10 Min

“ถ้าคุณคิดว่าสารคดีจะดูยาก น่าเบื่อ ผมท้าให้คุณลองกรอไปดูตรงกลางเรื่อง แล้วดูไป 1 นาที แล้วคุณจะเสียใจที่ไม่ดูตั้งแต่ต้น” Stephane Lambert ผู้จุดประกายหนังสารคดีในไทยและเอเชีย ในงานแจกรางวัล BKK DOC Awards

10 Min
844 Views
16 Dec 2022

ท่ามกลางช่วงเวลาแห่งการแจกรางวัลปลายปี รวมไปถึงการจัดเฟสติวัลฉายหนังในหลายต่อหลายพื้นที่ ยังมีเทศกาลภาพยนตร์เทศกาลหนึ่ง ที่แม้จะเริ่มต้นด้วยก้าวเล็กๆ แต่กลับเป็นก้าวที่มั่นคงและยิ่งใหญ่ กับ ‘Bangkok International Documentary Awards’ หรือ BKK DOC Awards งานแจกรางวัลภาพยนตร์สารคดีหลากสาขา ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายของสารคดีจากหลายเชื้อชาติและประเภท ที่เป็นแรงผลักดันสำคัญให้วงการสารคดีในไทยคึกคักขึ้นมาเป็นปีที่ 3 แล้ว

เรามาทำความรู้จักผู้อยู่เบื้องหลังงานแจกรางวัลนี้ สเตฟาน ลองแบร์ (Stephane Lambert) ที่ BrandThink Cinema มั่นใจว่างานนี้จะยิ่งใหญ่ในอนาคตอย่างแน่นอน

เพราะอะไรทำให้คุณสนใจสารคดี

ผมเป็นคนฝรั่งเศส อาศัยอยู่กรุงเทพฯ มานานกว่า 20 ปี ทำงานหลักเป็นโปรดิวเซอร์ โปรดิวซ์สารคดี รายการทีวีโชว์ ดูแลสคริปต์ ตอนนี้ผมทำโปรเจกต์สารคดี พัฒนาซีรีส์ และภาพยนตร์ขนาดยาว รากเหง้าการทำงานผมมาจากการทำงานสายข่าว สารคดีคือสิ่งที่อยู่กึ่งกลาง ระหว่างข่าวกับเรื่องแต่ง มันคือเรื่องเล่าที่ไร้บท ไม่มีสคริปต์ ทำให้ผมสนใจสารคดีอยู่แล้วเป็นทุนเดิม

ในยุคปัจจุบันมีข้อมูลข่าวสารมากมายจากหลายช่องทาง เราเสพข่าวได้เยอะ แต่กลับไม่มีเวลาวิเคราะห์ ลงลึกศึกษา ว่ามันคือเรื่องจริง หรือเรื่องลวง สารคดีคือสิ่งที่เข้ามาช่วยเติมเต็มสิ่งเหล่านี้ เพราะมันได้มอบมุมมองใหม่ๆ ทัศนคติใหม่ๆ ทำให้เราเข้าใจวัฒนธรรมแตกต่าง มันน่าสนใจ และยังสนุกอีกด้วย

สารคดีคือรูปแบบหนึ่งในการเข้าหาความจริงที่สามารถสร้างความบันเทิงได้มากกว่าการดูข่าวทั่วไป

ยกตัวอย่างเช่น เวลาดูท้องฟ้า นักข่าวจะอธิบายภาพตามที่เห็น เช่นท้องฟ้าวันนี้สวยนะ อากาศวันนี้ร้อน หรือเย็นอย่างไร แต่สารคดีจะบอกว่า ผู้สร้างรู้สึกกับท้องฟ้าอย่างไรจากมุมมองที่แตกต่างออกไป จากสิ่งที่คิด สิ่งที่อยากรู้ ผู้สร้างสามารถเสนอความคิดเห็นในแบบของเขา ตีความในแบบที่ตัวเองคิด และเสริมทักษะการเล่าเรื่องอย่างสร้างสรรค์ลงไปได้ด้วย ต่อให้จะเล่าเรื่องการเมือง หรือเรื่องอาหาร คุณก็สามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ และคุณค่าทางศิลปะเพื่ออธิบายมันได้

