3 Min

ไม่ได้ผูกขาด แต่มีอำนาจเหนือตลาด? ทำไมกรณี AIS ซื้ออินเทอร์เน็ตบ้าน 3BB อาจทำให้ผู้บริโภคเสี่ยงเจอ ‘ค่าบริการพุ่ง’

3 Min
1317 Views
05 Jul 2022

Select Paragraph To Read

  • อยากรู้แต่ไม่มีเวลา อ่านแค่ตรงนี้พอ
  • กรณีศึกษา True-DTAC และ CP-Lotus หรือการแข่งขันไม่มีจริง?

อยากรู้แต่ไม่มีเวลา อ่านแค่ตรงนี้พอ

การที่บริษัทด้านโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่อย่าง AIS ประกาศซื้อกิจการอินเทอร์เน็ตบ้าน 3BB ทำให้เกิดข้อสงสัยในหมู่ผู้บริโภคบางส่วนว่านี่คือการผูกขาดหรือมีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่ เพราะอินเทอร์เน็ตบ้านที่เคยมีให้บริการจะลดลงไปอีกราย เนื่องจาก AIS กับ 3BB จะถูกควบรวมอย่างเป็นทางการภายในปี 2566 จึงมีคำถามเพิ่มเติมว่าในอนาคตค่าบริการจะสูงขึ้นหรือไม่ เนื่องจากการแข่งขันที่เกี่ยวกับค่าบริการจะมีผู้เล่นลดลงไป 1 เจ้า เพราะก่อนหน้านี้ก็มีกรณีค่ายสัญญาณโทรศัพท์มือถือ True ควบรวม DTAC ซึ่งมีผู้ประเมินว่าจะทำให้ค่าบริการสูงขึ้นอีกหลายเปอร์เซ็นต์

ที่ผ่านมา ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านในไทยประกอบด้วย 5 ค่ายหลักๆ ประกอบด้วย 3BB, AIS Fibre, True Online, TOT ที่ควบรวมกับ CAT ไปแล้ว จนกระทั่งวันที่ 3 กรกฎาคม 2565 บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ที่เป็นรายใหญ่ในแวดวงนี้อยู่แล้ว ประกาศลงนามในบันทึกข้อตกลงเข้าซื้อกิจการและหน่วยลงทุนของ 3BB (หรือ TTTBB) มูลค่ากว่า 32,000 ล้านบาท

ความเคลื่อนไหวนี้ถูกมองเป็นการรุกคืบจากรายใหญ่ที่เข้าควบรวมกิจการที่เล็กกว่า แต่จะส่งผลให้ AIS กลายเป็นเจ้าตลาดเหนือกิจการอื่นๆ โดยมีการขออนุญาตจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หลังจากนั้นจะลงนามเพื่อทำธุรกรรมซื้อหุ้นและซื้อหน่วยลงทุนให้เสร็จสมบูรณ์ภายในไตรมาส 1 ของปี 2566

เหตุผลที่ AIS ระบุในประกาศบอกเอาไว้ว่าการลงทุนครั้งนี้จะทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากบริการอินเทอร์เน็ตบ้านที่ครอบคลุมพื้นที่กว้างขึ้น รวดเร็วขึ้น มีคุณภาพดีขึ้น และส่งเสริมการลงทุนไปยังพื้นที่ใหม่ๆ เพื่อให้คนไทยสามารถได้รับบริการอินเทอร์เน็ตอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะพื้นที่ต่างจังหวัดและรอบนอกตัวเมือง

อย่างไรก็ดี การที่อีกไม่นาน 3BB จะเป็นส่วนหนึ่งของ AIS ก็จะทำให้กิจการอินเทอร์เน็ตบ้านในไทยลดลงไป 1 ราย และผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในแพลตฟอร์มต่างๆ ก็ตั้งคำถามว่าการที่ผู้แข่งขันทางธุรกิจลดลงไป 1 รายจะทำให้ผู้บริโภคจะต้องเผชิญกับค่าบริการที่เพิ่มสูงขึ้นหรือไม่ เพราะผู้กำหนดราคาค่าบริการ 2 รายก็กลายเป็นพวกเดียวกันไปเสียแล้ว

กรณีศึกษา True-DTAC และ CP-Lotus หรือการแข่งขันไม่มีจริง?

