BEHIND HER VERSE: เปิด ‘เบื้องหลัง’ ของ ‘แอ้ม-อัจฉริยา ดุลยไพบูลย์’ เนิร์ดนักฟังเพลงผู้อยู่เบื้องหลังเพลงฮิตร่วมสมัย ที่ทำงานกับศิลปินด้วย ‘ความเข้าใจ’ และถักทอเพลงไทยไว้ด้วย ‘ความรัก’

22 Min
183 Views
26 Apr 2025

– INTRO: 3 3 3 | 3 3 3 | 3 5 1 2 3 –

คุณเคยได้ยินเพลงเหล่านี้หรือไม่?

รักได้รักไปแล้ว (2552) – Four Mod, ห่างกันสักพัก (2553) – WAii, รู้ยัง (2558) – ต้น ธนษิต, ภาพจำ (2561) – ป๊อบ ปองกูล, แฟนเธอ… (2561) – PAM ft.Hi-U, ถามคำ (2563) – UrboyTJ, เด็ด (2564) – PiXXiE, พิง (2564) – นนท​์ ธนนท์, รักแท้ (2565) – NuNew, ไม่ตอบเลยน้า (2565) – LAZ1, รักเอ๋ย (2566) – ธงไชย แมคอินไตย์, WATCH YOUR STEP (2567) – BUS

เพลงเหล่านี้ล้วนเป็นหมุดหมายของวงการเพลงป๊อปไทยยุคใหม่ หรือ T-Pop ช่วงทศวรรษ 2550-2560 และเป็นสิ่งที่ยืนยันความสำเร็จของ ‘แอ้ม-อัจฉริยา ดุลยไพบูลย์’ โปรดิวเซอร์/นักแต่งเพลงผู้อยู่เบื้องหลังของเพลงเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี

แม้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของบรรดาเพลงที่เธอมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ แต่เพลงที่ยกตัวอย่างมานี้ จะเห็นได้ว่ามีความหลากหลายและสอดประสานไปผู้ตัวตนของศิลปินแต่ละคนเอาไว้ราวกับว่าเธอสามารถล่วงรู้ความคิดของศิลปินอย่างทะลุปรุโปร่ง และส่งผลให้เพลงได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม

เรื่องราวของ ‘คนเบื้องหลัง’ ที่มีส่วนในความสำเร็จของ ‘คนเบื้องหน้า’ จึงควรค่าแก่การสนทนาเพื่อค้นหา ‘เบื้องลึก’ วิธีคิด แรงบันดาลใจที่ทำให้เธอสามารถเข้าใจและถ่ายทอดอารมณ์ของศิลปินแต่ละคนออกมาได้อย่างลงตัวผ่านเพลงสุดไพเราะ ฟังง่าย เข้าถึงผู้คน ขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วย ‘ความรัก’ ที่เธอมีต่อผู้ฟังเพลงไทยและวงการเพลงไทยแทรกซึมอยู่ในทุกท่วงทำนองของเธอ

– VERSE 1: นี่แหละความรัก –

เมื่อเราถามถึงจุดเริ่มต้นของความชื่นชอบในเสียงเพลง เธอเริ่มต้นด้วย ‘เปียโนของเล่น’ ที่พ่อของเธอซื้อมาให้เล่นตั้งแต่จำความได้ โดยที่บนลิ่มเปียโนมีตัวเลข 1-8 แทนตัวโน้ตจากโด (ต่ำ) ถึงโด (สูง) เธอจึงอาศัยการกดลงไปบนตัวเลขเหล่านั้นตามโน้ตตัวเลขในเพลงต่างๆ เช่น เพลง ‘Jingle Bells’ ที่เธอยังจำโน้ตตัวเลขของเพลงดังกล่าวได้จนถึงปัจจุบัน

และอีกหนึ่งสิ่งที่เธอชอบทำในวัยเด็ก คือ ‘ดูการ์ตูน’ เช่นเดียวกับเด็กหลายๆ คนในเวลาที่โทรทัศน์ยังเป็นสื่อหลัก แต่มากไปกว่าการดู เธอยัง ‘พากย์เสียง’ ตามการ์ตูนที่เธอดูในเวลานั้นอย่าง ‘อิคคิวซัง เณรน้อยเจ้าปัญญา’ รวมถึงการร้องเพลงการ์ตูน

ทั้งสองสิ่งที่เธอชอบทำ ในวันวัยที่ยังไม่ได้มีความใฝ่ฝันอะไรเกี่ยวกับวงการเพลง กลับมีส่วนในการปลูกฝังทักษะของการเป็นโปรดิวเซอร์และนักแต่งเพลงของเธอในปัจจุบันโดยไม่รู้ตัว

เธอระบุกับเราในวันที่เธอเป็นโปรดิวเซอร์และนักแต่งเพลงเต็มตัวแล้วว่า การแกะโน้ตเปียโนในวันนั้น มีผลต่อการแต่งเพลงของเธอ “เพราะมันทำให้เราเป็นคนฟังเพลงแล้วจับเมโลดีได้ แกะเมโลดีได้ ต่อมาพอมาฝึกเล่นเปียโนป็อปจริงๆ มันก็เล่นได้ อาจจะไม่ได้เก่งมาก แต่ก็พอเล่นได้อยู่” และช่วย ear training ในเวลาเดียวกัน 

ส่วนการหัดพากย์การ์ตูนหรือร้องเพลงการ์ตูน เธอบอกว่า “มันก็ทำให้เราใช้เสียงได้หลายแบบ พอเราต้องมาร้องไกด์ให้ศิลปิน เราก็สามารถทำได้เลย”

ด้วยความเป็นเด็กชอบอยู่คนเดียว ไม่ค่อยชอบออกจากบ้านไปไหน สิ่งที่เป็นความสุขและความเพลิดเพลินมากที่สุดของเธอ คือ ‘การฟังเพลง’ ที่เธอยอมรับว่าชอบฟังเข้าขั้น ‘เนิร์ด’ เลยทีเดียว

“เราเป็นคนที่รักเพลงไทยมาก ตั้งแต่เด็กไม่ได้เป็นเด็กที่ชอบไปไหน ชอบอยู่บ้านฟังเพลงเฉยๆ เพลงใหม่ๆ เพลงสากลก็ฟังบ้าง แต่ว่าชอบฟังเพลงไทยมากกว่า เพราะรู้สึกว่าเขาทำให้เราฟัง เขาขายเรา เราก็ต้องฟังหน่อย

“ตอนเด็กๆ ก็จะชอบเพลงค่ายเบเกอรี่ (Bakery Music) มาก นั่งฝึกร้องเพลง ฝึกเล่นดนตรีจากเพลงพวกนี้ สามารถจะหมกมุ่นอยู่กับการฟังเพลง แกะเพลงได้ทั้งวัน ไม่ต้องทำอะไรเลยก็ได้”

เราเลยลองให้เธอเล่าถึงเพลงที่เธอ ‘ชอบมากที่สุด’ ของค่าย Bakery Music ซึ่งเพลงนั้นคือเพลง ‘Season Change (ฤดูที่แตกต่าง)’ เพลงลำดับที่ 4 ในอัลบั้ม ‘Rythm & Boyd’ อัลบั้มเต็มอัลบั้มแรกของเจ้าพ่อเพลงรัก ‘บอย โกสิยพงษ์’ ที่ถูกถ่ายทอดด้วยน้ำเสียงอันนุ่มนวล อบอุ่นของ ‘นภ พรชำนิ’

“เพราะเป็นเพลงที่รู้สึกว่าสามารถเปลี่ยนชีวิตคนได้ รู้สึกถึงความสำคัญของเพลงที่ไม่ใช่แค่การฟังเพราะๆ อีกต่อไป หลังจากที่ได้ฟังเพลงนี้ รู้สึกว่าเพลงนี้มีเนื้อหาสาระที่ให้กำลังใจ มีแง่คิดว่า ‘ถ้าอดทนตอนที่ฝนพรำ แล้ววันที่ฝนจาง เราจะรู้เลยว่ามันคุ้มที่รอ’ รู้สึกว่านี่คือแนวคิดที่ใหม่มากเลยในตอนนั้น”

เธอชอบถึงขั้นซื้อซิงเกิลอัลบั้ม ‘Season Change ฤดูที่แตกต่าง the remixes’ ซึ่งวางจำหน่ายในปี 2538 ที่ทำเพลงดังกล่าวเพลงเดียวออกมาถึง 7 เวอร์ชัน และเธอระบุอีกว่ายังคงใช้เพลงนี้สำหรับการดำเนินชีวิตตลอดมา

