ทำไมคนดำถึง ‘ดำ’ มองจากมุมชีววิทยา

3 Min
4195 Views
06 Aug 2020

กระแส #BlackLivesMatter ที่คุกรุ่นในปี 2020 มาแรงมากระดับแทบจะถอนรากคิดทางวัฒนธรรมว่าความ “ดำ” คือสิ่งไม่ดี

BlackLivesMatter | britannica.com

แบรนด์เครื่องสำอางชื่อดังถึงขั้นจะเลิกผลิตสินค้า ‘ไวท์เทนนิ่ง’ องค์กรและสมาคมต่างๆ ก็พูดคุยกันว่า ควรจะเลิกใช้ ‘สีดำ’ แทนนิยามสิ่งไม่ดีหรือไม่

เช่น บรรดาแฮกเกอร์คุยกันว่า ควรจะเลิกใช้คำว่า ‘Black Hat Hacker’ ที่หมายถึงแฮกเกอร์ฝ่ายอธรรมหรือพวกที่ทำผิดกฎหมายดีไหม

ที่ว่ามาทั้งหมด ดูจะเป็นการหลีกเลี่ยงในการนำเสนอภาพความ ‘ดำ’ ในแง่ไม่ดี แต่ถ้าจะว่ากัน ‘ตามธรรมชาติ’ ความ ‘ดำ’ ก็มีข้อดีไม่น้อย

1.
มนุษย์เริ่ม ‘ดำ’ อย่างไร

แรกเริ่มเดิมที บรรพบุรุษของมนุษย์ไม่ได้มีผิวดำ ซึ่งคาดคะเนจากการสังเกตผิวหนังส่วนที่ไม่มีขนของลิงสายพันธุ์ต่างๆ ที่มักจะมีสีชมพู

ในทางวิวัฒนาการเชื่อว่า ลิงเริ่มมีวิวัฒนาการจนมีขนน้อยลงช่วงราว 1.2 ล้านปี ถึง 1 แสนปีก่อน พอขนน้อยลง ผลคือผิวหนังรับแสงแดดมากขึ้น พอผิวหนังรับแสงแดดมากเกินไป กรดโฟลิกหรือวิตามิน B9 ซึ่งเป็นสารที่จำเป็นต่อร่างกายก็ถูกทำลาย

กลไกร่างกายจึงผลิต ‘เม็ดสี’ หรือเมลานินออกมา เพื่อป้องกันไม่ให้แสงแดดไปทำร้ายผิว

นี่คือจุดเริ่มต้นของ ‘ความดำ’ ในบรรพบุรุษของมนุษย์ และเชื่อกันทั่วไปว่าตอนที่ ‘ลิง’ วิวัฒนาการมาเป็น ‘โฮโมเซเปียนส์’ ตอนนั้นผิวดำแล้ว

โฮโมเซเปียนส์ | isciencemag.com

ดังนั้น มนุษย์ดั้งเดิมคือ ‘คนดำ’ และน่าจะดำแบบที่เราเห็นคนดำในแอฟริกา

2.
คนผิวน้ำตาล ผิวเหลือง และคนขาวเกิดขึ้นได้อย่างไร?

คำอธิบายพื้นฐานคือคนออกจากแอฟริกา แล้ว “ขึ้นเหนือ” ไปอยู่ในโซนที่แสงอาทิตย์น้อย ผลคือผิวที่ดำเกินไปไม่สามารถจะสังเคราะห์วิตามิน D อย่างเหมาะสมจากแสงแดดได้ เลยเกิด ‘วิวัฒนาการ’ อีกรอบ ผิวกลับสีอ่อนขึ้นกลายเป็น ‘คนขาว’ ในที่สุด

และกระบวนการเปลี่ยนจากผิวดำไปขาวทั้งหมด ก็เพื่อให้ร่างกายสังเคราะห์วิตามิน D ในพื้นที่ที่มีแดดน้อยๆ ได้

นี่คือความเข้าใจพื้นฐานที่หลายคนอาจเคยได้ยิน แต่สิ่งที่คนอาจไม่รู้ก็คือ ‘ความขาว’ นั้นเพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน

3.
โดยพื้นฐาน เราเชื่อกันว่า ‘มนุษย์’ ออกจากแอฟริการาว 70,000 ปีที่แล้ว และราว 50,000 ปีที่แล้ว บางส่วนก็เดินทางมาถึงเอเชีย รวมถึงเกาะต่างๆ

และมนุษย์ก็เริ่ม ‘ขาว’ ในช่วงเวลานี้แหละ

แต่งานวิจัยยุคหลังๆ ปฏิเสธสมมติฐานข้างต้น โดยระบุว่ามนุษย์น่าจะเริ่ม ‘ขาว’ กันจริงๆ ตอนเริ่มทำการเกษตร หรือช่วงราว 12,000-8,000 ปีที่ผ่านมา

หลักฐานยืนยันก็คือยุคหลังๆ เราระบุพอได้ว่ายีนตัวไหนทำให้คนผิวขาวหรือดำ และไม่มีการตรวจพบว่า มนุษย์ก่อนช่วงเวลาดังกล่าวมียีนที่ทำให้ผิวขาว