ในความเป็นจริงแล้ว เวลาที่กิจการต่างๆ มีผู้เล่นหรือผู้ให้บริการหลายเจ้า จะทำให้เกิดการแข่งขันทางธุรกิจ และตัดโอกาสที่กิจการใดกิจการหนึ่งจะผูกขาดทางการค้า ซึ่งผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์จากจุดนี้มากกว่าการไม่มีทางเลือกในตลาดมากนัก

การแข่งขันทางการค้าจำเป็นอย่างไรและเกี่ยวพันกับผู้บริโภคอย่างไร? บทความในเว็บไซต์รัฐสภาและสำนักงานปฏิรูป (สปร.) อ้างถึงหลักทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ชี้ชัดว่าการแข่งขันในตลาดจะนำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากผู้สามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด จะมีต้นทุนที่ต่ำที่สุด ทำให้ได้เปรียบในการแข่งขัน

ถ้าไม่มีการแข่งขันก็อาจจะนำไปสู่การผูกขาดซึ่งในเชิงเศรษฐศาสตร์การเมือง นี่คือบ่อเกิดแห่งความไร้ประสิทธิภาพและการบ่มเพาะการทุจริตคอร์รัปชันเนื่องจากผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องขวนขวายในการแข่งขัน จึงสามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างไม่ต้องประหยัด เนื่องจากสามารถผลักภาระต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังผู้บริโภคซึ่งไม่มีทางเลือกได้โดยการปรับขึ้นราคา

ยิ่งถ้าเทียบกรณีบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ True ควบรวมกับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ซึ่งเป็นกิจการโทรคมนาคมทั้งคู่ แม้ว่านักวิเคราะห์จะมองว่าเป็นเรื่องปกติของธุรกิจหรือเป็นการปรับตัวของผู้ประกอบการโทรคมนาคม แต่ขณะเดียวกันก็มีผู้มองว่านี่คือต้นตอที่อาจทำให้เกิดการผูกขาดทางธุรกิจและลดทางเลือกในการใช้งานของลูกค้า

ผู้ที่คัดค้านแผนควบรวมของ True กับ DTAC รวมถึง สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่มองว่าการควบรวม True กับ DTAC เป็นประโยชน์กับผู้ถือหุ้นแต่ไม่ได้เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค เพราะผู้เล่นในตลาดโทรศัพท์มือถือลดลง ทั้งยังจะส่งผลเสียต่อผู้บริโภคและบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ดีลเลอร์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องอีกหลายๆ ส่วน

ประเด็นนี้ก็เหมือนกับกรณีที่เจ้าของเครือข่ายธุรกิจค้าปลีกอย่าง CP (ที่มีกิจการร้าน 7-11 ทั่วประเทศ) ควบรวมกิจการกับ Tesco Lotus ห้างค้าปลีกเจ้าใหญ้เมื่อปี 2563 และมีการร้องเรียนต่อคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ว่านี่เข้าข่ายการผูกขาดทางธุรกิจหรือไม่ เพราะถือว่าเป็นการรวมธุรกิจกันระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่ 2 เจ้าของประเทศ และมีมูลค่าการรวมธุรกิจสูงมาก

อย่างไรก็ดี คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าระบุว่า กรณี CP-Lotus “ไม่ก่อให้เกิดการผูกขาดแต่ก็มีผลทำให้ผู้ขออนุญาตเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดซึ่งเป็นคำชี้ขาดที่อาจจะค้านสายตาผู้บริโภค แต่ก็ไม่อาจทำอะไรได้มากนัก

จากกรณีที่ว่ามาแล้ว ทำให้การควบรวมของ AIS กับ 3BB ถูกจับตามองเป็นพิเศษ เพราะสุดท้ายแล้วผู้ที่กำหนดเงื่อนไขต่างๆ ในตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านก็ลดลงไป และทางเลือกที่ผู้บริโภคจะใช้บริการก็น้อยลงไปด้วยเช่นกัน

อ้างอิง

  • สำนักงานปฏิรป (สปร.). การปฏิรูปเพื่อลดการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันในเศรษฐกิจไทย. https://bit.ly/3R79jge
  • ฐานเศรษฐกิจ. ชำแหละผลกระทบ“TRUE ควบรวม DTAC” ได้ไม่คุ้มเสีย. https://bit.ly/3Icc6kd
  • Global Compliance News. Antitrust and Competition in Thailand. https://bit.ly/3acny2N
  • Parliament. กฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจน่ารู้ เรื่อง กฎหมายการแข่งขันทางการค้า. https://bit.ly/3aauIVd
  • Isra News. ฉบับเต็ม! คำวินิจฉัยกขค.’ อนุญาตซี.พี.’ รวมเทสโก้ โลตัสมีอำนาจเหนือตลาด แต่ไม่ผูกขาด. https://bit.ly/3yFurTI