จากถนนค้าเสื้อกีฬา ถึงฉายา ‘เยาวราช 2’ เมื่อ ‘บรรทัดทอง’ ถนนสายของกินสุดฮิต กำลังถูกตั้งคำถามว่า มาถูกทางหรือไม่?
ภายในระยะเวลาไม่ถึงสิบปี ‘บรรทัดทอง’ ถนนที่มีความยาวเพียง 2.2 กิโลเมตร นับจากแยกสะพานเหลืองไปจนถึงถนนพระราม 4 ได้ก้าวเข้ามาเป็นถนนเศรษฐกิจด้านอาหารของกรุงเทพมหานคร ผ่านการเป็นหมุดหมายของสายกินและนักท่องเที่ยวทั่วโลก จนทำให้ถนนแห่งนี้ได้รับฉายาว่าเป็น ‘เยาวราช 2’
จากเดิมที่เคยเป็นแค่ย่านขายอะไหล่ยนต์และเสื้อกีฬา วันนี้ ‘บรรทัดทอง’ ได้กลายเป็นที่ตั้งของร้านอาหารชื่อดังนับไม่ถ้วนที่ใครมากรุงเทพฯ ก็ไม่พลาดที่จะแวะไปชิม ทว่าท่ามกลางการพลิกโฉมอย่างรวดเร็วนี้ กลับมีคำถามตามมามากมาย เช่นคำถามที่ว่า การพัฒนานั้นเอื้อนายทุนเกินไปหรือไม่ ความหลากหลายของร้านค้าน้อยไปหรือเปล่า หรือแม้กระทั่ง การพัฒนานี้ได้รวมเอามิติด้านชุมชนเอาไว้ด้วยหรือไม่?
เพราะเดิมถนน ‘บรรทัดทอง’ ถือเป็นถนนสายสำคัญมานานแล้ว เนื่องจากเป็นถนนที่เป็นเส้นแบ่งเขตการปกครองระหว่างแขวงรองเมืองกับแขวงวังใหม่ในเขตปทุมวัน และเป็นถนนที่ตัดผ่าน ‘สนามกีฬาแห่งชาติ’ หรือ ‘สนามศุภชลาสัย’ จึงทำให้ถนนเส้นนี้เป็นศูนย์รวมของธุรกิจประเภทเสื้อผ้า และอุปกรณ์การกีฬาเบอร์ต้นๆ ของประเทศ
ต่อมา ‘บรรทัดทอง’ ก็พลิกโฉมแบบก้าวกระโดดสู่ถนนสายอาหาร จากการพัฒนาในโครงการ ‘Samyan Smart City’ โครงการที่มุุ่งเน้นพัฒนาพื้นที่บริเวณสามย่าน สวนหลวง สนามกีฬาแห่งชาติ และสยามสแควร์ ให้เป็นเมืองอัจฉริยะที่สามารถตอบโจทย์ผู้อยู่อาศัยและผู้เข้ามาใช้บริการจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและนวัตกรรม ที่สามารถรองรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจในระดับสูงได้
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ย่านสำคัญอย่าง ‘บรรทัดทอง’ ที่อยู่ในขอบข่ายการพัฒนา ค่อยๆ ถูกยกระดับขึ้นมาเรื่อยๆ จากการพัฒนาพื้นที่สำคัญๆ บนถนนเส้นนี้ อย่างการสร้างสวนจุฬาฯ 100 ปี สวนสาธารณะขนาดใหญ่ใจกลางสามย่าน และโครงการอื่นๆ ภายในย่าน
แต่การพัฒนาเหล่านี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากย่าน ‘บรรทัดทอง’ ที่มีต้นทุนเดิมที่ดีอยู่แล้ว อย่างการเป็นที่ตั้งของร้าน ‘เจ๊โอว’ ร้านข้าวต้มชื่อดังกว่า 3 ชั่วอายุคน โดยทางร้านได้มีการพัฒนาปรับปรุงเมนูอาหารตลอดเวลา จนสามารถเดบิวต์เมนูสุดฮิตตลอดกาล อย่างเมนู ‘มาม่าโอ้โห’ ต้มยำมาม่าหน้าแน่นที่สามารถจับใจนักศึกษา คนทำงานและประชาชนทั่วไปได้ จนทำให้ร้านเจ๊โอวมีคิวแน่นตลอดเวลา
บวกกับการเข้ามาของโครงการ ‘สเตเดียม วัน’ (Stadium One) คอมมูนิตีไลฟ์สไตล์ใจกลางกรุงสำหรับคนรักสุขภาพแห่งแรกของประเทศไทย และใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ยิ่งทำให้ ‘บรรทัดทอง’ มีชื่อเสียงมากขึ้นไปอีก เนื่องจากแม้ ‘สเตเดียม วัน’ จะเป็นคอมมูนิตีด้านกีฬา ทว่าอีกด้านหนึ่งยังเป็นสถานที่ที่รวบรวมเอาร้านอาหารชื่อดังในตำนานหลายร้านมาไว้ในที่เดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น ร้าน ‘โจ๊กสามย่าน’ ที่มีชื่อเสียงมานานกว่า 70 ปี หรือจะเป็นน้ำแข็งไสในตำนานอย่าง ‘เช็งซิมอี๊’
