ประจักษ์ ก้องกีรติ ผู้เชื่อว่า “ประชาธิปไตย คือ สิ่งมีชีวิต” กับเหตุผลว่าทำไมคนไทยยังไม่ควร Move on

7 Min
1625 Views
23 Jul 2021

กว่าจะมาเป็น “ประจักษ์ ก้องกีรติ” อาจารย์ผู้คร่ำหวอดในวงการรัฐศาสตร์มาเกือบ 20 ปีคนนี้ เขาเคยมีเส้นทางชีวิตและความกลัวที่อาจคล้ายกับคุณมาก่อน แต่ประจักษ์ได้ค้นพบเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เขาหันมาสนใจการเมืองอย่างจริงจัง

จากประสบการณ์ที่เขาเรียนรู้รวมถึงศึกษาเกี่ยวกับ “การเมือง” และ “ประชาธิปไตย” มาจนถึงทุกวันนี้ ประจักษ์ค้นพบกุญแจสำคัญที่อาจไขคำตอบไปสู่ทางออกของประเทศไทย และเขาพร้อมบอกว่า ทำไมเขาถึงคิดว่าประชาธิปไตยคือ “สิ่งมีชีวิต”

เชื่อว่าถ้าใครติดตามข่าวการเมืองของประเทศไทยที่ผ่านมา ชื่อของ “ประจักษ์ ก้องกีรติ” ย่อมต้องผ่านหู ผ่านตามาบ้าง ชายคนนี้คืออาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้สั่งสมความรู้ด้านการเมืองกับ “ประชาธิปไตย” สิ่งที่หลายๆ คน สงสัยว่าแท้จริงแล้วมันคืออะไรกันแน่

แต่สำหรับประจักษ์…ประชาธิปไตย คือ สิ่งมีชีวิต

“ขอเป็น Educator มากกว่า Lecturer”

จนถึงวันนี้ ชื่อของ “ประจักษ์ ก้องเกียรติ” ได้อยู่ในฐานะอาจารย์มา 16-17 ปีแล้ว แต่สิ่งที่ทำให้เขามีความสุขจริงๆ คือการได้มองตัวเองในฐานะ Educator หรือผู้ให้การศึกษา มากกว่าการเป็นแค่ “Lecturer” หรือนักเลคเชอร์ในห้องเรียน

“ผมชอบคำว่า Educator หรือนักการศึกษามากกว่า เพราะถ้าเรามองตัวเองเป็น Educator หรือผู้ให้การศึกษา พื้นที่ของเราไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน ทุกพื้นที่สามารถให้เราเล่นบทบาทนี้ได้หมด คือถ้าอาจารย์มหาลัยจำกัดบทบาทตัวเองแค่อยู่ในห้องเรียน เราสร้างอิทธิพลได้น้อย และเรากำลังนิยามตัวเองแคบไป ทุกคนมีศักยภาพมากกว่านั้น ฉะนั้นพอนิยามแบบนี้ ผมรู้สึกสนุกไงเพราะว่าเราก็ได้ไปทำอะไรหลาย ๆ อย่าง”

แม้ทุกวันนี้ใครๆ จะรู้จัก “ประจักษ์ ก้องกีรติ” ในฐานะอาจารย์ หรือนักวิชาการผู้ทรงความรู้ด้านการเมือง แต่ครั้งหนึ่ง ประจักษ์ย่อมเคยเป็นวัยรุ่นเดียงสาธรรมดาๆ คนหนึ่ง ผู้ไม่ได้เข้าใจหรือสนใจคำว่า “การเมือง” มาก่อน

“ก่อนจะเป็น ‘อาจารย์’ ประจักษ์”

ประจักษ์เคยเป็นเพียงเด็ก ม.ปลาย ณ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เขาเคยเรียนสายวิทย์ อยากเป็นวิศวกร และเรียนในสิ่งที่ในใจตัวเองรู้ดีว่า “เรียนได้ แต่ไม่ชอบ” จนเมื่อเขาไปเจอกับครูวิชาสังคมศึกษาคนหนึ่งที่สอนวิชาประวัติศาสตร์ได้สนุกเหลือเกิน นายประจักษ์ สายวิทย์-วิศวะ จึงได้หันเหทิศทางของตนเองมายังเส้นรัฐศาสตร์

