คุยกับ ‘ตี๋-ก๊อย’ ตากล้องอาทิตย์อัสดง เมื่อการทำงานทุกอย่างส่งผลต่องานภาพทั้งหมด

8 Min
1041 Views
03 Jun 2021

Select Paragraph To Read

  • จุดเริ่มต้นของอาทิตย์อัสดงในมุมคนเบื้องหลัง
  • อุปกรณ์การถ่ายทำระดับหนังฮอลลีวูด กับแนวคิดที่ไม่ประนีประนอม
  • อุปกรณ์ไปสุดทาง แต่ใจคนทำงานก็ต้องไปสุดเหมือนกัน
  • การนำเสนอความขยะแขยงผ่านสายตาของคนถ่าย
  • ไม่ใช่แค่กล้อง เพราะงานทุกอย่างมีผลต่อภาพเกือบหมด
  • ช่วงเวลาที่ยากที่สุด กับการถ่ายทำเรื่องแรกที่ทุกคนเหมือนกำลัง ‘ตั้งไข่’
  • งานภาพที่ชอบของคนที่อยู่เบื้องหลังภาพ
  • สิ่งที่ได้เรียนรู้จากอาทิตย์อัสดง และความแตกต่างของการถ่ายซีรีส์กับโฆษณา
  • สุดท้าย อยากฝากซีรีส์ที่ไม่ได้อยากจะอธิบายอะไรมากนักให้คนดู

หลังจากร่วมพูดคุยกับผู้กำกับกันไปแล้ว วันนี้เราจะชวนทุกคนมาพูดคุยกับอีกหนึ่งฝ่ายสำคัญ กับ ตี๋-อนุพงษ์ โพธิ์สุวรรณ และ ก๊อย-บุณยนุช ไกรทอง สองตากล้องผู้มีส่วนร่วมในการรังสรรค์ซีรีส์อาทิตย์อัสดงที่เราได้รับชม โดยก๊อยเป็นผู้ถ่ายทำในเรื่องที่ 2 ของซีรีส์ ‘เพลงสวดศพแห่งผู้เยาว์วัย’ และตี๋เป็นผู้ถ่ายในเรื่องที่เหลือทั้งหมด 

สำหรับ ‘อาทิตย์อัสดง’ ที่หลายคนชื่นชมในฝั่งงานภาพกันค่อนข้างเยอะ พวกเขาใช้อุปกรณ์อะไร มีมุมมองแบบไหน แล้วทำไมถึงเลือกนำเสนอแบบนั้น เรามาติดตามกันได้ในบทความนี้เลย

หรือหากใครสนใจอยากรับชม ก็สามารถเข้าไปติดตามได้ที่ WeTV

จุดเริ่มต้นของอาทิตย์อัสดงในมุมคนเบื้องหลัง

ตี๋ : ตอนแรกจะยกเลิกไปแล้ว ไม่ทำ หมายถึงตัวเรา เพราะว่าการทำซีรีส์มันกินเวลานานมากเลย แล้วช่วงนั้นงานโฆษณามันก็เยอะ จนพี่อู๋กับพี่ลักญ [ผู้กำกับและ MD BrandThink House] เขาก็มาบอกว่าเป็นพี่ทำ พี่อู๋เขาบอกว่ามันไม่ได้มีโอกาสบ่อยๆ  

: งานมันก็คนละแบบกับโฆษณา ตอนแรกที่มาทำ ยังไม่มีลูกค้า มันอิสระกว่า พอมันอิสระ มันก็เลยเคว้งๆ เหมือนกัน แบบทำแบบนี้คนดูจะดูไหม จะเข้าใจไหม ตอนคุยกับพี่อู๋แรกๆ ก็คิดว่าอย่างนี้จะสนุกปะวะ คือมันไม่มีสูตรสำเร็จ ไม่มีใครบอกพวกเราได้ว่าทำแบบนี้มันจะดีไหม ตอนแรกๆ ก็เลยเหมือนแบบลองอะไรกันเยอะมาก 

