รีวิวอุทยานแห่งผืนดิน: จากการล่าสัตว์และเก็บของป่า สู่ทุนนิยมโลกาภิวัตน์และโลกหลังจากนี้!

9 Min
95 Views
15 Jun 2023

​Garden Earth:  From Hunter and Gatherer to Global Capitalism and Thereafter (อุทยานแห่งผืนดิน:​ จากการล่าสัตว์​และเก็บของป่า สู่ทุนนิยมโลกาภิวัตน์​และโลกหลังจากนี้​ )

เขียนโดย​ กุนนาร์ รุนด์เกรน​ (Gunnar Rundgren)​  นักคิดเชิงวิพากษ์​ ชาวสวีเดน ผู้ริเริ่มองค์กร​เกษตรอินทรีย์​หลายแห่งในประเทศสวีเดน​ เขียนหนังสือหลายเล่มด้านการเกษตร​อินทรีย์​ พร้อมทั้งเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นที่ปรึกษา​อาวุโส​ด้านการพัฒนานโยบาย​และกลยุทธ์​การตลาดให้ทั้งองค์กร​รัฐ​ /เอกชน​ /NGO / องค์กร​ระดับโลกอย่างธนาคารโลก​ (World Bank)​ และ​องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) จัดตีพิมพ์ครั้งแรก ปี พ.ศ. 2557 ​โดยสำนักพิมพ์​สวนเงินมีมา แปลโดย เขมลักษณ์ ดีประวัติ พร้อมคณะ

ถ้ามีคนถามว่าหนังสือเล่มนี้น่าอ่านไหม? มันก็เป็นอะไรที่ตอบไม่ยาก​ แต่ตรรกะของเรากับอีกหลายๆ​ คนคงจะสวนทางกันมากอยู่​ ที่จริงก็จัดเป็นหนังสืออีกเล่มที่น่าอ่าน​มากอยู่เหมือนกัน​ (และครั้งหนึ่งก็ต้องอ่านให้ได้)​ ในแง่ของการย้อนกลับมาทำความความเข้าใจถึงแก่นแท้ของสังคมอุตสาหกรรม​ทุนนิยม​ เศรษฐกิจ​แบบตลาดทุนนิยม​ ที่ผู้เขียนสร้างความชัดเจนให้ผู้อ่านได้ดีมากว่า​ “ผลกระทบเชิงลบแบบสุดขั้วในการเปลี่ยนผ่านออกจากสังคมนักล่าสัตว์​และนักเก็บของป่า​ เข้ามาสู่สังคมเกษตรกรรม​ และจากนั้นก็เปลี่ยนเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม​ โดยมีกลไกการตลาดทุนนิยมเข้ามาครอบครองชีวิตมนุษย์​ในทุกแง่มุม” และด้วยความสำเร็จนี้ก็นำมาซึ่งความเป็นสังคมโลกาภิวัตน์ที่ทุกคนสามารถ​เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร​จากทั่วโลก​ได้ตลอดเวลา รวมถึงได้มีองค์ความรู้ที่หลากหลายยิ่งขึ้นจากทุกมุมโลกในยุคปัจจุ​บัน​ ผ่านเทคโนโลยี​ก้าวไกลและ​ล้ำสมัยอย่างไร้ขีดจำกัด​ ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างมากมายเกี่ยวกับวิกฤตการณ์​ทางเศรษฐกิจ​ของสังคมมนุษย์ยุคใหม่​ และสิ่งแวดล้อม​ที่เกิดจากกระบวนการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมในรูปแบบต่างๆ​ ไว้หลายประเด็น​ อย่าง วิกฤตพลังงานครั้งแรกในปี​ ค.ศ. 1973  จนทำให้เกิดการถกเถียงกันมากมากขึ้นในเรื่อง​ “ความยั่งยืน” ในการใช้ทรัพยากร​ธรรมชาติ​ให้มั่นคงมากขึ้น​ โดยมีการพัฒนาแหล่ง​พลังงานทางเลือก​ อย่าง​ “พลังงานแสงอาทิตย์​ ลม​ น้ำ​และ​ พลังงานชีภาพรูปแบบต่างๆ​ บนความหวังที่ว่าจะยังทำให้สังคมทุนนิยมยังดำเนินต่อไปได้อีกตราบนานเท่านาน”