“ทุกวันนี้ก็ยังยึดถือสิ่งที่พี่บอยเขียนไว้ว่า เวลาที่เจอเรื่องไม่ดี ก็จะรู้สึกว่า นี่ไง เดี๋ยวพอมันผ่านไป เราจะได้รู้ว่าชีวิตที่มันราบรื่น มันก็ดีมากแล้ว”

เนื่องด้วยความชอบในการฟังเพลง เธอก็อยากรู้ว่าใครบ้างที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเพลงที่เธอชอบฟัง ‘การอ่านเครดิตหลังปกอัลบั้ม’ จึงเป็นสิ่งที่เธอทำโดยอัตโนมัติ และเมื่อเธอได้เข้ามาทำงานในวงการเพลง เธอก็มักจะชอบถามบุคคลในรายชื่อเครดิตหลังปกอัลบั้มถึงที่มาของเพลงต่างๆ อยู่เป็นประจำ

การค้นพบเบื้องหลังบทเพลงที่เธอยกให้เป็นเรื่องเซอร์ไพรส์ที่สุด เมื่อเธอได้ทราบว่า ‘ซุป-ระวี กังสนารักษ์’ หนึ่งในผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการเพลงไทย ซึ่งทำหน้าที่เป็นมือ Mix-Mastering ให้กับเพลงส่วนใหญ่ของเธอในปัจจุบัน คือผู้อยู่เบื้องหลังเสียงร้องของศิลปินไซเบอร์ในตำนานนาม ‘DDZ’ เจ้าของเพลง ‘โทรมาทำไม’ หรือเพลงที่มีเนื้อร้องว่า “ใครโทรมาครับ โทรมาทำไม ไม่อยากคุยครับ อกหักครับ”

นอกจากการฝึกร้อง ฝึกเล่น ทำความรู้จักเพลงที่เธอชอบแล้ว กิจกรรมอีกอย่างที่สามารถยืนยันความเนิร์ดในการฟังเพลงของเธอ คือ ‘ฟังวิทยุทั้งวันทั้งคืน’ และ ‘จดชาร์ตเพลงประจำสัปดาห์’ โดยเฉพาะชาร์ตเพลงจากคลื่นวิทยุ 4 คลื่นหลักในเครือ ATIME ณ เวลานั้น ได้แก่ Radio No Problem, Hot Wave, Radio Vote Satellite และ Green Wave แล้วนำลำดับชาร์ตเพลงของแต่ละคลื่นมาเปรียบเทียบกันว่าลำดับเหมือนหรือต่างกันอย่างไร ลำดับขึ้นหรือลงอย่างไร

สิ่งที่เธอบอกว่า “ทำทำไมก็ไม่รู้” ในวันนั้น กลับเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากในปัจจุบัน 

“เพราะทำให้เราเข้าใจ ซึมซับลักษณะของเพลงฮิต รู้จักเพลงฮิตเยอะ เหมือนได้คละลักษณะของเพลงฮิต เพลงที่รู้สึกว่าแบบนี้มัน Catchy (ติดหู) มันเข้าใจง่าย 

“ในระหว่างนั้นก็ได้ฟังเนื้อเพลงไปด้วย แต่ว่าความเข้าใจในเนื้อเพลงก็จะมากตามอายุที่มากขึ้น เรารู้จักผู้คนมากขึ้น ได้เห็นชีวิตผู้คนมากขึ้น ก็จะรู้สึกฟังเพลงด้วยความเข้าใจลึกซึ้งมากขึ้น แต่ตอนเด็กๆ รู้แค่ว่ามันคล้องจองไหม คำมันเพราะหรือเปล่าแค่นั้น”

ทำให้ความฝันของเธอเริ่มปรากฏชัดในช่วงมัธยมศึกษาว่าอยากจะเป็น DJ หรือนักจัดรายการวิทยุ เพียงเพราะอยากจะฟังเพลงตลอดทั้งวันทั้งคืน เธอจึงเลือกศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาใน ‘คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ 

ซึ่งนำไปสู่จุดเริ่มต้นของการเดินบนเส้นทางสายดนตรี หลังจากที่ทำหน้าที่เป็นนักร้องของชมรมดนตรีสากล สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ CU Band จนได้รับโอกาสในการร้องคอรัสให้กับหลายๆ ศิลปิน รวมถึงศิลปินในค่ายที่มีส่วนสำคัญในการบ่มเพาะการทำงานในวงการเพลงของเธออย่าง ‘Kəmikəze’

คงเป็นเพราะสิ่งที่นิยามได้ว่า ‘นี่แหละความรัก’ นำพาเธอเดินมาไกลเกินกว่าความตั้งใจเดิมที่จะเป็นนักจัดรายการเพียงเท่านั้น 

– VERSE 2: รักได้รักไปแล้ว –

เธอได้เข้ามาร่วมงานกับค่ายกามิกาเซ่ (Kamikaze) ค่ายเพลงที่เป็นดั่งศูนย์รวมใจของวัยรุ่นไทยในทศวรรษที่ 2550 ตั้งแต่ยุคแรกๆ ของค่าย โดยเริ่มต้นจากการร้องคอรัสให้กับ ‘ขนมจีน กุลมาศ’ ในอัลบั้มชุดแรก 

จนเธอได้เข้าร่วมเป็นทีมเบื้องหลังอย่างเป็นทางการ จากการชักชวนของ ‘ธานี วงศ์นิวัติขจร’ หรือ ‘ก๊อป โปสการ์ด’ และได้รับโอกาสให้ร้องไกด์ให้กับศิลปินในค่าย ซึ่งเพลงแรกที่เธอได้รับหน้าที่นี้คือเพลง ‘ละลาย’ ของศิลปินดูโอหญิง ‘โฟร์ มด (Four Mod)’ และทำหน้าที่คุมร้องในเวลาเดียวกัน

จากการร้องคอรัสสู่การร้องไกด์ในค่ายที่มีคาแรกเตอร์ศิลปินและเพลงโดดเด่นสูง ได้ยกระดับความท้าทายในการทำงานของเธอ แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้เธอมีความเข้าใจในกระบวนการทำงานเพลงมากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน

“การร้องไกด์สำหรับที่กามิกาเซ่ มันเหมือนเป็นอีกระดับหนึ่งที่ยากกว่าการร้องคอรัส ตรงที่ค่ายกามิกาเซ่เป็นค่ายที่มีการดีไซน์การร้องที่จัดจ้าน แล้วการร้องไกด์หมายความว่าเราต้องร่วมงานกับโปรดิวเซอร์ คล้ายกับเราเป็นเหมือนศิลปินที่ถูกเขาคุมร้อง เลยต้องปรับจูนกับโปรดิวเซอร์เยอะ 

“และการร้องไกด์หมายความว่า เราเป็นคนแรกที่ได้ร้องเพลงนั้น เพราะมันจะมาเป็นเมโลดีกับเนื้อเพลงแยกกัน เราเป็นคนแรกในโลกที่ได้ร้องเพลงนี้ เราก็จะต้องทำความเข้าใจกับเมโลดีและคิดว่าจะเอาเนื้อใส่ลงไปในเมโลดียังไง ซึ่งพอร้องไปเยอะๆ มันก็ทำให้เราเข้าใจเรื่องเมโลดีว่าเมโลดีที่ฟังแล้วดีเลย มันจะเพราะตั้งแต่แรก

“ส่วนเรื่องเนื้อเพลง เราก็จะได้เห็นการที่มีเนื้อแรกแล้วไม่เอา เปลี่ยนเป็นเนื้อที่สอง เป็นเนื้อที่สาม เราก็เหมือนเข้าใจมากขึ้นเรื่อยๆ ในระหว่างที่ทำงานร้องไกด์ แล้วขณะเดียวกันก็จะสนิทกับพี่ๆ ในค่าย ซึ่งเขาจะแชร์ประสบการณ์ให้ฟัง แล้วเราก็ชอบถามว่า ‘พี่ทำไมเพลงนี้ถึงเขียนอย่างนี้อะคะ’ ก็เหมือนได้เวิร์กช็อปอยู่เรื่อยๆ”

จากนั้นไม่นาน เธอก็ได้รับความไว้วางใจให้ร่วมแต่งเพลงที่เธอระบุเองว่านี่เป็น ‘เพลงที่แต่งเป็นเพลงแรกในชีวิต’ ทั้งคำร้อง ทำนอง พร้อมกับทำหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ร่วมกับก๊อป โปสการ์ด คือ เพลง ‘รักได้รักไปแล้ว’ ของ ‘โฟร์ มด’ 

