หลงทางบ้างไม่ใช่เรื่องใหญ่ เรียนรู้ชีวิตผ่าน ‘Bildungsroman’ ที่เป็นมากกว่าหมวดหมู่นิยาย
ผ่านมาเกือบ 227 ปีแล้วนับตั้งแต่หนังสือ ‘Wilhelm Meister’s Apprenticeship’ นวนิยาย ‘Bildungsroman’ เรื่องแรกที่แต่งโดย Johann Wolfgang Goethe ถูกตีพิมพ์สู่สายตาชาวโลกในปี ค.ศ 1796
นับว่าเป็นการเดินทางประวัติศาสตร์อันยาวนานทีเดียว ปัจจุบันมีนวนิยายหมวดดังกล่าววางขายในร้านหนังสือให้เราเห็นเรื่อยๆ แม้กระทั่งซีรี่ส์หรือภาพยนตร์บางเรื่องก็จัดว่าอยู่ในหมวดนี้เช่นกัน
แล้วนวนิยายแบบ ‘Bildungsroman’ ที่ว่าคืออะไรกันแน่
คำนี้มาจากการรวมกันของคำว่า Bildung แปลว่า ‘การเรียนรู้’ และ Roman ที่แปลว่า ‘นิยาย’ กลายมาเป็น ‘Bildungsroman’ หมวดหนึ่งของนวนิยายที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเดินทางของตัวเอกที่เผชิญอุปสรรคระหว่างทางซึ่งสอนให้พวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่
แม้คอนเซ็ปต์จะค่อนข้างใกล้เคียงกับประเภทนวนิยายที่หลายคนน่าจะคุ้นหูกันว่า Coming-of-age แต่ความหมายของสองคำนี้ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว
‘Bildungsroman’ จะค่อนข้างเฉพาะเจาะจง โดยเนื้อเรื่องมักเกี่ยวกับการเติบโตของตัวละครในวัยเด็กที่ต้องผ่านความเจ็บปวด หลงทางในเขาวงกตแห่งความสับสนในตัวตน จนสุดท้ายประสบการณ์หล่อหลอมให้พวกเขาค้นพบตัวเองและเติบโตเป็นผู้ใหญ่
ถึงตรงนี้หลายคนอาจคิดในใจว่าเรื่องราวชีวิตของคนคนหนึ่งก็คงไม่ฟินจิกหมอนเท่านิยายรักหวานซึ้ง คงไม่ขนหัวลุกเท่านิยายสยองขวัญ และแน่นอนว่าคงไม่น่าตื่นเต้นเท่านิยายไซไฟแฟนตาซีหรอกมั้ง
แต่ถ้าเช่นนั้นทำไมภาพยนตร์ ซีรี่ส์ และนวนิยายประเภทนี้ถึงยังเป็นที่นิยมอยู่ถึงปัจจุบัน คำตอบหนึ่งคือ ‘ความลึกซึ้ง’ และ ‘มิติ’ ของตัวละคร
เราอาจเห็นภาพชัดขึ้นหากสังเกตจากตัวอย่างสื่อประเภทนี้ที่น่าจะเคยผ่านตามาอย่าง Harry Potter, Forrest Gump, Little Women, To Kill a Mockingbird, และ The Perks of Being a Wallflower แม้กระทั่งซีรี่ส์ที่นาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักอย่าง ‘แปลรักฉันด้วยใจเธอ’ ก็อาจมองได้ว่าเป็นหนึ่งในหมวดนี้เช่นกัน
จะเห็นได้ว่าการดำเนินเรื่องแบบ ‘Bildungsroman’ ไม่ใช่แค่ ‘หนังชีวิต’ ทั่วไป แต่เสนอเรื่องราวให้เราได้ทำความรู้จักตัวละครอย่างลึกซึ้ง เข้าใจถึงแต่ละการตัดสินใจ และสนุกที่ได้เห็นพวกเขาเติบโตเมื่อต้องเผชิญกับอะไรก็แล้วแต่ที่เข้ามากระทบชีวิต
เมื่อได้มองตัวละครเติบโตผ่านจอจึงคล้ายกับว่าได้เดินทางไปพร้อมๆ กับพวกเขา ตรงนี้แหละคือวัตถุดิบชั้นดีที่ทำให้นวนิยายและภาพยนตร์แบบนี้มีมิติและเต็มเปี่ยมด้วยมุมมอง
ไม่เพียงเท่านั้น ‘Bildungsroman’ ยังผายมือเชื้อเชิญให้เราสะท้อนอุปสรรคที่ตัวละครเผชิญกับชีวิตจริงของตัวเอง ไม่ต่างกับคำพูดที่ว่า ‘มองละครแล้วย้อนดูตัว’ ซึ่งยิ่งทำให้อินเป็นพิเศษ
เพราะแน่นอนว่าในชีวิตหนึ่งของเราต้องเคยผ่านช่วงเวลาสับสน มองไปทางไหนก็ไม่มีใครเข้าใจ เกิดคำถามมากมายว่าเราเกิดมาทำไม
ในแง่ความบันเทิงก็ไม่น่าเบื่อเลยแม้แต่นิด เพราะสื่ออารมณ์ได้ทั้งดราม่า, โรแมนติก, คอมเมดี้ หรืออย่าง Harry Potter ก็ทำให้เราระทึกใจได้ไม่น้อย ‘Bildungsroman’ สามารถเจาะลึกไปถึงกระบวนการคิดและชีวิตของมนุษย์ได้มากกว่านวนิยายหมวดอื่นที่ทำได้เพียงผิวเผิน
สุดท้ายแล้ว ‘Bildungsroman’ ไม่ได้เพียงแค่ทำให้เราเข้าใจบทเรียนสำคัญของชีวิตที่ซ่อนอยู่ภายใต้เรื่องราวของตัวละคร แต่ยังชี้ให้เห็น ‘ความสวยงาม’ ของแต่ละช่วงวัย วาดภาพความไม่สมบูรณ์ของชีวิต ความสับสนและความผิดหวังเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของชีวิตมนุษย์
ที่สำคัญยังสอนให้เรารู้ว่า ‘หลงทาง’ บ้างก็ไม่ได้เป็นเรื่องแย่อะไร
อ้างอิง
- Medium. Why Should We Study Bildungsroman Texts?. https://bit.ly/3d6GA96
- The Guardian. ‘When you grow up your heart dies’: how the coming-of-age film got smart. https://bit.ly/3j4TlEO