เปิดผับบาร์ถึงตี 4! ข้อเสนอที่มีทั้งคน ‘เห็นด้วย’ และ ‘คัดค้าน’ แต่ก็มีร้านที่ทำแบบนี้อยู่แล้วเพราะจ่าย ‘ใต้โต๊ะ’
อยากรู้แต่ไม่มีเวลา อ่านแค่ตรงนี้พอ
ข้อเสนอให้เปิดผับบาร์จนถึงตี 4 ‘ไม่ใช่เรื่องใหม่’ เพราะก่อนโควิด-19 รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ก็พยายามผลักดันประเด็นนี้อยู่แล้ว ยิ่งเศรษฐกิจซบเซาหนักช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ข้อเสนอถูกนำเสนอเป็นระยะ แต่ก็มีคนค้านด้วยเหตุผลว่าการเปิดผับบาร์นานขึ้นจะทำให้คนกินเหล้าเพิ่มขึ้น และจะมีผลให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนรุนแรงกว่าเดิม ส่วนผู้ว่าฯ กทม. ‘ไม่คัดค้าน’ แต่ย้ำว่าต้องไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน และเชื่อว่าถ้าทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมายจะลดปัญหาการจ่ายใต้โต๊ะหรือการเลี่ยงการตรวจสอบได้
ช่วงต้นเดือนกันยายน 2565 พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เดินหน้าผลักดันข้อเสนอให้เปิดผับบาร์และสถานบันเทิงตอนกลางคืนไปจนถึงเวลา 04:00 น. และรอว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจะมีมติอย่างไร เพราะเมื่อเดือนสิงหาคม รมว.พิพัฒน์ ได้เดินสายคุยกับผู้ประกอบการธุรกิจในแหล่งท่องเที่ยวหลายๆ แห่ง ทั้งที่ถนนข้าวสาร กรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ รวม 8 จังหวัดทั่วประเทศ
เหตุผลของการสนับสนุนให้เปิดผับบาร์ถึงตี 4 เพราะต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศให้กลับมาอยู่ในสภาพปกติเหมือนก่อนสถานการณ์โรคระบาดหลังจากสองปีที่ผ่านมามีคนในแวดวงธุรกิจท่องเที่ยวต้องตกงานเป็นจำนวนมากและกิจการร้านค้าหลายแห่งถึงกับต้องเลิกกิจการ
รมว.ท่องเที่ยวฯ มองว่าการขยายเวลาปิดสถานบันเทิงจากเดิมอยู่ที่ 02:00 น.เป็น 04:00 น. จะเริ่มจากโครงการนำร่องกำหนดพื้นที่ หรือ ‘โซนนิ่ง’ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มที่บางลา จังหวัดภูเก็ต เพื่อให้ทันช่วงสิ้นปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) ของไทย และคาดหวังว่าจะดึงดูดใจนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้กลับมาเที่ยวไทยอีกครั้ง
ขณะเดียวกัน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็ให้สัมภาษณ์สื่อ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2565 หลังจากที่เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษในการประชุมสมาชิกสมาคมโรงแรมไทย ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เขตคลองเตย ย้ำว่าโดยส่วนตัว ‘ไม่คัดค้าน’ การเปิดผับบาร์ถึงตี 4
ผู้ว่าฯ กทม.เชื่อว่าการขยายเวลาเปิดทำการไปจนถึงตี 4 จะช่วยให้ทุกอย่าง ‘ขึ้นมาอยู่บนโต๊ะ’ เพราะถ้ากฎหมายบอกให้สถานบันเทิงปิดเร็วก็อาจมีบางสถานประกอบการที่แอบจ่ายใต้โต๊ะเพื่อจะเปิดเกินเวลาและไม่ได้รับการตรวจสอบเรื่องความปลอดภัยก็จะยิ่งเป็นช่องโหว่มากกว่าดังนั้นหากทำให้ถูกกฎหมายให้ขึ้นมาอยู่บนโต๊ะก็จะทำให้ตรวจสอบได้
