2 Min

จริงหรือไม่…คนรุ่นใหม่ฉลาดกว่าคนรุ่นก่อน

2 Min
443 Views
11 Feb 2021

งานวิจัยพบว่า ค่าระดับเชาวน์ปัญญาหรือที่เรียกกันว่า ‘ไอคิว’ (Intelligence Quotient) โดยเฉลี่ยของคนรุ่นใหม่สูงขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา

Michael Woodley นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยอูเมโอ ประเทศสวีเดน กล่าวว่า ไม่ได้เพียงความฉลาดเท่านั้นที่จะน้อยลงหรือเพิ่มขึ้น เพราะความฉลาดสามารถเปลี่ยนแปลงได้หลายวิธี

Michael Woodley | isg-one.com

ในยุคสมัยใหม่ นอกจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแล้ว องค์ความรู้ด้านต่างๆ ยังได้รับพัฒนามากขึ้นอีกด้วย เช่น การแพทย์ที่มีการปลูกถ่ายหัวใจ หรือวิธีการรักษาโรคต่างๆ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่เรียกว่า ‘เอฟเฟกต์ฟลินน์’ คือ การค้นพบว่าคะแนนในการทดสอบไอคิวของคนรุ่นใหม่ทั่วโลกสามารถทำคะแนนจากการทดสอบแบบเก่าได้สูงกว่าผู้ทดสอบในอดีต

เอฟเฟกต์ฟลินน์ ตั้งชื่อโดยอ้างอิงกับ James Flynn นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยโอทาโก ประเทศนิวซีแลนด์ ที่ศึกษาการทดสอบเชาวน์ปัญญา แล้วค้นพบว่า การศึกษาสมัยใหม่ไม่เน้นการท่องจำ แต่เน้นคิดหาเหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์ และการใช้ตรรกะเชื่อมโยงสิ่งที่เป็นนามธรรม ทำให้คนสมัยนี้สามารถทำข้อสอบวัดเชาวน์ปัญญาได้ดีขึ้น

James Flynn | scottbarrykaufman.com

อีกทั้งการศึกษาสมัยใหม่ทำให้รับมือกับแรงกดดันในการสอบ และมีความฉลาดเลือกใช้เทคนิคในการทำข้อสอบแบบต่างๆ มากขึ้นด้วย

รวมถึงปัจจัยอื่นๆ อย่างโภชนาการทางอาหารมีคุณค่าขึ้น และการสื่อสารกันด้วยภาพ หรือสัญลักษณ์ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ก็ช่วยให้ผู้คนมีไอคิวสูงขึ้นได้เช่นกัน เพราะสามารถช่วยกระตุ้นความสามารถของสมองในการคิดวิเคราะห์

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมก็มีผลต่อความฉลาดไม่น้อย เช่น การที่ผู้คนต้องทำงานที่ใช้การคิดวิเคราะห์มากขึ้น หรือครอบครัวที่มีขนาดเล็กลง ทำให้เด็กได้พูดคุยและเรียนรู้จากผู้ใหญ่มากขึ้น และส่งผลต่อไอคิวที่สูงขึ้น

การศึกษาเรื่องนี้มีข้อน่าสังเกตที่น่าสนใจคือ กลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาเช่น ประเทศทางแถบสแกนดิเนเวีย กลับมีแนวโน้มการเพิ่มของไอคิวที่ชะลอตัวลง

ทั้งนี้ นักวิจัยการแพทย์มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดได้ตีพิมพ์บทความ 2 ชิ้นในวารสาร Trends in Genetics โดยแสดงให้เห็นว่า จริงๆ มนุษย์มีความฉลาดสูงที่สุดในช่วง 2,000 – 6,000 ปีก่อน

โดยการยืนยันว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับยีนของมนุษย์

และแสดงให้เห็นว่าความฉลาดของมนุษย์นั้นเปราะบางกว่าที่คิด ทำให้เกิดข้อถกเถียงกันอยู่ว่า ยีนมีความสำคัญต่อวิวัฒนาการของมนุษย์มาจนทุกวันนี้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ยังคงเป็นเรื่องที่โต้แย้งกันอยู่ และไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า คนในยุคปัจจุบันจะฉลาดกว่าคนรุ่นก่อนหรือไม่ เพราะไหนจะเรื่องของสภาพแวดล้อมในการใช้ชีวิตที่ไม่เหมือนกัน ทำให้ทักษะในการคิดก็แตกต่างกันด้วย

อ้างอิง: