คุยกับ ‘อู๋-ชยันต์’ ผู้กำกับ อาทิตย์อัสดง ซีรีส์ที่ฉีกขอบเขตหนังสยองขวัญไทยให้ไปไกลกว่าเดิม
Select Paragraph To Read
- หนังสยองขวัญที่ไม่มีผี?
- ซีรีส์สยองขวัญที่อัดแน่นด้วยประเด็นทางสังคม
- เป็นซีรีส์สยองขวัญ แต่เน้นย้ำว่า ‘คนน่ากลัวกว่าผี’
- ทำไมถึงเลือกประเด็นเหล่านี้?
- ความแตกต่างระหว่างสองช่วงวัย
- สื่อในโลกยุคใหม่ที่ผู้บริโภคมีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทาง
- รูมรณะกับประสบการณ์จากวัยเด็ก
- สิ่งที่มอบให้คนดูคือการตั้งคำถาม ไม่ใช่การสั่งสอน
พอพูดถึงซีรีส์สยองขวัญ คุณคิดถึงอะไรกันบ้าง?
ผี? การหลอกหลอน? การตามแก้แค้น?
แต่จะมีครั้งไหนที่ซีรีส์สยองขวัญที่มีรูปแบบที่ต่างออกไป
และเน้นย้ำเรื่องการนำเสนอประเด็นสังคม?
วันนี้ BrandThink House จะพาทุกคนมาร่วมพูดคุยกับ อู๋-ชยันต์ เล้ายอดตระกูล หนึ่งในผู้กำกับและทีมสร้าง ‘อาทิตย์อัสดง’ ซีรีส์สยองขวัญที่เรียกเสียงฮือฮาไปในปีที่ผ่านมา
โดยซีรีส์เรื่องนี้ฉายผ่านทาง WeTV และนอกเหนือจากความสยองขวัญสั่นประสาทที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว อาทิตย์อัสดง ยังนับว่าเป็นซีรีส์ที่อัดแน่นไปด้วยประเด็นสังคมในหลายมิติมุมมอง
เบื้องลึกเบื้องหลังจะมีความเป็นมาอย่างไร ทำไม อาทิตย์อัสดง ถึงมีความแตกต่างจากซีรีส์สยองขวัญทั่วไป ติดตามได้ในบทความนี้เลย
หนังสยองขวัญที่ไม่มีผี?
ก่อนที่จะไปเจาะลึกในแต่ละประเด็น เราอยากชวนพี่อู๋คุยกันก่อนว่า มุมมองต่อหนังผี และหนังสยองขวัญในบ้านเราเป็นแบบไหน ทำไมถึงเลือกทำซีรีส์สยองขวัญแต่ไม่ได้เน้นการนำเสนอ ‘ผี’
: พอมันเป็นหนังผี หนังสยองขวัญในบ้านเรา คนก็จะรู้สึกว่า ‘หนังผีก็ต้องมีผี’ แต่จริงๆ แล้วคือในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาในโลกของภาพยนตร์ หนังสยองขวัญมีการพัฒนาไปไกลมาก มีส่วนที่เขาเรียกว่า Modern horror cinema มันมักมีการผสมผสานของแนวหนังระหว่างหนังสยองขวัญกับแนวอื่นๆ อย่างเช่นพวก Thriller horror เป็น horror Drama หรือ Drama แล้วก็มาบวกกับ Mysterious ก็มีความเป็นหนังสยองขวัญ คือในโลกภาพยนตร์จริงๆ มันก้าวไปไกลมากแล้ว ในบ้านเราจะเห็นว่าชิ้นงานพวกนี้มันน้อยมาก ทำให้มุมมองคนดูในบ้านเราก็จะคิดว่าพอเป็น ‘หนังผีก็จะต้องมีผี’
: เราอยากที่จะทำความเข้าใจให้ทั้งคนดูและผู้ผลิต ให้หนังสยองขวัญมันมีความหลากหลายขึ้น ในระหว่างทางที่ทำ เราก็พยายามที่จะประนีประนอมบางอย่างว่า ต้องมีฉากที่คนคาดหวังที่จะได้เห็นบ้าง มันต้องมีผี มันต้องมีฉาก Jump Scare บ้าง แต่เราพยายามไม่ใส่เข้าไปเยอะ