“ต่อให้เจอครูที่แย่ 10 คน แต่ถ้าเจอครูที่ดีสักคน มันเปลี่ยนชีวิตเราได้เลยนะ”

ตัวตนของประจักษ์ในวันนี้ นอกจากจะถูกหล่อหลอมจากครูดีที่ช่วยเปลี่ยนชีวิต ก็ยังมีนักคิด นักวิชาการ คอลัมนิสต์หลายๆ คนที่เขาได้จับมือทำความรู้จัก แลกเปลี่ยนความคิด ผ่านถ้อยอักษรที่ร้อยเรียงเป็นบทความบนหน้าหนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์

แต่จุดเปลี่ยนสำคัญของประจักษ์ อยู่ที่เหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ปี 35

พฤษภาทมิฟฬ ปี 2535

พฤษภาทมิฟฬ ปี 2535 | wikipedia

ในตอนนั้น วัยรุ่นเรียนอยู่ชั้นมัธยม 5 คนนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเขา “กลัว” ในสิ่งที่เห็น แต่เมื่อมีรุ่นพี่พามาเดินดูถนนราชดำเนินหลังเหตุการณ์สงบ ภาพซากปรักหักพัง และร่องรอยของกระสุนตามตึกอาคาร กลับเหมือนเป็นเมล็ดพันธุ์ ทางความคิดที่บ่มเพาะลงไปในตัวประจักษ์

“ผมเชื่อว่าทุกยุคทุกสมัยจะมีเหตุการณ์แบบนี้ ที่หล่อหลอมชีวิตคน ซึ่งก่อนหน้านู้นก็เป็น 14 ตุลา 16 ตุลา มารุ่นผมก็เป็นพฤษภา สำหรับเด็กรุ่นนี้เอาจริง ๆ เขาโตมากับเหตุการณ์ทางการเมืองเยอะมาก ความขัดแย้งการเมืองเสื้อสี รัฐประหาร 2 ครั้ง เหตุการณ์เยอะแยะไปหมด”

เพราะผ่านเหตุการณ์มาจำนวนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นอดีตในรูปประวัติศาสตร์ หรือจะเป็นเหตุการณ์จริงจากยุคของเขาและจากยุคปัจจุบัน สิ่งเหล่านั้นทำให้ประจักษ์เห็นรูปแบบ “ความรุนแรงทางการเมือง” ที่มันดูจะซ้ำรอยอย่างน่าประหลาด

ถ้าถามว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ประจักษ์ก็ชวนเรามองให้เห็นสิ่งที่หลายๆ คนอยากให้ลบลืม แม้มันจะเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยไขประตูไปสู่ทางออกให้การเมืองไทยก็ตาม

สิ่งนั้นคือ “ความจริง”

“คุณค่าของความจริง”

“จะมีคำขวัญฝรั่งอันหนึ่งว่า ‘Never again’ พอเกิดฮอโลคอสต์แล้ว พอเกิดนาซี ฮิตเลอร์ Never again เราจะไม่กลับไปซ้ำรอย ไม่ให้มีเหตุการณ์แบบนี้แล้วนะ ที่รัฐใช้ความรุนแรงกับประชาชน ของไทยเนี่ยมันกลับไปซ้ำรอยบ่อย ๆ Again and again ในแง่นี้มันกำลังบอกเราหรือเปล่าว่า เรายังไม่เคยสรุปบทเรียนเลย แต่ทางออกจะเกิดขึ้นต่อเมื่อเรายอมรับความจริงก่อนนะ”

สำหรับประจักษ์ “ความจริงเป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง”

