ความจนของแอฟริกาเกิดจากประชากรโตเร็วเกินไป ถึงขนาดที่ว่าผู้หญิงทุกคนจะมีลูกถึง 4 คน
โลกทุกวันนี้ ปัญหา ‘สังคมผู้สูงอายุ’ เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง การเกิดของเด็กที่น้อยลงทำให้ทั้งภาคธุรกิจยันภาครัฐต้องปรับตัวกันยกใหญ่ แต่ปัญหาที่ว่านี้ถ้าจะมีข้อยกเว้นสักทวีปในโลก ก็คงจะเป็น ‘แอฟริกา’
ปัจจุบันโลกของเราอัตราเจริญพันธุ์ (คือค่าเฉลี่ยจำนวนลูกที่ผู้หญิง 1 คนจะมี) อยู่ที่ 2.5 ถ้าสงสัยว่าไทยมีเท่าไหร่ คำตอบคือประมาณ 1.5 ซึ่งทุกประเทศที่ตัวเลขต่ำกว่า 2 ก็เตรียมเผชิญหน้ากับสังคมผู้สูงอายุได้เลย
แล้วแอฟริกาล่ะ? คำตอบคือประมาณ 4.7 คงไม่ต้องบอกว่ามันเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในทุกทวีป ผู้หญิงแอฟริกาทุกคนจะมีลูกเฉลี่ยในช่วงชีวิต 4.7 คน และนี่ทำให้เขาประเมินกันว่าในปี 2050 ประชากรแอฟริกาจะเป็น 2 เท่าตัวของตอนนี้
ดังนั้นแอฟริกาผลิตซ้ำประชากรเร็วมากในระดับที่แม้จะเป็นทวีปที่คนตายเยอะจากทั้งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ สงคราม โรคระบาด ความอดอยาก ฯลฯ แต่ประชากรก็ไม่ได้ลดลงเลย เพราะมีลูกกันเยอะเช่นเดียวกัน
แต่นั่นก็ไม่ใช่จะไม่มีปัญหา เพราะความยากจนของแอฟริกา ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการที่มีลูกเยอะเกินไป
ถึงตรงนี้ ถ้าใครมีพื้นฐานด้านพัฒนาเศรษฐกิจคงจะ ‘อ๋อ’ แล้ว แต่ถ้าจะให้อธิบายสั้นๆ ก็คือ มันมีความเชื่อตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 ว่า ถ้าต้องการพัฒนาเศรษฐกิจ วิธีลดอัตราการเพิ่มของประชากรเป็นเรื่องสำคัญ เพราะต้องให้ผู้หญิงมาทำงานเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เอาแต่เลี้ยงลูกอย่างเดียว นี่จึงนำมาสู่โครงการต่างๆ สารพัดตั้งแต่การรณรงค์แบบสมัครใจในการคุมกำเนิด ไปจนถึงแนวทางสุดโหดแบบ ‘นโยบายลูกคนเดียว’ ของจีน
ประเด็นที่น่าตกใจคือมันได้ผล ทุกประเทศที่ลดการเพิ่มประชากรได้ เศรษฐกิจโตเร็วพรวดๆ หมด รายได้ต่อหัวขึ้นรัวๆ หมด พูดง่ายๆ การชะลอการเพิ่มประชากรเป็น ‘เทคนิคตามตำรา’ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่ได้ผลมาแล้วในอดีต และเขาก็คิดว่า ถึงเวลาแล้วล่ะที่แอฟริกาจะต้องดำเนินแนวทางนี้
