มีอะไรใน ‘สนามบินเบตง’ โปรเจกต์แรกๆ ในยุครัฐบาล คสช. ที่เจอ ‘โรคเลื่อน’ มาแล้วหลายรอบ
ข่าวใหญ่ของรัฐบาลไทยวันนี้ (14 มีนาคม 2565) หนีไม่พ้นเรื่อง ‘พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นายกรัฐมนตรี เดินทางไปจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อเป็นประธานในพิธีเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์สนามบินนานาชาติ หรือท่าอากาศยาน ‘เบตง’ ในจังหวัดยะลา
สาเหตุที่คนจับตามองข่าวนี้กันมาก เพราะนี่คือสนามบินแรกที่ผ่านมติให้ก่อสร้างในสมัยรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังจากที่พลเอกประยุทธ์ยึดอำนาจจากรัฐบาลก่อนหน้ามาได้ไม่นาน และเป็นสนามบินที่อยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เจอเหตุการณ์ ‘เลื่อนเปิด’ มาแล้วหลายรอบ
ประเด็นนี้มีการตอบโต้จาก ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกรัฐบาล ซึ่งแถลงข่าวเมื่อเดือนมกราคม 2565 โดยระบุว่าผู้ที่เผยแพร่ข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง ‘มีข้อติดขัด’ จนไม่สามารถเปิดให้บริการได้นั้นเข้าข่าย ‘ข้อมูลบิดเบือน’ พร้อมย้ำว่าสนามบินเบตงได้ให้บริการเที่ยวบินทางราชการและเที่ยวบินส่วนบุคคลแล้วตั้งแต่ต้นปี 2565
ถ้าอ้างอิงคำแถลงของโฆษกรัฐบาลในครั้งนั้น มีการระบุด้วยว่าสนามบินเบตงว่าเริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2560 และสร้างเสร็จในปี 2562 ส่วนอาคารที่พักผู้โดยสารมีพื้นที่ประมาณ 7,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วนได้ประมาณ 300 คนต่อชั่วโมง และจะรองรับผู้โดยสารได้ราว 876,000 คนต่อปี ขณะที่รันเวย์สนามบินมีความยาว 1,800 เมตร รองรับได้เฉพาะอากาศยานขนาดเล็ก เช่น เครื่องบินแบบใบพัด ATR 70-80 ที่นั่ง และเส้นทางบินกับการขึ้นลงของอากาศยานจะอยู่ในน่านฟ้าของประเทศไทยเท่านั้น ไม่มีล้ำเข้าไปในน่านฟ้าของประเทศเพื่อนบ้าน
นอกจากนี้ การสร้างสนามบินเบตงยังเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ และเป็นนโยบายของพลเอกประยุทธ์ที่มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อแก้ปัญหาการเดินทางสู่อำเภอเบตงที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชันไม่สะดวกต่อการเดินทางให้สัญจรไปมาได้สะดวก ปลอดภัยมากขึ้น รวมถึงกระตุ้นการท่องเที่ยวในพื้นที่
ส่อง ‘ไทม์ไลน์’ สนามบินเบตงในสื่อไทย–สื่อต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี ถ้าไปดูข้อมูลที่ปรากฏในเว็บไซต์ Center for Aviation (CAPA) แหล่งรวมข้อมูลของเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการบินพลเรือนระหว่างประเทศ พบว่ามีการไล่เรียงลำดับเหตุการณ์สนามบินเบตงไว้อย่างละเอียด บ่งชี้ว่ารัฐบาลไทยแจ้งข่าวเลื่อนเปิดสนามบินเบตงจริงๆ หลังจากตอนแรกที่คาดการณ์ว่าจะเปิดใช้งานภายในสิ้นปี 2563
ยิ่งถ้าไปสืบค้นข่าวจากเว็บไซต์ Thai E-Government มีการอ้างอิงมติคณะรัฐมนตรีปี 2558 ก็ระบุเช่นกันว่าสนามบินเบตงจะแล้วเสร็จในปี 2561 ซึ่งกว่าที่พลเอกประยุทธ์จะเดินทางไปร่วมพิธีเปิดในวันนี้ก็เรียกได้ว่าทิ้งระยะห่างจากกำหนดเดิมมานานหลายปี
ด้วยเหตุนี้จึงจะขอไล่เรียงลำดับเหตุการณ์สนามบินเบตงให้ได้เห็นกันชัดๆ โดยอ้างอิงข้อมูลใน CAPA ที่เป็นสื่อภาษาอังกฤษและมีคนทั่วโลกเข้าถึงในวงกว้าง บวกกับข้อมูลที่ปรากฏทางเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการไทยและสื่อไทยประกอบกัน