แต่ในสังคมไทย ความจริงของเหตุการณ์ทางการเมืองหลายๆ ครั้งยังเป็นสิ่งที่พร่าเลือน

“ถามคนในสังคมไทยว่าแบบถึงวันนี้เรารู้ความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ทั้งหมดของ 14 ตุลาหรือยัง? ก็ยัง 6 ตุลา, พฤษภา ปี 35, พฤษภา ปี 53 นี่เอาแค่ 2 เหตุการณ์ใกล้ๆ ก็ได้ พฤษภา ปี 35 กับ พฤษภา ปี 53 มันยังไม่ใช่ประวัติศาสตร์นะ มันคือเราเกิดและเติบโตทัน เอาถึงแค่วันนี้ เรารู้ไหม ว่ามีคนตายจริงๆ กี่คน คนหายหลายครอบครัวเขายังตามหาบุตรหลานเขาอยู่เลยนะ เขายังไม่รู้เลยว่าเสียชีวิตไปแล้วหรือยัง หรือไปอยู่ที่ไหน เพราะงั้นแค่ความจริงมันก็ยังต้องตามหาอยู่เลย”

“คนไทยชอบ Move on?”

ในความคิดของประจักษ์ สังคมไทยยังแบกรับอุปสรรคสำคัญ นั่นคือแนวคิดเรื่อง การค้นหาความจริงในอดีต คือ “การฟื้นฝอยหาตะเข็บ” ซึ่งทำให้พอถึงเวลาต้องจัดการกับอดีต สังคมไทยกลับเปิดโหมด “Move on” หรือ “ลืม” เป็นหลัก โดยที่ยังไม่รู้เลยว่า ข้อผิดพลาดในอดีตมันเกิดจากอะไร

“การ Move on หมายความว่า ไม่มีการตามหาความจริงเลย สมมติผมเป็นผู้มีอำนาจที่มีส่วนสร้างให้เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น ผมชอบเลยเพราะทุกคนลืมอย่างรวดเร็ว ไม่มีใครรู้ด้วยซ้ำว่าผมเป็นคนที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นั้นขึ้น”

อีกสิ่งที่เข้ามากล้ำกรายการเมืองไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ ภาวะโรคระบาดล่าสุดอย่าง “โควิด 19” ซึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เหมือนช่วยตกตะกอนให้ “ความจริง” ในหลายๆ เรื่องโผล่ขึ้นมาให้คนในสังคมไทยได้เห็นชัด

“โรคระบาดที่เปิดเปลือยแผลแห่ง ‘ความจริง’ ”

“สังคมไทยก่อนช่วงที่จะเกิดโควิดอะมันก็ไม่ได้ปกติแล้ว มันมีความผิดปกติหลายอย่าง โควิดมันมาทำให้เราเห็นชัดขึ้นเท่านั้นเอง”

ในมุมมองของประจักษ์ หนึ่งในสิ่งที่รัฐบาลไทยล้มเหลว คือ การเยียวยาผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งความล้มเหลวอันเป็นที่ประจักษ์นี้ ทำให้ความจริงข้อหนึ่งมันชัดขึ้นมา

ความจริงที่ว่า “ระบบราชการเราไม่มีประสิทธิภาพ”

“นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์พูดมา 30 ปี แล้วมั้ง เรื่องความไม่มีประสิทธิภาพในระบบราชการ มันรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ตัวเองสูง ไม่ค่อยไว้ใจประชาชน ไม่ค่อยไว้ใจชุมชนให้มามีบทบาทอะไร เป็นคนหวงอำนาจอยากใช้อำนาจแต่เพียงผู้เดียว”

“โควิดเนี่ยมันมาทำให้สังคมเห็นโดยนักวิชาการไม่ต้องพูดละ ไม่ต้องอธิบายภาษาทางรัฐศาสตร์ด้วยซ้ำ คนจะเห็นเลยว่าระบบราชการเรามีปัญหายังไง ในการที่แบบไม่ประสานงานกันเลย แค่ความร่วมมือกันก็ไม่มีแล้ว”