: เพราะเรารู้สึกว่าเวลาดูหนังผี ฉากผีจะทำงานได้ครั้งเดียว พอเราดูอีกรอบเราจะรู้ และเราจะไม่กลัวแล้ว ถ้ามันเป็นกราฟ พอเป็นฉากผี กราฟมันจะพุ่งขึ้นมา ละมันจะลงมาอย่างรวดเร็วมาก
: แต่แนวทางของการสร้างบรรยากาศความน่ากลัว แบบอาทิตย์อัสดง ความไม่รู้ จะค่อยๆ ทำให้กราฟไต่ระดับขึ้นไป เราว่ามันติดอยู่กับมันนานเหมือนกัน เคยดูหนังผีแล้วไม่กล้าอาบน้ำ เข้าห้องน้ำคนเดียว เรารู้สึกว่าเวลาเราสระผมเราจะระแวงหลังอยู่ตลอดเวลา มันจะเป็นอะไรคล้ายๆ แบบนั้น เรารู้สึกว่า มันทำงานกว่าการที่จะมาแว๊บเดียวแล้วก็หายไปเลย
ซีรีส์สยองขวัญที่อัดแน่นด้วยประเด็นทางสังคม
นอกจากการเป็นซีรีส์ผี ที่ทันสมัย เป็นหนังสยองขวัญอีกทางเลือก สิ่งที่อาทิตย์อัสดงนำเสนอออกมาได้อย่างโดดเด่นเลยก็คือ ‘เนื้อหา’ ที่เห็นชัดว่าต้องการสื่อสารอะไรบางอย่างต่อสังคม ไม่ใช่แบบผิวเผิน แต่อัดแน่นอยู่ในทุกๆ เรื่อง
: ต้องย้อนกลับไปนิดนึง การชมภาพยนตร์ในประเทศไทย มันถูกพัฒนามาจากมหรสพ ฉะนั้นเวลาคนไทยดูซีรีส์ ดูภาพยนตร์ ก็จะติดเป็นวัฒนธรรม เวลาที่ไปดูหนังแล้วเรารู้สึกว่า มันต้องคลายเครียด มันต้องไม่คิดไรมาก
: แต่ว่าภาพยนตร์เนี่ยถ้าเป็นรากฐานจริงๆ จากต่างประเทศมันไม่ใช่แค่มหรสพ มันเป็นเหมือนสื่อ เหมือนตัวกลาง เป็นการสื่อสารบางอย่าง ซึ่งตัวผมเองผมรู้สึกว่าบ้านเรามีเยอะมากกับหนังที่ดูไปแล้วก็บันเทิง จบไปแล้วก็จบกัน ในเมื่อหนัง มันเป็นการสื่อสารอย่างหนึ่งระหว่างคนทำกับคนดู เราก็อยากสื่อสารนอกจากความบันเทิง ความน่ากลัวสยองขวัญ เราอยากจะใส่ message อะไรที่เราอยากจะพูดอยากจะคุยกับคนดูด้วย
: อย่างในเรื่องอาทิตย์อัสดง ทุกตอนมันก็จะมี message ของมันเอง เราพยายามหยิบยกเรื่องที่มันเกิดขึ้นจริงในสังคม สิ่งที่เราตั้งคำถาม สิ่งที่เราอยากจะให้คนดูรู้สึกอยากจะตั้งคำถามกับมันด้วยใส่เข้ามา
เป็นซีรีส์สยองขวัญ แต่เน้นย้ำว่า ‘คนน่ากลัวกว่าผี’
: อย่างที่เราบอก มันมี message ที่เราต้องการที่จะสื่อสาร ทีนี้มันเป็นเรื่องที่มันเกิดขึ้นจริงในสังคมบ้านเรา ที่มันเกิดขึ้นตามข่าว ไม่ว่าจะเป็นกราดยิงโคราช ไอซ์หีบเหล็ก หรือเรื่องพริตตี้ลัลลาเบล
: เราจะพบว่าจริงๆ แล้วเนี่ย คนน่ากลัวมาก ถามว่าคือผีเนี่ยมันส่งผลอะไรกับชีวิตเรามากเท่าคนหรือเปล่า จะมีส่วนหนึ่งของซีรีส์ที่ตัวละครพูดประมาณว่า ‘มึงรู้ป่าว คนน่ากลัวกว่าผีอีก มันจะแว้งกัดเราเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ผีแม่งทำอะไรก็ง่ายๆ ตรงๆ เราก็รู้อยู่แล้วแม่งมาทำให้เรากลัว แต่คนแม่งไม่สามารถรู้ได้’
: แล้วพอมันเป็นเรื่องของ issue หลายๆ อย่าง เราก็เลยหาเป็นจุดขายของเราว่าจริงๆ แล้วเนี่ย คนน่ากลัวกว่าผี
ทำไมถึงเลือกประเด็นเหล่านี้?
