6 Min

เมื่อสายสัมพันธ์ในวัยเยาว์ ส่งผลต่อการสร้างความสัมพันธ์ในวัยผู้ใหญ่ By เมริษา ยอดมณฑป (ตามใจนักจิตวิทยา)

6 Min
1673 Views
30 May 2022

ความสัมพันธ์เกิดจากพันธะทางอารมณ์ (Emotional bonding) กับบุคคลอื่น ซึ่งตามทฤษฎีความผูกพัน (Attachment Theory) ของ จอห์น โบว์ลบี (John Bowlby, 1979) ได้กล่าวไว้ว่า “พันธะทางอารมณ์แรกที่เกิดขึ้นระหว่างเด็กกับพ่อแม่/ผู้เลี้ยงดูหลัก จะส่งผลต่อรูปแบบความสัมพันธ์ที่มีกับบุคคลอื่นในอนาคตด้วย โดยเฉพาะความสัมพันธ์ต่อคู่รักของตนเอง” 

ความสัมพันธ์แรกที่เกิดขึ้นระหว่างตัวเด็กกับพ่อแม่/ผู้เลี้ยงดูหลักเป็นไปโดยสัญชาตญาณเพื่อเอาชีวิตรอด เด็กทารกวัยแรกเกิดพยายามสร้างความสัมพันธ์กับผู้เลี้ยงดูหลัก ซึ่งไม่เฉพาะเจาะจงว่าต้องเป็นพ่อ/แม่หรือผู้ใหญ่คนใด ด้วยการเกาะติดและแสดงออกถึงความต้องการให้ผู้เลี้ยงดูรับรู้ผ่านการร้องไห้ เพื่อให้ได้รับการตอบสนองขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น กินนม ดูแลเปลี่ยนผ้าอ้อม อุ้มกอด ปลอบประโลม และอื่นๆ 

ม่เพียงเพื่อการอยู่รอด แต่การสัมผัสในวัยเยาว์ อุ้ม กอด หอม ลูบตัว ทำให้เด็กรับรู้ได้ว่า ‘เขาสามารถวางใจในผู้เลี้ยงดู/พ่อแม่ของเขาได้’ สายสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นมีความมั่นคงและปลอดภัย 

ต่อมา แมรี เอนส์เวิร์ธ (Mary Ainsworth, 1970) ได้นำทฤษฎีดังกล่าวมาศึกษาและขยายความเข้าใจต่อผ่านการทดลองทางจิตวิทยาที่เรียกว่า ‘สถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย’ (Strange situation) ด้วยการพาเด็กๆ วัย 1 ขวบไปจนถึงวัย 1 ขวบครึ่ง จำนวน 100 ครอบครัว เข้าไปอยู่ในห้องซึ่งเป็นสถานที่ที่เด็กไม่คุ้นเคย จากนั้นผู้ทดลองจะสังเกตการณ์พฤติกรรม ดังนี้ 

  • ตอนที่เด็กอยู่กับพ่อ/แม่
  • ตอนที่มีคนแปลกหน้าเดินเข้ามาในห้องขณะที่เด็กอยู่กับพ่อ/แม่
  • ตอนที่พ่อ/แม่เดินออกไปนอกห้อง และเด็กอยู่กับคนแปลกหน้าเพียงลำพัง
  • ตอนที่พ่อ/แม่กลับเข้ามาในห้องอีกครั้งหนึ่ง

ผลการสังเกตการณ์พบว่า เด็กๆ มีพฤติกรรมเกิดขึ้น 3 รูปแบบ ได้แก่ 

  • รูปแบบที่ 1 เด็กร้องไห้เมื่อแม่เดินออกไป เมื่อแม่กลับเข้ามาก็หยุดร้องไห้ แล้วสามารถกลับปเล่นของเล่นตามเดิมได้
  • รูปแบบที่ 2 เด็กร้องไห้เมื่อแม่เดินออกไป เมื่อแม่กลับเข้ามาก็ใช้เวลานานกว่าจะหยุดร้อง แล้วไม่สามารถกลับไปเล่นของเล่นได้อีก จะเกาะติดแม่อย่างเดียว
  • รูปแบบที่ 3 เด็กไม่สนใจว่าแม่จะเดินออกไปหรือเดินกลับเข้ามา ยังคงเล่นของเล่นได้ตามปกติ แต่ผู้ทำการทดลองสังเกตเห็นว่าการเต้นของหัวใจแรงขึ้นตอนที่แม่ออกไปจากห้อง