ประจักษ์คิดว่า หากไม่มีการปฏิรูปตรงนี้ สังคมจะไปต่อลำบากในอนาคต และหากจะถามถึงโลกอนาคตหลังโควิด เขาคิดว่ามันไม่มีสิ่งที่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า

“ผมคิดว่ามันขึ้นอยู่กับว่าเราทำอะไรในวันนี้ สิ่งที่เราทำในวันนี้ต่างหาก มันจะเป็นตัวกำหนดโลกหลังโควิด” ประจักษ์กล่าว

วิกฤติโรคระบาดครั้งใหญ่ได้สร้างทางแพร่งขึ้นให้กับประเทศไทยและกับทั้งโลกใบ ประจักษ์เล่าให้ฟังว่า มีคนเปรียบวิกฤติโควิดนี้กับสงครามโลกครั้งที่ 2 มันอาจจะดีกว่าเดิม หรือแย่กว่าเดิม ขึ้นอยู่กับรัฐจะพามันไปในทิศทางยังไง

โจทย์ที่สำคัญสำหรับประเทศไทยในตอนนี้ จึงไม่ใช่การทำนายว่าการเมืองไทยหลังโควิดจะเป็นยังไง แต่คือ “เราควรจะทำอะไรในวันนี้มากกว่า”

อีกหนึ่ง “ความจริง” ที่ชัดเจนขึ้นในภาวะโรคระบาด คือ ความจริงเกี่ยวกับความ “เหลื่อมล้ำ”

“พอเห็นแต่สถิติตัวเลขคนไม่อินหรอกคนนึกภาพไม่ออกว่า เฮ้ย สังคมไทยที่บอกว่าเป็นสังคมเหลื่อมล้ำมันเป็นยังไง แต่พอโควิดมากระแทกปุ๊บ เรายังเห็นภาพที่คนไปรอรับ ไปแย่งชิงเอาอาหารกันอยู่เลยอะ อันนี้เราเห็นเลยว่าความเหลื่อมล้ำเป็นยังไง”

ในความเห็นของประจักษ์ ปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้ มันต้องแก้จนกว่าคนจะสามารถยืนบนลำแข้งของตัวเองได้ แม้จะต้องเจอกับวิกฤติถัดไปก็ตาม เพราะในความคิดของเขา ไม่มีใครอยากตกอยู่ในสภาพรอรับความช่วยเหลือจากคนอื่น ทุกคนอยากช่วยเหลือตัวเองได้

“หากเลือกได้ บนทางเส้นทางแพร่ง”

และถ้าหากประจักษ์สามารถเลือกทางให้กับประเทศไทยซึ่งกำลังอยู่บนทางแพร่งสายสำคัญนี้ได้ เขาหวังอยากให้เราสามารถเดินไปยังเส้นทางที่จะได้พบเจอกับ “Inclusive Economy” เศรษฐกิจที่เติบโตแต่ว่ามีการกระจายรายได้ที่ดี ไม่เหลื่อมล้ำกันมากไประหว่างคนรวยกับจน และ “Inclusive Politics” การเมืองที่ไม่แบ่งแยก มีพื้นที่ให้กับทุกคนได้รู้สึกตัวเองมีสิทธิมีเสียง

เมื่อพูดถึงการเปลี่ยนแปลง หลายๆ คนคิดฝากความหวังให้กับคนรุ่นใหม่ ให้เป็นหัวหอกนำทัพไปสู่การเปลี่ยนแปลง แต่ประจักษ์มีแง่มุมอีกแบบ ที่ว่าเราไม่สามารถยกทุกอย่างให้เป็นการต่อสู้ของนักศึกษาไปเสียทั้งหมด

“เราไปฝากความหวังไว้ที่เด็ก ที่นักศึกษาที่เป็นปัจเจกไม่ได้ เพราะว่าระบบมันใหญ่โตมาก มันอาจจะไม่แฟร์นะเพราะว่าเรากำลังโยนเด็กเข้าไปต่อสู้กับอะไรที่มันยากมาก ฉะนั้น สิ่งที่เราต้องทำด้วยคือให้สังคมตระหนักว่าตัวระบบเองเนี่ยแหละที่มีปัญหา เมื่อถึงเวลาที่ต้องปฏิรูป สังคมต้องช่วยกดดันให้ ‘ระบบ’ มันปฏิรูป…”