: เราทำกับพี่อู๋ตั้งแต่บทยังไม่เสร็จ เราเริ่มตั้งแต่ไปช่วยวาด Story Board กับพี่ปั๊ปที่เป็นคนวาดเลย เรากับพี่อู๋ก็เลยอยู่ด้วยกันหมดตอนนั้น มันก็เลยเหมือนจะสร้างอะไรไปพร้อมๆ กันเลย ภาพก็ดูไปพร้อมๆ กัน เรื่องมุมไรงี้ Story Board ละเอียดเลย นั่งวาดกันเป็นอาทิตย์ 

ก๊อย : พอรู้ว่าต้องมาถ่ายหนึ่งเรื่องของนุชี่ [ผู้กำกับ] ได้อ่านบทแล้วก็รู้สึกว่ามีความสยองขวัญเป็นอย่างมาก พอรู้ว่ามันเป็นหนึ่งใน 1 ใน 4 เรื่องก็เลยมีความกังวลนิดหน่อย ว่าเรื่องเราต้องไปตามสามเรื่องที่เหลือหรือป่าว หรือแต่ละเรื่องก็จะมีคาแรกเตอร์ต่างกันอยู่แล้ว ก็พยายามถามพวกพี่ๆ เขา พอรู้ว่าพี่นุชี่เขาก็มีทิศทางที่เป็นของเขาเอง ก็เลยไม่ต้องอิงกับเรื่องอื่นมาก

อุปกรณ์การถ่ายทำระดับหนังฮอลลีวูด กับแนวคิดที่ไม่ประนีประนอม

ตี๋ :  เรากับพี่อู๋คิดตรงกันอย่างนึง ว่าแบบอยากทำซีรีส์หรือหนังว่าแบบไม่ใช่สื่อการเรียนการสอน ไม่ต้องไปสอนคนดูว่านิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า เราจะทำยังไงก็ได้ให้ไม่สั่งสอนคน เราคิดว่าคนดูบ้านเราฉลาดพอ เพราะฉะนั้นต้องอย่าประนีประนอมทำแบบเต็มที่ไปเลย ไม่ต้องคิดว่าเขาจะแบบไม่เข้าใจไรงี้ ทุกอย่างมันก็เลยเต็มที่ไปหมด ทั้งอาร์ต ทั้งเสียง เมคอัพ ถ่าย และบท คราวนี้มันก็เลยออกมาแบบว่าอยากให้คราฟต์มากๆ อยากใช้ของที่ปกติซีรีส์ทั่วไปเขาคงใช้ไม่ได้ 

: ของที่เราใช้บางอย่างมันแบบถ่ายหนังใหญ่ได้เลย หนังบางเรื่องอาจจะใช้ไม่ถึงขนาดนี้ด้วยซ้ำ เราใช้ ALEXA Mini LF มันเป็น ALEXA ที่เป็นแบบ Full Frame มันก็คือกล้องฮอลลีวูดใช้ถ่ายหนังเลย ซีรีส์หลายๆ เรื่องใน Netflix ก็คือใช้ตัวนี้ เลนส์ใช้ ZEISS Supreme Prime เพราะว่ากล้องมันเป็น Full Frame มันก็เลยต้องเลือกเลนส์ที่แบบ image circle มันครอบคลุมกับเซนเซอร์ Full Frame  บ้านเรามันก็ยังมีไม่ได้เยอะมาก ก็เลยต้องใช้เลนส์ตัวนี้ ซึ่งมันก็ดีมาก ไปทดลองกันหลายรอบ

: ตอนที่ต้องทำซีรีส์เรามันแบบ day for night เยอะ  มันต้องถ่ายแบบกลางวันให้เป็นกลางคืน ก็เลยสร้าง LUT ขึ้นมา เหมือนฟิลเตอร์ใน Instagram เหมือนเป็นสีจำลอง พอเราไปใส่ไปในมอนิเตอร์หรือในกล้อง ผู้กำกับก็จะเห็นสีได้เลย ว่าฉากนี้เราถ่ายกลางวัน แต่เราสร้าง LUT มาย้อมว่า เออถ้าเกิดว่า เราเอาไปย้อมแล้วจะเป็นภาพแบบไหน 