จากรูปแบบพฤติกรรมของเด็กๆ ที่ปรากฏในการทดลองนี้ ทำให้ได้รูปแบบความผูกพัน 3 ประเภทด้แก่ 

(1) ความผูกพันแบบมั่นคง (Secure attachment) เด็กวางใจในพ่อแม่/ผู้เลี้ยงดูหลักได้ 

(2) ความผูกพันแบบหลีกหนี (Avoidant attachment) เด็กหลีกเลี่ยงที่จะปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่/ผู้เลี้ยงดูหลัก เนื่องด้วยเหตุผลบางอย่าง 

(3) ความผูกพันแบบสับสน (Ambivalent attachment) เด็กสับสนในความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น ระหว่างตัวเขากับพ่อแม่/ผู้เลี้ยงดูหลัก

ความสัมพันธ์ที่ดีซึ่งเกิดจากการตอบสนองขั้นพื้นฐานและการมอบความรักความอบอุ่น ส่งผลให้เด็กสร้างสายสัมพันธ์ที่มั่นคงและปลอดภัยขึ้นมาได้ ในทางกลับกันหากปราศจากซึ่งความสัมพันธ์ที่ดี กล่าวคือ พ่อแม่/ผู้เลี้ยงดูหลักไม่ตอบสนอง ทอดทิ้ง ทำร้าย หรือบางครั้งตามใจมาก แต่บางครั้งเข้มงวดจนเกินเหตุ เด็กจะพัฒนาสายสัมพันธ์บนความวิตกกังวลและความสับสนขึ้นมาแทน 

[ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ (Toxic relationship)] 

รูปแบบความสัมพันธ์ที่ส่งผลเสียต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือ ส่งผลเสียต่อทั้งสองฝ่ายเลยก็เป็นได้ เช่น การทำร้ายร่างกาย ทุบตี กักขัง การทำร้ายจิตใจ ด่าทอ ประชดประชัน เสียดสี การบั่นทอนคุณค่าภายในตนเองหรืออีกฝ่าย และอื่นๆ อีกมากมาย 

“เมื่อไม่มีสายสัมพันธ์ที่มั่นคงและปลอดภัยในวัยเยาว์ ส่งผลต่อการมีความสัมพันธ์ที่เป็นพิษในวัยผู้ใหญ่” 

ความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยความสับสน ความกลัว ความวิตกกังวลในวัยเยาว์ ทำให้เด็กคนหนึ่งเติบโตมาพร้อมกับความไม่มั่นคงทางอารมณ์ ซึ่งบ่อยครั้งความไม่มั่นคงทางอารมณ์ปรากฏขึ้นในรูปแบบความสัมพันธ์ที่เป็นพิษระหว่างตนเองกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน หรือคนรักก็ตาม 

ความผูกพันที่ไม่มั่นคงปลอดภัย ได้แก่ 

(1) ความผูกพันแบบหลีกหนี (Avoidant attachment) 

วัยเด็กที่ถูกทอดทิ้งและปฏิเสธจากพ่อแม่ของตน ส่งผลต่อความกลัวที่ตนเองจะถูกปฏิเสธอีก เมื่อสร้างสายสัมพันธ์กับคู่รักหรือใครสักคนหนึ่งไปถึงจุดหนึ่ง ตัวเขาอาจจะกลัวว่าสายสัมพันธ์นี้อาจจะไม่มั่นคงเหมือนวัยเยาว์ที่ผ่านมา เขากลัวที่จะถูกปฏิเสธจากคนที่เขารัก ดังนั้นเมื่อเกิดความขัดแย้งหรือเกิดปัญหาขึ้นในความสัมพันธ์ที่กำลังดำเนินอยู่ ตัวเขาอาจจะเลือกที่จะหลีกหนีการเผชิญปัญหา และอาจจะเลือกที่จะเป็นฝ่ายยุติความสัมพันธ์นั้นก่อน เพราะกลัวว่าถ้าถูกปฏิเสธจากอีกฝ่ายเขาจะทนรับความเจ็บปวดนั้นไม่ไหวอีก เขากลัวความผิดหวังที่จะเกิด ขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก 

