราตอนเปิดตัวก็จะราคาสัก 7-8 ล้าน ก็ไม่แปลกอะไรเพราะโดนภาษีนำเข้า)
ราคานี้ไม่รวยจริงซื้อไม่ได้หรอก แต่พอมาเป็น Tesla Model 3 ที่เป็นรุ่นราคาถูกที่เปิดตัวมาในปี 2017 นี่เอง ราคาเปิดมันราวๆ 1.1 ล้านบาท ซึ่งเราก็ต้องบอกว่ารถยนต์ไฟฟ้าราคาราวๆ ล้านกว่าบาท (เน้นอีกทีว่า นี่คือราคาในอเมริกา) นี่ถ้าเป็นแค่ชนชั้นกลางหน้าที่การงานดี ชีวิตประสบความสำเร็จหน่อยก็อาจจะซื้อมาขับประดับบารมีกันพอไหวล่ะ
แต่นั่นก็ยังอีกไกล ความพยายามที่จะเปลี่ยนรถยนต์ทุกคันที่วิ่งๆ กันอยู่ในโลกให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้ากันหมด เพราะในปัจจุบัน ราคารถในอเมริกายังเป็นหลักล้านบาทก็ถือว่าแพงมากๆ รถราคาถูกๆ ที่ชาวบ้านจะพอมีเงินซื้อกันอย่างมือหนึ่งต้องราคาระดับไม่กี่แสน
ทุกวันนี้ประเทศส่วนใหญ่ในโลกตระหนักดีแล้วถึงปัญหาโลกร้อน (ไม่ต้องพูดถึงมลพิษ) และการเปลี่ยนแปลงให้รถยนต์บนท้องถนนทั้งหมดเป็นรถยนต์ไฟฟ้าก็จะช่วยแก้ปัญหามหาศาล และหลายประเทศและหลายเมืองในโลกก็เริ่มกำหนดปีที่จะเป็นเส้นตายว่านับแต่นี้ต่อไปจะไม่มีรถยนต์ใช้น้ำมันบนถนนกันอีกแล้ว ผู้ผลิตรถยนต์เจ้าใหญ่ๆ หลายเจ้าก็เริ่มมีกำหนดแล้วว่าปีไหนจะเป็นปีสุดท้ายที่บริษัทจะผลิตรถยนต์ใช้น้ำมันออกมา ต่อจากนี้ไปจะเป็นไฟฟ้าล้วน
ซึ่งแผนที่ว่านี้มันก็วางอยู่บนสมมติฐานที่ว่า ต้นทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามันจะลดลงเรื่อยๆ ซึ่งนี่ก็กลับมาประเด็นที่เราได้เล่าว่า ต้นทุนสำคัญที่สุดมันอยู่ที่แบตเตอรี่
กล่าวโดยสรุปก็คือ ตอนนี้สารพัดฝ่ายในโลกเลย ตั้งแต่รัฐต่างๆ ยันบริษัทรถยนต์ล้วนกำลังวางแผนอนาคตของโลกบนความคิดที่ว่าแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าจะราคาถูกลงเรื่อยๆ จนถึงจุดที่คนทั่วๆ ไปก็สามารถจะซื้อมาขับได้ กล่าวคือรถยนต์ไฟฟ้าราคาถูกๆ มันก็จะกลายทางเลือกที่ราคาไม่ได้แพงไปกว่ารถยนต์ใช้น้ำมันรุ่นราคาถูกๆ ทุกวันนี้ในที่สุด
หรือพูดง่ายๆ คือทุกฝ่ายเชื่อว่าอีกไม่นานเราจะสามารถซื้อรถยนต์ไฟฟ้าได้ในราคาขั้นต่ำไม่กี่แสนบาทได้
ตอนแรกแนวโน้มก็เป็นอย่างนั้นอยู่หรอก เพราะราคาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ามันก็ลดลงเรื่อยๆ แบบเร็วอย่างบ้าคลั่งมาก ก็ไม่น่าแปลกใจเลยที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันในเชิงบวกว่า อีกไม่กี่ปีรถยนต์ไฟฟ้ามันจะราคาถูกพอที่ชาวบ้านชาวช่องจะซื้อมาใช้กันได้ปกติ หรือพูดอีกแบบคือ ถ้าสมัยเปิดตัวแรกๆ ต้นทุนแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ามันก้อนละ 2 ล้านบาท ตอนนี้มันลดลงมาเหลือ 500,000 บาทแล้ว ทุกฝ่ายก็เลยมั่นใจว่าอีกสักพักราคามันจะลงมาแตะราวๆ 100,000 บาทแน่ๆ และตอนนั้นจะขายรถยนต์ไฟฟ้าราคาสัก 3-4 แสนบาทก็น่าจะเป็นไปได้