แล้ว BKK DOC เกิดขึ้นได้อย่างไร

ในช่วงโควิด ธุรกิจต่างๆ หยุดชะงัก ผู้คนหดหู่ พวกเขาใช้เวลากับการดูหนังมากขึ้น ผมเลยคุยกับเพื่อนว่า งั้นทำไมเราไม่จัดงานฉายหนังเลยล่ะ

ก่อนหน้านี้ ช่วงปี 2016 ผมและเพื่อนๆ ร่วมกันจัดงาน Asian Side of the Doc ให้เป็นตลาดหนังสารคดีในภาคพื้นเอเชีย เรามีตลาดหนังเพราะอยากช่วยให้คนทำสารคดีไทยได้รับการมองเห็นจากนานาชาติ และเป็นพื้นที่ในการสนับสนุนด้านการเงิน เราเชิญบุคลากรมืออาชีพในแวดวงสารคดีมา เราเชิญคนในอุตสาหกรรมหนังไทยอย่าง ผู้กำกับฯ โปรดิวเซอร์ มาพบกับบริษัทจัดจำหน่ายภาพยนตร์จากต่างประเทศ งานประสบความสำเร็จ มีสารคดีเจ๋งๆ มากมาย แต่สุดท้ายก็มีแต่คนวงใน คนในอุตสาหกรรมได้ดู ในขณะที่งานไม่ได้รับการเผยแพร่ไปสู่สาธารณชนเลย

ผมเลยปรึกษากับเพื่อนใน Thai Documentary Filmmakers Association ว่า เราน่าจะจัดเป็นเทศกาลหนังสารคดีนะ พอโควิดมาในปี 2020 คิดว่าโอกาสมาแล้ว เราจัดการประกวดแบบออนไลน์ มีกรรมการจากต่างประเทศดูหนังออนไลน์ แล้วพวกงานที่ได้รับการคัดเลือก และชนะรางวัลก็ค่อยมาฉายงานในไทย

ปีนั้น มีหนังกว่า 15 เรื่อง มีคนกว่า 100 คนมาดู ถือว่าประสบความสำเร็จ หนังที่ชนะสาขาภาพยนตร์สารคดีขนาดยาวคือ Be Natural: The Untold Story of Alice Guy-Blaché โปรดิวซ์โดย โจดี ฟอสเตอร์ (Jodie Foster) แล้วก็ยังมีหนังเล็กๆ อีกมากมาย หนังจากเมียนมา Lashio Ambulance เกี่ยวกับชายมุสลิมที่มาเป็นอาสาสมัครขับรถพยาบาล

เราเลยทำต่อในปี 2021 โดยรอบนี้เราขยายขอบเขตของงานให้ใหญ่ขึ้น ได้รับการสนับสนุนจากประเทศต่างๆ ในแถบเอเชีย ทั้งฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาว กัมพูชา ไต้หวัน เราเป็นพันธมิตรกับ CNEX (องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งให้การสนับสนุนการสร้างสารคดี เป็นการเข้าร่วมกันระหว่างจีน ไต้หวัน และฮ่องกง) มีผู้คนในแวดวงต่างๆ เข้าร่วมเป็นกรรมการปีนั้นเยอะเกือบ 150 คน มีทั้งผู้กำกับฯ โปรดิวเซอร์ ผู้จัดจำหน่ายหนัง นักข่าว คนจากแวดวงสื่อ หนังที่ชนะสาขาภาพยนตร์สารคดีขนาดยาวในปีนี้คือ The Six ว่าด้วยชีวิตของกลุ่มคนจีนที่รอดจากเหตุการณ์ไททานิคล่ม ซึ่งนำไปสู่ประเด็นเรื่องการเหยียดเชื้อชาติในสังคมยุคนั้น เป็นผลงานโปรดิวซ์โดย เจมส์ คาเมรอน (James Cameron) เรารู้สึกตื้นตันมาก เพราะมันเป็นหนังที่ผู้กำกับ อาร์เธอร์ โจนส์ (Arthur Jones) เคยมา pitching ในตลาดหนังของเราเมื่อ 6 ปีก่อน มันจึงเหมือนเราได้เห็นการเติบโตของมันจนถึงปัจจุบัน ในปีนั้นก็มีสารคดีไทย 2 เรื่องที่โดดเด่น The Hornbills Lady เรื่องราวของ นูรีฮัน ดะอูลี หญิงสาวชาวไทยมุสลิมทำงานโครงการอนุรักษ์นกเงือก บูโดโมเดล ในอุทยานแห่งชาติสำคัญของสามจังหวัดชายแดนใต้ ‘HIGHLAND’ – How to live in a land of monopoly ว่าด้วยธุรกิจกัญชา และการผูกขาดการค้าเสรีเรื่องคราฟต์เบียร์ ชนะรางวัลสารคดีสั้นยอดเยี่ยม ซึ่งทั้งสองเรื่องโปรดิวซ์โดย BrandThink Cinema ด้วย