และวิกฤต​การณ์ทางการเงินครั้งใหญ่​ที่ได้รับผลกระทบกันทั่วโลกในปี​ ค.ศ.​ 2008 /2009  ที่ทำให้ระบบทุนนิยม​สั่นคลอน​ และผู้คนได้ตั้งข้อสงสัยกับระบบนี้กันมากขึ้น​ ​เป็นต้น​ ทั้งหมดที่กล่าวไปนั้น​ ผู้เขียนก็ชี้แจงอย่างเด่นชัดว่าระบบสังคมในปัจจุ​บัน​นี้​ไม่สามารถ​ทำให้เราก้าวไปสู่ “สังคมที่มีความยั่งยืนได้เลย”​ มันมีแต่จะฝากรอยแผลลึกไว้ให้คนในสังคมทั้งปัจจุบันและในอนาคตด้วย ผ่านการ “มุ่งแข่งขันกันอย่างสุดขีดของเหล่านายทุน​ทั่วโลก” (ที่มุ่งแสวงหาผลกำไรส่วนตนเพียงอย่างเดียวแบบ​ไม่สนโลก)​ ผ่านเหล่ารัฐบาล​ที่จัดเป็นหน่วยสังคมที่เป็นตัวกลางในการบริหารให้เกิดความเท่าเทียมกัน แต่ในความจริงแล้ว​ รัฐและนายทุนก็มีไว้สนับสนุน​ซึ่งกันและกัน​ แม้รัฐจะพยายามวางตัวเป็นกลาง​ แต่ชาวบ้านในฐานะผู้บริโภคและผู้ผลิตรายย่อย​ก็มักจะโดนต่อว่า​ และชักจูงให้รับผิดชอบต่อสังคมและโลกช่วยกันอย่างเร่งด่วน​ แทนที่พวกนายทุนและรัฐจะยอมรับความผิด​ (ที่ให้อภัยไม่ได้เลย!)​ และแก้ไขตัวเองอย่างสุดโต่ง​ แต่สิ่งที่พวกเขาทำก็แค่โยนความผิดอันซ้ำซากออกไปให้สามัญ​ชนรับผิดชอบร่วมกัน​ ในขณะเดียวกันพวกเขาก็มุ่งทำกำไรส่วนตนอยู่ต่อไป! ผ่านเหล่าประชาสังคม​ (ที่มุ่งกีดกันอำนาจรัฐและนายทุนอยู่บ้าง​ เพื่อสร้างความเสมอภาคให้กับสังคมในแบบประชาธิปไตย​ แต่ก็ยังไม่หลุดออกจากกรอบของความเป็นมนุษย์​นิยมอยู่ดี)​ และผ่านเหล่าประชากรโลกที่โดนขูดรีด​ เอารัดเอาเปรียบ​อย่างจงใจจากพวกนายทุน​ จากรัฐ​ชาติ​ และจากกันเองอีกรอบหนึ่ง​  จากความหวังที่ระบบทุนนิยม​มอบไว้ให้ว่า​ ทุกคนมีสิทธิ์และโอกาสเป็นผู้ที่มั่งคั่งร่ำรวยได้เหมือนกัน (ซึ่งมันเป็นตัวกำหนดให้ประชากรโลก​ ​“มัวมกมุ่น” อยู่กับการเงินและอำนาจ​ ด้วยการโดนเรียกว่าเป็นนักบริโภค​นิยม​ ที่เน้นความเป็นปัจเจกนิยมอย่างสุดโต่ง​ นี่ก็เป็นไปตามหัวใจของทุนนิยม​ผ่านมือที่มองไม่เห็น

