ทบทวนประวัติศาสตร์ Bitcoin กับสังคมไทย จาก BX.in.th ถึง Bitkub

7 Min
2473 Views
09 Jan 2021

ถ้าพูดถึง Bitcoin ทุกวันนี้คงจะน้อยคนที่ไม่เคยได้ยินชื่อของสิ่งนี้

แต่ถามว่าได้ยินมาจากไหน? เมื่อไร? หลายคนคงจะจำ “จุดเริ่มต้น” ไม่ได้แล้ว

เราก็เลยอยากจะทบทวนและบันทึกไว้เสียหน่อย

คนในสาย IT หรือศึกษาเรื่องความปลอดภัยไซเบอร์หรือแฮ็กเกอร์ น่าจะได้ยินเรื่องเกี่ยวกับ Bitcoin มาเป็นสิบปีแล้ว เพราะในทางเทคโนโลยีนี่เป็นนวัตกรรมที่สุดยอดมาก แบบใครก็ต้องพูดถึง

‘แก่นสาร’ ของ Bitcoin คือ “ฐานข้อมูลสาธารณะที่แก้ไขไม่ได้” หรือ “แฮ็กไม่ได้” ที่เรียกว่า Blockchain และ Bitcoin ได้เอาเทคโนโลยี Blockchain มาประยุกต์ใช้ให้เห็นเป็นครั้งแรกว่ามันเอามา “ใช้ได้จริง” และในที่นี้คือถูกเอามาประยุกต์ใช้เพื่อสร้าง “สกุลเงินดิจิทัล”

หรือพูดอีกแบบ Bitcoin โดยพื้นฐานถูกสร้างมาเป็น Proof of Concept ของเทคโนโลยี Blockchain นั่นเอง จะบอกว่า “ไม่มีอะไรมากกว่านั้น” ก็ได้

แน่นอนว่านี่เป็นสิ่งที่ “เข้าใจยาก” แม้แต่คนในสาย IT เองก็ยังต้องใช้ความพยายามพอสมควรในการเข้าใจหลักการและการทำงานของสิ่งนี้ ดังนั้นจึงไม่แปลกว่าในตอนแรกๆ คนจะไม่สนใจกันเท่าไร

1.

ถ้าจำได้ใน ‘ประวัติศาสตร์ Bitcoin’ สิ่งนี้เกิดขึ้นมาบนโลกในปี 2009 โดยไม่มีมูลค่าใดๆ และครั้งแรกที่คนใช้ Bitcoin ซื้อของที่ถูกบันทึกเอาไว้ก็ตอนปี 2010 เมื่อชายคนหนึ่งซื้อพิซซ่าสองถาดด้วยเงิน 10,000 BTC (ตัวย่อของ ‘สกุลเงิน’ Bitcoin)

แต่หลังจากนั้นมูลค่า Bitcoin ก็เริ่มเพิ่มขึ้น โดยในปี 2011 ราคาของมันขึ้นมาเป็น 1 BTC/USD หรือราคา 1 Bitcoin เท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ก่อนที่ในปี 2013 ราคาของมันจะพุ่งขึ้นครั้งแรก และพุ่งจนไปแตะ 1,200 BTC/USD ก่อนจะร่วงลงมาในปี 2014 และค้างอยู่ในระดับนั้นหลายปี

ในช่วงเวลานั้น สังคมไทยคนไม่สนใจ Bitcoin เลย เพราะสมมติว่าคนไทยมี Bitcoin ในมือก็ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ไม่ต้องพูดถึงว่าร้านค้าต่างๆ ก็ไม่รับ แต่ในไทยเอง คนส่วนใหญ่ก็ไม่รู้จะเปลี่ยน Bitcoin เป็นเงินบาทยังไงด้วย เพราะตู้ ATM ที่จะกด Bitcoin ออกมาเป็นเงินสดนั้นแทบไม่มีตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้

ในหมู่ผู้นิยม Bitcoin ว่ากันว่า “ตู้ ATM” สำหรับกด Bitcoin ออกมาตู้แรกในไทยตั้งอยู่ที่ร้านคราฟต์เบียร์ชื่อดังย่านนนทบุรีอย่าง Chitbeer คาดว่าน่าจะเป็นร้านแรกๆ ในไทยที่ “รับ Bitcoin” มาอย่างน้อยตั้งแต่ปี 2014

