3 Min

ปัญหาเบื้องหลัง ‘มาร์เวล’ ซีจีห่วย ลูกค้าจุกจิก กดขี่แรงงาน มาตรฐานตกต่ำ ที่ลูกจ้างไทยอาจเข้าใจได้ไม่ยาก

3 Min
667 Views
11 Aug 2022

ปฏิเสธไม่ได้ว่ายักษ์ใหญ่วงการภาพยนตร์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาคือมาร์เวลภายใต้การควบคุมของ ดิสนีย์ สตูดิโอ ที่ผลิตหนังซูเปอร์ฮีโร่ครองอันดับบ็อกซ์ออฟฟิศมาโดยตลอด และมีแฟนคลับมากมายทั่วโลก ไม่เว้นที่ไทย

แต่ท่ามกลางเสียงชื่นชมของคนนอกหรือแฟนคลับคนในกลับเริ่มออกมาตีแผ่เบื้องหลังการทำงานกับมาร์เวลที่ไม่ได้สวยหรูอย่างที่หลายๆ คนคิด

หลังม่านมาร์เวลเกิดอะไรขึ้นกันแน่ แล้วเราควรนิ่งเฉยหรือพูดเรื่องนี้กันให้มากขึ้น?

มาร์เวลมีอำนาจเหนือสตูดิโออย่างไรบ้าง?

เริ่มที่ระบบการทำงาน มาร์เวลใช้ระบบการประมูลซึ่งทางบริษัทซีจีจะแข่งกันเสนอราคา ใครให้ราคาถูกใจ มาร์เวลก็จะเลือกทำงานกับบริษัทนั้น ผลพวงจากระบบการประมูล ทำให้บางทีบริษัทต้องกดราคาซึ่งหมายถึงการใช้คนทำงานน้อยลงในงานชิ้นหนึ่งซึ่งบางครั้งกลายเป็นว่าแรงงานไม่สัมพันธ์กับปริมาณงานศิลปินซีจีคนหนึ่งอาจต้องแบกงานมากกว่าที่ควรรับได้

ข้อต่อมาคือมาร์เวลมีระบบแบล็คลิสต์ในวงการซีจีเป็นที่รู้กันดีว่าค่ายนี้ขึ้นชื่อเรื่องการแก้งานในเวลาอันกระชั้นชิด และบางครั้งก็ไม่ใช่การแก้เล็กๆ แต่เป็นการแก้ใหญ่ภายใต้เดดไลน์สุดโหด เช่น ต้องแก้ซีจีทั้งหมดในองก์ 3 ในเวลา 1-2 เดือน ซึ่งถ้าสตูดิโอนั้นทำไม่ได้หรือปฏิเสธ มาร์เวลจะทำการแบล็คลิสต์ไม่จ้างอีกในอนาคต

เหตุผลหนึ่งที่เดดไลน์มาร์เวลขึ้นชื่อว่าโหดหิน เพราะค่ายมีการผลิตภาพยนตร์ในระบบที่เป็นอุตสาหกรรมมากๆ คือมีกำหนดออกฉายของหนังปีละหลายเรื่อง ประมาณ 2-3 เรื่องต่อปี ไม่รวมซีรีส์อื่นๆ อีก โดยทั้งหมดทั้งมวลแทบไม่มีการเลื่อนฉาย ความกดดันของการเปลี่ยนแปลง ถ่ายแก้ ซ่อมซีจี จึงไปตกอยู่กับคนทำงานตัวเล็กตัวน้อยแทน

คุณภาพงานตกต่ำ

โปรเจ็คต์ใหม่ๆ ของมาร์เวลที่ผ่านมาเริ่มมีปัญหาซีจีห่วยให้เห็น เช่นใน ‘She-Hulk: Attorney at Law’ มีแฟนคลับหลายคนที่ออกมาโวยว่าซีจีลอย ดูแข็ง หรือใน ‘Thor: Love and Thunder’ ที่ ไทกา วายตีติ (Taika Waititi) ผู้กำกับล้อซีจีในหนังตัวเองออกรายการ Vanity Fair

นอกจากปัญหาการสั่งแก้และเดดไลน์โหดที่ทำให้คนทำซีจีไม่ค่อยมีเวลาปั้นงานให้เนี้ยบแล้ว ปัญหาซีจีหลายๆ ครั้งยังเกิดขึ้นเพราะความไม่เข้าใจกันระหว่างคนทำกับคนบรีฟ