ความสำเร็จของร้านอาหารเหล่านี้เอง ได้กลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดความสนใจของผู้คนและนักลงทุนธุรกิจร้านอาหารให้มายังบรรทัดทองในเวลาต่อมา จนถนนแห่งนี้เริ่มเปลี่ยนไปสู่ถนนของร้านอาหารที่ตอบโจทย์ไลฟสไตล์คนกรุงและนักท่องเที่ยว ที่ปรารถนาจะลิ้มลองรสชาติหลากหลาย
อย่างไรก็ตาม ในภาพอันครึกครื้นของร้านอาหารอันหลากหลายนี้ ก็มีการตั้งคำถามจากบางภาคส่วนว่า การพัฒนาดังกล่าวได้คำนึงถึงวิถีชีวิตของชุมชนด้วยหรือไม่ และคนในพื้นที่จะได้ประโยชน์อย่างไร เนื่องจากร้านอาหารส่วนใหญ่เป็นร้านนายทุนจากภายนอก
คำถามนี้ส่วนหนึ่งมาจากกระแสดราม่าเรื่องความพยายามในการรื้อถอนศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนในชุมชนสามย่าน แต่ปัจจุบันนี้ถูกแทนที่ด้วยสวนจุฬาฯ 100 ปี จนลามไปสู่คำถามถึงการพัฒนาบรรทัดทองว่า การพัฒนานี้ได้เอื้อประโยชน์ให้คนในท้องถิ่นจริงๆ หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักศึกษาและผู้คนในชุมชนที่อาจมีรายได้ไม่มากพอที่จะเข้าถึงร้านอาหารราคาค่อนข้างแพงได้ นั่นหมายความว่าแม้จะมีร้านอาหารมากมายเพียงใด แต่ก็ไม่อาจให้บริการกับผู้คนได้ทุกกลุ่มอย่างแท้จริง แต่อาจตอบโจทย์ได้แค่เพียงกลุ่มนักท่องเที่ยวเท่านั้น
นอกจากนี้การพัฒนา ‘บรรทัดทอง’ ยังถูกตั้งคำถามว่า เอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนมากเกินไปหรือไม่ หลังจากที่มีร้านอาหารเก่าแก่ในพื้นที่หลายร้านปิดตัวลง หลังจากค่าเช่าที่ปรับราคาสูงขึ้น โดยปัจจุบันนี้ค่าเช่าจะอยู่ที่ 20,000-100,000 บาทต่อเดือน ตามทำเลที่ตั้ง ซึ่งบางส่วนมองว่าเป็นราคาที่สูงจนเกินไป และทำให้ร้านอาหารที่มีทุนน้อยอยู่ไม่ได้จนถูกแทนที่ด้วยกลุ่มนายทุนที่มีเงินมากกว่า
อย่างไรก็ตาม มีบางส่วนที่มองว่าการพัฒนานี้ถือเป็นสิ่งที่ดี เนื่องจากทำให้ถนนบรรทัดทองที่จากเดิมเคยมืด เปลี่ยว และมีแต่ร้านอะไหล่รถยนต์ กลายเป็นพื้นที่ที่ผู้คนสามารถเพลิดเพลินกับร้านอาหารหลากหลายได้ ในขณะที่บางส่วนเสนอความคิดเห็นว่า แท้จริงแล้วปัญหาของ ‘บรรทัดทอง’ ไม่ได้อยู่ที่การพัฒนาหรือไม่พัฒนา หากแต่เป็นการพัฒนาที่เกิดขึ้นรวดเร็วเกินไป และไม่ได้เป็นไปพร้อมกับวิถีชีวิตชุมชนและผู้คนท้องถิ่นต่างหาก
อ้างอิง
- ประชาชาติธุรกิจ.คุยกับสำนักทรัพย์สิน จุฬาฯ วันที่ “บรรทัดทอง–สามย่าน” ทำเลเปลี่ยนไป–ร้านอาหารบูม.http://tinyurl.com/2p8xvdbc
- ประชาชาติธุรกิจ.พลิกทำเล “บรรทัดทอง” สตรีตฟู้ดคนรุ่นใหม่.http://tinyurl.com/yc32kb7b
- PMCU.บรรทัดทอง–สวนหลวง–สามย่าน… แหล่งฮิปใหม่ใจกลางเมือง มาที่เดียวครบรสคึกคักทั่วทั้งย่าน กับ STREET FOOD ตลอดเส้น.http://tinyurl.com/cc4467f3