จากผลการตรวจข้างต้น พอจะสรุปได้ว่า ก่อนหน้านั้นมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นคนยุโรปหรือคนเอเชีย ล้วนเป็น ‘คนดำ’ กันหมด

ในแง่นี้ คนดำในแอฟริกาไม่ใช่แค่บรรพบุรุษของชนชาติอื่นๆ เท่านั้น แต่ชนชาติต่างๆ ในโลก ไม่ว่าฝรั่งหรือเอเชียน ล้วนมีบรรพบุรุษเป็น ‘คนดำ’ ทั้งสิ้น

เรียกได้ว่า เพิ่งกลายมาเป็นคนผิวขาวกันเมื่อราว 10,000 ปีที่ผ่านมานี้เอง

4.
ทำไมถึงขาว?

ผลการศึกษาระบุว่า ความขาวอาจมาจากสาเหตุที่หลากหลาย ตั้งแต่อาหารการกิน จนถึงการใส่เสื้อผ้า ซึ่งประเมินกันว่า ความเปลี่ยนแปลงในร้อยชั่วคน ก็ส่งผลต่อสีผิวอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งนั่นหมายถึงเวลาแค่ไม่กี่พันปีเท่านั้นเอง (อาจจะแค่ราวๆ 2,000-3,000 ปี)

นี่คือ ‘ต้นกำเนิดความขาว’ ของมนุษย์ ภายใต้ความรู้ชุดปัจจุบัน

ส่วนการสรุปว่า จะดำจะขาวล้วนเป็นพี่น้องกัน อันนั้นเป็นการเคลมในทางสังคม แต่ในทางชีววิทยา ความแตกต่างของสีผิวไม่ใช่ ‘สิ่งประกอบทางสังคม’ เท่านั้น แต่มีผลต่อชีวิตในทางชีววิทยาด้วย

ยกตัวอย่างเช่น คนยิ่งผิวดำ ก็จะยิ่งไม่เป็นมะเร็งผิวหนัง ประเด็นนี้ชัดเจน อธิบายได้ เพราะรังสีอัลตราไวโอเลตทะลุเม็ดสีไม่ได้ ในแง่นี้ เราก็จะเห็นว่าคนขาวที่อยู่ในเขตร้อนแดดจ้าแบบออสเตรเลีย จะเป็นมะเร็งผิวหนังกันมาก เพราะผิวหนังไม่ได้วิวัฒนาการมารับแดดแรงๆ และในทางกลับกัน คนดำในแอฟริกาที่ต้องเจอแดดแรงกว่า กลับรับแดดได้ชิลๆ โดยไม่ต้องกลัวมะเร็ง

ในทางกลับกัน คนดำก็ใช่จะได้เปรียบไปทั้งหมด เพราะในทางการแพทย์ คนดำถือว่ามีความเสี่ยงโรคในกลุ่มหัวใจและหลอดเลือดมากกว่าคนขาว และกลุ่มชาติพันธุ์ใดๆ ในอเมริกา

ทำไมถึงเป็นแบบนี้? บางคนประเมินว่า อาจเป็นเพราะฐานะทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ทำให้คนดำไม่ได้มีอาหารการกินที่ดี และไม่ได้ออกกำลังกาย

แต่ในความเป็นจริง ถ้าไปดูละเอียด เราจะพบว่าคนละตินอเมริกันที่ไม่น่าจะมีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าคนดำเท่าไร กลับเป็นคนกลุ่มที่ไม่ค่อยจะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดนัก ดังนั้นเราอาจต้องตัดปัจจัยทางเศรษฐกิจออกไป

บางทีปัญหาอาจจะอยู่ที่ ‘ผิว’ ของคนดำ

5.
ดังที่เล่ามาทั้งหมด ผิวดำทำให้มนุษย์ไม่สามารถสังเคราะห์วิตามิน D ได้ และงานวิจัยยุคหลังๆ ก็เริ่มพบว่า การขาดวิตามิน D อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่จะทำให้ความดันเลือดสูง และภาวะที่ความดันในเส้นเลือดสูง เรียกได้ว่าเป็นปัจจัยระดับต้นๆ ที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดตามมา

สรุปคือคนดำมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่าคนเชื้อชาติอื่นๆ ก็เพราะพวกเขาสามารถสังเคราะห์วิตามิน D ได้น้อยกว่าชาวบ้านก็ได้

นี่คือบางมิติในทางชีววิทยาที่ย้ำเตือนว่า แม้ในทางการเมือง เราจะอยากให้มนุษย์ ‘เท่าเทียมกัน’ แค่ไหน แต่ความแตกต่างทางชีววิทยาระหว่างชาติพันธุ์ก็มีอยู่จริง และมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุน

ซึ่งการพูดถึงมิติเหล่านี้หรือยืนยันว่ามิติเหล่านี้มีอยู่จริง ไม่ควรจะถูกหยิบยกเป็นประเด็นการ ‘เหยียดผิว’ ด้วยประการทั้งปวง