: เรามาเลือกว่าปัญหาอะไรที่มันเกิดขึ้นในปัจจุบัน แล้วเป็นปัญหาจริงๆ แล้วเป็นปัญหาที่โดนมองข้าม และที่สำคัญคือเป็นเรื่องที่เรามองผ่านมันไป เหมือนเราเคยชิน จนเราไม่รู้ถึงอันตรายของมัน ซึ่งเราทำให้สิ่งพวกนี้ มันเป็นเรื่องใหม่ที่เราอยากจะพูด เราจะไม่พูดเรื่องเดิมๆ สังเกตไหมครับว่า ประเด็นของอาทิตย์อัสดงมันค่อนข้างที่จะร่วมสมัย มันเป็นสิ่งที่มันเกิดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจริงๆ เราจะไม่พูดเรื่องทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วหรืออะไร มันถูกพูดมาเยอะมากพอแล้ว
: ฉะนั้นผมเลยโฟกัสในสิ่งที่เราอยากจะยกขึ้นมาให้คนเห็นความสำคัญ สิ่งที่เราคุ้นชินกับมัน มันอันตรายนะ อย่างตอนแรกจริงๆ เนี่ย เรื่อง online dating เนี่ยคือผมเนี่ยรู้สึกว่ามันเป็นปัญหาหลักๆ อย่างหนึ่ง มันเป็นเรื่องของ social connection การโอนเงินให้คนอื่นที่คุณไม่เคยเจอหน้าหรือไม่เคยรู้จักกัน หรือแม้พวกแอปแบบ dating online ซึ่งคนเค้าไปนัดยิ้มกันอะไรแบบนี้ เราก็แบบแล้วคุณมั่นใจในความปลอดภัยนั้นได้แค่ไหน
: ปัญหาเหล่านี้ยังมีอยู่ แต่เราไม่ได้ใส่ใจในอันตรายของมันจริงๆ แล้วผมถามคำนึงว่า ถ้าเกิดสักวันหนึ่งในการที่แบบไปนัดยิ้มในแอพกันแล้วมันเกิดไปเจอฆาตกรหรืออะไรจริงๆ ขึ้นมา มันน่ากลัวมาก
ความแตกต่างระหว่างสองช่วงวัย
: เรื่องที่สอง เรื่องนี้ช่วงที่ออนแอร์จะเป็นช่วงที่เขาประท้วงกัน แล้วเรื่องนี้ค่อนข้างที่จะแบบ sensitive มาก คือเราอยากจะพูดครับว่ามันเป็นปัญหา คนแต่ละรุ่น เขาก็จะมีความคิดของเขาเอง
: โดยที่ถ้าเรายึดแต่ความคิดของเราเองว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง โดยที่เราไม่ฟังความคิดของคนรุ่นอื่นๆ คือผมเชื่อว่ามันไม่มีชุดข้อมูลไหนที่ถูกต้องทั้งหมดในแต่ละรุ่น แต่มันอยู่ที่ว่าเราใส่ใจที่จะคุยกันหาจุดร่วมกันในการทำให้ปัญหา ทำให้สังคมประเทศชาติเดินไปข้างหน้ายังไงจากการทำงานในระหว่างรุ่น
: อีกประเด็นคือ เรื่องสังคมผู้สูงอายุ เราจะเห็นว่า ลดาต้องแอบเอาแม่มาอยู่ที่บ้านที่เธอทำงาน มันสะท้อนหลายอย่างเลยครับว่า สังคมในปัจจุบันเนี่ยคือลูกน้อยลง แล้วก็ลูกเป็นคนที่ต้องแบกภาระของคนในรุ่นพ่อแม่ คือมันแสดงออกในบทพูดเยอะมากเลย ไม่ว่าตอนที่ตัวละครคุยกันว่าแบบ เขาให้เราเกิดมาแล้วเราจะต้องคอยรับผิดชอบชีวิตเขาด้วยใช่ไหม มันถูกแล้วใช่ไหม
: คือผมว่ามันเป็นการตั้งคำถามแล้วก็เป็นการสะกิดให้คนดูคิดดีกว่าว่าจริงๆ แล้วมันเป็นปัญหารอบตัวเราเลย แล้วอีกหน่อยคือกลุ่มผู้สูงอายุมันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วเรามีทางออกที่ดีให้กับสิ่งนั้นแล้วหรือยัง
สื่อในโลกยุคใหม่ที่ผู้บริโภคมีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทาง
: ช่องส่องตาย อันนี้ชัดเจนมากคือเรื่องของ สื่อ เราจะพบว่า ตั้งแต่เหตุกราดยิงโคราชมันเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากๆ แต่ก่อนหน้านั้นมันก็มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นเรื่อยๆ แต่เราก็ไม่ได้สนใจมัน และสิ่งที่สำคัญที่สุด เราทุกคนหรือเปล่าที่ทำให้เกิดสิ่งนี้
: สังเกตไหมว่ามันมีข่าวอะไร คนเข้าไปดูปุป มันก็เป็นการเพิ่มยอด engagement ยอดวิว ยอดไลก์ ยอดแชร์ เรากลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่าจริงๆ แล้วทุกคนมันมีส่วนร่วมที่จะรับผิดชอบสิ่งเหล่านี้หรือเปล่า เพราะมันไม่มีอะไรที่จะมา censor มีเดียออนไลน์ได้แล้ว คือจริยธรรมของคนทำเราไม่รู้ แต่ว่าในส่วนของเราที่เราเป็นคนบริโภคเอง เราคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้ เรามีส่วนที่สนับสนุนให้คนเหล่านี้มันมีที่ทางทำมาหากินแค่ไหน
: เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ตลกร้ายที่สุด ที่เราพยายามเอาเรื่องที่มันซีเรียสมาก มาทำให้มันดูย่อยง่ายที่สุด แล้วก็ตั้งใจทำให้เสียดสีตรงๆ ให้คนดูรู้สึก เราอยากให้เขารู้สึกว่ามันเป็นแบบนี้จริงๆ นะ แล้วเราจะหยุดสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร ในเมื่อเราเห็นอะไรที่มันแบบมันดังขึ้นมาในความที่มันไม่ถูกต้องแต่เราก็เข้าไปดู
รูมรณะกับประสบการณ์จากวัยเด็ก
: ถ้าเราดูผิวเผินมันอาจจะดู cliche นิดนึง ในเรื่องรูมรณะ มันอาจจะเป็นเรื่องแอบถ่าย เรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ แต่จริงๆ แล้ว message พวกนี้มันเป็น message รอง หลักๆ จริงๆ เนี่ยเราพูดถึงเรื่องของการเลี้ยงดู
: ชัยตัวเอกของเรื่องนี้เขามีความหลังในวัยเด็กที่ค่อนข้างไม่สวยงาม
เพราะต้องไปเห็นเหตุการณ์ในการที่พ่อฆ่าแม่ตัวเอง แม่มีชู้ เราเลยมาตั้งคำถามกับมันจริงๆ ก็คือการที่คนหนึ่งคนเติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมที่มันแย่มากๆ
: สิ่งเหล่านี้มันจะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเขาเป็นคนเลวหรือเปล่า ตอนใกล้ๆ จบของเรื่องนี้ ชัยพูดว่า “พวกมึงไม่รู้หรอกว่ากูต้องเจออะไรมาบ้าง” แต่การที่คนเราต้องเจออะไรมาบ้างเนี่ย มันไม่ได้หมายความมีสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะเอาอันนั้นมาทำกับคนอื่น
: ผมเลยรู้สึกว่า เวลาเราเห็นข่าวว่า มีฆาตกรโดนจับติดคุกไป นักข่าวจะบอกว่า เนี่ยเขาเกิดในสลัม พ่อแม่แยกทางกันบ้าง แต่จริงๆ แล้วมันเป็นทางเลือกหรือเปล่า
: มันไม่ใช่ข้ออ้างว่าฉันเกิดมาแบบนี้แล้วฉันจะเป็นคนไม่ดี เพราะสุดท้ายแล้วคนที่ดีจากสังคมตรงนั้นได้มันก็มี ฉะนั้นผมเลยรู้สึกว่าเราเลือกที่จะเป็นคนดีได้ มันไม่เกี่ยวกับเรื่องในอดีตในวัยเด็ก
: กลับกันมันน่าจะเป็นสิ่งที่ผลักดันให้คนที่ประสบมารู้สึกว่าไม่อยากให้คนอื่นต้องมาเจอแบบเรา ถ้าเรามีโอกาสเราก็น่าจะทำสิ่งเหล่านั้นให้มันดีขึ้น จริงๆ แล้ว อันนี้มันน่าจะเป็น message หลักของตอนนี้
