2 Min

ทำไมเราถึงไม่มีความทรงจำวัยเด็ก? แล้วมนุษย์เริ่มจำได้เมื่ออายุเท่าไร

2 Min
2174 Views
21 Jun 2021

ความทรงจำเป็นสิ่งมหัศจรรย์ น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ หรือกระทั่งทำให้เราเป็นเรา เรื่องนี้เป็นสิ่งที่รู้กันอยู่แล้ว

แต่เคยสงสัยไหมว่าความทรงจำของเราเริ่มจริงๆ เมื่อไหร่ และมีขีดจำกัดไหมว่ามนุษย์เราจะจดจำเรื่องราวของตัวเองย้อนกลับไปได้แค่ไหน

เอาง่ายๆ มีใครมีความทรงจำก่อนตัวเองเข้าอนุบาลได้บ้างครับ? เอาแบบจำได้จริงๆ ไม่ใช่ดูรูปหรือดูวิดีโอนะ

ในทางวิทยาศาสตร์ โดยทั่วไปนี่คือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะมนุษย์จะเริ่มมีความทรงจำ จริงๆ ประมาณ 3 ขวบขึ้นไป

คำถามคือทำไมเป็นแบบนั้น ในเมื่อมนุษย์ก็เกิดมาพร้อมกับสมองที่ใช้ไปตลอดจนแก่เฒ่า

คำอธิบายมาตรฐานทางวิทยาศาสตร์ปัจจุบันคือ เพราะว่าตอนเด็กๆ สมองส่วนที่เรียกว่าฮิปโปแคมปัสเรายังไม่พัฒนาเต็มที่ และสมองส่วนนี้เองที่วิทยาศาสตร์ปัจจุบันเชื่อว่าเป็นแหล่งในการเก็บความทรงจำของมนุษย์

| Wikipedia

ถามว่าเขารู้ได้ไง หลักๆ ความรู้ตรงนี้มาจากเหตุบังเอิญมากๆ ว่ามีคนเคยไปผ่าตัดสมองเพื่อรักษาลมชัก แล้วเขาเอาสมองส่วนฮิปโปแคมปัสออกไปเกือบหมด (กระบวนการผ่าตัดสมองออกเพื่อรักษาโรคนี้เรียกว่า “Lobotomy” ปัจจุบันไม่มีทำกันแล้ว) ผลคือผ่าตัดเสร็จ เขาไม่สามารถจะจดจำอะไรใหม่ๆ ได้อีกเลย

ซึ่งที่แปลกกว่านั้นก็คือ เขาสามารถฝึกทำอะไรใหม่ๆ ได้ และเก่งขึ้นด้วย แต่เขาจะไม่มีความทรงจำว่าเคยฝึกกล่าวคือร่างกายเขาจำได้ แต่สมองจำไม่ได้

เคสนี้เป็นเคสสำคัญมากๆ ที่นำมาสู่คำอธิบายว่าความทรงจำของมนุษย์อยู่ที่ฮิปโปแคมปัส หรือให้ตรงกว่านั้นก็คือสมองส่วนนี้เป็นส่วนที่ใช้สร้างความทรงจำใหม่ขึ้นมา

และทั้งหมดนี้ ก็เป็นเหตุผลว่า ทำไมเด็กเล็กๆ สามารถเรียนรู้ได้ โดยไม่ต้องมีความทรงจำ ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกับเคสของชายผู้เคราะห์ร้ายที่ว่าเป๊ะๆ

ทีนี้ บางคนก็อาจเถียงว่า ทำไมฉันถึงมีความทรงจำย้อนไปได้เด็กมากๆ ระดับแบเบาะเลย

เคสแบบนี้ วิทยาศาสตร์จะอธิบายว่า จริงๆ แล้ว คุณมีความทรงจำเท็จเพราะถ้าคนอื่นให้คุณดูรูป หรือเล่าเรื่องซ้ำๆ จนคุณจำฝังหัว คุณก็จะมีความทรงจำได้ แม้แต่ในเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริงๆ

และความรู้วิทยาศาสตร์พวกนี้มันสำคัญมากๆ โดยเฉพาะในกระบวนการยุติธรรม เพราะหลังๆ วิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้วว่าความทรงจำเท็จนั้นถูกสร้างขึ้นได้ง่ายมาก และนี่ทำให้พยานบุคคลนั้นมีน้ำหนักน้อยลงมากๆ ในกระบวนการยุติธรรม และทำให้ระบบยุติธรรมปัจจุบันจะเชื่อในหลักฐานด้านนิติวิทยาศาสตร์เป็นหลัก

ซึ่งก็กลับหัวกลับหางกับกระบวนการยุติธรรมในยุคโบราณ ที่ให้ความสำคัญกับพยานบุคคลมากที่สุด

อ้างอิง