: สร้าง LUT มาสองสามแบบ มันดูได้เลยตอนถ่ายเลย เราก็ซื้อมอนิเตอร์ส่วนตัวมา ซึ่งมันจะใส่ LUT  ได้ แล้วไอ้ LUT นี้มันก็ออกมอนิเตอร์ไปหาพี่อู๋ได้ด้วย สั่งมาจากสิงคโปร์เลย ช่วงนั้นมันยังไม่เข้าบ้านเรา 

อุปกรณ์ไปสุดทาง แต่ใจคนทำงานก็ต้องไปสุดเหมือนกัน

ก๊อย :  เราก็ตามตี๋ ตี๋จะเช่าอะไรพี่ก็ใช้อย่างนั้นแหละ แต่สิ่งที่เพิ่มมาก็คือเลนส์ซูมสำหรับช็อตที่พี่นุชชี่เขาดีไซน์เอาไว้ ซึ่งอันนี้ก็มีความแบบก็เป็นจุดที่ทำให้กังวลเหมือนกัน มันมีเหมือนต้นทุนเพิ่มขึ้นเราก็ต้องจัดการดีๆ 

: แบบวันนี้ต้องใช้อันนี้นะ วันนี้จำเป็นต้องมี ไม่จำเป็นต้องมีใช้วิธีอื่นได้ไหม นอกนั้นก็ปรับตัว ตามของที่มีให้ แต่ว่า เออ ถ้าเราจะใช้อะไรเพิ่มก็แค่แบบแจ้งเขาไว้ อันนี้สำหรับวันนี้นะ อันนี้ไม่ใช้แน่ๆ เรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งนี้แน่ๆ เป็นโทนนี้มากกว่า เหมือนดูก้อนรวมว่าเรามีอะไรในมือบ้างจะบริหารมันยังไงให้มันแบบถูกใจเราที่สุด

ตี๋ : จะเล่าให้ฟังว่าถ้าเป็น budget ซีรีส์บ้านเรา อาจจะใช้กล้องตัวนี้มันไม่ไหว หมายถึงว่าแต่ละคิว มันต้องมาใช้ ราคาจริงๆ เราจ่ายไม่ไหวอยู่แล้ว แต่ว่าฝูงบินเล็ก (ชื่อบริษัทกล้อง) ก็คือคุยกับเขาแล้วก็ถูกคอ นอร์ธที่เป็นเจ้าของฝูงบินเล็ก เขาก็ไม่เคยทำซีรีส์ เหมือนทำซีรีส์เรื่องแรกเขาเหมือนกัน ก็เลยอยากจัดเต็ม เขาก็เลยให้ราคาแบบดีมาก โปรดิวเซอร์ก็แบบแฮปปี้ 

: กล้องหลักเราใช้ ALEXA Mini LF มันเป็น 4k แท้ๆ คือมันผ่าน ความต้องการของการฉาย Netflix หรือว่าผ่านทุกแพลตฟอร์มบนโลก ความต้องการอะไร คือกล้องตัวนี้ได้หมด ผ่านสบายๆ ถ่ายหนังฮอลลีวูดได้เลย 

: แต่เวลาภาพหรืออะไรจะออกมาดีได้ก็ต้องแบบทุกอย่าง Production design Art  หรือ Effect ก็ต้องช่วยกัน คือถ้างบมันมีประมาณนึงต่อให้กล้องมันดีแค่ไหน มันก็มีเพดานอยู่ แต่ว่าโชคดีตรงที่ทีมงานทุกคนเป็นแบบเด็กเนิร์ดเหมือนกันหมด เป็นพวกหมกมุ่นตั้งใจทำงานจริงๆ เหมือนไม่มีใครทำงานแค่เสร็จๆ หรือทำเอาเงิน มันก็เลยออกมาบ้าๆ นิดนึง ในกองมันส์มาก สนุก 