(ทั้งกลุ่มนายทุนและรัฐชาติ​ทั้งหมดทั่วโลก​ ที่ไม่เคยรู้จักพอ​ เป็นผู้ล้างผลาญทรัพยากร​ส่วนรวมไปมากมายเท่าไหร่นั้น​ กลับไม่มีใครตั้งคำถาม ไม่ว่าเราจะรับรู้หรือไม่ก็ตาม​ เราทุกคนล้วนมีส่วนร่วมในการทำลายโลกในจุดนี้ จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่า​ คุณเป็นใคร​ คุณทำอะไร​ และคุณมีสถานะเช่นใดในสังคมนี้​ น่าเสียดายที่ผู้คนในสังคมยังยอมจำนนให้นายทุนจ่มด่าและโยนความผิดให้คนเล็กคนน้อยต่อไปทั้งๆ​ ที่​มีบทบาทน้อยเหลือเกินในการล้างผลาญทรัพยากร​ธรรมชาติ​ที่เป็นของส่วนรวม! ปล.ที่ใส่ในวงเล็บเป็นมุมมองส่วนตัวของเราเองนะ)

จากการสร้างกำไรอันมั่งคั่งอย่างไร้จุดจบของกลุ่มคนไม่เพียงกี่คนภายในช่วง​ 200​ ​ปีมานี้​เอง​ “ผ่านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล” ที่ส่งผลให้อุตสาหกรรม​ทุนนิยมเกิดขึ้นได้​ และเป็นตัวการหลักที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในภาคเกษตรกรรม​ (ที่เป็นหนึ่งในกิจกรรม​ที่ปล่อยคาร์บอน​ไดออกไซด์​สูงระดับต้นๆ​ รองจากภาคการผลิต​และการแปรรูปในโรงงานอุตสาหกรรมทั่วโลก​)​ ภาคอุตสาหกรรม​การผลิต​ และการกระจายสินค้าเข้าสู่ตลาดโลกที่ซื้อขายกันได้อย่างเต็มที่มาโดยตลอด​ แต่แล้วมันก็ส่งผลร้ายอันมิอาจจะนำกลับคืนมาได้อีก​ นั่นก็คือ​ “จากกิจกรรมการเผาไหม้เชื้อเพลิง​ฟอสซิล​ ถ่านหิน​ ก๊าซธรรมชาติ​ ต่างก็ปลดปล่อยก๊าซ​เรือนกระจกหลายประเภท​ หลักๆ​ ก็เป็น​ คาร์บอนไดออกไซด์​ มีเทน​ ไนตรัสออกไซด์​ เป็นต้น”​ สู่ชั้นบรรยากาศ​โลกมากสุด​อีกด้วย​ ภาคเกษตรกรรมขนานใหญ่ก็เช่นกัน​ ที่ทำลายคุณภาพดิน​ น้ำ​ ระบบอาหาร​ ระบบอากาศ​ และระบบนิเวศของโลก​ไปอย่างถาวรตามลำดับ​

จากแง่มุมของสังคมล่าสัตว์​และเก็บของป่าที่ผู้เขียนได้นำเสนอไว้เพียงผิวเผินเท่านั้น​ ก็รู้สึกว่าผิดหวังกับความย้อนแย้งของเขามาก​ เพราะเหมือนผู้เขียนจะยังไม่กล้ายอมรับอย่างเต็มปากว่า​ “สังคมมนุษย์​ในยุคบรรพบุรุษ​มีความยั่งยืนกว่า​ และดำรงอยู่สอดคล้อง​กันกับโลกธรรมชาติได้มาโดยตลอด”​ ผู้เขียนยกตัวอย่าง​ เช่นว่า​ มีการทำลายพื้นที่ป่าโดยการเผาและทำไร่หมุนเวียน​ และการล่าสัตว์​ใหญ่จนสูญพันธุ์​ในอดีตนั้น​ ย่ำแย่เท่ากันกับสิ่งที่คนในสังคมยุคใหม่กระทำ​กัน