วัยเด็กที่ถูกทำร้ายและไม่ได้รับการปกป้องจากพ่อแม่ของตน ส่งผลต่อการไม่รับรู้คุณค่าในตนเอง และในบางคนมองว่าการใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ คนบางคนอาจจะดูแข็งกร้าวและเย็นชาภายนอก แต่ภายในของเขานั้นอาจจะเปราะบางมาก โดยที่ตัวเขาเองอาจจะไม่รู้ตัว เขาอาจจะเรียกร้องและโหยหาความรักความสนใจ แต่ไม่ว่าจะได้รับจากคนภายนอกมากเท่าไหร่ ก็ไม่รู้สึกว่าพอเสียที เพราะในความเป็นจริงแล้วสิ่งที่เขาต้องการไม่ใช่ความสนใจจากใครก็ได้ แต่เป็นความรักที่ปราศจากเงื่อนไขจากใครสักคนที่พร้อมจะยอมรับเขาในแบบที่เขาเป็น 

ไม่เพียงเท่านั้นการทำร้ายเด็กทางกายและใจ ไม่ว่าจะเป็นการทุบตี ด่าทอ และกักขัง ล้วนแล้วแต่สร้างความหวาดกลัวและความคับข้องใจที่มีต่อโลกใบนี้ เพราะนอกจากเด็กจะกลัวผู้คนและสภาพแวดล้อมแล้ว ตัวเขาเองยังรู้สึกว่า ตัวเองไม่มีค่าพอจะได้รับความรัก

 

ซ้ำร้ายไปกว่านั้นบางคนกลับเคยชินกับความรุนแรงที่ได้รับมาในวัยเยาว์ และนำมาใช้กับคนรอบตัวหรือคู่รักของตน บางคนแม้จะรู้ว่าความรุนแรงเป็นสิ่งที่ไม่ดี ตนเองไม่ชอบ แต่กลับไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงกับคนรักหรือคนรอบข้างได้เมื่อเกิดปัญหา 

ผลการศึกษาจากข้อมูลที่รวบรวมระหว่างปี 1986-2017 ของ Armfield et al. พบว่า พ่อแม่ที่ทารุณกรรมเด็กมีประวัติเคยถูกทารุณกรรมโดยพ่อแม่ของตนเอง และข้อค้นพบอีกประการ คือการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวส่วนใหญ่เกิดขึ้นเป็นวงจรและส่งต่อกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า 

 

(2) ความผูกพันแบบสับสน (Ambivalent attachment)  

วัยเด็กที่เต็มไปด้วยความสับสน เด็กมักจะได้รับความรักแบบไม่คงเส้นคงวา หรือได้รับการตอบสนองที่ไม่ชัดเจน ส่งผลให้โลเลกับการสร้างความสัมพันธ์ และมีอารมณ์ที่ไม่มั่นคงในตัวเอง เด็กที่เติบโตมากับการเลี้ยงดูที่บางครั้งพ่อแม่เอาอกเอาใจและตามใจ แต่วันดีคืนดีก็เข้มงวดและลงโทษอย่างรุนแรง บางครั้งพ่อแม่เพิกเฉยราวกับตัวเองเป็นอากาศธาตุ เมื่อพ่อแม่ไม่สามารถคาดเดาได้ ตัวเขาก็เกิดความสับสน ไม่รู้ว่าควรจะตอบสนองหรือวางตัวอย่างไรดี เมื่อเติบโตท่ามกลางความสัมพันธ์ที่สับสน ทำให้ตัวเองมีความไม่มั่นคงทางอารมณ์ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือความสับสนโลเล และไม่สามารถตอบสนองคนรอบข้างและคนรักอย่างคงเส้นคงวาได้ 

 