ตู้ ATM สำหรับ Bitcoin ในปี 2015 ที่ร้าน Chitbeer | Facebook ร้าน Chitbeer

แต่ถ้าไม่นับร้าน Chitbeer จากวันนั้นถึงวันนี้ประเทศไทยน่าจะมีตู้ ATM Bitcoin น้อยมาก (ทางเว็บ Coin ATM Radar รายงานว่ามีตู้อยู่ทั่วไทยไม่เกิน 10 ตู้) ดังนั้น ATM จึงไม่ใช่ทางออก

ดังนั้น คนที่มี Bitcoin ในมือ ก็ต้องหวังพึ่ง “เว็บแลกเงิน/เว็บเทรด” ของ Bitcoin ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยที่สามารถแลกเปลี่ยน Bitcoin กับสกุลเงินบาทได้จริงๆ และตรงนี้ เมื่อค้นดูดีๆ จะพบว่าเว็บ BX.in.th ที่เป็น “เว็บเทรด” Bitcoin เว็บแรกในสังคมไทยนั้นเปิดมาตั้งแต่ปี 2014 แล้ว โดยคนตั้งเว็บนี้เป็น “ฝรั่ง” ที่อยู่เมืองไทยนามว่า David Barnes (เขาค่อนข้างลึกลับ ไม่มีบทสัมภาษณ์ใดๆ กับสื่อ และไม่มีรูปปรากฏต่อสาธารณะ)

แต่ถามว่าตอนนั้นเข้าไปใน BX.in.th จะเจออะไร เราก็คงจะพบว่าการซื้อขายเกิดขึ้นได้ยากมาก เพราะไม่มีใครมี Bitcoin ในมือแล้วอยากแลกเป็นเงินบาทไทย และก็ไม่มีคนไทยคนไหนอยากจะมี Bitcoin ในมือ และพร้อมจะเอาเงินบาทไปซื้อ

พูดง่ายๆ ตลาด Bitcoin เกิดมาในไทยแล้วตั้งแต่ปี 2014 แต่ตลาดมันเล็กมาก ซื้อขายกันไม่คล่องเลย
แล้วอะไรคือ “จุดเปลี่ยน”

ตอบสั้นๆ ก็คือ ปี 2017 ที่เกิดกระแส “ตื่น Bitcoin” ทั้งโลก

2.

กระแส “ตื่น Bitcoin” ที่ว่าถ้าเล่าย้อนคือเริ่มในช่วงเดือนมีนาคม 2017 ที่อยู่ดีๆ Bitcoin ที่คนไม่สนใจกันแล้วก็กลับมาราคาขึ้นจน “ทำลายสถิติ” ที่เคยทำไว้ในปี 2014 คือทะลุแนวต้านที่ประมาณ 1,200 BTC/USD ขึ้นไป และขึ้นไม่หยุดตลอดปี 2017

เวลานั้นคนไทยจำนวนไม่น้อยอยู่ใน “รถไฟเหาะ” คราวนั้น (ก็เล่นขั้นทะลุ 1,200 BTC/USD ไปถึงเกือบ 20,000 BTC/USD ไม่เรียก “รถไฟเหาะ” จะเรียกอะไร) ซึ่งเหตุผลสำคัญก็คือ ตอนนั้นมีทั้งอุปสงค์และ อุปทานของ Bitcoin ในสังคมไทย

ฝั่งอุปสงค์ เราก็จะเห็นว่าตั้งแต่กลางปี 2017 แม้แต่สื่อการเงินกระแสหลักในต่างประเทศก็เริ่มรายงานให้โลกรู้จักสิ่งที่เรียกว่า Bitcoin แล้ว เป็นครั้งแรก

แม้พวกสื่อการเงินจะรายงานในเชิงกังขามาตลอดปีว่าไม่น่าจะใช่
สินทรัพย์ทางการเงินที่ไว้ใจได้ (ซึ่งตอนนั้น ถ้าใครความจำไม่สั้นนั้น พวกนักการเงินนานาชาติที่ปกติคุ้นเคยกับหุ้นมักจะ “ดูถูก” Bitcoin มาตลอด

กล่าวคือก็พูดว่า “เดี๋ยวก็ร่วง” ตั้งแต่ Bitcoin ราคาแตะ 4000 BTC/USD

ซึ่งก็ร่วงจริง หลังจากราคาขึ้นไปกว่านั้นเกือบ 5 เท่าตัว)

บางทีสื่อทั่วไปก็รายงานอย่างสับสนว่า Bitcoin มีความเกี่ยวพันลึกซึ้งกับการฉ้อโกงประเภท “แชร์ลูกโซ่” แต่ก็มีคนจำพวกหนึ่งที่มีเหตุผลบางอย่างให้เชื่อว่า Bitcoin นี่แหละ “เงินแห่งอนาคต” และก็อยากได้ไว้ครอบครอง

คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักมาจากสายการเงิน พูดง่ายๆ คือไม่มีปัญญาจะประกอบ “เครื่องขุดบิตคอยน์” เอง

ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็ต้องอาศัยซัพพลายเออร์ของ Bitcoin ในเมืองไทยที่มี Bitcoin ในมือพร้อมขายแลกเงินบาท ซัพพลายเออร์ที่ว่าก็คือพวกคนสาย IT ที่เริ่ม “หัวใส” เห็นคนต้องการ Bitcoin เลยลงทุน “ขุด Bitcoin” (ขอไม่ลงรายละเอียดว่า “ขุด Bitcoin” คืออะไรนะครับ เพราะรายละเอียดในทางเทคนิคเป็นบทความยาวๆ ได้เลย

แต่เอาง่ายๆ ด้วยราคาตอนนั้น ถ้าคุณมีเงินอย่างต่ำครึ่งแสน และมีความรู้ IT พอควร คุณสามารถลงทุนทำเครื่อง “ขุด Bitcoin” ซึ่งคุณก็ไม่ต้องทำอะไรกับมันเลยนอกจากต่อไฟกับอินเทอร์เน็ต และใช้เวลาไม่ถึงครึ่งปีในการคืนทุนบนฐานของราคา Bitcoin ในตอนนั้น

นี่พูดแบบย่นย่อ เพราะในทางปฏิบัติ “นักขุด” รายย่อยไม่ได้ “ขุด Bitcoin” แต่ไปทำการขุดสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ แทน เพราะผลตอบแทนดีกว่าถ้าเทียบกับต้นทุน)

3.

ถ้าใครจำได้ในปี 2017 จะมีปรากฏการณ์ “การ์ดจอขาดตลาด” บรรดาเกมเมอร์ด่ายับ นั่นคือผลพวงของการ “ตื่น Bitcoin” พวกคนสาย IT ที่ซื้อไปสร้าง “เครื่องขุด Bitcoin” กัน

ดังนั้นในปี 2017 เราจะเห็นว่าเป็นครั้งแรกที่ตลาด Bitcoin เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ในไทย คือมีคนอยากเอาเงินบาทไปซื้อ Bitcoin และก็มีคนอยากขาย Bitcoin เอาเงินบาท และเว็บเทรดมีพร้อม

และปี 2017 ก็เป็นปีที่ Bitcoin “แจ้งเกิด” จริงๆ ทั้งในประเทศไทย และในโลกด้วย (เว็บเทรดชื่อดังจากจีนอย่าง Binance ก็เกิดในปีนั้น โตอย่างรวดเร็ว และยังเป็นเว็บเทรดสกุลเงินดิจิทัลที่วอลุ่มสูงสุดมาจนถึงทุกวันนี้)

นี่คือ “จุดเริ่ม” ของ Bitcoin จริงๆ ในสังคมไทย ในระดับที่เราไปกินหมูกระทะ ก็อาจได้ยินโต๊ะข้างๆ คุยกันเรื่อง Bitcoin

นี่คือเหตุผลว่าทำไมถามคนทุกคนที่เคยยุ่งกับ Bitcoin ในช่วง “ตื่น Bitcoin” ปี 2017 จะต้องรู้จักเว็บ BX.in.th เพราะนั่นคือศูนย์กลางของจักรวาล Bitcoin ในสังคมไทย