แม้ ‘รักได้รักไปแล้ว’ จะถูกเผยแพร่หลัง ‘ละลาย’ เพียง 1 ปี แต่เนื่องด้วยการเปลี่ยนทิศทางภาพลักษณ์ของศิลปินที่ต้องโตขึ้น บวกกับงานที่ได้รับมอบหมายนั้นใหญ่ขึ้น ทำให้การทำงานในสองเพลงดังของศิลปินคนเดียวกัน มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน

ถึงกระนั้น เธอบอกว่า “ถึงจะกดดัน แต่ก็มีความสุข” เธอจึงรู้สึกว่าการมาทำงานที่กามิกาเซ่ไม่ได้เหมือนมาเพื่อทำงานสักเท่าใด 

โดยเธอเล่าถึงการทำงานในช่วงแรกๆ ว่า “จริงๆ ตอนที่ไปทำแรกๆ ก็มีแต่ความสนุกตื่นตาตื่นใจ ไม่เหน็ดไม่เหนื่อย ตอนนั้นก็ยังขับรถไม่เป็นด้วย ต้องนั่งรถไฟฟ้า ต่อรถเมล์ ต่อมอเตอร์ไซต์เข้าไป ไม่เคยย่อท้อเลย 

“แต่ว่าตอนแรกๆ งานยังไม่เยอะมาก มันก็เลยมีเวลา ยิ่งเราเป็นเด็กที่ฟังเพลง อ่านปกซีดีมาตลอด แล้ววันหนึ่งเราไปเจอตัวจริงของพี่ๆ เหล่านี้ รู้สึกตื่นเต้นมากๆ เหมือนเจอเทพ แล้วทุกครั้งที่ไปเจอพี่ๆ คนไหนก็จะชอบถามว่า ‘เพลงนี้พี่ทำยังไงคะ’ เป็นเด็กที่ถามเยอะมาก พี่ๆ เขาก็เลยเอ็นดู 

“กลายเป็นว่าเราสนิทกับพี่ๆ ทุกคน มันก็เลยเหมือนกลายเป็น ‘ครอบครัวกามิกาเซ่’ ซึ่งพี่ๆ เขาก็คอยช่วยเหลือเรา หรือบางทีเขาก็สงสารขับรถมาส่งที่บ้าน หรือพาไปกินข้าว มันก็เลยไม่เหมือนทำงานเสียทีเดียว เหมือนไปหาญาติมากกว่า”

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ค่ายกามิกาเซ่เป็นที่จดจำอย่างมากของผู้คน นั่นคือการดีไซน์การร้องในลักษณะที่คนทำงานอย่างเธอถึงกับเอ่ยปากว่า ‘จัดจ้าน’ ซึ่งเพลงที่เธอมีส่วนในการแต่งก็ไม่ได้รับการยกเว้นในเรื่องนี้แต่ประการใด

เช่น ท่อนฮุกของเพลง ‘ตัดใจไม่ลงและคงไม่ยอม’ (Refuse) ของ WAii หรือ หวาย ปัญญริสา หากพิจารณาจากการอ่านเนื้อเพลงท่อนฮุกแบบไร้ทำนองเทียบกับสิ่งที่ศิลปินถ่ายทอดในเพลง ก็อาจจะสัมผัสถึงการออกเสียงวรรณยุกต์ที่ต่างกันในหลายๆ คำ หรือกล่าวตรงไปตรงมากว่านั้นคือ ‘โกงโน้ต’ ดังคำว่า ‘ไม่’ ก็ออกเสียงเป็น ‘ไม้’ เราจึงสงสัยว่านี่เป็นความบังเอิญหรือเป็นความจงใจกันแน่?

เธอเล่าถึงเพลงนี้ว่า “เราแต่งทำนอง แต่คนเขียนเนื้อคือพี่ก๊อป โปสการ์ด แล้วเขาเขียนว่า ‘ตัดใจไม่ลง’ ซึ่งจริงๆ สามารถร้องตามเสียงวรรณยุกต์ปกติได้ แต่คนที่ทำให้แปลก คือ ‘เอฟู’ (ณรงค์ศักดิ์ ศรีบรรฎาศักดิ์วัชรากรณ์) เขาบังคับว่าต้องร้องแบบนี้นะถึงจะเก๋

“ซึ่งวิธีการร้องแบบนี้ พี่เอฟูบอกว่ามีแค่แอ้มที่จูนกับเขาได้แล้วไม่ต้องบรีฟ คือเข้าใจว่ามันจะสวนขึ้นในคำที่เป็นเสียงโท (เช่นคำว่า ‘ไม่’) ซึ่งจะเป็นเสียงที่ราบลง แต่กามิกาเซ่จะร้องไถขึ้น ซึ่งไม่ใช่การโกง แต่เป็นการดีไซน์”

ความจงใจนี้เองที่เธอหยิบมาใช้ในเพลงยุคปัจจุบันของเธอบ้างเป็นครั้งเป็นคราว

‘บทเรียน’ ของ ‘โรงเรียนกามิกาเซ่’ ที่เธอเข้าศึกษาอยู่สักระยะหนึ่ง จึงเป็นดังรากฐานสำคัญในการต่อยอดการทำงานสร้างเพลงฮิตของเธอมาจนถึงปัจจุบัน 

“จริงๆ ขอบคุณมากเลยที่ได้ไปเริ่มตรงนั้น เพราะว่าขั้นตอนทำงานในวันนั้นยากกว่าที่ทำอยู่วันนี้ มันซับซ้อนกว่าตอนนี้ มันมีคนตรวจงานเยอะมาก ตรวจแล้วตรวจอีก ด้วยความที่ยุคก่อนมีการทำเป็นอัลบั้ม เราก็มีเวลาทำ วางแผนนานมาก กว่าจะเสร็จแต่ละเพลง และเราจะได้เห็นการทำงานที่หลากหลายในหนึ่งอัลบั้ม ซึ่งมีพี่ๆ หลายคนที่ร่วมกันทำ” 

โดยเธอยกตัวอย่างการทำงานในหนึ่งอัลบั้มว่า “สมมติว่าทีมเนื้อเพลงเป็นโปรดิวเซอร์ ทีมเนื้อเพลงก็จะวางทิศทางของแต่ละเพลง วางว่านี้อัลบั้มนี้จะมีตำแหน่งเพลงแบบไหน เราก็เอาคอนเซ็ปต์เพลงไปแจกให้คนที่ทำเมโลดีกับดนตรีไปทำเป็นเดโม แล้วเราก็มาวิเคราะห์กันว่าอันไหนมันเหมาะที่จะอยู่ในอัลบั้ม นักร้องจะร้องได้ไหมจากเมโลดีเปล่าๆ ก่อน แล้วค่อยเลือกคอนเซ็ปต์ที่เหมาะสม แล้วก็ค่อยเอามาเขียนเนื้ออีกที มันทำให้เราต้องคิดแบบละเอียดมากๆ 

“ซึ่งทุกวันนี้มันดูเหมือนแอ้มแต่งคนเดียวก็จริง แต่ก็ยังคิดแบบวันนั้นอยู่ ตอนที่จะเขียนเพลงขึ้นมาหนึ่งเพลง ก็จะตั้งทิศทาง แล้วก็ทำเมโลดีคร่าวๆ ในใจก่อน แล้วค่อยเขียนเนื้อทีหลัง แล้วก็ตรวจเนื้อตัวเอง แล้วก็ส่งไปให้เพื่อนในทีมตรวจ ทุกอย่างยังทำงานละเอียดมากๆ 

“เลยรู้สึกว่าถ้าเราไม่เคยเจอการทำงานแบบตอนที่อยู่อาร์เอส ก็อาจจะไม่รู้ว่าเวลาเขียนเพลงมันเขียนเนื้อเพลงกับเมโลดีแยกกันได้ เพราะว่าถ้าเขียนเนื้อเพลงพร้อมกับเมโลดีบ่อยๆ เมโลดีมันจะซ้ำเดิม มันจะเป็นแพทเทิร์น มีจำนวนคำที่เท่าเดิม แล้วมันก็จะรู้สึกว่าเมโลดีมันอาจจะไม่ดีที่สุด แต่เราอาจจะหยวนๆ ไป

“มันก็เลยรู้สึกว่าวิธีที่ทำอยู่นี้ดี เป็นวิธีที่เรารู้สึกว่าทำให้เพลงออกมาพร้อม”