(เพื่อให้คนเห็นภาพว่า​ ไม่ใช่แค่คนยุคใหม่ที่ทำเกินขีดจำกัด​ของธรรมชาติ แต่ผู้คนในเศษเสี้ยวของช่วงเวลาเมื่อราว​ 12,000 ปีลงมานี้ก็มีส่วนทำลายโลกธรรม​ชาติไม่แพ้กัน​ นี่ไม่รวมระยะเวลาก่อนหน้าที่เหลือทั้งหมดเข้าไปด้วย​ ที่ปรากฏหลักน้อยชิ้นเหลือเกินว่ามนุษย์​ยุคดึกดำบรรพ์​ก็มีส่วนทำลายล้างทรัพยากรของโลกเช่นกัน​ ผู้เขียนแค่เหมารวมเข้ากันในช่วงเวลาสั้นๆ​ นี้เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นผลมาจาดสังคมเกษตรกรรม​ และใช้อ้างเป็นเสมือนประวัติศาสตร์ของ​มนุษย์​ยุคปัจจุบัน​ทั้งหมดในห้วงเวลาทั้งหมดกว่า​ 300, 000​ ​ปี) ผู้เขียนยังชักจูงผู้อ่านให้เห็นว่ามนุษย์​ยุคก่อนทำลายมากกว่าเสียอีกในบางกรณี แต่นั่นกลับไม่ใช่ความจริงเลย!​ เหล่าผู้รู้ต้องมาวิจารณ์​แนวคิดนี้กันมากขึ้น​ จากมุมนี้เรามั่นใจว่าผู้เขียนรวมเอากลุ่มชนที่เริ่มหันมาทำการเพาะปลูก​ เริ่มอาศัยอยู่ที่เดิม​ และเริ่มเลี้ยงสัตว์​ และขยายพื้นที่ทำกินไปเรื่อยๆ​ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มชนสังสังคมเกษตรแล้ว​ จึงไม่เกี่ยวกับกลุ่มชนที่ดำรงอยู่ในแบบล่าสัตว์​และเก็บของป่าแต่อย่างใด​ แต่ผู้เขียนเหมารวมเป็นเรื่องเดียวกัน)​ นี่คือตัวอย่างความย้อนแย้งและอคติของผู้เขียน!

เมื่อคนหันมาทำเกษตรกรรมมากขึ้น​ ผู้คนก็เริ่มมีความคิดเกี่ยวกับการมีที่ดินส่วนบุคคล​ การมีสิทธิ​ครอบครอง​ การใช้อำนาจกดขี่และข่มเหงผู้น้อย​ มี​การสร้างรัฐ​ ศาสนา​ และสถาบันต่างๆ​ อย่างสถาบัน​การเงิน​ ตลาด​ เศรษฐกิจ​ การแบ่งชนชั้น​ทางสังคม​ การแบ่งแยกแรงงาน​ และการแบ่งงานกันทำ การมุ่งสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน​ (ทั้งหมดที่กล่าวมาต่างก็ริเริ่มโดยชนชั้นปกครองที่ควบคุมlสังคมส่วนที่เหลือมาโดยตลอด!)​ และทุกสิ่งอย่างนี้เองก็นำมาซึ่งจุดพลิกผันของวิกฤต​พลังงานในโลกปัจจุบัน​ (ประวัติศาสตร์​ดังกล่าวนี้กลับจัดอยู่ในห้วงเวลาเพียงไม่มีกี่พันปีเท่านั้นเองในแง่ของการก่อตั้งอารยธรรม​และเพียงไม่กี่ร้อยปีที่มีการใช้สอยทรัพยากร​เกินขีดจำกัดของระบบนิเวศ​ของโลกแบบไม่เคยมีมาก่อน)​