แต่เราจะไม่ได้ยินชื่อเว็บนี้เท่าไร เพราะ “ตลาดเก่าแก่ที่สุดของ Bitcoin ในสังคมไทย” อย่าง BX.in.th ได้ปิดตัวไปแล้วในเดือนกันยายน ปี 2019
สาเหตุที่ปิดตัว ไม่ชัดเจนนัก แต่หลักๆ อาจเกิดจากการพยายามเข้ามากำกับดูแลของ “ภาครัฐไทย” ผ่านหน่วยงานอย่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)

ถ้าจำกันได้ในปี 2017 มีข้อถกเถียงกันพอสมควรว่าการกำกับดูแลการซื้อขาย Bitcoin ควรเป็นหน้าที่ของ กลต.หรือไม่? และจริงๆ นี่เป็นดีเบตที่มีทั่วโลกในปีนั้นว่าสุดท้ายรัฐ “มีสิทธิ์” จะกำกับดูแลการซื้อขาย Bitcoin หรือไม่?

ซึ่งมันก็กลับมาสู่คำถามพื้นฐานว่า Bitcoin มีสถานะเป็น “หลักทรัพย์” หรือไม่?

กล่าวคือถ้าเป็นหลักทรัพย์ กลต.มีอำนาจกำกับดูแลแน่นอน แต่ถ้าไม่ใช่ ก็ไม่มีอำนาจ

ผลสุดท้าย ในปี 2018 รัฐไทยก็ได้มีการออก พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 ออกมา พูดง่ายๆ ก็คือฟันธงให้ กลต.มีอำนาจในการกำกับดูแลเว็บเทรด Bitcoin นั่นเอง

ถ้าไปค้นข้อมูล ตอนแรกที่กฎหมายตัวนี้บังคับใช้มีถึง 7 แพลตฟอร์มในไทยที่มี “ใบอนุญาต” ในการซื้อ/ขายบิตคอยน์

ซึ่งใบอนุญาตที่ว่านี้ต่อกันแบบปีต่อปี และ BX.in.th ก็ขออนุญาตแค่ปีเดียว ก่อนที่ปีต่อมาจะไม่ต่อใบอนุญาต และปิดตัวอย่างถาวรในช่วงปลายปี 2019 ดังที่ว่ามา

เหตุผลที่ปิดตัวก็เป็นปริศนาและลึกลับพอๆ กับ David Barnes ผู้เป็น CEO ของทาง BX.in.th ที่ไม่เคย “ออกสื่อ” ใดๆ แม้ว่าเขาจะมีคุณูปการในการขยายตลาด Bitcoin ในสังคมไทย บ้างก็ว่า “รวยแล้วเลิก” บ้างก็ว่า “ธุรกิจเริ่มไม่ทำกำไรเหมือนเดิม” บ้างก็ว่า “สู้แพลตฟอร์มคู่แข่งไม่ได้” บ้างก็ว่า “มีปัญหากับราชการไทย” ฯลฯ

แต่ถ้าเท็จจริงก็คือ ในขณะที่ปิดตัวไป สื่อการเงินของไทยก็ยอมรับว่า BX.in.th เป็น “เว็บเทรดบิตคอยน์” อันดับ 1 ของเมืองไทย และก็ “เป็นประวัติศาสตร์” ไปอย่างเป็นทางการ เรียกได้ว่าใครซื้อ Bitcoin รุ่นแรกๆ ตอนปี 2017 บน BX.in.th ก็อาจเอาไปอวดลูกอวดหลานได้

คำถามต่อมาคือแล้วใครขึ้นเป็น “เว็บเทรดบิตคอยน์อันดับ 1” แทน?

4.

ณ ปลายปี 2019 คงไม่มีข้อกังขาเท่าไรว่า bitkub น่าจะเป็น “เว็บเทรดบิตคอยน์อันดับ 1” ในยุคหลัง BX.in.th

คำถามคือเว็บนี้มาจากไหน?

