2 Min

รู้ไหมในเอเชียก็มี ‘เสือชีตาห์’ และตอนนี้เหลือเพียง 12 ตัว เท่านั้น

2 Min
2155 Views
18 Jan 2022

cheetahs l Tehran Times

ในความทรงจำของใครหลายคนคงคุ้นชินว่า ‘เสือชีตาห์’ คือนักล่าเจ้าลมกรดที่อาศัยอยู่ในผืนป่าแอฟริกา แต่ทราบหรือไม่ว่า จริงๆ แล้วเสือชีตาห์เองก็เป็นหนึ่งในสัตว์ท้องถิ่นของทวีปเอเชียด้วยเหมือนกัน

รูปร่างหน้าตานั้นแทบไม่ต่างกันมากนัก มีจุดสังเกตเพียงแค่ว่าเสือทางฝั่งเอเชียเมื่อโตเต็มวัยจะตัวเล็กกว่าทางฝั่งแอฟริกาอยู่หน่อย กระโหลกเล็กกว่า ขาสั้นกว่า แต่ก็มีขนที่หนากว่า

หากจะกล่าวกันถึงเรื่องของเสือชีตาห์ในป่าเอเชีย หรือชีตาห์สายพันธุ์เอเชีย (Asiatic cheetah) ก็คงต้องสืบสาวท้าวความย้อนหลังไปเกือบร้อยปี สมัยที่พวกมันยังวิ่งไล่ล่าสัตว์อยู่ทั่วอนุทวีปอินเดีย รัสเซีย และตะวันออกกลาง ก่อนจะเป็นฝ่ายถูกคนไล่ล่าทั้งในฐานะเกมกีฬา และโดนฆ่าในฐานะศัตรูตามธรรมชาติ (คู่อาฆาต) ของคนทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ไปเสียแทน จนค่อยๆ หมดไปจากประเทศต่างๆ ในช่วงยุค 1940 – 1970 ตลอดจนการล่าสัตว์พวกกวางขนาดเล็ก พวกเนื้อกวาง กระต่ายป่า ก็เป็นอีกแรงผลักดันที่ทำให้สัตว์ชนิดนี้หาอยู่หากินกันอย่างอัตคัดขัดสน

เช่นเดียวกับเรื่องชีวิตของผู้คนในตะวันออกกลางที่ยุคหนึ่งต้องอยู่กับภัยสงครามและการปฏิวัติทั้งภายในและนอกประเทศ ทำให้เรื่องราวการอนุรักษ์สัตว์ป่าของประเทศที่มีเสือดำเนินไปอย่างล่าช้า พอๆ กับคุณภาพชีวิตของคนที่ไม่ได้รับการดูแล การเข้าป่า (หรือท่องทะเลทราย) ล่าเสือล่ากวางเพื่อฆ่าความหิวจึงเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้

ด้วยสิ่งที่ว่ามาคือสาเหตุทำให้เสือชีตาห์แห่งเอเชียค่อยๆ ลดจำนวนลง และหลงเหลือสายพันธุ์นี้อยู่ในอิหร่านเพียงประเทศเดียวในปัจจุบัน

และด้วยสถานะที่เหลืออยู่ ก็ดูไม่ค่อยจะสู้ดีสักเท่าไหร่ ออกไปทางจวนเจียนจะสูญพันธุ์อยู่รอมร่อ

cheetahs l Frans Lanting/FLPA

จากปี 2010 มีอยู่ 100 ตัว ต่อมาในปี 2013 เหลือ 84 ตัว จากนั้นลดลงเหลือ 43 ตัวในปี 2017 และตามข้อมูลล่าสุดของกระทรวงสิ่งแวดล้อมอิหร่านระบุว่า ตอนนี้มีชีตาห์สายพันธุ์เอเชียเหลืออยู่เพียง 12 ตัว แถมในจำนวนนี้เป็นตัวผู้เสีย 9 ส่วนตัวเมียเหลือแค่ 3

ในทศวรรษปัจจุบันที่เราคุ้นชินกับคำว่าอนุรักษ์ ความหลากหลายทางชีวภาพ และเหตุผลต่างๆ นานา ที่พอจะห้ามปรามไม่ให้คนล่าสัตว์เอาไว้ได้ กลับกลายเป็นว่าชีวิตของพวกมันต้องกลายเป็นเหยื่อของการพัฒนาไปเสียแทน

การพัฒนาประเทศ ทั้งการทำเหมืองต่างๆ นานา ผลักดันให้ที่อยู่อาศัยของเสือลดน้อยลง ขณะที่การเพิ่มถนนหนทางในถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าก็ทำให้พวกมันถูกรถชนตายเป็นจำนวนมาก

ต่อให้วิ่งเร็ว ก็ยังไม่ไวต่อการเอาตัวรอดจากอุบัติเหตุ และวิกฤตการสูญพันธุ์ 

และข่าวเศร้าก็ยังไม่จบเพียงเท่านี้ ก่อนหน้านี้หน่วยงานสิ่งแวดล้อมของอิหร่านได้พยายามอย่างยิ่งที่จะฟื้นฟูจำนวนประชากรให้กลับคืนมา หนึ่งในโครงการที่เป็นความหวังคือการเพาะเลี้ยงเสือชีตาห์ขึ้นในกรง หรือก็คือการจับคู่เสือมาผสมพันธุ์กันในที่ปลอดภัย แต่สุดท้ายก็ต้องพบความล้มเหลวทั้งวิธีปล่อยให้ผสมพันธุ์กันตามธรรมชาติหรือทั้งแบบผสมเทียม เพราะตัวเมียเริ่มมีอายุมาก

หรืออีกหนึ่งความพยายามโดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบัวโนสไอเรส ที่ทดลองโคลนนิ่งชีตาห์ขึ้นมา แต่ก็ล้มเหลวไม่ต่างกัน

ณ ตอนนี้ยังไม่มีรายงานว่าหน่วยงานสิ่งแวดล้อมของประเทศจะดำเนินการเพื่อฟื้นฟูจำนวนเสือชีตาห์อย่างไร นอกเสียจากเรื่องราวของความพยายามปกป้องถิ่นที่อยู่อาศัยให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น แต่ก็ไม่มีอะไรมาการันตีว่าจะรอด

ดังที่กล่าวไป วันนี้เพศเมียเหลือเพียงสามตัว โอกาสขยายพันธุ์จึงเป็นไปได้ต่ำ 

ส่วนการจับเสือมาขังกรงแม้จะช่วยรักษาชีวิตให้อยู่รอดนานขึ้น แต่ก็มีแต่ทำให้เสืออ่อนแอลง ถึงจะเพิ่มจำนวนขึ้นได้ แต่หากเอาเสือไปอยู่ป่าไม่ได้ มันก็แทบไม่มีความหมายใด

บางทีอนาคตของพวกมันจึงเหลือเพียงฉากการนับตัวเลขถอยหลังเพียงเท่านั้น

อ้างอิง