มุมมองส่วนตังของเราเอง: ในการแก้ไขปัญหาใดๆ​ ก็ตาม​ โดยเฉพาะปัญหาด้านทรัพยากร​ธรรมชาติเหลือน้อย​ ​และปัญหาสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม​ไปอย่างดรวดเร็ว ที่ยึดเอาเพียงแนวคิดมนุษย์นิยมเป็นหลัก​ กล่าวคือ​ ยึดตามความต้องการของมนุษย์​ มนุษย์​ต้องมาก่อนสิ่งอื่น ถ้าผลประโยชน์​ไม่เอื้อให้กับมนุษย์เท่าไหร่​ หลายๆ​ ประเด็นก็มักจะโดนปัดทิ้งกันไป​ เพราะ​ไม่ตอบสนองความต้องการของมนุษย์เอง​ อย่างเนื้อหาที่เจอในเล่มนี้ก็เหมือนกัน​ ผู้เขียนเชื่อมโยงปมปัญหาของสังคม​ยุคใหม่นี้ได้อย่างดิบดี​ “ในแง่ของกลุ่มผู้ร้ายที่มุ่งทำลายชีวิตอื่นและเก็งกำไรให้แค่ตัวเอง”

แต่แล้วเขาก็นำเสนอทางออกที่มุ่งตอบสนองเพียงแค่ความต้องการของมนุษย์อยู่ต่อไป​ แล้วจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงได้บ้าง​ ถ้าไม่มีใครอยากจะลองถอยห่างออกจากกรอบนี้​เลย เราจะแก้ไขและจะรับมือกับปัญหาสิ่งแวดล้อม​ ทั้งทางบก ทางทะเล​ และปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง​สุดขั้ว/ ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในความเป็นมนุษย์/ ปัญหาความมั่นคงทางอาหาร​ / ปัญหาโลกธรรมชาติ​ที่กำลังถูกกลืนกินไปอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการพัฒนา​และความก้าวหน้าทันสมัย​ เป็นต้น​ เราจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เลยบนแนวคิดมนุษย์นิยม​เป็นหลัก แต่เมื่อใดก็ตามที่เราถอยห่างออกจากกรอบนี้ได้​ เราเชื่อว่า​ วิถีใหม่จะเกิดขึ้น​ นั่นก็คือ​ “การฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์​ของโลกธรรมชาติ​ต้องมาก่อนความต้องการของมนุษย์​ และกลับคืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ​ในฐานะผู้ช่วยดูแลและช่วยอนุรักษ์​  ไม่ใช่เข้าไปเป็นผู้ควบคุมและจัดการเช่นเดิมอีก” นี่คงจะเป็นจุดเปลี่ยนที่คงจะเข้าใกล้ความยั่งยืนได้มากกว่าในอนาคต

การกลับคืนไปอยู่ในสวนสวรรค์​อีเดน​ และทำเกษตรอินทรีย์​ ตามที่ผู้เขียนนำเสนอให้ผู้อ่านในส่วนท้ายของเล่มนั้น คงจะไม่เพียงพอที่จะรับมือกับระดับมวลปัญหาที่เราทั้งหลายเผชิญกันอยู่ในวันนี้​ได้เลย​ แม้ว่าผู้เขียนพูดอย่างตรงไปตรงมาผ่านหน้ากระดาษว่า​ “เราไม่อาจจะย้อนกลับไปเป็นนักล่าสัตว์​เก็บของป่าได้เหมือนในยุคอดีต” (นั่นก็จริงอยู่​ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า​เราจะเข้าไปสัมผัสการดำรงอยู่เช่นนั้นอีกไม่ได้​ เพราะหากวิถีการดำรงอยู่เช่นนี้สามารถ​รอดพ้นสภาพอากาศ​ที่เปลี่ยนแปลง​อย่างรุนแรงมาหลายครั้งหลายหนได้แล้วนั้น​ เราคงจะต้องย้อนกลับไปศึกษาวิถีชีวิตของพวกเขากันให้มากขึ้น​ และนำมาปรับใช้ให้ลงตัวในแบบของเรา​ให้ได้ นั่นจะมีความหวังมากกว่าที่เราจะต้องไปฝากชีวิตไว้กับแค่เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์​ล้ำสมัย​)​ ปล. ทุกวงเล็กคือความเห็นส่วนตัวของเราเอง!

จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้านการใช้ทรัพยากร​ของ​ธรรมชาติ​ก็คือการปฏิวัติอุตสาหกรรม​ในศตวรรษ​ที่​ 18 ที่เริ่มมีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล​ ถ่านหิน​ น้ำมันดิบ​ และก๊าซธรรมชาติ​ต่างๆ​ และมนุษย์ก็มีพลังงานมากกว่าเดิมให้ใช้สอยกันอย่างไม่ลืมหูลืมตาว่า​ “วันหนึ่งมันก็จะหมดไป” การพัฒนา​อุตสาหกรรม​จึงทำให้มนุษย์​ควบคุมธรรมชาติ​ยิ่งมากขึ้นตามมา!

การเปลี่ยนผ่านออกมาจากสังคมนักล่า​และนักเก็บ​ มาเป็นสังคมเกษตรกรรม​ ไม่ได้ทำให้ผู้คนมีมาตรฐาน​ชีวิตที่ดีขึ้น​ แต่เป็นตรงกันข้ามมากกว่า​ เพราะสังคมเกษตรกรรม​ขาดความเท่าเทียมกัน ผู้คนโดนเอารัดเอาเปรียบ​และโดนกดขี่และขูดรีดอย่างไม่เคยมีมาก่อน​ ในขณะเดียวกัน​ ชนชั้นปกครองและกลุ่มคนที่สนับสนุนพวกเขาต่างก็มั่งคั่งร่ำรวยมากขึ้น​ แต่คนส่วนใหญ่​ อย่าง​ ชาวบ้าน​ บริวาร​ และทาสกลับยากจนอยู่ล่ำไป

เพราะเหตุใดบ้างสังคมในอดีตจึงล่มสลาย?

ผู้เขียนยกตัวอย่างจากหนังสือ​ Collapse ​(2005)​ ของ​ไดมอนด์ หรือ Jared Diamond ที่ได้อธิบายลักษณะ​การล่มสลายของอารยธรรม​และสังคมในอดีตไว้ว่า​:

มันเกิดจาก​การถดถอยของทรัพยากร​และสิ่งแวดล้อม​ ที่เป็นผลมาจาก​ การทำลายป่าไม้​ /ดินเสื่อมสภาพ​ /การสูญเสียหน้าดิน /การควบคุมการใช้น้ำ ​/การแสวงหาประโยชน์​มากเกินไป​ และจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ​ เป็นต้น เพื่อนบ้านในชุมชนขัดแย้งและก้าวร้าวต่อกัน​ สภาพอากาศเปลี่ยนรุนแรงและฉับพลัน​ เช่น​ สภาวะน้ำท่วมรุนแรง และสภาวะ​แห้งแล้งยาวนาน การสูญเสียเส้นทางการค้า​  *(เราจึงคิดว่าอีกปัจจัยทาง​สิ่งแวดล้อมในปัจจุ​บัน ที่อาจจะเป็นตัวเร่งให้สังคมยุคใหม่เกิดการล่มสลายฉับพลันขึ้นได้​ก็คือ​ “การปล่อยก๊าซ​เรือนกระจกครั้งมหึมา” และการสูญเสียและขาดแคลนทรัพยากร​หลักๆ​ เป็นจำนวนมาก​ ที่จัดเป็นตัวกำหนดชะตากรรมของสังคมยุคใหม่อีกทางหนึ่ง)