ตอนนี้เธอก็ยังคงใช้วิธีการทำงานเพลงแบบนั้น แม้ว่าการทำงานเพลง T-Pop วัยรุ่นในยุคนี้จะต่างจาก T-Pop ยุคกามิกาเซ่ก็ตาม เนื่องจากเพลงในยุคปัจจุบันส่วนใหญ่ถูกปล่อยเป็นซิงเกิล ทำให้ขั้นตอนมากมายที่จะเกิดขึ้นเหมือนตอนทำเป็นอัลบั้มก็ลดลง แล้วทุกซิงเกิลจะต้องหวัง ‘ขาย’ ทั้งหมดตามที่เธอระบุ

ซึ่งส่งผลต่อวิธีคิดเพลงที่ต่างไปจากเมื่อ 10 ปีที่แล้วอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจึงอยากทราบถึงความต่างนั้น โดยให้เธอเล่าถึงการทำงานเพลง T-Pop ยุคปัจจุบันอย่างเพลง ‘เด็ด’ (DED) ซิงเกิลเดบิวต์ของศิลปินเกิร์ลกรุ๊ปแห่งยุค ‘PiXXiE’ ในปี 2564

“วันที่เขียนเพลงเด็ด ปรึกษากันกับทางทีม LIT Entertainment ว่าตอนนี้เขานิยมร้องท่อนฮุกแบบใช้คำน้อยๆ เพราะพวก Billboard ในช่วงนั้นมันจะเริ่มมีเพลงที่มีคำซ้ำๆ เราเลยลองทำกันดู 

“ล่าสุดยังคุยกับโดม (จารุวัฒน์ เชี่ยวอร่าม) อยู่เลยว่าวันนั้นเราก็ไม่ได้คิดอะไรมาก เราก็ลองทำดู แต่ว่ากลายเป็นแนวของ PiXXiE เหมือนกัน เช่นท่อนฮุกที่เขาจะร้อง ‘oh-wa ah-ah-ah’ (ท่อนฮุกส่วนหนึ่งของเพลง ‘มูเตลู’) ไม่ค่อยเป็นเนื้อที่มีจำนวนคำเยอะเท่าไหร่”

ต่างจากการคิดเพลงของกามิกาเซ่ที่ท่อนฮุกต้องใช้ 1-2 ประโยค เหมือน Caption ในโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมในช่วงเวลานั้น

โดยวัตถุดิบสำหรับการเขียนเพลงในยุคปัจจุบัน เธอระบุว่ามาจากการ ‘เล่นโซเชียลมีเดีย’ เพราะนอกจากจะช่วยให้เห็นเทรนด์หรือคำศัพท์ในยุคนี้แล้ว ยังช่วยทำให้เธอเห็นค่านิยมและมุมมองของสังคมอีกด้วย

เธอยกตัวอย่างว่า “ค่านิยมของคนประมาณสัก 15-20 ปีที่แล้ว อกหักแล้วก็จะร้องไห้ฟูมฟาย จมปลัก แต่ค่านิยมในปัจจุบันนี้ คือ อกหักแล้วต้อง move on รักตัวเอง 

“เนื้อเพลงในยุคปัจจุบัน อาจจะไม่เศร้าแล้วพยายามที่จะเสพติดความเจ็บปวดอยู่อย่างนั้น มันจะพยายามจะหาย หรือเศร้าก็จะเศร้าไม่ลึก เศร้าแบบมีสติ มีเหตุมีผล”

– PRE-CHORUS: WATCH YOUR STEP –

เราคิดว่าการเป็นนักแต่งเพลงและโปรดิวเซอร์ที่สามารถสร้างงานเข้าถึงหัวใจผู้คนหมู่มาก จะต้อง ‘อิน’ หรือต้องมีความรู้สึก อารมณ์ และประสบการณ์ร่วมไปกับที่สิ่งกำลังจะเขียนออกมา แต่สำหรับแอ้ม อัจฉริยาแล้ว…

“ไม่อิน อย่าไปอินมากเกิน” เธอตอบพร้อมเสียงหัวเราะ และยอมรับว่าเพลงที่เขียน “ไม่มีเรื่องตัวเองเลย เพลงที่เขียนเป็นเรื่องชาวบ้านหมดเลย”

“สมมติว่าเราจะเขียนเพลง เราก็จะตั้งสตอรีขึ้นมาว่าเกิดสถานการณ์อะไรแล้วเราเขียนบทให้คนนี้พูดออกมาเป็นเพลง ใช้เหตุและผลในการทำงานมากกว่า” ซึ่งนี่เป็นวิธีเดียวกันกับการเขียนบทเมื่อตอนที่เธอเรียนในคณะนิเทศศาสตร์ โดยยึดจากความรู้สึกภายในของตัวละครที่สมมติขึ้นมา

“เช่น เรื่องของคนที่มีความเชื่ออย่างแรงกล้าในรักแท้ เราก็จะต้องตั้งจิตก่อนว่าคนที่เขาเชื่อในความรัก เขาจะคิดอย่างไร เขาจะต่อสู้กับปัญหาอย่างไร ถ้าเกิดเจอสิ่งนี้เขาจะทำอะไร

“หรือว่าโจทย์ คือ คนไม่ move on แต่ตัวเราเองเป็นคน move on เราก็ต้องตั้งจิตว่าเราคือตัวละครที่ไม่ move on เป็นคนที่โทรถามพี่อ้อยพี่ฉอดในรายการ Club Friday ว่า ‘หนูควรเลิกหรือไปต่อกับเขาดี’ ถ้าเป็นเราก็คงเลิกอยู่แล้ว แต่เราก็ต้องสมมติว่าถ้าเราอยู่ในโมเมนต์แบบนั้นจะรู้สึกอย่างไร แล้วก็เขียนออกมา”

นอกจากเรื่องความสมเหตุสมผลในการกระทำของตัวละครที่อยู่ในเพลงแล้ว สิ่งที่เธอคำนึงมากที่สุดในการทำงานเพลง คือ ‘ศิลปิน’

“เพราะสุดท้ายเราคิดว่าคนที่เกี่ยวข้องกับเพลงที่สุด ก็คือศิลปิน แม้เราทำแล้ว เรารู้สึกว่าไม่พอใจกับมัน เดี๋ยวเราก็ไปทำเพลงอื่นแล้ว แต่ว่าศิลปินเขาต้องอยู่กับเพลงนี้ไปอีกนาน อาจจะเป็นเพลงเดียวในชีวิตเขาก็ได้ หรือมันอาจจะวัดอนาคตเขาก็ได้ว่าจะได้ทำต่อหรือเปล่า เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่จะรับฟังศิลปินมากที่สุด และจะตามใจศิลปินมากสุดในกระบวนการทำงาน

และสิ่งที่เธอคำนึงถึงมากที่สุดอีกประการ คือ ‘ผู้ฟัง’  โดยเฉพาะในด้านความรู้สึก ซึ่งค่อนข้างมีอิทธิพลต่อการเขียนของเธอ เธอระบุว่า “ไม่ค่อยเขียนเพลงที่เศร้าแล้วจมดิ่ง และเราเองก็ไม่อยากเขียนด้วย ยกเว้นว่ามันเลี่ยงไม่ได้จริงๆ เช่นในเรื่องที่มันเป็นอารมณ์ตอนนั้นของตัวละครจริงๆ ก็อาจจะต้องเศร้าเยอะหน่อย 

“แต่ว่าเราก็จะแอบขอมีความหวังสักประโยคหนึ่งได้ไหม เพราะกลัวว่าคนฟังจะทำร้ายตัวเอง กลัวเป็นการไม่รับผิดชอบต่อสังคม กลัวเรื่องนี้มากๆ เลยค่ะ เพราะเชื่อว่า เพลงมันมีผลกับจิตใจคนที่อ่อนแอได้จริงๆ เลยพยายามจะเขียนเพลงที่ยังแอบติดความ positive ไว้นิดหนึ่ง”

ทำให้เธอรู้สึกดีทุกครั้งเมื่อมีฟีดแบกหรือเสียงตอบรับกกลับมาหาเธอว่า ‘ฟังแล้วมีกำลังใจในการใช้ชีวิต’ หรือเกิดแรงบันดาลใจดีๆ ในชีวิต เพราะเป็นความรู้สึกเดียวกันกับที่เธอฟังเพลงของบอย โกสิยพงษ์ในช่วงวัยเด็กที่เธอรู้สึกขอบคุณมาโดยตลอด