การนำเสนอความขยะแขยงผ่านสายตาของคนถ่าย

ตี๋ : หลักๆ ก็จะเป็น Lighthing กับ Symbolic เล็กๆ น้อยๆ มันจะมีซีนที่ชัยเข้าไปห้องดาวครั้งแรก มันจะมีไฟห้อยๆ ก็เหมือนคุยกับพี่อู๋ไปว่าผมอยากให้มันเดินเข้ามาในห่วง เหมือนดาวแม่งเป็นคนวางกับดัก แล้วหัวชัยแม่งก็เข้ามาในกับดักนั้นแขวนคอพอดี เออมันก็จะมีอะไรแบบนั้นอยู่ในทุกตอน คือมันทำงานร่วมกันแหละ คือถ้าจะให้พระเอกมันเดินเข้าไปในห่วงกลมๆ ได้มันก็ต้องคุยกับทีมอาร์ตว่าพี่ผมอยากได้ไฟที่มันเป็นกลมๆ ก็ต้องไปขอร้องพี่เอส ทีมอาร์ต ว่า ไฟที่แขวนอยู่ในห้องดาวมันเป็นกลมๆ ได้ไหม ก็ต้องคุยกันหมด แต่กับพี่เอสพี่อู๋คุยกันตลอด เพราะว่าทำงานร่วมกัน พี่เอสเขาก็ต้องอาศัยไฟเราช่วยด้วย

: ถ้าอย่างนั้นจะทำยังไงให้มันเป็น Source หลัก เพราะเหมือนเราก็ใช้ไฟที่เป็นพร็อพเป็น source หลักของเรื่องด้วย อย่างซีนนั้น มันdimไม่ได้มันก็จะไปกวนไฟที่เราจัดอื่นๆ มันก็จะไปกวนสี ก็จะคุยกันตลอด ชนิดไฟหรือของที่พี่เอสเอามา ถ้ามันมีแสง ควรเป็นแสงสียังไง มันมีเรื่องของฟริกเกอร์ไฟไรงี้ด้วย เราต้องเลือกชนิดไฟที่มันไม่กระพริบไรงี้เวลาถ่ายอะไรทำนองนั้น

ไม่ใช่แค่กล้อง เพราะงานทุกอย่างมีผลต่อภาพเกือบหมด

ตี๋ : แบบกองถ่ายมันมีหลายตำแหน่ง หลายส่วน ถ้าเราเอางบมาลงกับกล้องกับไฟเราอย่างเดียว ถ้าอาร์ตไม่เหลือเงิน แต่งหน้า ทีมเสื้อผ้าไม่เหลือเงิน มันก็ไม่สวยอยู่ดี เลยคิดว่าทุกอย่างมันมีผลต่อภาพหมดเลย อะไรก็ตามที่มองเห็นด้วยตามันก็เกี่ยวกับทีมกล้องของเรา เพราะฉะนั้นมันก็ต้อง balance ก็เอาประมาณนึง 

: เราไม่รู้ตากล้องคนอื่นทำแบบไหน แต่เราจัดการงบได้เลย คือเราคิดว่างบมันสำคัญกับคนอื่นเหมือนกัน เพราะสุดท้ายมันมีผลกับเรามาก คือถ้าเราใช้เงินอู้ฟู่เกิน สุดท้ายทีมหาตัวนักแสดงแม่งไม่สามารถเอานักแสดงสมทบที่เล่นดีๆ มาได้มันก็จะเล่นไม่ได้สักที มันก็จะหลายเทค พอหลายเทคมันก็จะลิงก์ไปกับตำแหน่งอื่น เสียเวลา ไปเรื่อยๆ เวลาจัดแสงน้อย ทีมงานทำงานได้ช้ากว่าเดิม มันก็ต้องแบบนึกตลอดว่าเราไม่ได้ทำงานแผนกเดียว ก็ต้องคุยกัน

: ดีที่กองนี้ทุกคนสนิท คุยกันได้หมด เราสนิทกับทุกแผนกเลยนะ คือคุยกับเขาได้หมดเลย สำหรับคนอื่นเราไม่รู้นะ แต่สำหรับเราก็ทำงานด้วยกันหมดว่ะ มันมีผลกับภาพ ทุกอย่างมันมีผลกับภาพ

ก๊อย : อุปกรณ์ก็คือส่วนนึงนะ มันช่วยให้เราทำงานง่ายขึ้น แต่ถ้าเราใช้ไม่ถูกวิธี หรือเกินงบมากไปมันก็ไม่มีประโยชน์อะไร เราดูแบบสิ่งที่สมควร อะไรต้องดื้อก็ดื้อ ยอมได้ก็ยอม

