โควิดพรากอะไรไปจากเราบ้าง?
พราก…รายได้ที่จะช่วยหล่อเลี้ยงปากท้อง
พราก…เวลาที่จะได้ออกไปเที่ยวเล่นสนุก
พราก…ความฝันที่จะได้ทำให้เป็นจริง
ที่สำคัญคือ พราก…แรงบันดาลใจหรือไฟในการทำงาน
เพราะสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้เราต้องอยู่แต่บ้านเสียส่วนใหญ่ วนเวียนอยู่กับการทำอะไรเดิมๆ โดยเฉพาะคนที่ต้อง Work From Home นั่งอยู่บนโต๊ะทำงานนานๆ
และเชื่อว่า หลายๆ คนก็น่าจะอยู่ในห้วงของความรู้สึกเบื่อไม่อยากทำอะไร เครียดจนไม่รู้จะทำอะไรต่อไปดี หรืออาจเรียกได้ว่า กำลังมีอาการ ‘หมดไฟ’ อยู่นั่นเอง
ซึ่งทุกคนสามารถมาปลุกใจให้กลับมามีแรงอีกครั้ง ผ่าน #ดีต่อใจ เพลงเติมไฟในการทำงาน ทั้งนี้คุณยังสามารถมาร่วมแชร์ ‘เพลง’ ที่ช่วย ‘เติมไฟ ให้มีพลัง’ สำหรับคุณ และคนอื่นๆ ได้ที่: https://www.brandthink.me/campaign/dee-tor-jai
รับมืออย่างไร? ในวันที่มี “อาการหมดไฟ”
มีใครกำลังอยู่ในภาวะนี้อยู่บ้าง? มาลองเช็กอาการกันหน่อยว่า คุณเข้าข่ายหรือเปล่า?
- รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
- เบื่องาน ขาดแรงบันดาลใจในการทำงาน
- หงุดหงิด รำคาญใจกับงานที่ทำอยู่
- มีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง
- มองโลกในแง่ลบ
- รู้สึกห่างเหินกับคนอื่น
- มีปัญหาเรื่องการนอน และการกินอาหาร
หากคุณมีติ๊กตามข้อข้างต้นที่เราว่ามา จนรู้สึกตรงกับตัวเองเสียเหลือเกิน อาจหมายความว่า คุณกำลังตกอยู่ใน ‘ภาวะหมดไฟในการทำงาน’
‘ภาวะหมดไฟในการทำงาน’ หรือ ‘Burnout Syndrome’ คืออะไร? ทำไมถึงได้ยินคำนี้อยู่บ่อยๆ
ภาวะหมดไฟในการทำงาน คือ ภาวะการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจ ซึ่งเกิดจากความเหน็ดเหนื่อยที่มักเป็นผลพวงมาจากการทำงานหนักเกินไปหรืออาจเกิดจากการใช้ชีวิตแบบเคร่งเครียดอยู่ตลอดเวลา กลายเป็นการสะสมความเครียดเรื้อรังจากการทำงาน จนทำให้รู้สึกกดดันมากๆ เหนื่อยล้า หมดแรง และว่างเปล่า จนในที่สุดหมดไฟลง
ซึ่งหลายคนอาจจะคิดว่า ภาวะนี้จะเกิดแค่กับกลุ่มในวัยทำงานอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วสามารถเกิดได้ทุกเพศ ทุกวัยเช่น แม่ที่ต้องคอยเลี้ยงลูก คอยทำงานบ้านเป็นประจำในรูปแบบเดิมๆ ซ้ำๆ อย่างไม่มีวันหยุดหรือคนที่จริงจังเกินไป ถ้าทำอะไรต้องไร้ที่ติ ขาดความยืดหยุ่นในการใช้ชีวิต ตั้งความคาดหวังไว้สูงเกินความเป็นจริง เป็นต้น
โดยสาเหตุนั้นก็มาจากหลายปัจจัย ที่ทำให้คุณเสี่ยงตกอยู่ใน ‘ภาวะหมดไฟในการทำงาน’ ยกตัวอย่างเช่น
- ทำงานหนักเกินไป หรือมีงานที่ต้องทำในปริมาณมาก
- ภาระงานที่มีความซับซ้อน และต้องทำในเวลาเร่งรีบ
- ไม่ได้รับผลตอบแทน หรือเพียงพอกับสิ่งที่ทุ่มเทไป