เธอยกตัวอย่างคอมเมนต์ที่เจอในเพลง ‘Undo’ ที่ขับร้องโดย ‘ป๊อบ ปองกูล’ และ ‘WONDERFRAME’ “แอ้มตั้งใจทำเพลงนี้บอกให้คนที่ทำผิดได้ฟังแล้วสำนึก แล้วไปขอโทษคนที่รัก ซึ่งมีคนหนึ่งเขามาเมนต์บอกใน YouTube ว่า ‘ฟังเพลงนี้แล้วรู้สึกสำนึกผิดก็เลยไปขอโทษแฟน เอาเพลงนี้ไปให้แฟนฟัง ตอนนี้ดีกันแล้ว’ มันทำให้เรารู้สึกดีใจ รู้สึกว่าเราได้ชี้นำสังคมไปในทางที่สร้างสรรค์” 

แต่กว่าเธอจะลงตัวกับวิธีคิดและวิธีการทำงานแบบนี้ ช่วงแรกๆ ของการทำงานในฐานะคนเบื้องหลัง เธอต้องเผชิญกับความท้าทายและการลองผิดลองถูกบ่อยครั้ง เนื่องด้วยประสบการณ์ที่ยังไม่มาก ทำให้ยังไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำไปนั้นถูกหรือไม่ ใช่หรือไม่ ส่งผลต่อผลงานที่เธอกลับมาพบจุดบกพร่องในปัจจุบัน อีกทั้งยังใช้เวลากับงานมากจนเกินไป เพราะคิดไปด้วย ทำไปด้วย

ด้วยประสบการณ์ที่มากขึ้น ก็ทำให้ปัญหาดังกล่าวลดลง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายว่าเมื่อสิ้นความท้าทายเดิมแล้ว จะไร้ซึ่งความท้าทายใหม่ที่กลายเป็นความ ‘กดดัน’ สำหรับเธอ

“เวลาทำงานกับใครก็ชอบมีคนคาดหวังว่าเพลงมันต้องฮิตแน่เลย แต่แอ้มก็จะบอกศิลปินทุกคนตลอดว่า อย่าคิดว่าทำด้วยกันแล้วเพลงจะฮิตอย่างเดียว บางทีมันก็อาจจะไม่ฮิต

“แต่ที่รับประกันคือเราจะฟังเขา (ศิลปิน) แล้วก็จะออกมาเป็นเพลงที่ไม่แย่ มันจะมีมาตรฐานของมัน เราจะไม่ปล่อยให้เขาดูร้องเพี้ยนแน่นอน แต่ความฮิตมันเป็นเรื่องของหลายอย่าง”

โดย ‘มาตรฐาน’ ที่จะ ‘โอเค’ สำหรับเธอ “รู้สึกว่าต้องคิดทบทวนเยอะมากๆ” นอกจากการคิดถึงศิลปินและผู้ฟังที่ต้องค่อยๆ ‘Watch Your Step’ แล้ว ยิ่งในยุคนี้ที่แพลตฟอร์มเปิดกว้าง ตลาดเพลงอยู่ใน ‘Red Ocean’ ก็ยิ่งจะต้องทบทวนให้มาก 

“เราจะคิดว่าถ้าเรามีเพลงนี้มันอยู่ในแพลตฟอร์มใดๆ แล้วเราจะกดเข้าไปฟังหรือไม่ ชื่อน่าสนใจพอที่จะให้เขามองแล้วกดเข้าไปหรือเปล่า สมัยนี้ต้องคิดขนาดนั้น เพราะว่าเราโปรโมตแล้วมันอาจจะไปไม่ถึงผู้คนเลยก็ได้”

และ “ต้องคิดให้ดีว่าฟังก์ชันของเพลงคืออะไร แล้วเราก็ต้องทำให้มันถูกต้อง ตามโจทย์ แล้วก็ต้องรู้จักหยุดที่ตรงนั้น 

“ถ้าคาดหวังว่าทุกเพลงต้องฮิต ต้องดีรอบด้าน บางทีมันก็อาจจะเป็นบ้าได้ เพราะว่ามันอาจจะเป็นไปไม่ได้ เราก็จะผิดหวังตลอด ถ้าเกิดว่าเราคาดหวังมากเกินไป” 

สิ่งเดียวที่ช่วยรับมือกับความกดดันจากความคาดหวังของผู้อื่นว่าเพลงจะต้องฮิต คือ “ปล่อยวาง” และเลือกที่จะปฏิเสธหากใครติดต่อขอให้เธอทำเพลงฮิต เพราะเธอรู้สึกว่าตนเองไม่สามารถที่จะแบกรับความคาดหวังเหล่านั้นได้ หากเพลงไม่ประสบความสำเร็จขึ้นมาจริงๆ

– CHORUS: ที่สุดของฉัน –

เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกับบุคคลผู้อยู่เบื้องหลังเพลงป็อปยอดนิยมมากมายที่ผู้ฟังคุ้นหูเป็นอย่างดี จึงอดไม่ได้ที่เราจะอยากทราบเรื่องราวของบทเพลงเหล่านั้น 

แต่เนื่องด้วยเพลงที่เธอมีส่วนร่วมในการทำมีจำนวนมาก เราจึงขอให้เธอเลือกเพลงที่เธอคิดว่าเป็น ‘ที่สุด’ ในแต่ละด้านที่เธอมีบทบาท ไม่ว่าจะเป็น ‘คำร้องและทำนอง’ ในฐานะนักแต่งเพลง และ ‘การโปรดิวซ์’ ในฐานะโปรดิวเซอร์

แม้เธอถึงกับเอ่ยปากว่าเป็นโจทย์ที่ยากอยู่ไม่น้อย เพราะทุกเพลงล้วนผ่านความตั้งใจและมีเรื่องราวที่น่าสนใจในแบบฉบับของตัวเอง แต่ในที่สุดเธอก็เลือก ‘ที่สุด’ ของเธอได้ดังนี้

ในด้าน ‘คำร้อง’ ที่เธอมองว่าได้ใช้ความรู้ภาษาไทยมากที่สุดในแบบที่ครูภาษาไทยจะต้องภูมิใจในตัวเธอ นั่นคือเพลง ‘จำนน (White Flag)’ ของ ‘นนท์ ธนนท์’

เพลงที่มีจุดเด่นอยู่ที่การเล่นคำในทุกท่อนของเพลง หรือหากกล่าวแบบวงการแร็ป เพลงนี้ก็มีการ ‘Flip’ ตลอดทั้งเพลง โดยเฉพาะการเล่นกับคำว่า ‘จำ’ ในท่อนฮุก 

“ก็คงต้องยอมจำนน กับคนไม่มีใจ 

ยอมจำลา แม้ว่ารักสักเท่าไหร่ 

ไม่จำเป็นว่าฉันรักแค่ไหน แค่เธอไม่ได้รักก็แค่นั้น

ยอมจำใจ เอ่ยคำว่าลาก่อน 

ใจจำยอม รับว่าเธอนั้นต้องไป

กับความจริงว่าฉันมันไม่ใช่ แค่ต้องจำเอาไว้เธอไม่รักกัน”

โดยเธอเล่าถึงที่มาของไอเดียการเล่นคำดังกล่าวว่า “วันรุ่งขึ้นจะต้องไปประชุม [เรื่องเพลงใหม่ของนนท์ ธนนท์] แล้วยังคิดอะไรไม่ออก ก็เลยนั่งคิดว่าจะทำอะไรให้นนท์ดีนะ จู่ๆ ก็คิดขึ้นมาได้ว่า ‘ธนนท์ จำเริญ’ มีเพลงชื่อ ‘จำนน’ หรือยังนะ เราคิดแค่นี้เลย”  

เธอจึงนำไอเดียการเล่นคำจากชื่อ-ชื่อสกุลจริงของนนท์ ธนนท์เสนอต่อที่ประชุม เธอเล่าว่าตอนแรกทุกคนในที่ประชุมก็รู้สึกทึ่งในแนวความคิดอันแยบยลดังกล่าว ในขณะเดียวก็รู้สึกขบขัน เพราะคาดว่าเพลงนี้น่าจะเป็นเพลงสนุก ตลกอะไรทำนองนั้น แต่ท้ายที่สุดเพลงนี้ก็ไม่ใช่เพลงสนุกอย่างที่หลายคนในวันนั้นคาดคิด

ส่วนด้าน ‘ทำนอง’ และ ‘การโปรดิวซ์’ เธอยกให้ที่สุดของสองด้านนี้เป็นเพลงเดียวกัน ซึ่งเพลงนั้นคือเพลง ‘สลักจิต’ ร้องโดย ‘ป๊อบ ปองกูล’ ร่วมกับ ‘ดา Endorphine’ 

