1 Min

รู้จัก ‘ออทิสติกเทียม’ อาการคล้ายออทิสติก เพราะเลี้ยงเด็กให้อยู่กับสมาร์ทโฟนมากเกินไป

1 Min
529 Views
16 Sep 2020

หลายๆ คนน่าจะคุ้นเคยหรือรู้จักกับกลุ่มอาการ ‘ออทิสติก’ (Autism Spectrum Disorders: ASD) กันมาบ้าง

ออทิสติกคือภาวะระบบประสาททำงานซับซ้อน ส่งผลให้ความสามารถในการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ และพัฒนาการด้านภาษาต่างจากคนทั่วไป

Autism Spectrum Disorders | childrensmercy.org

เช่น จะมีพฤติกรรมซ้ำๆ ไม่เข้าใจการสื่อสารด้วยภาษาท่าทาง ไม่สามารถทำกิจกรรมที่มีลำดับขั้นตอนหลายอย่าง ไม่เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของคนที่คุยด้วย แต่อาการของแต่ละคนจะมีความรุนแรงที่ต่างกันออกไป

ทั้งนี้ นี่คืออาการออทิสติกปกติที่เกิดจากความผิดปกติตั้งแต่อยู่ในครรภ์ แต่ปัจจุบันมีการพบว่า เด็กวัยเตรียมอนุบาลและวัยอนุบาลเสี่ยงต่อการมีพฤติกรรมที่ ‘คล้าย’ ออทิสติกมากขึ้น แต่ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติทางสมอง แต่เกิดจากการเลี้ยงดู เรียกว่า ‘ออทิสติกเทียม’

ออทิสติกเทียม | gponline.com

ออทิสติกเทียมคือภาวะที่เด็กมีการแสดงออกแบบเดียวกับออทิสติก จากการที่ขาดการ “กระตุ้น” ในการสื่อสารในช่วงวัยเด็ก เพราะผู้ปกครองไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์หรือสื่อสารกับลูกมากนัก โดยเฉพาะการสื่อสารแบบ 2 ทาง ส่งผลให้เด็กเกิดความผิดปกติด้านพัฒนาการทางสังคม

‘ขาดการกระตุ้นการสื่อสาร’ คืออะไร?

เมื่อเด็กไม่ได้สื่อสารสองทางในช่วงกำลังพัฒนา เช่นใช้เวลาอยู่กับโทรทัศน์ มือถือ หรือเครื่องมือสื่อสารที่เป็นการสื่อสารทางเดียว ไม่ได้มีสิ่งเร้าอื่นๆ จนกลายเป็นพฤติกรรมซ้ำๆ ทำให้สมองจดจำเคยชินกับแต่สิ่งเดิม ไม่มีการพัฒนาที่เหมาะสมตามวัยที่ควรจะเป็นตามธรรมชาติ

เด็กใช้เวลาอยู่กับมือถือ | handsonotrehab.com

เมื่อการเลี้ยงดูทำให้เกิดความผิดปกติ ดังนั้นภาวะออทิสติกเทียมสามารถรักษาได้ ถ้าหากได้รับการกระตุ้นที่ถูกวิธี แต่ต้องเกิดขึ้นในช่วงวัย 5 ปีแรก ซึ่งเป็นช่วงวัยที่กำลังพัฒนา

หากผู้ปกครองสงสัยว่าลูกมีอาการคล้ายออทิสติก ควรตรวจเช็กกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยด่วน

แต่ทางที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้ภาวะดังกล่าวเกิดขึ้น สิ่งที่ผู้ปกครองควรทำคือการพูดคุยกับลูกบ่อยๆ และพูดช้าๆ ชัดถ้อยชัดคำ เป็นระยะเวลาราว 30 นาที – 1 ชั่วโมง เพื่อฝึกฝนการสื่อสารแบบ 2 ทาง

และไม่ควรให้ลูกจดจ่ออยู่กับสมาร์ทโฟนหรือเครื่องมือสื่อสารมากกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน

อ้างอิง:

  • พบแพทย์. ความหมาย ออทิสติก. https://bit.ly/3bLU5Jf
  • โรงพยาบาลกรุงเทพ. ลูกของคุณเสี่ยงมีพฤติกรรมคล้ายออทิสติกหรือไม่. https://bit.ly/2Fjs0NR
  • HealthInfo. พลังแห่งรักชนะออทิสติกเทียม. https://bit.ly/35ndrmR