“ภารกิจสำคัญของคนทุกคน”

“การเมืองไทย” คำนี้ทำให้คนรุ่นใหม่หลายคนสิ้นหวังกับแผ่นดินเกิดของตัวเอง นั่นจึงยิ่งทำให้ประจักษ์มองเห็น “ภารกิจ” สำคัญของเขากับคนอื่นๆ ไม่ว่าจะในฐานะอาจารย์ สื่อ หรืออะไรก็ตาม คือการต้อง “รื้อฟื้นความหวังให้กับเด็ก” เพราะเขาคิดว่า เด็กเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ

“เพราะเป็นสิ่งมีชีวิต จึงยังมีความหวัง”

ประจักษ์เปรียบประชาธิปไตยไทยเป็นเหมือนสิ่งมีชีวิต และแม้เขาจะมองว่า ในตอนนี้ มันคือสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในภาวะโคม่ามาหลายปีแล้ว แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เขาหมดหวัง

“ผมไม่ได้หมดความหวังนะ เพราะผมเห็นคนรุ่นใหม่กำลังมาปั๊มหัวใจให้ประชาธิปไตยไทย แล้วถ้ามันช่วยกันปั๊มกันแรงพออะ มันก็จะพลิกฟื้นจากภาวะโคม่าขึ้นมาได้ ผมเลยชอบบอกว่า ‘ประชาธิปไตยเป็นสิ่งมีชีวิต’ คือมันเกิด แก่ เจ็บ ตายได้ ของเราก็ตายไปหลายครั้ง แต่ว่ามันก็เกิดใหม่ได้ ทุกการตายมันมีการเกิดใหม่ และคนที่มาทำให้มันเกิดใหม่ ก็คือพวกคนหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่เนี่ยแหละ ที่ลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง ไม่นิ่งเฉยดูดาย และรู้สึกว่าการเมืองมันก็เป็นเรื่องใกล้ตัวกับเรา”

“หัวใจของประชาธิปไตยยังต้องคงอยู่”

สุดท้ายแล้ว ประจักษ์มอง “สิ่งมีชีวิต” สิ่งนี้ ที่เขาได้พร่ำเรียนพร่ำสอนมาค่อนมาชีวิต ว่ามันเป็นสิ่งที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบได้ไปตามแต่ละความเหมาะสมของประเทศ แต่วลีที่ว่า “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ก็ไม่ควรเป็นข้ออ้างให้ผู้มีอำนาจได้ทะลายหัวใจสำคัญของสิ่งมีชีวิตที่เรียก “ประชาธิปไตย” ไปอย่างง่ายๆ

“ประชาธิปไตยในแง่รูปแบบมันไม่ต้องมีแบบเดียว แต่คุณค่าสากลต้องมีเหมือนกัน ก็คือ เรื่องความเสมอภาค ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย และประกันสิทธิเสรีภาพของผู้คน…”

ท้ายที่สุดแล้ว ประจักษ์ก็ได้ฝากคำถามสำคัญให้แก่ใครก็ตาม ที่อาจสงสัยว่า ในตอนนี้…เรากำลังดำรงอยู่ร่วมกับประชาธิปไตยจริงๆ หรือไม่

“ในที่สุดแล้วเราต้องถามว่า เรากำหนดชะตาชีวิตตัวเองได้ไหมล่ะ? ถ้าเรากำหนดชะตาชีวิตตัวเองได้ แสดงว่าเราอยู่ในสังคมประชาธิปไตย”

แต่ถ้าคำตอบคือ ไม่ ประจักษ์คิดว่าก็คงต้องเป็นหน้าที่ของเรา ที่ต้อง “รู้เท่าทัน”