: ส่วน ตอนจบมันจะเป็นรื่องของวัฏสงสารมากกว่า เราจะเห็นว่า ตอนหนึ่งเราก็จะพูดถึงการเกิด การเกิดวนลูปไปเรื่อยๆ เรื่องสองพูดถึงการแก่ เรื่องที่สามพูดถึงเรื่องการตาย เรื่องสุดท้ายจะพูดถึงเรื่องความเจ็บปวด ไม่ว่าจะเรื่องของความทรงจำ หรือความเจ็บปวดทางร่างกายอะไรพวกนี้
: เราพยายามล้อไปกับวัฏสงสารในศาสนาพุทธคือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เพราะสุดท้ายแล้วมันก็วนลูปอยู่เท่านี้แหละ ถ้าเราไม่ได้หาทางออกของมันได้ ถ้าจะพูดตามหลักของศาสนา
สิ่งที่มอบให้คนดูคือการตั้งคำถาม ไม่ใช่การสั่งสอน
: ซีรีส์ประเภทนี้จะตกม้าตายอย่างนึงคือเราไปสั่งสอนคนดู เราจะไม่บอกว่าเนี่ยทำผิด ต้องเจอแบบนี้ อย่าทำแบบนี้นะ อันนี้คือผมรู้สึกว่ามันเชย เรื่องนี้มันเคยทำเมื่อ 10-20 ปีแล้ว แล้วคนรุ่นใหม่ เค้ามีความเสรีทางความคิดมากกว่าเดิมเยอะมาก เราอยากให้คนไปคิดต่อ
: แต่เราจะไม่บอกว่ามันถูกมันผิด ผมยกตัวอย่างง่ายๆ เลยครับว่า ไอ้ออฟเนี่ยแม่งทำเหี้ยนู่นนี่นั่น ฆ่าเพื่อน สุดท้ายกลับมาดูที่คอมพิวเตอร์ของมันยอด follow ขึ้นเป็นแสนอะไรงี้
: คือเราแค่จำลองสถานการณ์ แต่เราไม่ได้บอกว่าเนี่ย ไอ้ออฟไปทำคนตาย คนรุมด่า รุมประณาม มีคนมาบอกว่าทำแบบนี้มันผิดนะ อันนี้มันคือการสั่งสอนแล้วไง คนดูจะรู้สึกแบบจะเริ่มต่อต้านในสิ่งที่เราต้องการนำเสนอ ฉะนั้นถ้าตอบคำถามนี้ ผมรู้สึกว่ามันคือสิ่งที่เรานำเสนอ fact กับต้นตอของปัญหา
: แต่ว่าทางออกของปัญหาหรือการไปตัดสินว่าถูกหรือผิดเนี่ย เราจะไม่ไปแตะมันเพราะผมรู้สึกว่าถ้าเกิดเข้าใจปัญหา ผมคิดว่ามันมีอีกเป็นร้อยเป็นพันวิธีของแต่ละคนในการแก้ปัญหาที่ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นเราไม่ได้ฉลาดพอที่จะไปบอกว่าต้องทำแบบนี้นะ พูดง่ายๆ เลยหลีกเลี่ยงการคิดแทน
: ผมรู้สึกว่าเราต้องทำอะไรที่มีแง่มุมใดแง่มุมหนึ่งที่มันไม่มีใครทำมาก่อน มันใหม่ คนดูได้รับอะไรใหม่ๆ จากตรงนั้น มันเป็นนวัตกรรม มันค่อนข้างสำคัญในการทำงานของเราเหมือนกัน
ซีรีส์อาทิตย์อัสดงเป็นหนึ่งในซีรีส์ที่พาเราได้ไปสำรวจพื้นที่ใหม่ๆ ที่ซีรีส์ไทยมันไม่ค่อยไปกัน ซึ่งนอกเหนือจากความสยองขวัญ ตัวผู้เขียนเองก็เชื่อว่าหลายท่านน่าเกิดคำถามกับประเด็นในหลากหลายประเด็น ซีรีส์นี้ไม่ได้มีหน้าที่ตอบคำถามเหล่านั้น แต่ตัวคุณและประสบการณ์ของคุณต่างหากที่จะทำให้การรับชมอาทิตย์อัสดงนั้นสมบูรณ์แบบขึ้น
“เราใช้ความกล้า และความบ้าค่อนข้างมากของทีมงานทุกคน ที่จะพาเราไปสำรวจในที่แห่งนี้ บางที่บางแห่งที่เราพาไปมันอาจจะไม่ใช่ที่ที่สวยงาม แต่สิ่งที่เรารับประกันแน่ๆ คือคุณจะได้ประสบการณ์ภาพยนตร์แบบใหม่ๆที่อาจไม่เคยเจอมาก่อน” – อู๋-ชยันต์ เล้ายอดตระกูล
เรื่องราวของอาทิตย์อัสดงยังไม่ได้หมดลงเพียงเท่านี้ ส่วนตอนหน้าเราจะชวนใครมาคุยประเด็นไหน เตรียมติดตามกันไว้ได้เลย