ด้วยเหตุนี้พ่อแม่/ผู้เลี้ยงดูหลักจำเป็นต้องให้ความรักและการตอบสนองขั้นพื้นฐานกับเด็กวัยแรกเกิด ซึ่งเป็นวัยที่เขายังไม่สามารถช่วยเหลือหรือปกป้องตัวเองได้ เพื่อสร้างสายสัมพันธ์ที่มั่นคงและปลอดภัยขึ้นมา สักวันหนึ่งข้างหน้าเมื่อเด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ความสัมพันธ์ดังกล่าวจะกลายเป็นรากฐานในการสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ในชีวิตของเขาต่อไป โดยเฉพาะการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรักและครอบครัวของเขาในอนาคต 

 

(3) ความผูกพันแบบมั่นคง (Secure attachment) 

มากกว่าอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย เด็กทุกคนต้องการที่พึ่งทางใจที่มอบความรักและความอบอุ่นให้กับเขา หากไม่ใช่พ่อแม่ ขอแค่เพียงใครสักคนที่พร้อมจะมอบความรักและยอมรับเขาอย่างปราศจากเงื่อนไข เพื่อให้เด็กรับรู้ว่า ‘ตนเองมีที่พึ่งพิง และตนเองมีคุณค่า เพราะเขาเป็นที่รักและที่ต้องการของใครสักคน’ 

 

[ความสัมพันธ์ที่ดี (Healthy relationship)]

เริ่มต้นจากตัวเองรับรู้คุณค่าในตัวเอง และพร้อมจะมองเห็นคุณค่าและมอบความรักให้กับอีกฝ่าย ในขณะเดียวกันอีกฝ่ายก็มองเห็นคุณค่าในตัวเราและพร้อมจะมอบความรักให้กับเราเช่นกัน 

ความสัมพันธ์ที่ดีต้องเกิดจากความพยายามของทั้งสองฝ่าย หากมีเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่พยายามอยู่เพียงลำพัง ความสัมพันธ์นั้นจะค่อยๆ จางลงและขาดลงไปสักวัน

หัวใจสำคัญคือ ‘การมองเห็นคุณค่าของกันและกัน’ เพราะคุณค่าที่รับรู้จะนำไปสู่การให้เกียรติซึ่งกันและกัน คู่รักจะสามารถทะนุถนอมความสัมพันธ์นั้นต่อไปได้ยืนยาว 

สุดท้าย แม้วันนี้เราจะกลายเป็นผู้ใหญ่แล้ว และเรารับรู้ว่าในวัยเด็กของเราอาจจะไม่ได้รับความรักอย่างที่ควรจะเป็น สิ่งหนึ่งที่เราทำได้คือตระหนักรู้ และเลือกที่จะเปิดใจให้โอกาสกับคนที่เข้ามาในชีวิตของเรา เราในวันนี้มีสิทธิ์เลือกสามารถเลือกว่า ‘เราอยากจะมีความสัมพันธ์แบบไหน’ โดยไม่ให้ความสัมพันธ์ในอดีตมาดึงรั้งเราไว้ 

การพูดคุยสื่อสารกับคนที่รักจึงเป็นเรื่องสำคัญ บอกเล่าให้เขารับรู้ว่าเรามีความยากลำบากอย่างไรในเรื่องของ ‘ความไว้ใจ’ ในการสร้างความสัมพันธ์กับใครสักคน ความเข้าใจและความไว้ใจจะเป็นปัจจัยหลักที่จะช่วยให้ความรักเติบโต 

เมื่อเราได้มีโอกาสเป็นพ่อแม่ของลูก อย่าลืมสร้างสายสัมพันธ์ที่มั่นคงปลอดภัยผ่านการมอบความรักและเวลาคุณภาพให้กับเขา เพราะลูกต้องการมันจากเรายิ่งกว่าใครๆ 

 

อ้างอิง 

Ainsworth, M. D. S., & Bell, S. M. (1970). Attachment, exploration, and separation: Illustrated by the behavior of one-year-olds in a strange situation. Child Development, 41,  49-67. 

Armfield, J. M., Gnanamanickam, E. S., Johnston, D. W., Preen, D. B., Brown, D. S., Nguyen, H., & Segal, L. (2021). Intergenerational transmission of child maltreatment in South Australia, 1986-2017: a retrospective cohort study. The Lancet Public Health, 6(7), e450-e461. 

Bowlby, J. (1979). The Bowlby-Ainsworth attachment theory. Behavioral and Brain Sciences, 2(4), 637-638.