คำตอบคือตอนแรกเริ่มจาก coins.co.th ซึ่งในทางปฏิบัติเป็น “แอปบิตคอยน์” แรกๆ ในไทย ซึ่งทำมาเพื่อ “เติมช่องว่างในตลาด” เนื่อง BX.in.th เป็นแพลตฟอร์มเว็บไซต์ที่ต้องเข้าผ่านเว็บเบราว์เซอร์เท่านั้น ใครจะใช้ผ่าน “มือถือ” นี่ไม่สะดวกแน่ๆ และก็มีหลายๆ เจ้าพยายามจะแข่งกันสร้าง “แอปบิตคอยน์” ให้คนไทยใช้

ซึ่งต่อมาผู้ก่อตั้ง coins.co.th ท็อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ก็ได้ออกจาก coins.co.th และมาร่วมมือกับหุ้นส่วนและผู้คร่ำหวอดในแวดวง Startup ในไทยจำนวนหนึ่งมาสร้างแพลตฟอร์มใหม่ bitkub ซึ่งคราวนี้ทำจริงจังเป็นแพลตฟอร์มและแอปเทรดออนไลน์หน้าตาดี พูดง่ายๆ คือ รีแบรนด์ใหม่แบบจริงจังให้เหมาะกับคนไทยที่สุด รอขึ้นเป็นอันดับหนึ่งต่อ BX.in.th

แม้ว่า bitkub เพิ่งตั้งมาปี 2018 และโตต่อเนื่องมาเรื่อยๆ มีการรับสมัครพนักงานมหาศาล และในปี 2020 เราก็จะเห็นโฆษณา bitkub บนรถไฟฟ้า

นอกจากนี้ ท็อป-จิรายุส ก็ยังได้ไปออกรายการกระแสหลักอย่าง “อายุน้อยร้อยล้าน” และพาชมออฟฟิศ bitkub อีกด้วย (ออกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2020) ชมคลิปได้ที่ : https://youtu.be/KIFweQ25aNk

5.

ปี 2020 ในที่สุด Bitcoin ก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย “กระแสหลัก” ไปแล้ว ถ้าดูข่าวในวงกว้าง แม้แต่พวก “ที่ปรึกษาทางการเงิน” ก็ยังมีการแนะนำให้ลงทุนใน Bitcoin และ “หลักทรัพย์ดิจิทัล” อื่นๆ กันแล้ว ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เราจินตนาการไม่ได้แน่ๆ ในช่วงปี 2017-2018 ที่เหล่า “นักการเงินกระแสหลัก” ยังมอง Bitcoin ในแง่ลบหรือมองอย่างกังขา

และก็แน่นอน เมื่อย่างเข้าสู่ปี 2021 แม้ว่าโควิด-19 จะไม่จางหาย แต่ Bitcoin ก็เรียกได้ว่าราคาขึ้นอีกรอบระดับ “ทะลุฟ้า” และทำ “นิวไฮ” ต่อเนื่องไปถึงระดับเกิน 30,000 BTC/USD แล้ว หรือในตลาดเมืองไทยก็เรียกได้ว่า “ล้านแตก” สำเร็จ

คือ 1 Bitcoin มีมูลค่าเกิน 1 ล้านบาทในที่สุด และส่งผลให้เกิดกระแส “ตื่น Bitcoin” มาอีกรอบ ระดับทำให้แอปของ bitkub ขึ้นเป็นอันดับหนึ่งใน App Store รับต้นปี 2021 และปริมาณซื้อขายก็สูงกระหน่ำระดับทำ “เว็บล่ม” เลยทีเดียว

กระแสเห่อ Bitcoin เรียกได้ว่ากลับมาอีกครั้งในสังคมไทย ซึ่งพัฒนาการต่อไปจะเป็นอย่างไรก็ตอบยาก แต่ ณ ตรงนี้เราก็คงจะขอทบทวนที่มาที่ไปว่า เรามาถึงตรงนี้กันได้อย่างไร

อ้างอิง:

  • Los Angeles Times. A renegade soldier leads a revolution in Thailand — for craft beer. http://lat.ms/2LmPsfJ
  • Siam Blockchain. ก.ล.ต. ไทยเปิดเผยรายชื่อผู้ให้บริการเว็บซื้อขายคริปโต 7 ราย อนุญาตให้ประกอบการได้ตามบทเฉพาะกาล. http://bit.ly/3bg47Em
  • Blognone. สิ้นยุค? BX.in.th ประกาศปิดบริการวันที่ 30 กันยายนนี้ ปีหน้าไม่ขอใบอนุญาต. http://bit.ly/3pXZLGd
    Siam Blockchain. คนไทยแห่เทรด Bitcoin หนักจนแอพ Bitkub พุ่งแตะอันดับ 1 บน App Store สมัครวันเดียวเกือบ 4 หมื่น. http://bit.ly/2LmMcRy