3 Min

รู้ไหม? เสียง ‘กร๊อบ’ เวลาดัดกระดูก ไม่ใช่เสียงจากกระดูก แต่คือเสียง ‘อากาศ’ ในไขข้อ

3 Min
1387 Views
17 Jan 2022

เคยได้ยินเสียงดังกร๊อบเวลาเราดัดนิ้วหรือบิดขี้เกียจไหม?

หลายคนอาจไม่รู้ว่าเสียงดังกร๊อบแกร๊บเวลาเราดัดกระดูกนั้นจริงๆ แล้วไม่ใช่เสียงของกระดูกเสียทีเดียว แต่เป็นเสียงที่เกิดขึ้นในน้ำไขกระดูกตามข้อต่อของเราต่างหาก

ส่วนข้อเสียของการดัดกระดูก ก็เคยมีชายคนหนึ่งเคยพิสูจน์ด้วยการทดลองดัดนิ้วตัวเองข้างเดียวเป็นเวลากว่า 50 ปี เพื่อพยายามหาคำตอบว่า การดัดกระดูกทำให้เป็นโรคไขข้ออักเสบอย่างที่บางคนเชื่อกันจริงๆ หรือไม่?

เสียงดัดกระดูกเกิดจากอะไรกันแน่ และการดัดกระดูกเป็นเรื่องไม่ดีจริงๆ หรือเปล่า เราจะอธิบายให้คุณฟัง

ที่มาของเสียงดัดนิ้ว

ตามข้อต่อของคนเราจะมีน้ำไขกระดูกหรือ ‘synovial fluid’ ที่มีลักษณะคล้ายกับไข่แดง ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมข้อต่อกระดูกชิ้นต่างๆ เข้าด้วยกันซึ่งช่วยในการเคลื่อนไหว แต่ที่หลายคนไม่รู้ คือในน้ำไขกระดูกเหล่านี้มักจะมีแก๊สชนิดต่างๆ กระจายอยู่ภายใน ส่วนใหญ่คือคาร์บอนไดออกไซด์ และการยืดข้อต่ออย่างรวดเร็วเช่นการดัดนิ้ว จึงทำให้เกิดแก๊สเพิ่มขึ้นมาในน้ำไขข้อของเรา

ส่วนเสียงกร๊อบหรือเสียงป๊อปเวลาเราดัดกระดูกดังขึ้นมาได้อย่างไร ในปี 1947 นักวิจัยอังกฤษตั้งทฤษฎีไว้ว่า เสียงป๊อปเกิดขึ้นในตอนกลุ่มแก๊สก่อตัวขึ้นในไขกระดูก ถัดมาในปี 1971 ก็มีกลุ่มนักวิจัยสันนิษฐานว่า เสียงป๊อปเกิดขึ้นเพราะแก๊สที่ก่อตัวขึ้นระเบิดออก คล้ายกับตอนเราเป่าหมากฝรั่งจนแตกแล้วเกิดเสียงดัง

งานวิจัยสืบเนื่องมาจนถึงปี 2015 เมื่อ เกร็ก คอว์ชัค (Greg Kawchuk) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอัลเบอร์ตาใช้เครื่องตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเอ็มอาร์ไอ สแกนดูข้อกระดูกตอนถูกยืดออกอย่างรวดเร็ว และค้นพบโพรงดำๆ เกิดขึ้นในไขข้อ จึงสันนิษฐานว่า เมื่อดัดกระดูก ฟองอากาศที่เกิดขึ้นทำให้เกิดคลื่นความดันในไขข้อ จึงเป็นที่มาของเสียง (ชมวิดีโอผลสแกนได้ที่นี่ : https://bit.ly/3n1pdLE )

และล่าสุดในปี 2018 ผลวิจัยจากนักศึกษาปริญญาโท วินิธ จันทรัน สุชา (Vineeth Chandran Suja) ร่วมกับอาจารย์ของเขา ดร. อับดุล บารากัต (Abdul Barakat) จากสถาบันโปลีเทคนิค(École Polytechnique) เผยว่าเสียงดัดกระดูกสามารถเกิดขึ้นตอนกลุ่มแก๊สบางส่วนถูกบีบอัดลง  และอธิบายไว้ด้วยว่า เมื่อคนๆ หนึ่งดัดกระดูกเสร็จรอบหนึ่ง ต้องรออีกประมาณอีก 20 นาที เสียงป๊อปจากการดัดกระดูกจึงจะเกิดซ้ำอีกได้ เพราะเราต้องรอให้มีแก๊สสะสมขึ้นในไขข้อมากพอก่อน

สรุปคือแม้ผลวิจัยเหล่านี้จะอธิบายรายละเอียดการเกิดขึ้นของเสียงในรูปแบบที่แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือการอธิบายว่าเสียงดัดกระดูกไม่ใช่เสียงของกระดูก แต่คือเสียงอากาศในไขกระดูกเรานั่นเอง

ข้อเสียของการดัดกระดูก

เราอาจเคยได้ยินว่า การดัดกระดูกบ่อยๆ ไม่ดี บ้างก็ว่าจะทำให้เกิดโรคข้ออักเสบ’ (arthritis) ซึ่งคนที่โดนเตือนอย่างนี้ ก็มี ดร. โดนัลด์ อังเกอร์ (Donald Unger) รวมอยู่ด้วย แต่ด็อกเตอร์คนนี้อยากพิสูจน์คำขู่ของแม่เขามากเสียจนยอมสละเวลาทำวิจัยทดลอง ดึงข้อนิ้วเฉพาะมือข้างซ้ายข้างเดียววันละสองครั้งอยู่นานกว่า 50 ปี เพื่อหาข้อเชื่อมโยงว่าการดัดกระดูกบ่อยๆ ทำให้เกิดโรคข้ออักเสบจริงหรือไม่

ผลปรากฏว่าทั้งมือซ้ายที่ดัดนิ้วอยู่ทุกวันอยู่ 50 กว่าปี กับมือขวาที่ไม่ได้ดัด ทั้งคู่ไม่ปรากฏอาการโรคไขข้ออักเสบแต่อย่างใด แม้กระทั่งด็อกเตอร์คอว์ชัคผู้ทำงานวิจัยปี 2015 ก็ยืนยันว่า การดัดกระดูกไม่ได้เกี่ยวข้องกับโรคไขข้ออักเสบเช่นกัน

ส่วนผลตอบแทนของความอุตสาหะมุ่งมั่นดึงข้อนิ้วตัวเองข้างเดียวอยู่ค่อนชีวิตของ ดร.อังเกอร์ ก็ทำให้เขาได้รับรางวัลอิกโนเบล (Ig Nobel) ในปี 2009

ดังนั้น ใครใคร่จะดัดกระดูกเพื่อความพึงพอใจ คลายเมื่อยล้า ก็สามารถทำได้ต่อไป แต่ขอให้รู้ไว้ว่า ไอ้เจ้าเสียงกร๊อบที่คุณได้ยิน ไม่ใช่เสียงของกระดูกซะทีเดียว แต่อาจเป็นเสียงอากาศในไขข้อของเรา และโปรดระวังไม่ให้เสียงฟองอากาศแตกนั่นไปรบกวนใครก็พอ!

อ้างอิง