ช่วงเวลาที่ยากที่สุด กับการถ่ายทำเรื่องแรกที่ทุกคนเหมือนกำลัง ‘ตั้งไข่’

ตี๋ : เรื่องแรกเหมือนตั้งไข่ เรื่องแรกยังไม่รู้ว่าต้องถ่ายยังไง ขนาดไหน ทำงานกับนักแสดงแล้วเขาเป็นยังไง เรื่องแรกยากสุด คิวแรกยากสุด คิวท้ายๆ ที่ถ่ายถ้ำ มันยากด้วยแบบสถานที่ภูมิศาสตร์ไรงี้ แต่มันไม่ได้แบบยากตรงคิดไม่ออก แต่เรื่องแรกยาก เพราะเป็นคิวแรกๆ ละก็เป็นเรื่องแรกที่ต้องฉายด้วย เราก็ไม่รู้ว่าเสียงตอบรับจะเป็นไง แล้วมันก็ครั้งแรกที่ถ่ายซีรีส์ ยากไปหมด ไม่รู้ว่าแบบจัดไฟแบบนี้นานไปไหม ถ่ายแค่นี้เคลื่อนที่น้อยไปไหม น่าเบื่อไหม กล้องแช่อยู่นานจัง 

: แต่ระหว่างทางก็ปรับตัวไปเรื่อย คือเรื่องแรกเป็นครู เป็นตัวที่ทำให้เรื่องอื่นคิดออกเลยว่าทำงานประมาณไหน ใช้ของประมาณไหน เราว่ากับทุกคนเลยนะ ทั้งพี่อู๋ โปรดิวซ์ ทีมอื่น เหมือนพอรู้แล้วว่าเรื่องแรกมันปัญหาประมาณนี้ แต่ละคนนิสัยประมาณนี้ ก็เหมือนแบบ เหมือนละลายพฤติกรรม

: เรื่องแรกทดลองมาก เพราะว่ามันก็เป็นครั้งแรกที่ถ่ายยังไม่รู้ว่ายังไงดี ตอนถ่ายเรื่องแรกเสียเวลา ปัญหามันก็คือยังไม่รู้ว่ามันต้องประมาณไหน ทำงานความเร็วความช้าอะไร ประมาณไหนดี เพราะเราก็ไม่รู้ไงว่าอย่างนี้คือมันช้าแล้ว แล้วก็เป็นซีรีส์ผี มันจะเสียเวลาตรงเมคอัพกับพวกสเปเชียลเอฟเฟ็กต์คือแต่งหน้าผี เปลี่ยนทีนานมาก หลายชั่วโมง พอมันหลายชั่วโมงมันก็กินเวลาทุกแผนกไปด้วย มันก็จะลิงก์ๆ กันไป พอมันมีฝ่ายนึงที่ช้า ก็จะช้ากันไป อันนั้นยาก ตอนคิวแรกๆ นะ เพราะยังไม่รู้ว่าแต่งหน้ากี่นาที จัดไฟกี่นาที ไรเงี้ย เรื่องแรกยากสุดสำหรับเรา

ก๊อย : มันไม่มียากที่สุดมั้ง เราว่ามันยากคนละแบบ เช่น แบบสมมุติเราถ่ายข้างนอกมันเป็นเรื่องของเทคนิค อะไฟเราไม่พอ กินแสงอีก เห็นหน้าอีก ทำไงดี มันยากตรงนั้นตรงที่เราต้องจัดการเวลาอีก ภาพอีก แต่ว่าถ้าเรื่องของภาพหรอ คือพี่นุชี่เขาชัดอยู่แล้วมันเลยมีแกนให้เกาะ

: เหมือนมันคือการจัดการความสำคัญมากกว่า ว่าเราอยากได้อะไร เช่น เราต้องเห็นคนนี้เดินออกมาจากตรงนี้ แล้วในเฟรมนี้มันต้องการเห็นอะไรบ้าง เราก็จะใช้แค่นั้น ไม่งั้นถ้าเราเห็นไปหมดเรามีไฟเท่าไหร่ก็ไม่พออยู่ดี เหมือนมันคือการตัดสินใจในช่วงเวลานั้นว่าเลือกอะไรดี