สิ่งที่เธอยกให้เป็นที่สุดในเพลงนี้ คือ ‘ความยาก’ ที่เธอระบุว่ามีในทุกขั้นตอน ยากตั้งแต่เริ่มการกำหนดทิศทางของเพลงเสียด้วยซ้ำ เพราะนี่คือการกลับมาร่วมงานกันอีกครั้งในรอบ 15 ปี หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทั้งคู่เคยร่วมสร้างชื่อเอาไว้ด้วยกันในเพลง ‘ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ’ ประกอบภาพยนตร์ ‘สายลับจับบ้านเล็ก’ ในปี 2550 

บวกกับในช่วงเวลาก่อนหน้าเริ่มโปรเจ็กต์นี้ไม่นาน เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับผลงานที่เธอทำหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์และแต่งเนื้อร้อง-ทำนองให้กับป๊อบ ‘Undo’ และ ‘สองใจ’ ให้กับดา ถูกปล่อยออกมาและได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ทำให้เธอมีความกดดันตัวเองอยู่ไม่น้อย หากโปรเจ็กต์คู่ ‘ป๊อบ&ดา’ ไม่ประสบความสำเร็จ

“เพลงนี้ถ้าเกิดว่ามันทำออกมาแล้วมันแป้ก คือความผิดคือเรานะ ไม่ใช่เขาเลย สองคนนี้คือที่สุดของ ณ ช่วงเวลานั้นเหมือนกัน แล้วถ้าเราทำแล้วมันเงียบๆ ล่ะ เราก็จะรู้สึกว่าเราคือคนแย่”

แต่ ‘Undo’ และ ‘สองใจ’ ก็เป็นแรงบันดาลใจสำคัญสำหรับการแต่งเมโลดีในเพลงสลักจิตที่คงกลิ่นแบบ ‘ไทยๆ’ เอาไว้

นอกจากนี้เธอยังต้องทำให้เนื้อหาดูไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้สามารถนำเพลงไปร้องเดี่ยวได้ เพราะปกติแล้วเพลงคู่ชายหญิงส่วนใหญ่จะเป็นการร้องตอบโต้กัน ยืนอยู่บนจุดยืนที่ต่างกัน แต่ในขณะเดียวกันเนื้อหาก็จำเป็นต้องคงความเป็นเพลงคู่เอาไว้ เธอจึงต้องทำการบ้านในเรื่องนี้อยู่พอสมควร

ทั้งนี้ “ด้วยความที่โจทย์มาเป็น ‘เพลงคิดถึงแฟนเก่า’ ก็ต้องเขียนให้ชัดอีกว่า ไม่ได้จะกลับไปแล้ว ไม่มีการทำผิดเกิดขึ้น” เพราะตัวละครในเนื้อเพลงคือคนสองคนที่ต่างไปมีความสัมพันธ์ครั้งใหม่เป็นที่เรียบร้อย เพียงแค่มีจังหวะที่ฝันถึงหรือนึกถึงบ้างเท่านั้น ไม่ใช่เพลง ‘ชู้’ แต่อย่างใด

เธอยังอธิบายถึงขั้นตอนการคิดในการโปรดิวซ์เพลงเพิ่มเติมว่า “การดีไซน์การร้อง จะต้องทำอย่างไรให้พี่ป๊อบร้องแล้วดูเข้าปากทั้งหมด ร้องแล้วส่งเสริมเสียงเขา และดาก็ต้องร้องแล้วดูเป็นดา ขณะเดียวกันก็ต้องเข้ากันกับพี่ป๊อบ ยังมีท่อนสุดท้ายที่คิดกันว่าจะแบ่งการร้องกันยังไง มีท่อนคอรัสที่เพิ่มขึ้นมาอีก เพื่อให้เพลงกลมกล่อมขึ้น เพลงนี้ทุกขั้นตอนคือคิดยากมากหมดเลย

ด้วยเหตุนี้ ทำให้เธอไม่สามารถแต่งจบได้ในรวดเดียว มีระยะเวลาที่ต้องเว้นไป และต้องใช้เวลาทำถึง 6 เดือน บวกกับต้องประชุมหารือกันอยู่หลายครั้ง นี่จึงไม่แปลกที่เธอจะยกเพลงนี้ให้เป็น ‘ที่สุด’ ของเธออีกเพลงหนึ่ง

– SOLO: โลมาไม่ใช่ปลา –

ในวงการเพลงไทย คนเบื้องหลังอย่างโปรดิวเซอร์หรือนักแต่งเพลงที่มักได้รับการนึกถึงโดยทั่วไป มักเป็นผู้ชายเสียเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่เธอคือ ‘ผู้หญิง’ ที่อยู่ในบทบาทเดียวกัน บางครั้ง ‘ความเป็นผู้หญิง’ ก็อาจส่งผลต่อสถานการณ์ ‘การยอมรับ’ ในการทำงานที่ต่างกันในแต่ละบทบาท

“ก็ลำบากค่ะ สังคมมันก็ไม่ได้เท่าเทียมอย่างที่ทุกคนรู้ แต่นี่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นปัญหาสังคมอะไรขนาดนั้น เป็นเรื่องปกติมากๆ ของการ stereotype”

สมมติว่าบางอาชีพ คนก็จะมองว่าผู้หญิงจะทำได้ดีกว่าผู้ชาย แต่ว่าอาชีพโปรดิวเซอร์คนมักจะมองว่าผู้ชายทำได้ดีกว่า แล้วทรงเราไม่เหมือนนักดนตรีด้วย บางทีเจอนักดนตรีที่ต้องร่วมงานกัน แล้วเขาแสดงออกเลยว่าไม่ฟังเรา แต่พอผู้ชายพูดแล้วเขาฟังก็มี 

“แต่ถ้าเกิดคนที่เคยร่วมงานแล้วจริงๆ ส่วนใหญ่ก็จะรู้ว่าเราไม่ได้มีปัญหาในเรื่องของการทำงาน เขาก็จะรู้ว่าเราทำได้ เคารพกันแล้ว ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร

“แต่ในมุมที่ดี พอเป็นผู้หญิง บางทีศิลปินก็จะสบายๆ เปิดใจกับเรามากขึ้น อาจจะเล่าอินไซด์ให้เราฟังมากกว่า เพราะรู้สึกไว้วางใจกับเราง่ายกว่า เหมือนเราเป็น ‘มัมหมี’ ซึ่งทำให้เราเข้าใจในความคิดของเขาได้มากขึ้น และทำให้เราสามารถที่จะเขียนเนื้อเพลงออกมาได้ลึกซึ้งขึ้น” 

และปฏิเสธอีกไม่ได้เช่นกันว่าในวงการเพลง การเป็นบุคคลเบื้องหน้าย่อมจะถูกมองผู้คนมองเห็น และดูจะประสบความสำเร็จมากกว่าการเป็นบุคคลเบื้องหลัง แต่สำหรับเธอแล้วเรื่องนี้กลับไม่ได้เป็นปัญหาอะไรมากนัก 

“เพราะรู้สึกว่าไม่ได้อยากให้คนรู้จักเยอะขนาดนั้น ถ้าเราไปเดินห้าง แล้วคนทักเราตลอด เราน่าจะเครียดมากกว่า  

“อีกอย่างอาชีพของเรา เป็นหนึ่งในไม่กี่อาชีพที่ยังได้มีเครดิตอยู่ใต้เพลงแล้ว ก็เลยไม่ค่อยอยากเรื่องมาก ซึ่งเรารู้สึกว่าก็เป็นบุญของเราแล้ว เพราะยังมีทีมงานอีกมากมาย ที่เขาไม่ได้ถูกใส่ชื่อลงไปด้วยซ้ำ เขาก็ยังขยัน ตั้งใจทำงานกันได้เลย” เธอจึงไม่ได้รู้สึกท้อถอยในการทำงานและอยากได้แสงสักมากเท่าไหร่

แต่เธอก็ยอมรับว่าสิ่งที่เธอเป็นอยู่ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย “ต้องยอมรับว่าการเป็นคนเบื้องหลังกับเป็นคนเบื้องหน้า เมื่อมาแต่งเพลง คนฟังส่วนหนึ่ง ก็พร้อมจะชื่นชมคนเบื้องหน้ามากกว่า” 

