ตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 พฤษภาที่ผ่านมา สังคมออนไลน์ของชาวไทยถูกกระแส “แนนโน๊ะ” จากซีรีส์ เด็กใหม่ (Girl From Nowhere) ซีซั่น 2 กลับมาถาโถมใส่กันอีกครั้ง
หนึ่งในตอนที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษคือตอนที่ 5 “รับน้อง” ซึ่งเป็นเรื่องราวของ “เค” พี่หัวหน้าเชียร์รุ่นมัธยม ที่โดนแนนโน๊ะกลับมาล้างแค้นในรุ่นมหาวิทยาลัย ซึ่งสิ่งที่สร้างความฮือฮาในสังคมออนไลน์เป็นพิเศษคือ “เพลงเชียร์” มีเนื้อหาล้อเลียนการ “ข่มขืน”
ประเด็นสำคัญก็คือ เพลงที่ได้รับความเห็นว่าหยาบคายนี้…ดัน “มีอยู่จริง” อ้างอิงตามการให้สัมภาษณ์ของ “คิตตี้ ชิชา” นักแสดงผู้รับบท แนนโน๊ะ (ชมสัมภาษณ์เต็มๆ ได้ที่นี่: https://youtu.be/Mv9UrC6aGUI)
ย้อนกลับไปปี 2003 หรือพ.ศ. 2546 มีเว็บบอร์ดที่อ้างอิงเนื้อหาจากบทความของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์ ในเรื่อง “เพลงถ่อยแห่งสถาบัน”
บุคคลในบทความแทนตัวเองว่า “นายแฉ” เขาได้ออกมาเล่าถึงการได้เข้าไปเห็นการรับน้องรวมของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง และได้ไปตามเก็บ “เพลงเชียร์เนื้อหาลามกหยาบคาย เหมือนเป็นมุมมืดการรับน้อง” ซึ่งเขาบอกด้วยว่า “มีท่าเต้นประกอบที่สุดจะอุจาดลูกนัยน์ตา”
ต่อไปนี้คือเพลงบางส่วนที่เรายกมาจากนายแฉ
เพลง “เมื่อหนูโดนข่มขืน” ที่ปรากฏในซีรีส์เรื่อง เด็กใหม่ ซีซั่น 2 ตอนที่ 5 และกำลังมีประเด็นอยู่ขณะนี้
เมื่อหนูโดนข่มขืน เขาให้ยืนถ่างขา
เขาบังคับ…เขาบังคับให้หลับตา
ที่ใต้สะพานฉันยังจำได้ดี
เมื่อหนูโดนข่มขืน เขาให้ยืนถ่างขา
เอาไอ้โน่น เอาไอ้นี่แหย่เข้ามา
ทีสองทีไม่ว่า นี่ตั้ง 5 –6 ที
คนสองคนไม่ว่า นี่ตั้ง 5 – 6 คน
เพลง “เด็กพาณิชย์”
เด็กพาณิชย์ มารักเด็กคอมดีกว่า
เด็กคอมจะพา พาณิชย์ ไปโดนของดี
ส่วนตัวเด็กคอม จะเป็นผู้กล้าที่ดี
พี่จะพาไปบี้ ไปปี้ให้สุขอุรา
ถ้าหากไม่เชื่อ สาบานต่อหน้าพ่อเรา
ขอวอนน้องเจ้า เอาเหล้ามาเป็นพยาน
ส่วนตัวเด็กคอม จะรักตัวเจ้าให้นาน
ถ้าหากรวนเรเหหัน ให้พ่อลงทัณฑ์ทันที
นายแฉบอกอีกด้วยว่า นี่เป็นแค่ส่วนเล็กๆ เท่านั้น ยังมีหลายๆ เพลงที่เขาอยากจะนำเสนอ แต่ติดตรงที่เนื้อหาหยาบคายและหยาบโลนมากเกินไป
