ในงานเปิดบ้าน BrandThink: Tomorrow is Now หนึ่งในไฮไลท์สำคัญของงานคือการเปิดเวทีเสวนาถึงปัญหาหนังไทยอย่างเผ็ดร้อนและจริงจัง ภายใต้ชื่อ Cinema ThinkBowl อีกหนึ่งรายการภายใต้การ BrandThink Cinema ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดำเนินรายการโดย ต๊ะ – จักรพันธุ์ ขวัญมงคล บก.บห. ของ BrandThink มาเปิดโต๊ะพูดคุย
โดยประเด็นที่พูดถึงในงานนี้มาในชื่อ ‘หนังไทยยังไหวมั้ย’ เพื่อสะท้อนภาพของวงการหนังไทยในปัจจุบันผ่าน 4 ฟิล์มเมคเกอร์ของวงการหนังไทย ได้แก่ คุณต้อม เป็นเอก รัตนเรือง, คุณทองดี โสฬส สุขุม, คุณโต้ง บรรจง ปิสัญธนะกูล และคุณนุชชี่ อนุชา บุญยวรรธนะ
การสนทนาเริ่มต้นด้วยการมองการเปลี่ยนแปลงของวงการหนังไทยในรอบ 10 ปี โดยเป็นเอกได้เล่าถึงพัฒนาการของจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการภาพยนตร์ไทยในยุคต่างๆ ไล่เรียงตั้งแต่ยุคดาราเป็นศูนย์กลาง ไปจนถึงตัวผู้กำกับฯ เป็นจุดขาย ขยับขยายจนสตูดิโอกลายเป็น Brand Royalty สำคัญอย่าง GDH สตูดิโอที่กำหนดทิศทางสำคัญให้กับวงการภาพยนตร์ไทยก่อนที่วงการจะพังทลายลงเพราะโควิด
ในขณะที่บรรจงก็ได้พูดถึงการมาของสตรีมมิ่ง ซึ่งทำให้พฤติกรรมคนดูเปลี่ยนไปจนน่ากลัว และเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญของยุคสมัย
ส่วนอนุชาก็ได้ชวนถกว่าปัญหาของหนังไทยอยู่ที่ทุน ซึ่งโมเดลที่น่าสนใจคือการ Co-Production รวมไปถึงการร่วมมือของหน่วยงานรัฐ แนวหนังที่ตลาดโลกสนใจก็คือหนังผี และมาแรงที่สุดคือหนังแนว LGBTQ+ ที่ตลาดโลกโดยเฉพาะอเมริกาใต้สนใจอย่างมีนัยยะสำคัญ
ขณะที่ทองดี ในฐานะโปรดิวเซอร์ที่หาทุนมาซัพพอร์ตหนังทุนต่ำ ก็เผยว่าการหาทุนในยุคนี้ยากมาก ยิ่งพอเป็นหนังอิสระก็ยิ่งยากไปกันใหญ่ ต้องวัดกันว่าคอนเทนต์ใครน่าสนใจ ซึ่งมันคาดเดาอะไรไม่ได้เลย เพราะถึงแม้ว่าจะหานายทุนได้ แต่ก็ไม่สามารถรับรองได้เลยว่าจะคืนทุนได้ไหมในยุคที่คนเข้าโรงหนังน้อยลง
แน่นอนว่า การแก้ไขของทางภาครัฐเองก็เป็นเรื่องที่สำคัญ โดยอนุชาพยายามผลักดันวาระนี้ให้กับพรรคการเมืองมาโดยตลอด รวมไปถึงการจัดสรรงบจากกระทรวงที่มีปัญหาเสมอมา โดยบรรจงเสริมว่า รัฐมักจะชอบเลือกผลักดันหนังทุนสูงมากกว่า ทั้งที่ความจริงแล้ว หนังเล็กๆ ต่างหากที่ต้องการทุนจัดสรร
บรรจงยังเผยว่า คนดูเองก็เป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้บรรยากาศของการดูหนังยุคนี้เกิดปัญหาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แม้การมาของสตรีมมิ่งจะช่วยผลักดันให้หนังเองมีที่ทางมากขึ้น แต่ก็ทำให้พฤติกรรมของคนดู เลือกความสะดวกสบายในการรอดูที่สตรีมมิ่งมากกว่าในโรง โดยคุณต้อมเสริมว่า ความสะดวกสบายมันก็ไปทำลายการชมภาพยนตร์ ที่สามารถเร่งสปิด หยุด หรือทำอย่างอื่นไปพร้อมกับการดูได้ จนทุกอย่างมันกลายเป็นคอนเทนท์ไปหมดเมื่อมันอยู่ในฟอร์แมตเดียวกัน
ทองดียังสงสัยว่า ในช่วงวิกฤตขนาดนี้ คนที่ได้รับผลกระทบที่สุดอย่างโรงหนังกลับไม่มีทีท่าที่จะสู้อะไรเลย โดยเลือกไปที่การลดราคาตั๋วหนัง ซึ่งยิ่งทำให้คนดูหนังยิ่งไม่ร้อนรนที่จะดูหนังรอบแรกๆ ไปกันใหญ่ เข้าใจว่าโรงหนังทำธุรกิจ แต่การทำหนังก็ถือว่าเป็นธุรกิจเช่นกัน
ประเด็นการเซนเซอร์ก็เช่นกัน ที่แม้ว่าการจัดเรตติ้งก็มีแล้ว แต่ทำไมถึงยังถึงต้องมีการเซ็นเซอร์อยู่อีก ซึ่งการเซนเซอร์ก็ถือเป็นปัญหาเรื้อรังที่แก้ไม่เคยหาย
ทิ้งท้ายกันที่คำถามที่เป็นหัวใจหลักของการสนทนาครั้งนี้ นั่นคือคำว่า “หนังไทยยังไหวมั้ย” ผ่านการเสวนากว่าหนึ่งชั่วโมง ฟิล์มเมคเกอร์ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไม่ไหวก็ต้องไหว” โดยตลอดการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยในวงการหนังไทย พบว่าหนังไทยเผชิญหน้ากับปัญหานานัปการ เพราะถึงจะแก้ปัญหาเก่าได้ แต่เดี๋ยวปัญหาใหม่ก็ตามมาอีก เพราะฉะนั้นการตั้งรับกับปัญหา และความแข็งแกร่งของผู้สร้างก็ต้องเตรียมพร้อมที่จะเผชิญกับปัญหาอยู่ตลอดเวลา
แม้ท้ายที่สุดคำถามนี้จะไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน แต่ BrandThink Cinema ก็อยากจะขอเป็นกำลังใจให้นักทำหนังไทยทุกคนได้ก้าวข้ามอุปสรรคทุกอย่างได้โดยเร็ววัน