ในปี 2022 เพื่อให้คนดูสามารถเข้าถึงงานได้เต็มที่ เราจึงลดวันฉายหนังเหลือแค่ 2 วันพอ เพราะคนไม่น่ามาดูหนังได้ตลอดทั้งสัปดาห์ จึงเลือกวันอาทิตย์ เพื่อให้คนมาดูได้ในช่วงวันหยุด ครอบครัวพากันมาดูหนังด้วยกันได้

BKK DOC ในปีนี้ มีหนังเรื่องไหนน่าสนใจบ้าง

โปรแกรมแนะนำวันที่ 11 ธันวาคม ที่สถาบันเกอเธ่ เรามี ‘SCENE UnSEEN’ สารคดีขนาดยาวเกี่ยวกับแวดวงดนตรีอันเดอร์กราวด์ในสิงคโปร์ ได้รางวัลสารคดีเกี่ยวกับดนตรียอดเยี่ยม ‘Let There Be Light’ เป็นสารคดีสั้นเกี่ยวกับชายหนุ่มที่สืบเสาะว่าปู่ของเขาเป็นใคร จนนำไปสู่การค้นพบชวนอัศจรรย์ เรามีสารคดีเรื่อง ‘Coloring the Rainbow’ พาไปล้วงลึกสัมภาษณ์เพื่อน LGBTQ+ ถึงชีวิต และตัวตนของการต้องอยู่ในบรรทัดฐานที่สังคมตั้งไว้ สารคดีชิ้นนี้ได้รางวัลสารคดีสั้นโดยนักศึกษา และสารคดีเกี่ยวแฟนด้อมวงไอดอล ‘My EXID Ideas’ เจ้าของรางวัลสารคดีสั้นจากเอเชีย สารคดีที่เกี่ยวกับประเทศไทยก็มี ‘The Children of the Wandering Moon’ เรื่องเกี่ยวกับชาวเผ่ามันนิที่ออกมาใช้ชีวิตในเมือง ผู้กำกับใช้เวลา 1 ปี ตามติดเรื่องราวของเขา ‘Full Circle’ ตามติดชาวบ้านริมทะเลที่เก็บพลาสติกในทะเลไปขายจนสร้างรายได้ให้กับชุมชน สุดท้ายเป็นสารคดีสเปน ‘Waimai’ ตามติดชีวิตเมสเซนเจอร์ชาวจีนตลอด 24 ชม. สะท้อนภาพการทำงานเป็นเครื่องจักรของมนุษย์