สิ่งที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติย้ำเพิ่มเติมคือการเปิดสถานบันเทิงถึงตี 4 ต้องไม่ทำให้เกิดความเดือดร้อนต่อคนอื่น เช่น ประชาชนหรือธุรกิจโรงแรมใกล้เคียง ซึ่งเรื่องการโซนนิ่งไม่ใช่หน้าที่ของ กทม. จึงอาจจะต้องคุยกับทางตำรวจ เพื่อหารือในการอัปเดตโซนให้มีความเป็นปัจจุบันมากขึ้น และตรงตามอุปสงค์ของพื้นที่นั้นๆ
อย่างไรก็ดี ช่วงที่มีข่าวว่าภาครัฐเสนอให้เปิดผับบาร์ถึงตี 4 มูลนิธิเมาไม่ขับรวมถึงศูนย์วิจัยปัญหาสุราก็สะท้อนความกังวลออกมาทันทีว่ายิ่งเปิดผับบาร์นานเท่าไหร่ผู้คนก็มีโอกาสกินเหล้ามากขึ้นเท่านั้นและเมื่อคนกินเหล้ามากขึ้นก็ย่อมจะส่งให้เกิดอุบัติเหตุจากการเมาขับรวมถึงสถิติทะเลาะวิวาทเพราะขาดสติเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
ประเด็นนี้ทำให้ธุรกิจเหล้าและสถานบันเทิงกลางคืนเป็น ‘จำเลยสังคม’ อีกครั้ง แต่ก็มีคนถกเถียงในสื่อโซเชียลเช่นกันว่าในประเทศที่คนดื่มเหล้าและรัฐบาลส่งเสริมเหล้าเป็นสินค้าออกอย่างเกาหลีใต้หรือที่ประเทศอื่นๆ ทำไมถึงไม่มีสถิติอุบัติเหตุจากการเมาขับมากเท่าไทย ไปจนถึงคำถามว่าถ้าประเทศอื่นๆ ควบคุมสถิติอุบัติเหตุได้ เพราะอะไรไทยถึงทำไม่ได้เหมือนเขา และไทยสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจไปเท่าไรแล้วจากการบังคับใช้มาตรการคุมเข้มสถานบันเทิงและสุรา
ในความเป็นจริง องค์กรความปลอดภัยทางถนนในไทยจัดทำโครงการศึกษาเรื่องการบังคับใช้กฎหมายเพื่อลงโทษผู้ที่เมาแล้วขับ โดยเปรียบเทียบเรื่องนี้ระหว่างสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ เวียดนาม สิงคโปร์ และไทย พบว่ากฎหมายไทยค่อนข้างเหมาะสมแล้ว โดยเฉพาะการกำหนดระดับแอลกอฮอล์ เพียงแต่ ‘อัตราค่าปรับ’ และ ‘อัตราโทษ’ กรณีที่มีผู้ปฏิเสธการตรวจวัดแอลกอฮอล์ในไทยถือว่ายังน้อย
นอกจากนี้ กฎหมายไทยยังไม่กำหนดโทษตามปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดและจำนวนครั้งที่กระทำผิด ทำให้ผู้ที่ ‘ดื่มหนัก’ กับ ‘ดื่มน้อย’ หรือ ‘ทำผิดบ่อย’ และ ‘ทำผิดครั้งแรก’ จะได้รับโทษเท่ากัน ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ได้สัดส่วนกับความผิดที่หนักเบาต่างกันสักเท่าไหร่
อีกประเด็นคือการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ‘ยังมีปัญหา’ ทั้งเรื่องความปลอดภัยในการตั้งจุดตรวจเพื่อป้องกันคนเมาแล้วขับ ความโปร่งใสและการประชาสัมพันธ์เรื่องการตั้งจุดตรวจ ซึ่งเป็นประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนที่ควรคำนึงถึงด้วย เพราะมีหลายครั้งที่ผู้ใช้ถนนพบว่าการตั้งด่านตรวจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ทั้งยังเจอกับปัญหาตำรวจมีท่าที ‘เรียกเงิน’ เพื่อให้รอดพ้นจากการถูกลงโทษในคดีเมาแล้วขับ
อ้างอิง
- BangkokBiz News. หนุนจัดโซนนิ่งปิดผับ ’ตีสี่’ บูมท่องเที่ยว. https://bit.ly/3R5ImbQ
- RoadSafety. โครงการศึกษาเรื่อง “การบังคับใช้กฎหมายเมาแล้วขับในประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ เวียดนาม สิงคโปร์และไทย”. https://bit.ly/3r0Wh8l
- Sanook. “ชัชชาติ” รับข้อเสนอเปิดผับถึงตี 4 ปิดประตูจ่ายใต้โต๊ะ เดินหน้าเปิดเมืองฟื้นฟูโควิด. https://bit.ly/3LxhHDB
- ThaiPBS News. ศูนย์วิจัยปัญหาสุราค้านขยายเปิดผับจนถึงตี4. https://bit.ly/3DIk4l4