1 Min

แมวอาจใช้เป็น ‘หลักฐาน’ ในการสืบคดีฆาตกรรมได้

1 Min
411 Views
10 Nov 2022

แมวเป็นสัตว์เลี้ยงยอดฮิตของทาสหลายๆ คน แต่เอาเข้าแล้วแมวอาจเป็นได้มากกว่านั้น หลังจากที่นักศึกษาปริญญาเอก ได้ตีพิมพ์งานวิจัยนำร่องลงใน Forensic Science International ฉบับตุลาคม 2022 โดยเสนอว่า แมวอาจถูกเอามาใช้เป็นหลักฐานจากที่เกิดเหตุได้

ไอเดียของงานวิจัยมันเริ่มจากว่า เวลาเราเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอจากที่เกิดเหตุ คนจะเก็บจากวัตถุสิ่งของและพยานบุคคล แต่มักจะมองข้ามสัตว์เลี้ยงไป ซึ่งโจทย์วิจัยก็คือว่า สัตว์เลี้ยงอาจจะมีตัวอย่างดีเอ็นเอของคนที่อาศัยอยู่กับมันติดอยู่กับตัวหรือไม่

ซึ่งก็คงเดากันได้ ผลวิจัยบ่งชี้ว่ามี 3 ใน 4 ครั้งของการเก็บตัวอย่างในงานวิจัย พบว่ามีตัวอย่างดีเอ็นเอมากเพียงพอจะนำไปใช้วิเคราะห์ระบุอัตลักษณ์ทางพันธุกรรมได้

แต่การค้นพบนี้มันสำคัญยังไง?

จริงๆ สำคัญมาก เพราะไอเดียว่าดีเอ็นเอจะเหลือในที่เกิดเหตุยังไง ในตำราถ้าคนเคยอ่านข้อมูลเรื่องนี้ก็จะรู้วิธีกำจัดดีเอ็นเอออกจากที่เกิดเหตุหมด กล่าวคือไม่ใช่แค่ตำรวจและนักนิติวิทยาศาสตร์จะอ่านตำรานี้ อาชญากรก็อ่าน ดังนั้นอาชญากรเก่งๆ เลยไม่เหลือ ดีเอ็นเอไว้ในที่เกิดเหตุง่ายๆ เพราะรู้หมดว่าเจ้าหน้าที่จะเก็บหลักฐานในที่เกิดเหตุยังไง เนื่องจากองค์ความรู้หรือตำรับตำราก็ไม่หนีกันเท่าไหร่

ทีนี้การเก็บดีเอ็นเอจากสัตว์เลี้ยงเป็นวิธีแบบนอกตำราแน่ๆ คือถ้าอาชญากรทำตามตำราก็จะไม่ระวังสัตว์เลี้ยง เพราะรู้ว่าเจ้าหน้าที่จะไม่เก็บหลักฐานประเภทนี้ หรือในทางกลับกัน การกำจัดดีเอ็นเอจากพวกแมวนี่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เช่นกัน เพราะถ้าไปทำอะไร แมวมันข่วนหรือกัด แบบนั้นก็จะยิ่งเหลือดีเอ็นเอทิ้งไว้ในที่เกิดเหตุ

แต่ในความเป็นจริง ถ้าเชื่อในงานวิจัยนี้ มันก็หมายความว่าสมมติถ้าแมวอยู่ในที่เกิดเหตุฆาตกรรม และดันเป็นมิตรพอจะไปคลอเคลียคนร้าย มันก็ย่อมมีดีเอ็นเอคนร้ายติดตัว ซึ่งจะรู้ว่าดีเอ็นเอไหนของคนร้ายก็คือเก็บดีเอ็นเอมนุษย์ที่ติดตัวแมวมาให้หมด แล้วอันไหนไม่ใช่ดีเอ็นเอของผู้ตาย ก็คาดเดาได้ว่าน่าจะเป็นของคนร้าย เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้ก็คงจะเป็นเพียงข้อเสนอจากข้อค้นพบใหม่ ซึ่งเบื้องต้นก็คงจะต้องทำวิจัยต่อยอดอีกพอสมควร และวิจัยแรกๆ ที่น่าจะต้องทำก็อย่างเช่น นอกจากแมวแล้ว หมาล่ะ จะมีดีเอ็นเอของคนที่อยู่กับมันหรือสัมผัสมันติดค้างอยู่กับตัวหรือไม่?

อ้างอิง