ทาง “นายแฉ” ได้กล่าวส่งท้ายว่า เขาอยากให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหันมาดูแลปัญหาที่ถูกมองข้ามไปประเด็นนี้ และวอนสถาบันการศึกษาให้ใส่ใจกับกิจกรรมรับน้องกันมากขึ้น
ยังมีอีกเพลงเชียร์ที่นายแฉไม่ได้ยกมา แต่เคยมีประเด็นเนื้อหาไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นเพลงเชียร์ที่ใครหลายๆ คนอาจจะคุ้นหู และอาจเคยร้องด้วยความสนุกสนานโดยไม่ได้คิดอะไรมาก่อน
เพลงๆ นั้นมีชื่อว่า “มัดหมี่”
มัดหมี่ มัดหมี่ มัดหมี่ขูดมะพร้าว
ทำกับข้าวอยู่ในครัว
มัดหมี่ไม่รู้ตัวถูกคนชั่วลากออกไป
เอาไม้แหย่รู ถูๆ ไถๆ
แสบๆ คันๆ มันๆ ปนกันไป
เอาออกก็ไม่ได้ใครเอาออกได้ช่วยเอาออกที
จุดเริ่มต้นที่ทำให้เพลงร้องคล่องปาก (แต่ลำบากใจ) เริ่มมีประเด็นขึ้นมา เนื่องจากเพจ “เฟมินิสต์หน่อย” ได้เขียนบทความ “มัดหมี่ วัฒนธรรมรับน้องกับวัฒนธรรมข่มขืน” ลงในปี 2018 และมีผู้แชร์ผ่านทางเฟซบุ๊กถึงเกือบ 9,000 แชร์
ในบทความได้กล่าวถึงระบบโซตัส ว่าระบบโครงสร้างอำนาจแบบผลักดันให้ผู้น้อยยอมรับการโดนกระทำจากผู้ใหญ่โดยไม่มีเงื่อนไขนี้ มีบทบาทบางส่วนในการช่วยผลักดันวัฒนธรรมการข่มขืนที่มันมีอยู่แล้ว ให้กลายเป็นเรื่องปกติของสังคม หรือส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมดังกล่าวมากขึ้น ผ่านการกระทำของรุ่นพี่บังคับให้รุ่นน้องเต้นประกอบเพลงกับเพื่อนสนุกสนาน เหมือนเป็นการทำให้เนื้อหาของเพลง ที่มีบริบทสามารถสื่อไปถึงการข่มขืน ซึ่งเป็นประเด็นจริงจัง ให้กลายเป็นมุกตลก เหมือนเป็นการเล่น “Rape Joke”
นอกจากนี้ ในบทความยังพูดถึงปัญหาที่นอกเหนือจากเพลงเชียร์ ซึ่งก็คือปัญหากิจกรรมเกมที่ส่อไปในเชิงล่วงละเมิดทางเพศ มีการบังคับให้ถอดเสื้อ หรือกิจกรรมร้องเพลงแจว ที่บางทีก็มีการบังคับให้รุ่นน้องเพศต่างๆ ต้องออกเต้นแจว ซึ่งกลายเป็นการบังคับให้เปิดเผยเพศสภาพ
บทความกล่าวสรุปว่า เพจ “เฟมินิสต์หน่อย” ไม่ได้ต่อต้านการรับน้อง แต่เพียงต้องการให้การรับน้องเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์ ไม่รุกล้ำสิทธิของผู้อื่น และให้ไร้ซึ่งการส่งเสริมวัฒนธรรมการข่มขืน
อ้างอิง:
- Medinfo.psu.ac.th. เพลงถ่อยแห่งสถาบัน. https://bit.ly/3vWM51e
- Fanpage เฟมินิสต์หน่อย. มัดหมี่ วัฒนธรรมรับน้องกับวัฒนธรรมข่มขืน. https://bit.ly/3heQDM2