งานภาพที่ชอบของคนที่อยู่เบื้องหลังภาพ

ตี๋ : เราชอบเรื่องสุดท้ายสุดเลย รูมรณะ มันเป็นซีนสุดท้ายหลังๆ ที่ดาวมันเผยร่างมาแล้วว่าเป็นปีศาจ ช่วงนั้น lighthing ก็สนุกมาก คือมันแบบได้ปล่อย ขายอะไรไปพี่อู๋เอาหมด เปิดเลยเต็มที่ แล้วซีนอะไรแบบนั้นเราก็ไม่เคยเห็นในซีรีส์บ้านเราที่เราดู 

: ชอบเพราะมันสนุก ตอนแรกที่วางแผนไว้ ก็คือแค่จะพยายามให้มันคุมบรรยากาศและโทนเป็น Blue  แต่พอไปอยู่หน้างานจริงๆ โลเคชั่นอะไรมันดูเล่นอะไรได้เพิ่ม มีพัดลม มีรู จัดแสงอะไรมาให้ผ่านช่องพัดลมแล้วดูสวยดี น่ากลัวดี

: โลเคชั่นเรื่องนี้ก็ดี อย่างเรื่องรูมรณะถ่ายออกมามันก็ดี ตอนแรกเราไม่ชอบโลเคชั่น ซีนสุดท้าย ที่ มศว ซึ่งแม่งแบบเป็นมหาวิทยาลัยที่ดูใหม่ ก็คิดว่าจะถ่ายยังไงให้มันดูน่ากลัว เพราะมันไม่ได้น่ากลัวอะไรเลย เพราะว่าที่อื่นจะไปถ่ายแบบตึกร้าง โรงพยาบาลร้างอะไรแบบนี้ แต่ถ่ายออกมาแล้วดี ก็เลยชอบ คือดูยังไงก็ดูไม่ออกว่าเป็นที่ มศว  ก็เลยชอบ

: ถ้าถามว่าเราชอบตอนไหนมากที่สุดในซีรีส์ เป็นตอนที่เราไม่ได้ถ่าย คือเราชอบงานภาพพี่ก๊อยกับพี่นุชี่มาก เราว่ามันใหม่แล้วก็สร้างสรรค์มาก เราชอบตอนพี่นุชี่มาก แล้วเรื่องเขาก็สนุกด้วย

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากอาทิตย์อัสดง และความแตกต่างของการถ่ายซีรีส์กับโฆษณา

ก๊อย : สิ่งใหม่ๆ มันก็มีนะ มันคงไม่ได้แบบ โห ฉันได้เรียนรู้ว่ะ คิดว่ามันเป็นการแบบแก้ปัญหา ณ ขณะนั้นมากกว่า เช่นการเอาความต้องการของพี่นุชี่มาไว้ตรงกลางระหว่างทำได้กับทำไมได้

: ถ้าทำได้เราจะบอกว่าทำได้แบบนี้ทำยังไง ถ้าทำไม่ได้เราก็จะบอกว่าเพราะอะไรถึงทำไม่ได้ แต่ว่ามันก็ต้องมีแบบถ้าทำไม่ได้ต้องทำอะไรแทน ถ้าเป็นอีกทางนึงจะดีกว่าไหม มันจะแบบ continue ไปกับเรื่องที่เหลือหรือเปล่า อะไรทำนองนี้ เหมือนเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งมันมีเยอะมากในเรื่องนี้ จริงๆ แบบช็อตมันก็ไม่ได้กำหนดมามากขนาดนั้นแต่ว่า มันก็ช็อตประมาณนึงที่ไปบล็อกมาแล้วพอไปถ่ายจริง พี่นุชี่เขารู้สึกแบบเห้ยแบบนี้ดีกว่าไหม เปลี่ยนเป็นแบบนี้ดีกว่าไหม มันก็ค่อยๆ ที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันตลอดไรงี้