สุดท้ายคำถามที่ได้รับจากหนังสือเล่มนี้ก็คือ: ถ้าพลังงานคือศูนย์กลางของสังคมอุตสาหกรรม​ (ที่มีเพียงเหล่านายทุนและรัฐชาติหลวมรามอำนาจกัน​เป็นผู้ควบคุมทุกสิ่งอย่างไว้ในกำมือ​อย่างสุดโต่ง​ โดยที่ทุกภาคส่วนที่เหลือ​ รวมถึงโลกธรรมชาติและมนุษย์​ส่วนที่เหลือด้วย” ที่ต้องคอยเป็นเบี้ยล่างให้พวกเขาใช้แรงงานต่อไปตลอดกาล และปล่อยให้พวกเขาใช้สอยฐานทรัพยากรส่วนรวมไปอย่างฟุ่มเฟือยแต่ฝ่ายเดียวกระนั้นหรือ) ในขณะที่​ “ความอิสระ​และเท่าเทียม​กันอย่างแท้จริงคือ​ศูนย์กลางของสังคมล่าสัตว์​และเก็บของป่า” ​ที่ซึ่ง​ทุกคนต่างก็เป็นผู้นำตัวเอง​ และเป็นเพียงผู้ติดตาม​ ในโลกธรรมชาติ ที่ซึ่งไม่มีผู้นำหลักที่ออกคำสั่งให้ทุกคนอื่นที่เหลือต้องปฏิบัติ​ตาม​ ที่ซึ่งใครจะทำอะไรตอนไหนก็ได้​ ตามที่เขาหรือเธออยากจะทำ​ตามแต่สภาพการณ์​จะเอื้ออำนวยไป​ ที่ซึ่ง​ผู้คนมีความต้องการเพียงน้อยนิดเสมอไป ที่ซึ่งผู้คนรู้จักใช้สอยทรัพยากร​ตามเท่าที่จำเป็น​โดยแท้ และที่ซึ่งทุกคนต่างก็เพียงดำรงอยู่และสืบพันธุ์​ต่อไปตามวัฐจักร​ธรรมชาติ​​ และในวันนี้เองที่ทุกคนทั่วโลกต่างก็โหยหา​ถึง “ความเท่าเทียมกันในความเป็นมนุษย์” แล้วเราจะ​เป็น​ “ผู้ที่เลือกเองได้ตามสัญชาติ​ญาณ​ของตน” หรือเราจะ​ เป็นผู้ถูกเลือกให้ต้องไปทำหน้าที่อันใดอันหนึ่งตามแต่ความชำนาญการขั้นสุดยอดของตนอยู่ล่ำไป​ ภายอยู่ภายใต้เงื่อนไขและกลไกอันไร้ขีดจำกัดของเหล่าผู้นำโลกเพียงไม่กี่คนกระนั้นหรือ?

เราก็ขอจบรีวิวไว้เพียงเท่านี้ ขอชวนอ่านต่อทั้งเล่ม “เพื่อเกิดการคิดวิเคราะห์และวิจารณ์แนวคิดมนุษย์นิยมไปด้วยกัน”

ปล. (การทำรีวิวหนังสือของเราไม่ใช่เพื่อการโฆษณาทางการค้า แต่เป็นเพียงความสนใจส่วนตัว ที่อยากจะแบ่งปันมุมมองของตนร่วมกับผู้คนที่สนใจแนวทางเดียวกัน เพื่อใช้เป็นงานอ้างอิงงานเขียน การศึกษาอิสระ หรือใช้ยกตัวอย่างในการถกเถียงในหัวข้อการสับเปลี่ยนวิถีชีวิตออกจากสังคมล่าสัตว์และเก็บของป่า มวลปัญหาของสังคมและวัฒนธรรมมนุษย์ยุคใหม่ โอกาสในการอยู่รอดในโลกหลังจากนี้จะเป็นเช่นไร และเพื่อประโยชน์ส่วนรวมเท่านั้น!) ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามบทรีวิวหนังสือของเรา ^.^