แต่ทุกวันนี้ราคาที่ลดลงเร็วๆ ก็ค่อยๆ แผ่วลงแล้ว ไอ้ที่อยู่ที่ก้อนละ 500,000 บาท จะลุ้นให้ราคาลงมาแตะ 400,000 บาทยังเหนื่อยเลย ไม่ต้องไปลุ้นไกลให้มันแตะ 100,000 บาท (อันนี้ยกตัวอย่างให้มันดูง่ายๆ ว่าหน่วยจริงๆ ของราคาแบตเตอรี่ที่เขาใช้คือ $/kWh หรือเหรียญสหรัฐฯ ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง)
และเหตุผลที่มันลดลงช้า ก็เพราะราคาไอ้แร่โคบอลต์ในตลาดโลกมันสูงขึ้นนี่แหละ
คือสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกมันเป็นประเทศแนวๆ เผด็จการหน่อย (อารมณ์มีการเลือกตั้ง แต่ประธานาธิบดีไม่ยอมลงจากตำแหน่งเมื่อครบสมัย) ประเทศนี้ปกติพวกแร่โคบอลต์ก็จะเกิดจากการทำเหมืองเล็กเหมืองน้อยที่คุมโดยเหล่าเจ้าพ่อในท้องถิ่น หรือไม่ก็พวกบริษัทของทางรัฐจีนที่มาซื้อสัมปทาน (ฮั่นแน่… แน่นอนว่าพี่จีนเราไม่พลาด)
คองโกคุมการผลิตโคบอลต์ในโลกนี้เกินครึ่งยังไม่พอ แร่โคบอลต์ที่หลงเหลืออยู่ในโลกนี้ราวๆ ครึ่งหนึ่งยังอยู่ในคองโกอีก พูดง่ายๆ คือคองโกมีอำนาจทางเศรษฐกิจเหนือตลาดโคบอลต์ในระดับที่ตั้งราคาแบบกึ่งผูกขาดได้เลย ซึ่งพอมี ‘ทรัพยากรแห่งอนาคต’ อยู่ในมือ รัฐสไตล์นี้ก็มีหรือครับที่จะพลาดใช้ประโยชน์เต็มที่ ก็ทั้งขูดรีดภาษีจากผู้ผลิตเพื่อส่งออกเต็มที่ พร้อมจำกัดโควตาการส่งออกและตั้งราคาอย่างโหด
ผลคือ ราคาโคบอลต์ในตลาดโลกก็พุ่งกระฉูดระดับดับฝันของหลายๆ คนที่คาดหวังว่าเราจะมีรถยนต์ไฟฟ้าราคาถูกใช้ในอนาคตอันใกล้เลย เพราะเจอต้นทุนโคบอลต์เข้าไป ราคาแบตเตอรี่มันก็เริ่มจะลดลงในอัตราเท่าเดิมไม่ได้แล้ว
ซึ่งถามว่าทำไมเขาทำแบบนี้ได้ เอาง่ายๆ ก็คือ ทุกวันนี้ในเหมืองโคบอลต์มันใช้แรงงานเด็กกันสนุกสาน สภาพการทำงานก็ไม่ใส่เครื่องป้องกันใดๆ แต่โลกก็ต้อง ‘ยอม’ ไม่ทำการคว่ำบาตรใดๆ เพราะคว่ำบาร์ตไป ก็คือไม่มีโคบอลต์ใช้ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ คองโกเป็นมหาอำนาจโคบอลต์ระดับที่ถ้าตัดการผลิตไป การขยายตัวของ ‘เศรษฐกิจพลังงานสะอาด’ ก็จะหยุดไปจริงๆ กล่าวคือ แบนน้ำมันจากรัสเซียนี่ก็ยังง่ายกว่าแบนโคบอลต์จากคองโกเยอะ
ที่นี้ก็ไม่ใช่ว่าพัฒนาการตลาดรถยนต์ไฟฟ้ามา ‘เจอตอ’ แบบนี้จะไม่มีทางแก้ ตอนนี้เขาก็กำลังพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ใหม่ๆ ที่จะพึ่งพาโคบอลต์น้อยลง หรือไม่ต้องใช้โคบอลต์เลย แต่แน่นอนสิ่งเหล่านี้ก็ต้องใช้เวลาพอสมควร และที่เกิดขึ้นทุกวันนี้เล่นเอาไทม์ไลน์ของอนาคตที่จะเต็มไปด้วยรถยนต์ไฟฟ้ามันรวนกันไปทั่วโลกเลย
นี่แหละ เป็นเรื่องราวที่แสดงให้เห็นว่าประเทศเผด็จการเล็กๆ ที่ดันกุมเอาทรัพยากรที่สำคัญต่อพัฒนาการของโลกเอาไว้นี่มันสร้างความปั่นป่วนได้ขนาดไหน
อ้างอิง
- Bloomberg. Electric Car Makers Have an Africa Problem. https://bloom.bg/3PPWpBQ
- ABCNews. Blood cobalt.https://ab.co/3cBpfI0