ตี๋ : พอเป็นโฆษณามันก็จะมีลูกค้า มันก็ไม่อิสระเท่า แต่สำหรับเราโฆษณามันก็ง่ายกว่าบางมุม มันมีแผน เตรียมงานชัดเจน มีบรีฟ มีบอร์ดที่ขายลูกค้าเรียบร้อย วันจริงเราก็ถ่ายประมาณนั้นแหละ จะถ่ายตามบอร์ดที่ลูกค้า approve มันก็จะมีไกด์ไลน์ประมาณนึงว่าแบบประมาณนี้ๆ บล็อกช็อตละเอียด แล้วก็ด้วยงบด้วยอะไรมันถ่ายจำนวนวันน้อย มันก็ไม่เหนื่อย ไม่ได้หนักแก้ปัญหาเฉพาะหน้าน้อยกว่า 

: แต่พอมันเป็นซีรีส์หรือหนัง มันยากตรงที่มันมีอิสระมากจนแบบทำไงให้มันสนุก ทำงี้คนดูดูไหม ทำงี้เล่าพอหรือยัง หรือเล่าเยอะไป มันยากนะ มันเคว้ง เหมือนเป็นข้อสอบอัตนัย เป็นข้อสอบปลายเปิด มันก็คนละแบบ

: อีกอย่างที่เราชอบซีรีส์คือมันมีเสียงตอบรับ เวลาตอนฉายไปแล้วเรามาอ่านทวิตเตอร์ อ่านอะไรแบบนี้มันสนุก ถึงจะไม่เคยติดเทรนด์ แต่มันสนุกตรงที่มีคนดูงานเรา แล้วเขาก็ไปตีความ อันนี้ดีใจ มันคือสิ่งที่เรากับพี่อู๋คิดไว้ตอนแรกว่าคนดูเขาฉลาด เขาเข้าใจ ไม่ต้องทำง่าย ไม่ต้องสรุปให้เขาขนาดนั้น ไม่ต้องไปอธิบายอะไรขนาดนั้น พอเห็นเสียงตอบรับแล้ว โอ้โห เขาตีความอะไรได้แบบบางทีก็เกินที่พี่อู๋คิดกันไว้ ก็เลยเชื่อกันว่า จริงๆ คนดูหนังบ้านเราเขาฉลาด ไม่ต้องไปคิดแทน คิดในส่วนของเราว่าเราอยากเล่าอะไรให้ดีที่สุด

สุดท้าย อยากฝากซีรีส์ที่ไม่ได้อยากจะอธิบายอะไรมากนักให้คนดู

ก๊อย : เราฟังจากเสียงตอบรับมา มีคนชอบอาทิตย์อัสดงเยอะเหมือนกัน ไม่คิดว่ามีคนแบบดูเยอะขนาดนี้ ก็แบบแปลกใจเหมือนกัน มีคนดูเยอะ ก็รู้สึกว่าทุกคนตั้งใจทำแล้วก็ลองดูหน่อย ลองดูเถอะ อาจจะเจออะไรดีๆ 

ตี๋ : ถ้าใครอยากดูซีรีส์ที่ไม่ได้มานั่งอธิบายคนดูขนาดนั้น เป็นซีรีส์ที่เปิด แล้วก็เราไม่ประนีประนอมกับคนดูเลย ให้เกียรติคนดูมาก ซีรีส์เรื่องนี้เหมาะกับคนชอบคิดต่อ ชอบจินตนาการเพิ่ม ซีรีส์บ้านเรามันซ้ำซากพล็อตเดิมๆ พอมีอะไรแบบนี้ออกมาก็อยากให้ดูกัน ในแง่ของงานภาพเราว่ามันเป็นซีรีส์ที่มาตรฐาน ไม่ได้แย่ เรา อยากให้มันเป็นมาตรฐานใหม่ๆ ของการทำซีรีส์เรื่องต่อๆ ไปด้วย 

หลังจากได้อ่านบทสัมภาษณ์ของทั้งตี๋และก๊อยไปแล้ว เชื่อว่าหลายคนน่าจะเข้าใจการทำงานเบื้องหลัง และยิ่งอินไปกับความสยองของอาทิตย์อัสดงมากขึ้น แต่เราก็ไม่ได้มาคุยแค่ทางฝั่งทีมกล้อง ยังมีอีกหลายฝ่ายที่เป็นเบื้องหลังของงานดีๆ แบบนี้ ส่วนเราจะไปร่วมพูดคุยกับใคร ติดตาม BrandThink House เอาไว้ได้เลย!