นี่ก็อาจจะเป็นเรื่องดีต่อ ‘สิทธิสตรี’ ในแอฟริกาด้วย เพราะอย่างที่รู้กันว่าสังคมที่ผู้หญิงเล่นบทบาทเป็นได้แค่ ‘แม่’ สถานะจะแย่มาก คือจะไม่ได้เรียนหนังสือเต็มที่ เพราะต้องเลี้ยงลูก จะทำงานก็ไม่ได้ และในระยะยาวอำนาจต่อรองของพวกเธอจะต่ำ โดนผู้ชายกดขี่ รวมถึงถูกทำร้ายจิตใจได้มากมาย
…แต่นี่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะแก้ง่ายๆ เพราะในแอฟริกา บทบาททางสังคมของผู้หญิงคือเป็น ‘แม่’ เป็นโรงงานผลิตลูก ผู้หญิงไม่ได้มีความคิดว่าตัวเองต้องเรียนสูงๆ แต่คิดแบบผู้หญิงตามจารีตเลย ว่าต้องรีบหาผัว รีบมีลูก
หรือพูดอีกแบบ การมีลูกเยอะๆ นี่ไม่ใช่เรื่องของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ แบบที่เขาว่ากันเสียทีเดียว แต่มันเป็นเรื่องทางวัฒนธรรม เป็นการแบ่งบทบาทหน้าที่ทางสังคมแบบหนึ่ง
ซึ่งทุกวันนี้พวก ‘นักพัฒนา’ ก็ปวดหัวมาก เพราะทุกคนรู้สูตรสำเร็จว่า ถ้าให้ผู้หญิงเรียนหนังสือสูงๆ พวกเธอจะแต่งงานช้าลง และมีลูกน้อยลง เป็นสูตรสำเร็จที่เกิดขึ้นทั่วโลกแบบน่าจะเรียกได้ว่าไม่มีข้อยกเว้นใดๆ
แต่คุณจะทำยังไงกับผู้หญิงในสังคมที่ไม่อยากจะเรียนหนังสือ? หรือครอบครัวไม่อยากให้เรียนหนังสือ?
นี่แหละปัญหาจริงๆ ทุกคนมีเป้าหมายในอุดมคติให้ผู้หญิงแอฟริกามีการศึกษาสูงขึ้น มีลูกช้าลงและน้อยลง ให้เข้ามามีบทบาททางเศรษฐกิจเป็นแรงงานมีทักษะมากขึ้น แต่สังคมแอฟริกาหรือกระทั่งผู้หญิงแอฟริกาเอง ก็ไม่ได้ต้องการอะไรแบบนั้น
ทุกวันนี้สิ่งที่มันอีนุงตุงนังกว่าเดิมก็คือ การทำอะไรต่างๆ ต้องคิดถึงสิทธิและจริยธรรมมากมาย คือไม่ได้ใช้แค่ ‘อะไรก็ตามที่เวิร์ค’ แบบในอดีต แต่มันต้องมาตั้งคำถามว่าไปทำแบบนั้นมันจะไปขัดกับเจตจำนงอะไรของผู้คนหรือไม่ ฯลฯ
ดังนั้น บอกเลยว่า ‘งานยาก’ ในการที่จะทำให้ผู้หญิงแอฟริกามีลูกน้อยลง และทำให้เศรษฐกิจแอฟริกาดีขึ้นตามสูตรสำเร็จที่เคยใช้มาทั่วโลก
ซึ่งก็แน่นอนว่า ไปๆ มาๆ สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกทุกวันนี้มันตลกมาก เพราะขณะที่ประเทศเศรษฐกิจพัฒนาไปได้ไกล ผู้หญิงไม่ยอมมีลูกกัน ใช้นโยบายไหนสนับสนุนให้มีลูกก็ไม่ได้ผล แต่ในแอฟริกานั้น ปัญหากลับตรงข้าม ผู้หญิงอยากมีลูกกันเยอะๆ แบบไม่มีนโยบายใดๆ จะทำให้พวกเธอมีลูกน้อยลงได้
โลกมันก็ไม่เคยมีความพอดีแบบนี้แหละ
อ้างอิง
- The Conversation. What’s driving Africa’s population growth. And what can change it. https://theconversation.com/whats-driving-africas…