ศัพท์หนึ่งที่คนในวงการรู้กันคือ มาร์เวลมักมีพฤติกรรม ‘pixel-fucked’ ซึ่งถ้าเป็นที่ไทยอาจถูกเรียกว่าบรีฟเxี้ยโดยหมายถึงการจู้จี้จุกจิกกับงานโดยไม่จำเป็น บอกว่างานไม่เป็นไปตามที่ต้องการ ในขณะเดียวกันก็ไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไรกันแน่ จึงให้ลองนู่นลองนี่ ซึ่งบางครั้งหมายถึงรื้อออกมาแก้ชุดใหญ่ในเวลาใกล้จะฉายแล้ว

อ้างอิงจากการให้สัมภาษณ์กับ Vulture ปัญหาหลักๆ ยังมาจากการที่ผู้กำกับไม่ค่อยคุ้นเคยกับการทำงานร่วมกับทีมซีจี ซึ่งพอมองภาพซีจีไม่ออก เลยมักของานแบบดราฟต์สุดท้ายกับทีมซีจีในช่วงเริ่มต้นซึ่งจริงๆมันต้องใช้เวลาในการทำ

อีกประเด็นหนึ่งคือ ทีมซีจีไม่ได้ทำงานร่วมกับผู้กำกับภาพ’ (DOP) บางครั้งทีมซีจีต้องมาคิดการวางฉากเอง ซึ่งปรากฏว่าทำให้งานดูลอย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือฉากต่อสู้ในภาพยนตร์ ‘Black Panther’ ซึ่งลักษณะทางกายภาพของตัวละครดูผิดเพี้ยน ขยับเขยื้อนผิดธรรมชาติ ดูเหมือนการ์ตูน กล้องขยับโดดไปทั้งเรื่อง และทำลายภาษาภาพยนตร์ ซึ่งอดีตคนทำงานให้ความเห็นว่า มาร์เวลควรฝึกผู้กำกับให้ทำงานร่วมกับซีจีให้มากกว่านี้

คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า

ศิลปินซีจี ดรูฟ โกวิล (Dhruv Govil) ผู้เคยทำงานกับมาร์เวลในหนัง ‘Spider-Man’ และ ‘Guardian of the Galaxy’ ออกมาเปิดเผยทางทวิตเตอร์ว่าการทำงานกับ #มาร์เวล ผลักให้ผมต้องบอกลาวงการซีจี พวกเขาเป็นลูกค้าที่แย่มาก ผมเคยต้องเห็นเพื่อนร่วมงานหลายคนพังหลังจากต้องทำงานหนักเกินไป ในขณะที่มาร์เวลก็บีบคั้นไม่หยุด

เขากล่าวด้วยว่า ต้นสายปลายเหตุเกิดจากการที่มาร์เวลมีอำนาจมากไป อยากสั่งอะไรก็ได้ ซึ่งเป็นรูปแบบการทำงานที่เป็นพิษมาก

อีกหนึ่งคำบอกเล่าของศิลปินซีจีผู้ไม่ขอเปิดเผยนาม เขาให้สัมภาษณ์กับ Vulture ว่า เคยต้องทำงานล่วงเวลาต่อเนื่องติดต่อกันทุกวันเป็นเวลา 6 เดือน โดยต้องทำงานทุกวันในแต่ละสัปดาห์ เฉลี่ยสัปดาห์ละ 64 ชั่วโมง กระทั่งเพื่อนร่วมงานที่นั่งข้างกันยังต้องสติแตก ร้องไห้ ผ่านการโดนจี้งานทางโทรศัพท์

อำนาจการบูลลี่ของมาร์เวลนั้นยังมาจากชื่อเสียงของค่ายหนังเองเมื่อค่ายดังบริษัทซีจีก็อยากทำงานด้วยเพราะต้องการสร้างพอร์ตโฟลิโอให้เป็นที่ประจักษ์ซึ่งหลายๆครั้งมันต้องแลกกับการยอมโดนกดขี่ไป

อดีตผู้ร่วมงานคนนี้แนะนำว่า คนทำงานเองควรต้องมีการจัดตั้งสหภาพเพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทซีจีรับงานโดยไม่คำนึงถึงคนที่ต้องทนเหนื่อยโดยมีคำว่าลูกค้าเป็นใหญ่ค้ำคออีก

ไม่ใช่ลูกค้าทุกคนจะมีอำนาจในการบูลลี่อย่างมาร์เวลอดีตผู้ร่วมงานกับมาร์เวลกล่าว

อ้างอิง