- ขาดอำนาจในการตัดสินใจ และมีปัญหาการเรียงลำดับความสำคัญของงาน
- รู้สึกไร้ตัวตนในที่ทำงาน มีความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงาน หรือหัวหน้างาน
- ไม่ได้รับความยุติธรรม ขาดความเชื่อใจ และการเปิดใจยอมรับกัน
- ระบบบริหารในที่ทำงานขัดต่อคุณค่า และจุดมุ่งหมายในชีวิตของตัวเอง
- อยู่ในองค์กรที่ขาดความมั่นคงหรือมีระบบงานที่ขาดประสิทธิภาพ
- ไม่มีเวลาพักผ่อน เพราะมีภาระหน้าที่หลายอย่างที่ต้องรับผิดชอบนอกเหนือจากเรื่องงาน
ซึ่งถ้าคุณมีภาวะหมดไฟโดยที่ไม่ได้รับการจัดการใดๆ อาจส่งผลกระทบต่อด้านต่างๆ ดังนี้
- ด้านร่างกาย: อาจพบอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง รู้สึกปวดหัว และปวดเมื่อย
- ด้านจิตใจ: อาจทำให้บางคนสูญเสียแรงจูงใจ สิ้นหวัง รู้สึกหมดหนทางที่จะช่วยให้ดีขึ้น เลยอาจส่งผลให้มีอาการของภาวะซึมเศร้า และอาการนอนไม่หลับได้ และหากมีอาการรุนแรงมากขึ้นจะนำไปสู่โรคนอนไม่หลับเรื้อรังหรือฝันร้าย จนอาจถึงขั้นพบว่า มีการใช้สารเสพติด เพื่อจัดการกับอารมณ์
- ด้านการทำงาน: อาจขาดงานบ่อย ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง จนอาจนำไปสู่การคิดลาออกจากงาน
ดังนั้นหากพบว่า คุณมีสัญญาณเตือน! ของอาการหมดไฟ ควรเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตก่อน เพื่อไม่ให้สุขภาพทั้งกายและใจย่ำแย่ลงมากกว่านี้ ด้วยวิธีจัดการคือ
- ประเมินตัวเองกับงานที่ทำอยู่ ควรปรับสมดุลระหว่างการใช้ชีวิตกับการทำงาน
- เปลี่ยนมุมมองต่องานที่กำลังทำ พยายามหาคุณค่าของงาน
- ยอมรับความแตกต่างของคนอื่น เปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน
- ขอความช่วยเหลือโดยหาที่ปรึกษา คำแนะนำ หรือคนรับฟังการระบายความเครียด
- นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ควรนอนน้อยจนเกินไป
- ดูแลสุขภาพ พยายามออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- พบปะสังสรรค์ หรือร่วมกิจกรรมทางสังคม
ทั้งนี้ ภาวะหมดไฟไม่ใช่โรคซึมเศร้า ซึ่งถ้าคุณรู้ว่า ตัวเองกำลังตกอยู่ในภาวะหมดไฟ ควรพยายามยอมรับแทนที่จะฝืนแล้วเอาแต่บอกว่า ยังไหวอยู่ (แปลว่าไม่ไหว) เพราะทุกคนสามารถรู้สึกเช่นนี้กันได้ และควรหาทางแก้ไขด้วยวิธีที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากอาการของคุณมีความรุนแรงหนักมากขึ้นเรื่อยๆ จนส่งผลต่อการใช้ชีวิต ซึ่งไม่สามารถรักษาด้วยตัวเองได้ คุณควรปรึกษา พร้อมรับคำแนะนำจากหมอหรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อช่วยวินิจฉัย และวางแผนการรักษาอย่างถูกต้องก็นับเป็นตัวเลือกที่ดีนะ
อ้างอิง
- กรมสุขภาพจิต. https://bit.ly/2RG5C6W