ส่วนวันที่ 18 ธันวาคม เรามีงานจัดที่ Alliance Française Bangkok 5 สารคดีขนาดยาว 1 สารคดีสั้น ‘The Tiger Mafia’ รางวัลภาพยนตร์สารคดีขนาดยาวยอดเยี่ยม ว่าด้วยการล่าเสือ และค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ‘Who’s Afraid of Thailand’ จากอิหร่าน มันพูดถึงไทยในแบบที่คนไม่กล้าพูด จากมุมมองอิหร่าน ทำไมคนต่างชาติถึงกลัวไทย สารคดีนี้น่าสนใจมาก เพราะอิหร่านเป็นประเทศค่อนข้างปิด เราจะได้เห็นวัฒนธรรม มุมมองเขาที่มีต่อบ้านเมืองอื่น ‘Life with ALS’ รางวัลสารคดีสั้นยอดเยี่ยม ตามติดชีวิตของรองประธาน JD.com ที่ป่วยทุกข์ทรมานจาก ALS คนดูจะได้เห็นถึงการใช้ชีวิต และการตัดสินใจครั้งสำคัญในช่วงเวลาที่แย่ที่สุดเท่าที่มนุษย์จะเผชิญ ‘No Planet for Clothes’ รางวัลสารคดียอดเยี่ยมโดยผู้กำกับหญิง สารคดีตามติดเรื่องการบริจาคเสื้อผ้า ที่เผยให้เห็นว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม ในแต่ละปีมีปริมาณล้นหลาม สุดท้ายเสื้อผ้าเก่าหลังถูกบริจาคจะไปจบลงที่ไหน ‘Lotus Sport Club’ รางวัลสารคดีประเด็น LGBTQ+ ยอดเยี่ยม ว่าด้วยชายข้ามเพศที่เป็นสมาชิกในสโมสรฟุตบอลกัมพูชา ‘Noria, 35000km from France to Lao in a Citroen 2CV’ สารคดีโร้ดมูฟวี่ เจ้าของรางวัลสารคดีแนวกีฬายอดเยี่ยม ตามติดการเดินทางของคนสองคนบนรถคู่ใจจากฝรั่งเศส ไปสู่ลาว ผ่านทิวทัศน์ และเรื่องราวน่าสนใจกว่า 18 ประเทศ

ซึ่งโปรแกรมทั้งหมดนี้ เราฉายฟรี และจะมีการ Q&A กับผู้กำกับหลังหนังจบทุกเรื่อง ซึ่งเราอยากเชิญชวนมาดูด้วยกันที่เทศกาล เพราะถ้าคุณไปดูออนไลน์ต้องจ่ายเงิน ซึ่งจะออนไลน์ให้ชม 1 เดือน ที่ https://filmocracy.com/festival/Bangkok%2520International%2520Documentary%2520Awards%25202022/93d73849-6d06-4b1b-9dbc-31e665c1e88c

ภาพรวมของงาน BKK DOC คือความหลากหลาย เราให้ความสำคัญกับความแตกต่างเชื้อชาติ เพศสภาพ โดยมี 2 จุดประสงค์ อย่างแรก ให้แพลตฟอร์มในการนำเสนอผลงานของผู้สร้างสู่สายตากับบุคลากรมืออาชีพชั้นนำของวงการ อีกอย่างคือ เราอยากให้คนไทยได้มีโอกาสดูสารคดีที่หาโอกาสชมยาก สารคดีส่วนใหญ่ที่ฉาย เปิดตัวครั้งแรกในไทย มีบางเรื่องที่เป็นการเปิดตัวที่แรกในโลก และเราจัดเป็นงานเล็กๆ อบอุ่น เราก็จะไม่มีโฆษณาเยอะ เราอยากให้คุณตระหนัก และเล็งเห็นปัญหาต่างๆ บนโลกนี้ โดยเฉพาะในเอเชีย

เพราะอะไรทำให้สารคดีเป็นที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบัน

ถ้าเราสังเกตแพลตฟอร์มดูหนัง สิ่งที่ดึงดูดผู้คนก็คือ พวกเขาต้องการได้รับความบันเทิง ต้องการสิ่งที่รู้สึกเชื่อมโยง เข้าถึงได้ และการปลุกเร้าทางอารมณ์ และถ้าหากคุณได้เห็นฐานข้อมูลของแพลตฟอร์มออนไลน์ จะรู้ว่าสิ่งที่คนให้ความสนใจมากทุกวันนี้คือ หนังไซไฟ หนังสยองขวัญ และหนังสารคดี

สำหรับสารคดี ผมขอยกตัวอย่างแบบนี้ละกันในไทย อย่างเหตุการณ์ 13 หมูป่าติดถ้ำ ถูกนำไปดัดแปลงเป็นหนังมากมาย เริ่มแรกคุณมี The Cave ของ ทอม วอลเลอร์ (Tom Waller) แล้วก็มีฉบับสารคดีทั้ง The Rescue ใน Disney+, The Trapped 13: How We Survived the Thai Cave ใน Netflix ทุกเรื่องเล่าเหตุการณ์เดียวกัน แต่ใช้กลวิธีในการนำเสนอแตกต่างกันไป ภาพยนตร์กระตุ้นให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกระหว่างดู มันมีความตื่นเต้น ลุ้นระทึก รู้สึกร่วมไปกับตัวละคร ส่วนสารคดีมอบข้อมูล ข้อเท็จจริงต่างๆ จำนวนมากให้คุณ ทำให้คุณเห็นถึงมุมมองที่ผู้สร้างมีต่อประเด็นที่ทำอยู่

