2 Min

รู้จัก “ฟองน้ำทะเล” สิ่งมีชีวิตที่อายุยืนกว่าประวัติศาสตร์มนุษย์

2 Min
7248 Views
14 Dec 2020

“ฟองน้ำทะเล” ไม่ใช่ก้อนหิน แต่เป็นก้อนสิ่งมีชีวิตที่อายุยืนยิ่งกว่าประวัติศาสตร์มนุษย์ เพราะฟองน้ำบางชนิดสามารถอายุยืนได้ถึงหมื่นปี!

อันที่จริงแล้ววิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถค้นหาอายุขัยที่แท้จริงของฟองน้ำได้ ปัจจุบันฟองน้ำในทะเลหนาวเหน็บของแอนตาร์กติกาพันธุ์

ฟองน้ำ Anoxycalyx joubini l atlasobscura

Anoxycalyx joubini สีขาวก้อนมหึมา ครองตำแหน่งสัตว์ที่อายุยืนที่สุดในโลก (ที่ยังมีชีวิตอยู่) ด้วยอายุถึง 15,000 ปี ทั้งนี้ อายุของฟองน้ำขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ อุณหภูมิ ความลึกของน้ำ ซึ่งมันอาจมีชีวิตในหลักร้อยจนถึงหลักพันปี

ในปี 2015 การศึกษาฟองน้ำที่ตีพิมพ์ในวารสาร Aging Research Reviews ระบุว่าฟองน้ำทะเลน้ำลึกสายพันธุ์ Monorhaphis Chuni สามารถอยู่ได้ถึง 11,000 ปี พูดให้เห็นภาพ เอาเป็นว่าในตอนที่ฟองน้ำก้อนนี้เกิด มนุษย์ยังวิ่งอยู่ข้างช้างแมมมอธ

ฟองน้ำทะเล l flinders

แม้ว่าฟองน้ำจะหน้าตาเหมือนก้อนหิน อายุยืนจนน่าสงสัยว่าเป็นพืช แต่ความจริงแล้วมันเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังชนิดหนึ่งในไฟลัม Porifera ที่ส่งต่อสปีชีส์คงกระพันมาราว 600 ล้านปี โดยแยกย่อยสายพันธุ์ไปอีกมากกว่า 8,550 สปีชีส์ที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งแต่ละชนิดนั้นจะมีรูปร่างแตกต่างกันออกไป

แม้จะเป็นสิ่งมีชีวิตโบราณ แต่ฟองน้ำทะเลเป็นสัตว์หลายเซลล์ชนิดแรกๆ ที่เซลล์แต่ละเซลล์ทำหน้าที่แยกกันโดยสิ้นเชิง เช่น เซลล์ที่รับหน้าที่กินก็จะกินอย่างเดียว เซลล์ที่รับหน้าที่สืบพันธุ์ก็จะสืบพันธุ์อย่างเดียว เซลล์ที่ขับถ่ายก็จะขับถ่ายเพียงอย่างเดียว ซึ่งความอัศจรรย์ของฟองน้ำคือเซลล์ (ที่มีหน้าที่แยกกันสิ้นเชิง) นั้นสามารถเปลี่ยนหน้าที่เซลล์ได้ตลอดเวลา กล่าวคือถ้าวันนี้เซลล์ขับถ่ายเบื่องานก็เปลี่ยนไปเป็นเซลล์ย่อยอาหารได้ด้วย

ร่างกายฟองน้ำมีลักษณะอยู่ด้วยกันเป็นโคโลนี คือเกาะกลุ่มร่วมกันเป็นชุมชนขนาดใหญ่และสร้างโครงสร้างที่แข็งแรงเพื่อรองรับการกรองน้ำปริมาณมหาศาลในแต่ละวัน โดยที่ผิวจะมีลักษณะเป็น “รูพรุน” เหมือนกับฟองน้ำล้างจาน โดยที่รูเหล่านั้นจะรับหน้าที่เป็นทุกอย่างให้กับฟองน้ำ ตั้งแต่กินอาหาร สืบพันธุ์ ขับถ่าย โดยที่ฟองน้ำรับสารอาหารจากการ “กรอง” น้ำที่ไหลผ่านเข้ามาและจับแบคทีเรียขนาดเล็กหรือแพลงก์ตอนกิน

แม้ว่าจะเป็นสัตว์หลายเซลล์ ไม่มีเนื้อเยื่อ ไม่มีอวัยวะ และที่สำคัญคือมันไม่มี “เซลล์ประสาท” ดังนั้นฟองน้ำทะเลจึงใช้ชีวิตแบบ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่รับรส ไม่สัมผัส และไม่มีความรู้สึกเจ็บปวด

แต่การที่มันไม่มีความเจ็บปวด ไม่ได้หมายความว่ามันไม่สร้างความเจ็บปวดให้กับคนอื่น

นักวิทยาศาสตร์สงสัยว่าทำไมฟองน้ำที่อยู่นิ่งๆ เฉยๆ จึงรอดพ้นจากการโดนกินโดยสัตว์น้ำมาได้ จนพบว่าฟองน้ำนั้นมีสารเคมีบางชนิดที่เรียกว่า Marine Natural Products ช่วยป้องกันตัวเอง แต่ก็มีสัตว์บางชนิดที่กินมันเข้าไปแบบไม่รู้สึกรู้สา เช่น เต่า ดาวทะเล และทากทะเลที่ไม่ใช่แค่กินได้ แต่ยังสามารถสะสมเอาสารพิษนั้นมาป้องกันตัวเองต่อได้ด้วย

ส่วนมนุษย์ถ้าจับที่ฟองน้ำทะเลตรงๆ อาจเกิดความระคายเคืองตั้งแต่คัน เป็นผื่นแดง บางชนิดอาจถึงขั้นทำให้รู้สึกไหม้ เหมือนแสบร้อนได้เลย

ไม่ใช่เพียงแค่ความเจ็บปวดทางตรง ฟองน้ำทะเลยังมีบทบาทที่สำคัญมากกับระบบนิเวศ โดยเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำตัวอื่นๆ เช่น กุ้ง ปู ไส้เดือนทะเล และปลาอื่นๆ เป็นเหมือนระบบนิเวศขนาดย่อยร่วมกับปะการัง แต่ปัจจุบันจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แม้เราจะไม่เห็นฟองน้ำทะเลฟอกขาวเช่นเดียวกับปะการัง แต่มลภาวะต่างๆ อุณหภูมิของน้ำและการประมงก็ทำให้ประชากรฟองน้ำทะเลลงจำนวนลง

อ้างอิง: