พยาธิ-แบคทีเรียก็มีหัวใจ นักสิ่งแวดล้อมเซ็ง ‘อิโมจิ’ หมวดสิ่งแวดล้อม ยังขาดความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้การสื่อสารยาก คนขาดความเข้าใจ
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นสังคมให้ความสำคัญเรื่องความหลากหลายกันในทุกแวดวง ไม่เว้นกระทั่งเครื่องมือสื่อสารเล็กๆ อย่าง ‘อิโมจิ’ ก็ยังพยายามเพิ่มสัญลักษณ์เซ็ตใหม่ๆ เข้ามาทุกปี ทั้งเพิ่มเฉดสีผิว อาชีพ หรือกระทั่งอิโมจิผู้พิการทางด้านต่างๆ
แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า แล้วในเรื่องทางสิ่งแวดล้อมล่ะ ทางผู้พัฒนาอิโมจิได้ให้ความสำคัญกับสิ่งนี้บ้างหรือยัง เพราะประเด็นเรื่อง ‘ความหลากหลายทางชีวภาพ’ ก็เป็นสิ่งที่นักสิ่งแวดล้อมพยายามพูดและผลักดันกันมาโดยตลอด ไม่น้อยไปกว่าความหลากหลายทางด้านอื่นๆ เช่นกัน
โดยประเด็นนี้เกิดขึ้นเมื่อนักวิจัยผู้หนึ่งได้คร่ำครวญกับเพื่อนร่วมวงการว่า ถ้าหากคุณกำลังอนุรักษ์วาฬ คุณก็แค่ใช้อิโมจิ 🐳 บอกใครก็ได้ สื่อสารได้ง่ายๆ แต่ตัวเขาทำวิจัยเรื่องเชื้อราในน้ำ ถ้าจะสื่อสารก็ต้องอธิบายอย่างยุ่งยากว่ามันคืออะไร และต่างจากเชื้อราบนดินอย่างไร เพราะมันไม่มีอะไรที่ใช้สื่อสารได้ง่ายๆ แบบสัญลักษณ์อิโมจิอื่นๆ
และจากบทสนทนาเล็กๆ ก็นำมาสู่การวิจัยกันอย่างจริงจัง มีเอกสารการศึกษาตีพิมพ์ออกมาเรียบร้อย โดยเนื้อหาระบุว่า ชุดอิโมจิในปัจจุบันยังไม่แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพที่ถูกต้อง ซึ่งความหลากหลายในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงสัตว์หรือต้นไม้ใบไม้เพียงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพวกพยาธิ เชื้อรา และแบคทีเรียต่างๆ ด้วย
งานวิจัยยกตัวอย่างว่า บนโลกใบนี้มีสัตว์จำพวกขาปล้อง เช่น กิ้งกือ ตะขาบ แมงมุม มด ปลวก มากกว่าล้านชนิด แต่มีแสดงในอิโมจิแค่ 16 เปอร์เซ็นต์ ส่วนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยที่มีจำนวนชนิดน้อยกว่าเป็นร้อยเท่ากลับมีสัดส่วนของอิโมจิมากกว่า
รวมถึงยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า ‘ไม่มี’ อิโมจิที่เป็นตัวแทนของแพลทีเฮลมินธิส (Platyhelminths) เช่น พยาธิตัวแบน รวมถึงพยาธิตัวตืด หรือไส้เดือนฝอย แม้ว่าโลกนี้จะมีแพลทีเฮลมินธิสมากกว่า 20,000 สายพันธุ์ และไส้เดือนฝอยเกือบ 20,000 สายพันธุ์ก็ตาม
ในภาพรวมปัจจุบัน มีอิโมจิที่เป็นตัวแทนของสิ่งมีชีวิตที่แตกต่างกัน 112 ชนิด ได้แก่ สัตว์ 92 ชนิด พืช 16 ชนิด เชื้อรา 1 ชนิด และจุลินทรีย์ 1 ชนิด
ส่วนสาเหตุที่นักสิ่งแวดล้อมออกมาสื่อสารในประเด็นนี้ก็เพราะในทางสิ่งแวดล้อม เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพกำลังตกอยู่ในสถานะวิกฤต สิ่งมีชีวิตต่างๆ กำลังค่อยๆ ลดหายตายจากไป เรากำลังอยู่ในนาทีสุดท้ายก่อนเข้าสู่สถานะที่จะแก้ไขอะไรไม่ได้อีกแล้ว
และมันก็เป็นเวลาอันสมควรที่สุด ที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหา โดยอย่างน้อยๆ แค่สามารถเพิ่มบทสนทนาบนโลกออนไลน์ได้ก็ยังดี ซึ่งคนทำวิจัยให้ความเห็นว่า การได้พูดถึงสิ่งมีชีวิตที่ถูกละเลยหรือใกล้สูญพันธุ์ ย่อมมีประโยชน์มากกว่าการกล่าวถึงสัตว์ที่มีสถานะทางประชากรที่มั่นคงอยู่แล้ว ซึ่งมันก็อาจนำไปสู่ความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพเพิ่มมากขึ้นด้วย
อ้างอิง
- Nature and animal emojis don’t accurately represent natural biodiversity https://shorturl.asia/5crx7
- Fungi and flatworms? Scientists call for greater emoji biodiversity https://shorturl.asia/L2XDE