และในวันๆ หนึ่ง มีข่าวเยอะแยะมากในโซเชียลมีเดีย แต่เราก็ไม่มีเวลามากพอจะวิเคราะห์ลงลึกไปกับมัน ไม่มีพลังงานมากพอจะเสพมันทุกอย่าง ฉะนั้นเมื่อคุณอยากได้สาระความรู้ พร้อมกับมีช่วงเวลาดีๆ ไปด้วย สารคดีก็สามารถตอบโจทย์ได้ ถ้าสารคดีทำออกมาดี คุณก็ได้เรียนรู้ ได้สัมผัส ได้รับความบันเทิง และมีช่วงเวลาดีๆ เอนจอยไปกับมัน

แต่ละประเทศก็มีทัศนคติ หรือมุมมองการใช้ชีวิตต่างกันไปซึ่งยึดโยงกับวัฒนธรรมนั้นๆ การที่ในประเทศไทยสารคดีเริ่มได้รับความนิยมขึ้น ผมว่าส่วนหนึ่งมาจากการเติบโตของคนรุ่นใหม่ที่มีเสรีภาพทางการแสดงออกมากขึ้น หรือความรู้สึกถึงการมีเสรีภาพในการแสดงออกมันหนักแน่นขึ้น โครงสร้างของสังคมไทย มันทำให้คนที่เห็นต่างจากความเห็นกระแสหลัก ต้องปกปิด หลบซ่อน ทำให้การเติบโตของสารคดีในไทยเป็นไปได้ยาก

เรามีประเด็น หรือปัญหาต่างๆ ในสังคม วัฒนธรรม ปัญหาเชิงบุคคล ไม่ต่างจากเรื่องกีฬา ดนตรี ไลฟ์สไตล์ ซึ่งมันเป็นเรื่องน่าสนใจในเชิงสากล เรื่องราวในไทยบางครั้งมันก็ไทยมากๆ แต่บางอย่างที่มันไทยจ๋า แต่ก็เป็นประเด็นสากลเช่นกัน ทุกวันนี้ในประเทศไทยคุณซื้อกัญชาได้ทุกที่ จากแต่ก่อนห้ามสถานเดียว กลายเป็นค้าขายได้อิสระ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ทั้งโลกจับตา มันผิดกฎหมายหรือไม่ มันจะฟรีไหม นี่คือตัวอย่างที่ว่าประเด็นบางอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศนั้นๆ ก็สามารถเชื่อมโยงกับสิ่งที่เป็นสากลได้

เรื่องของเทคนิคการเล่าเรื่องมันก็เปลี่ยนไปด้วย บางคนยังมีภาพจำเก่าว่าสารคดีต้องชวนง่วง น่าเบื่อ ช้า ไม่บันเทิง แต่คนทำสารคดีชาวไทยในยุคปัจจุบัน พวกเขาเสพงานเยอะขึ้น ดูสารคดีที่เข้าฉายในไทยมากขึ้น จึงรู้วิธีการเล่าเรื่องแบบใหม่ สารคดีสามารถเป็นงานที่ทรงพลังได้ บันเทิงได้ มีจังหวะการเล่าที่เร็วได้ หรือช้าได้ แต่ก็ยังน่าสนใจ หรือหาวิธีทำให้คนดูรู้สึกร่วมไปกับหนัง หรือทำยังไงให้หนังมันเข้าถึงคนดูได้

ตอนไปดูงานที่มหาวิทยาลัย ผมทึ่งกับความหลากหลาย ความสร้างสรรค์ นักศึกษารู้วิธีทำสารคดีตามมาตรฐาน แต่ยังรู้วิธีเติมความคิดสร้างสรรค์ให้ผลงานตัวเองด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ต้องสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งด้วย ระหว่างผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ ภาครัฐ ตอนนี้มันคือการเริ่มต้น ผมหวังว่ามันจะเติบโตต่อไปได้อีก เพราะสารคดีไทยยังต้องการการสนับสนุนต่อ

แล้วคุณอยากทำสารคดีประเด็นอะไรในไทย

ก่อนอื่นนะ ผมเคยทำสารคดีมาแล้ว 2 เรื่อง ผมสนใจประเด็นทางสังคม เรื่องแรกที่ผมโปรดิวซ์ กำกับโดย โดนัท มนัสนันท์ ‘The Journey บันทึกทางไกล…ถึงพ่อ’

เริ่มจากโดนัทอ่านหนังสือของคุณลีซองดร์ เซไรดารีส (Lysandre C. Seraidaris) ลูกชายของคุณเกลย์อง เซไรดารีส (Cleon C. Seraidaris) อดีตครูที่ปรึกษาส่วนพระองค์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 และผู้แต่งหนังสือเรื่อง ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ร.9 และเจ้านายไทยในโลซานน์’ โดนัทไปเจอคนเขียน แล้วเราก็เริ่มทำสารคดีจากหนังสือกัน มันคือการลงลึกไปยังรากฐานของศูนย์รวมวัฒนธรรมไทย ตอบคำถามว่าทำไมคนไทยถึงรักในหลวงยิ่งนัก

เรื่องต่อมา ‘Instant BadAss’ ชาวต่างชาติมักจะมองว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ค่อนข้างรักสงบ และอ่อนโยน แต่คุณเคยได้ยินเรื่อง Fight Club ในประเทศไทยไหม ผมไปถ่ายวัฒนธรรมการต่อสู้ใต้ดินพวกนี้มา Bangkok Fight Club สารคดีพยายามหาคำตอบว่าทำไมพวกเขาถึงต้องต่อสู้ ต้องรู้สึกเจ็บปวดถึงจะรู้สึกดี มันเป็นปัญหาทางสังคมนะที่พวกเขาไม่สามารถแสดงออก ระบายออกถึงความโกรธได้ แต่พอเขาได้ต่อสู้ พวกเขาถึงรู้สึกมีชีวิตชีวา อีกประเด็นที่ผมมองว่าน่าสนใจ จับใจผม คือการที่ว่าทำไมโซเชียลเน็ตเวิร์คถึงเป็นที่นิยมนัก ผมเลยไปสัมภาษณ์ Influencer 11 ท่าน ในสารคดีสั้นที่ชื่อ ‘Me and My Beautiful Body’ เราสัมภาษณ์พวกเขาเกี่ยวกับความพึงพอใจต่อร่างกายตัวเอง ภาพลักษณ์ ทำไมพวกเขาถึงทำศัลยกรรม ทำไมถึงคิดเปลี่ยนแปลงร่างกาย แล้วมันส่งผลกระทบกับจิตใจอย่างไรบ้าง เพราะมันเป็นสิ่งที่ผมไม่เข้าใจ ในฐานะผู้หญิงที่คุณก็รู้ว่าสิทธิความเท่าเทียมทางเพศเป็นยังไงในสังคมปัจจุบัน พวกเธอถูกสังคมกดขี่ หรือพวกเธอจริงๆ แกร่งกว่านั้น มีอำนาจมากกว่าระบบ พวกเธอนี่แหละอาจเป็นคนควบคุมระบบ ผ่านการใช้ภาพลักษณ์ตัวเอง

โปรเจกต์ต่อไปของผมคือเรื่องหมอดูอีที ชื่อ ‘EThi Legacy’ ผมอยากรู้ว่าทำไมเรื่องการดูดวงถึงมีอิทธิพลกับความเชื่อคนไทย หมอดูอีทีตายแล้ว แต่ตอนนี้คนสืบทอดต่อคือน้องสาวเธอที่มีความสามารถเหมือนกัน ผมเลยตามติดเธอเป็นเวลา 2 ปี จนเราเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน ผมสัมภาษณ์คนไทยที่จัดทริปพาคนไทยไปดูดวงกับเธอ หรือเชิญเธอมาดูดวงที่ไทย เรายังได้สัมภาษณ์คุณนิรัตติศัย กัลย์จาฤก ที่เพิ่งเสียไป เขาเคยทำซีรีส์เกี่ยวกับหมอดูอีทีด้วยทาง มิราเคิล แชนแนล ช่องทีวีจากค่ายกันตนา สร้างเป็นละครความยาว 12 ตอน มันจะได้มีการเทียบได้ระหว่างซีรีส์ที่เป็นการเขียนบทจากเรื่องจริง กับสารคดีที่เป็นข้อเท็จจริงล้วนๆ

จะชวนคนดูหน้าใหม่ ให้มาลองสนใจสารคดียังไง

ถ้าคุณคิดว่าสารคดีจะดูยาก น่าเบื่อ ผมท้าให้คุณลองกรอไปดูตรงกลางเรื่อง แล้วดูไป 1 นาที แล้วคุณจะเสียใจที่ไม่ดูตั้งแต่ต้น เพราะบางทีสารคดีเนี่ย เผลอๆ จะน่าประทับใจ จับใจ สนุกยิ่งกว่าหนังอีกนะ เพราะสิ่งที่คุณดู คือเรื่องจริง คุณจะได้เรียนรู้ และรู้สึกเชื่อมโยงจากการรับประสบการณ์ของผู้อื่น

ก่อนจากไปขอทิ้งท้ายฝากงาน BKK DOC หน่อย

อย่างแรกเลย ขอบคุณผู้อ่าน และผู้สนับสนุน BKK DOC คนทำหนัง กรรมการ รวมไปถึงพันธมิตรมากมาย งานของเราไม่ใช่ธุรกิจ มันคืองานฉายสารคดีเพื่อสร้างความบันเทิง และสร้างความรู้สึกดีๆ เพื่อแบ่งปันกัน เวลาคุณดูสารคดีออนไลน์ฟรีๆ คนเดียวทางโทรศัพท์ มันก็น่าสนใจอยู่หรอก แต่คุณจะไม่ได้รับรู้ปฏิกิริยาของคนรอบข้างเหมือนมาดูด้วยกันที่งาน คุณจะได้สัมผัสถึงความรู้สึกของคนอื่น เขาคิดเหมือนเราไหม คิดต่างไหม ซึ่งการมาดูสารคดีที่งาน BKK DOC นี่แหละ คุณจะได้ประสบการณ์นั้น คุณจะได้ดูหนัง และได้พบปะพูดคุยซักถามกับผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ตามอย่างที่ควรเป็น คุณถามได้ว่าเขาทำทำไม ทำอย่างไร รวมถึงตัวหนัง หัวข้อ ผู้คน มันเสี่ยงไหม สิ่งที่เราเรียนรู้ อะไรจริง ไม่จริง คว้าโอกาสนั้นซะ

ท้ายที่สุด ผมอยากให้เราแสดงการสนับสนุนคนทำหนัง เพราะพวกเขาเสียทั้งเวลา และลงทุนด้วยเงินของตัวเอง รางวัลหนึ่งที่พวกเขาควรได้คือการได้รู้ว่ามีสาธารณชนสนุกไปกับงานของเขาหรือไม่ ได้แบ่งปันแรงใจความชอบไปกับเขา และพวกเขาก็อาจจะได้เงินไปลงทุนทำหนังเรื่องอื่นต่อไป

ยิ่งมีสารคดี ยิ่งหมายถึงเรามีเสรีภาพทางการแสดงออกมากขึ้นนั่นเอง มีความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น มีการเคารพกันและกันมากขึ้น มาเถอะ มาดูกันครับ

งาน BKK DOC ยังมีให้ชมพร้อมทั้งประกาศมอบรางวัล ในวันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม นี้ ที่ Alliance Française Bangkok เวลา 14.30 น. เป็นต้นไป และมีพิธีการประกาศรางวัลในเวลา 18.30 น.
หรือสามารถรับชมในรูปแบบออนไลน์ออนดีมานด์ได้ทาง https://filmocracy.com/festival/Bangkok%2520International%2520Documentary%2520Awards%25202022/93d73849-6d06-4b1b-9dbc-31e665c1e88c
BrandThink Cinema ไม่อยากให้คุณพลาดโอกาสพิเศษในการรับชมความหลากหลายของสารคดีในครั้งนี้จริงๆ