“การเป็นเบื้องหลังอย่างเดียว จะพิสูจน์ตัวเองยากกว่า แต่ถ้าเราเป็นเบื้องหลังแล้วเป็นศิลปินเบื้องหน้าด้วย พอเราไปแต่งเพลงให้คนอื่น คนก็จะให้ความสนใจ มันจะมีความ positive มากกว่า การที่เราเป็นคนเบื้องหลังก็อาจจะไม่ได้มีแต้มต่อตรงนั้น

“แต่มันก็มีข้อดีตรงที่เราทำงานได้หลากหลาย เพราะว่าเราไม่ได้มีภาพลักษณ์อะไรที่คนจดจำว่าคนนี้จะต้องทำแต่เพลงแบบนี้เท่านั้น”

เธอจึงไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ตัวเองต่อสายตาของใครด้วยการเป็นคนเบื้องหน้าที่เธอไม่ได้ใคร่อยากจะเป็น เพราะการเป็นคนเบื้องหลังก็สามารถพาเธอดื่มด่ำความงดงามท่ามกลางมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ที่ชื่อว่า ‘วงการเพลงไทย’ อย่างที่เธอใฝ่ฝันได้เช่นกัน 

‘ความสามารถ’ และ ‘ความยืดหยุ่น’ ดังกล่าว ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ปัจจุบันเรายังคงเห็นชื่อ ‘อัจฉริยา ดุลยไพบูลย์’ อยู่ในเครดิตเพลงของศิลปินร่วมสมัยมากมาย และสามารถยืนระยะการทำงานและยังได้รับความไว้วางใจจากคนร่วมวงการมาอย่างต่อเนื่องกว่า 10-15 ปี

“ถ้าเป็นศิลปินที่เคยทำงานกันแล้ว ส่วนใหญ่เขาจะบอกว่าเรามีความเป็นร่างทรงเขา คิดแทนเขาได้ เพราะว่าเราเป็นคนทำการบ้านกับเสียงของนักร้อง หรือชวนคุยเรื่องทัศนคติต่อประเด็นต่างๆ 

“สมมติว่าศิลปินจะให้ทำเพลงอกหัก เราจะไปถามเขาว่า ถ้าอกหัก จะอกหักแบบไหน เพราะการอกหักก็ไม่ได้เหมือนกันหมดทุกคน เป็นคน move on ไวไหม หรือเป็นคนชอบเจ็บนานๆ หรือมีความเชื่อแบบนั้นแบบนี้ไหม เราคุยกับเขาก่อนที่จะเขียน มันก็เลยทำให้นักร้องหลายๆ คนรู้สึกว่าเมื่อเพลงออกมา มันไม่ขัดแย้งกับอะไรในตัวเขาเลย” 

หรือการทำการบ้านในเรื่องวิธีการร้อง “บางทีเปลี่ยนแค่คีย์เดียว มันก็มีผลต่อการร้องเพราะกับไม่เพราะในนักร้องคนหนึ่งเลย หรือบางทีศิลปินคิดว่าโน้ตนี้สูงมากเลยนะ ยังร้องเกือบจะไม่ได้ แต่เราก็ลองเสนอว่า ‘พี่! แต่ถ้าขึ้นไปอีก 1 Octave ก็ยังร้องได้นะ’ ซึ่งมันดูเหมือนไม่น่าเป็นไปได้ แต่เมื่อลองแล้ว มันก็เป็นไปได้อย่างที่เราบอกจริงๆ”

ซึ่งนอกจากจะทำให้ศิลปินที่เคยทำงานร่วมกันยังคงให้ความไว้วางใจ ศิลปินใหม่ๆ ก็เห็นคุณภาพงานที่เธอเคยทำให้ศิลปินที่เคยร่วมงานก่อนหน้า และขอให้เธอมาเป็น ‘ร่างทรง’ ของพวกเขาด้วยเช่นกัน

– BRIDGE : โคตรพิเศษ –

เรื่องน่าสนใจอีกประการและถือได้ว่าเป็นหนึ่งหน้าสำคัญของประวัติศาสตร์วงการเพลงไทย เมื่อบุคคลเบื้องหลังที่ชื่อ ‘อัจฉริยา ดุลยไพบูลย์’ กำลังจะมีคอนเสิร์ตที่ร้อยเรียงบทเพลงจากปลายปากกาของเธอ ‘HER VERSE & HIS VOICE CONCERT Written by AMP ACHARIYA’

เพราะไม่บ่อยครั้งนักที่คอนเสิร์ตในบ้านเราจะหยิบยกบุคคลเบื้องหลังมาเป็นแก่นแกนหลักของคอนเสิร์ต 

“จุดเริ่มต้นคือพี่จี๊บ (เทพอาจ กวินอนันต์-ผู้บริหารค่ายเพลง LOVEiS) ค่ะ พี่จี๊บพูดขึ้นมาเองเลยว่า ‘แอ้มควรจะมีคอนเสิร์ตรวมเพลงตัวเองได้แล้วนะ’ พูดกันตอนแรกตั้งแต่ประมาณปีที่แล้ว (2567) แต่ว่ายังไม่ได้ตกลงกันอย่างจริงจัง 

“พอช่วงนี้เจอกันบ่อยขึ้น เลยมีการคุยกันว่า ‘เอาเลยไหม?’ พอตกลงกันแล้ว พี่จี๊บก็ได้มอบหมายให้ทางทีม LOVEiS ดูแลโปรเจ็กต์นี้ให้” 

ส่วนเรื่องที่มาของชื่อคอนเสิร์ต เธอเล่าเบื้องหลังเรื่องนี้ว่า จริงๆ แล้วเธอเป็นคนขอให้นำชื่อของเธอต่อท้ายชื่อธีมหลักของคอนเสิร์ต จากที่จะมีการใช้ชื่อเธอเป็นหลัก เพราะเธอรู้สึกว่ามันดูเด่นเกินไป รวมถึงโปสเตอร์โปรโมตคอนเสิร์ต เธอก็ขอให้ตัวเธออยู่ข้างหลังบรรดาศิลปิน แม้เดิมทีทีมงานจะให้เธออยู่เบื้องหน้า ด้วยเหตุผลที่ว่า เรารู้สึกว่าเราเป็นคนเบื้องหลัง เราก็อยู่ข้างหลังพอแล้ว”

ถึงแม้ว่าเธอจะสามารถมาถึงจุดเดียวกันกับบรรดาคนเบื้องหลังรุ่นพี่หลายๆ คนที่มีงานคอนเสิร์ตเป็นของตัวเอง แต่เธอก็บอกกับเราอย่างถ่อมตัวว่า “ด้วยความเคารพี่ๆ เขา เราก็ไม่ได้รู้สึกว่าจะเท่าเขาหรืออย่างไร เขาก็ยังเป็นไอดอลเราเหมือนเดิมค่ะ” 

โดยในงานคอนเสิร์ตครั้งนี้ เพลงของเธอจะถูกถ่ายทอดผ่าน 7 ศิลปิน ได้แก่ Billkin / F.HERO / นนท์ ธนนท์ / NuNew / ป๊อบ ปองกูล / PP Krit / URBOYTJ 

“ไม่นึกว่าจะได้คนที่มีงานเยอะขนาดนี้มา ไม่คิดว่าเขาจะว่าง แต่ศิลปินทั้งหมดที่อยู่ในงานนี้ เป็นคนที่เราทำงานด้วยกันอย่างสม่ำเสมอ และมีเพลงด้วยกันหลายๆ เพลง” ซึ่งทำให้เธอรู้สึกขอบคุณศิลปินเหล่านี้มากๆ ที่สามารถสละเวลามาร่วมในโปรเจ็กต์ดังกล่าวได้

โดยเธอระบุถึง ‘ความพิเศษ’ ของคอนเสิร์ตตามทัศนะของเธอว่า “จริงๆ อย่างแรกคือการที่เห็น 7 คนนี้มา มันก็พิเศษแล้วนะสำหรับเรา เพราะบางคนก็ไม่เคยร่วมงานกันเลย บางคนอาจเจอกันผ่านๆ แต่ไม่เคยร่วมเวทีกัน ซึ่งครั้งนี้ก็จะได้เห็นพวกเขาอยู่ด้วยกัน

“แต่สิ่งที่มากกว่าโชว์ คือบรรยากาศของความเป็นพี่ๆ น้องๆ ของศิลปินเวลาที่เขามาอยู่ด้วยกัน มันจะมีความน่ารักบางอย่าง เวลาที่เขาพูดคุยกัน รวมตัวกัน ร่วมงานกัน มาซ้อมคอนเสิร์ตด้วยกัน มันอบอุ่นมากๆ” 

เธอยังเผยอีกว่าเพลงส่วนใหญ่ที่จะถูกนำมาถ่ายทอดในคอนเสิร์ตครั้งนี้ ล้วนเป็นบทเพลงที่เชื่อว่าคนรักเพลงไทยหลายคนคุ้นเคยและสามารถร้องตามได้อย่างแน่นอน 

และนอกจากที่ศิลปินจะร้องเพลงดังของตัวเองแล้ว พวกเขาจะหยิบเพลงจากปลายปากกาของเธอที่เคยถูกขับร้องโดยศิลปินคนอื่นๆ มาถ่ายทอดในแบบฉบับของตัวเองอีกด้วย

และเธอยังมีเซอร์ไพรส์เล็กๆ บอกกับเราว่า “แต่ว่าในคอนเสิร์ต ก็จะแอบร้องเพลงด้วยนะ”

– OUTRO: Happy Ending –

เราเชื่อว่าประสบการณ์ของคนเบื้องหลังที่ยืนระยะการทำงานในวงการเพลงไทยมานานกว่าหลัก 10 ปีจะมีประโยชน์อย่างมากต่อผู้คน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ๆ ที่คิดจะเข้ามาทำหน้าที่หรือสวมบทบาทอย่างที่เธอเป็น เราจึงขอ ‘คำแนะนำ’ จากเธอว่าด้วยเรื่องการเดินบนเส้นทางนี้

“สิ่งหนึ่งที่มีน้องๆ หลายคนถาม แล้วเรารู้สึกเป็นห่วงคือ เขาไม่สามารถที่จะแยกระหว่างความสุขในสิ่งที่ทำกับเรื่องผลตอบรับได้เลย เวลาทำแล้วมักจะคาดหวังแต่ผลตอบรับที่ดี แต่ลืมคิดถึงว่าตอนนี้เราทำอะไรอยู่ ซึ่งมันจะเสี่ยงมากที่เราจะพบกับผิดหวัง เพราะว่าความชอบของคนอื่น มันเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ 

“ตอนเราสร้างงานศิลปะขึ้นมา อยากให้เราทำงานในแบบที่ตัวเองรู้สึกว่ามันจะเป็นงานที่ดี อาจจะมีการคิด วิเคราะห์ว่าทำแบบไหนมันถึงจะดีนะ หรืออาจจะมีเรื่องของการใช้ทฤษฎีดนตรีเข้ามาเกี่ยวข้องบ้างเล็กน้อยอะไรทำนองนี้

“แล้วส่วนคนอื่นจะเห็นหรือเปล่า ยังไม่อยากให้เอาตรงนั้นมาลดคุณค่าชิ้นงานของคุณ ต่อให้ยอดการรับชมรับฟังน้อยก็ไม่เป็นไร ตราบใดที่ยังรู้สึกว่าชิ้นงานนี้มันเจ๋งตั้งแต่แรก มันก็จะยังเจ๋งอยู่ แค่คนอื่นเขาอาจไม่ได้เข้ามาเห็นเท่านั้น”

อีกเรื่องหนึ่งที่เธอรู้สึกเป็นห่วง หลังจากเคยมีคนมาถามว่า การแต่งเพลงที่ถูกครอบด้วยโจทย์จะเท่ากับการเสียตัวตนอะไรบางอย่างไป หรือเท่ากับ ‘ขายวิญญาณ’ หรือไม่ 

เธอให้มุมมองเรื่องนี้ว่า “การที่เราปรับตัวเข้าหาคนอื่น มันไม่ได้เป็นการเสียศักดิ์ศรี แต่ว่ามันเป็นการรับฟังความคิดเห็นกันแค่นั้นเอง

“อยากให้ทุกคนทำงานอย่างเปิดใจกว้างๆ จอยๆ แล้วตอนนี้เพลงมันมีหลากหลายมาก มีให้เลือกฟังเยอะ ทุกคนสามารถเลือกฟังในสิ่งที่ตัวเองชอบได้ โดยที่มันไม่ต้องแย่งกัน เพลงหนึ่งเพลงจะมีชอบกี่คนก็ได้ 

“ส่วนคนทำเอง อยากทำแนวไหน ก็สามารถทำได้เลยในยุคปัจจุบัน อยากให้มีความสุขกับสิ่งที่ตัวเองทำให้มากๆ อย่าลืมเก็บเกี่ยวช่วงเวลาดีๆ ในการทำงาน อย่ามัวแต่คิดว่ามันจะดังไหม จนกระทั่งทำงานไม่มีความสุข เพราะถ้าเป็นแบบนั้น เราก็จะทำได้ไม่นาน” 

“อ่อ! แล้วก็ตังค์ไม่ได้เยอะมากนะคะ ใครที่คิดว่าจะทำแล้วร่ำรวย ก็อาจจะไม่นะคะ” เธอ ‘ช็อตฟีล’ พลางหัวเราะออกมาเบาๆ 

ดังนั้นสำหรับเธอ ‘การบริหารอาชีพ’ จึงเป็นเรื่องสำคัญไม่ย่อหย่อนไปกว่าการสร้างงานศิลปะ เธอฉายภาพในฐานะนักแต่งเพลงว่าค่าลิขสิทธิ์ในประเทศไทยมีระบบการจัดเก็บที่ต่างจากระบบการจัดเก็บของต่างประเทศ ซึ่งทำให้นักแต่งเพลงไม่ได้มีรายได้ที่สูงขนาดนั้น จึงต้องอาศัยรายได้จากปริมาณงานที่มาอย่างสม่ำเสมอถึงจะพออยู่ได้

เธอแนะนำว่า “ในระยะเริ่มต้น อยากให้ทำอาชีพอื่นด้วย ที่มันสม่ำเสมอ ได้เงินเรื่อยๆ” เช่นเดียวกับเธอที่ก่อนหน้าจะร่วมงานกับ Kamikaze อย่างเต็มตัว เธอทำอาชีพเป็นครูสอนร้องเพลงนานถึง 4 ปีหลังจากเรียนจบ

“แล้วก็อย่าตัดราคาตัวเอง อย่าตัดราคาคนอื่น เพราะสุดท้ายถ้าคุณตัดราคาคนอื่น งานหน้าเขาก็ไปรู้เรทที่คุณจะไปตัดราคาเขา คุณจะได้เรทราคานั้นไปตลอด บางทีเราก็เข้าใจในเรื่องการเริ่มต้นว่ามันอาจจะต้องค่อยๆ เพิ่มเรทราคาขึ้น แต่เรื่องนี้ต้องระวัง เพราะว่ามีหลายคนที่ติดกับตัวเอง เริ่มรับในราคาเริ่มต้นถูกเกินไป แล้วกลายเป็นว่าอยู่ไม่ได้เอง” เธอกล่าวปิดท้ายเรื่องนี้ด้วยข้อควรระวัง

นอกจากนี้ ความสำเร็จที่งดงามจากผลงานของเธอที่ประดับไว้ในวงการเพลงไทยตลอดระยะเวลากว่า 10-15 ปี ในฐานะนักแต่งเพลงและโปรดิวเซอร์ เป็นดังผลลัพธ์อันเป็นรูปธรรมของคำแนะนำเหล่านี้ ด้วยแนวทางการทำงานที่สะท้อนอัตลักษณ์ หรือ ‘ตัวตน’ ของเธอเอาไว้อย่างเด่นชัด 

มากพอที่จะสามารถนิยามได้ว่าเพลงแบบ ‘แอ้ม อัจฉริยา’ เป็นเพลงแบบใด เช่นเดียวกับแนวทางของบุคคลเบื้องหลังรุ่นก่อนหน้า แม้ว่าเธอจะทำหน้าที่เป็น ‘ร่างทรง’ ให้ศิลปินก็ตามที

แต่ท้ายที่สุดเราอยากให้เธอเป็นผู้กำหนดนิยามผลงานของเธอด้วยตัวเธอเอง 

เธอสังเคราะห์ออกมาสั้นๆ แล้วพลันตอบว่า “เพลงในแบบที่แอ้มอยากฟังเองค่ะ” 

เพราะเธอเชื่อว่า “ถ้าเราไม่อยากฟัง เราจะอยากให้คนอื่นฟังได้อย่างไร”

บทสนทนาครั้งนี้จึงจบลงด้วยเสียงหัวเราะ ราวกับแสงสว่างเล็กๆ ที่เธอมักแอบทิ้งไว้ในมุมหนึ่งของเพลงเสมอ ซึ่งชวนให้เราคิดถึงเนื้อเพลงที่เธอเขียนเอาไว้ท่อนหนึ่งว่า 

“จบแบบนี้ดีที่สุดแล้ว…”