ตุลาคม 2558 – คณะรัฐมนตรีลงมติอนุมัติงบก่อสร้างสนามบินเบตง 1,900 ล้านบาท โดยแบ่งใช้เงินจากงบประมาณปี 2559-2561 และระบุความยาวรันเวย์ของสนามบินที่จะก่อสร้างอยู่ที่ 1,800 เมตร
ธันวาคม 2560 – อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีวางศิลาฤกษ์และตรวจเยี่ยมโครงการก่อสร้างสนามบินเบตง โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในต้นปี 2563
มีนาคม 2561 – มติ ครม.เห็นชอบให้มีการขยายขนาดรันเวย์สนามบินเบตงจาก 1,800 เมตร เป็น 2,100 เมตร เพื่อจะรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มมากขึ้น แต่ก็มีข้อกังขาจากผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์บางส่วนที่มองว่าเพราะเหตุใดถึงไม่ได้วางแผนจะก่อสร้างรันเวย์ที่ระยะ 2,100 เมตรตั้งแต่ต้น
กันยายน 2563 – ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ข่าวว่าสนามบินเบตงจะเปิดใช้อย่างเป็นทางการภายในเดือนธันวาคม 2563
ธันวาคม 2563 – สื่อมวลชนไทยหลายสำนักรายงานข่าวว่ากำหนดเริ่มเปิดใช้งานสนามบินเบตงถูกเลื่อนออกไปก่อนด้วยเหตุผลเรื่องการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงหวั่นว่าจะไม่มีบุคลากรไปประจำการ แต่ขณะเดียวกันก็ระบุอีกเหตุผลว่ากรมท่าอากาศยาน (ทย.) ยังอยู่ระหว่างจัดทำแผนแก้ไขข้อบกพร่องด้านการบริหารความปลอดภัยด้านการบิน รวม 72 ข้อ
พฤศจิกายน 2564 – ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกรัฐบาล แถลงข่าวว่าสนามบินเบตงจะเริ่มเปิดบริการเชิงพาณิชย์ในปี 2565 โดย CAPA รายงานว่านี่คือการเลื่อนเปิดใช้งานจากกำหนดเดิมที่คิดว่าจะเริ่มต้นได้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563
นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ก็รายงานเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2564 ว่า ทย.เปิดเวทีฟังเสียงชาวบ้านในพื้นที่โดยรอบสนามบินเบตงช่วงวันที่ 17-18 พฤศจิกายน เพื่อสอบความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการที่จะขยายความยาวรันเวย์สนามบินเป็น 2,500 เมตรและขยายลานจอดเพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ ซึ่งนี่ก็เป็นประเด็นเดิมที่มีผู้ตั้งข้อสงสัยในสื่อสังคมออนไลน์ว่าเพราะเหตุใดการพิจารณาแผนก่อสร้างขนาดรันเวย์ถึงเปลี่ยนแปลงหลายครั้งจากจุดเริ่มต้น 1,800 เมตร เป็น 2,100 เมตร และล่าสุด 2,500 เมตร จึงอาจไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีผู้ตั้งคำถามถึงกระบวนการศึกษาผลกระทบและการวางแผนสร้างสนามบินว่าเหตุใดถึงต้อง ‘ทำงานซ้ำซ้อน’ อยู่เรื่อยๆ
อ้างอิง
- CAPA. Betong Airport. https://bit.ly/3MNjDYH
- Daily News. เริ่มแล้ว! เปิดเวทีฟังเสียงชาวบ้าน เติมความยาวรันเวย์ “สนามบินเบตง” 2,500 เมตร. https://bit.ly/3CDaz3S
- Royal Thai Government. โฆษกรัฐบาลเผย “นายกฯ” ติดตามความคืบหน้าสนามบินเบตง ทย. ชี้เปิดให้บริการเที่ยวบินราชการและเที่ยวบินส่วนบุคคลแล้ว ส่วนเชิงพาณิชย์เตรียมเปิด 2 เส้นทาง กระตุ้นเศรษฐกิจ. https://bit.ly/3q1eMJR
- Royal Thai Government. โฆษกรัฐบาลเผย นายกรัฐมนตรีเตรียมเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ ท่าอากาศยานเบตง จังหวัดยะลา จันทร์ที่ 14 มี.ค.นี้. https://bit.ly/3t82ktH
- Thai E-Government. ครม. อนุมัติ สร้าง “สนามบินเบตง” งบ 1,900 ล้านบาท คาดเสร็จปี’61. https://bit.ly/35NS01b
- กรุงเทพธุรกิจ. พิษโควิด ทำเลื่อนเปิดใช้ “สนามบินเบตง“. https://bit.ly/3thC93X