‘A Hero’ (2021) ‘ใบหน้า’ ของความดีงาม เรียกร้อง ‘ราคาที่ต้องจ่าย’ จำนวนมหาศาล
ราฮิม (อาเมียร์ ยาดีดี) เป็นผู้ต้องขังคดีฉ้อโกงจากการเอาเงินของเพื่อน บาห์รัม (โมห์เซ็น ทานาบันเดห์) ไปใช้ลงทุนแล้วไม่มีจ่าย จนทำให้ทั้งบาห์รัมและเขาต้องเป็นหนี้เป็นสิน ลงเอยที่ราฮิมถูกฟ้องให้ติดคุก เขายื่นขอวันลา 2 วันเพื่อออกมาเยี่ยมเยียนครอบครัวอันได้แก่พี่สาว พี่เขย และลูกชายซึ่งมีอาการติดอ่าง แต่แล้วเขากลับพบกระเป๋าใบใหญ่ที่อัดแน่นไปด้วยทอง เป็นราคาค่างวดมากพอจะประกันตัวให้เขาพ้นโทษถาวร
หากแล้วราฮิมก็นำทองทั้งกระเป๋านั้นไปประกาศคืนเจ้าของ ด้วยเหตุผลว่าเขาไม่อาจทรยศต่อพระเจ้าและความดีงามทั้งปวงได้ เรื่องราวของนักโทษผู้ติดคุกจากคดีฉ้อโกงกลับใจ คืนเงินให้แก่เจ้าของนั้นกลายเป็นเรื่องราวโด่งดังชั่วข้ามคืน สื่อมวลชนพุ่งความสนใจมายังราฮิม เจ้าหน้าที่ในเรือนจำมอบความเอ็นดูและไว้วางใจแก่เขา ยังไม่นับเหล่ามูลนิธิที่ติดต่อหวังให้เขากลายเป็น ‘ใบหน้า’ ของความดีงาม ตลอดจนหน่วยงานราชการต่างๆ ที่หวังรับลูกจากผลการกระทำอันผ่องแผ้วครั้งนี้ กระทั่งเมื่อ ‘ความดีงาม’ นั้นกลับเรียกร้องราคาที่ต้องจ่ายเป็นจำนวนมหาศาล และนั่นอาจหมายถึงอิสรภาพของราฮิมเองด้วย
A Hero (2021) หนังรางวัลกรังด์ปรีซ์จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ปีล่าสุด โดย อัสการ์ ฟาร์ฮาดี (Asghar Farhadi) คนทำหนังชาวอิหร่านผู้เคยส่ง The Salesman (2016) คว้ารางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์นานาชาติยอดเยี่ยมมาแล้ว ฟาร์ฮาดียังสนใจประเด็นความซับซ้อนของศีลธรรมและสังคมเช่นเดิม ผ่านการสำรวจนิยามของความดีงามและความมุ่งมั่นจะทำในสิ่งที่ถูกที่ควรของมนุษย์ตัวเล็กๆ
“พอใครสักคนกลายเป็นคนดีขึ้นมาในสังคม ผู้คนก็จะคาดหวังว่าเขาไม่ควรทำอะไรผิดพลาดได้อีกต่อไป ต้องห้ามทำผิด ไม่มีสิทธิ์ในการทำเรื่องผิดบาปทั้งในอดีตและในอนาคตของตัวเอง และนี่แหละเป็นเรื่องที่ผมว่าสำคัญมาก เพราะผมเชื่อว่าชีวิตที่ปราศจากการทำผิดเลยนั้นเป็นสิ่งที่น่ากลัวเหลือเกิน มันเป็นไปไม่ได้หรอก” ฟาร์ฮาดีให้สัมภาษณ์ “แต่ทุกวันนี้ เวลาที่ใครสักคนกลายเป็นที่รู้จักหรือมีชื่อเสียงขึ้นมา สังคมก็จะบอกว่า ‘คุณห้ามทำอะไรเด็ดขาดเลย ห้ามทำอะไรผิดพลาดแม้แต่นิดเดียว’ อะไรแบบนี้”
นั่นจึงเป็นที่มาของเส้นเรื่องชวนเครียดเขม็งของราฮิม กล้องจับจ้องไปยังห้วงเวลาตั้งแต่เขาย่างเท้าออกจากเรือนจำและไปหาคนรัก บทสนทนาระหว่างเขากับเธอ ตลอดจนพี่เขยและพี่สาวล้วนชี้ให้เห็นความตึงเครียดที่เขาต้องเผชิญขณะอยู่ในเรือนจำ และกัดฟันดิ้นรนเพื่อหาเงินก้อนมาใช้ประกันตัวกับใช้หนี้บาห์รัม ชายซึ่งสั่งฟ้องเขาและกลายเป็นศัตรูกันอยู่กลายๆ และด้วยความเครียดเช่นนี้เอง ผู้ชมจึงประหลาดใจอย่างมากเมื่อเห็นราฮิมอ้างว่าเขาเก็บกระเป๋าใส่ทองจำนวนมหาศาลได้ และยืนกรานว่าต้องส่งกระเป๋าใบนี้คืนแก่เจ้าของ
นับเป็นเส้นเรื่องคลาสสิกที่เราเห็นได้ในหน้าสื่อทั่วไป -รวมทั้งสื่อในประเทศไทยด้วย- เรื่องราวของโจรกลับใจผู้ยากไร้ ที่แม้จะเอาเงินนั้นไปใช้ประกันตัวเองได้แต่ก็ไม่ยอมทำเพราะนั่นไม่ใช่พฤติกรรมที่ถูกต้อง การที่เขาคืนทองทั้งหมดให้แก่เจ้าของอาจทำให้เขาต้องระเห็จเข้าคุกอีกครั้งแต่เขาก็ยังทำ เนื่องจากนั่นคือ ‘ความดี’ เราจึงเห็นภาวะที่สื่อมวลชนรุมสัมภาษณ์ราฮิม ยกยอปอปั้นเขาเป็นวีรบุรุษแห่งความผ่องแผ้วคนใหม่ของสังคมซึ่งทุกคนพร้อมจะให้อภัยนักโทษที่มีคดีหนี้สินติดตัวคนนี้ รับไม้ต่อด้วยมูลนิธิการกุศลที่ดึงเขามามอบรางวัลเพื่อฉายให้เห็นใบหน้าของ ‘ความดีงาม’ ซึ่งกลายเป็นภาพแทนของมูลนิธิด้วย พวกเขามอบประกาศนียบัตรและเชื้อเชิญราฮิมขึ้นไปพูดถึงแรงจูงใจซึ่งผลักดันให้เขาทำความดีโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน
แน่แท้ว่าราฮิมต้องกล่าวยกย่องถึงพระผู้เป็นเจ้าซึ่งสนับสนุนเขาให้กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง และส่งไมโครโฟนต่อให้ลูกชายติดอ่าง ที่สอดรับกับเส้นเรื่องซาบซึ้งเรียกน้ำตาที่ทั้งสื่อมวลชนและมูลนิธิปูทางมาก่อนหน้าแล้ว… ทั้งหมดทั้งมวลเกิดขึ้นภายใต้สายตาชิงชังและกังขาของบาห์รัม เจ้าของหนี้ที่ถูกเชิญให้มาร่วมงานด้วย
ฉากการปะทะคารมระหว่างบาห์รัม, มูลนิธิและราฮิม จึงขมวดปมทั้งหมดของเรื่องไว้หมดจด “เขาก็ทำในสิ่งที่ควรทำอยู่แล้ว นั่นคือคืนกระเป๋าให้แก่เจ้าของ แล้วทำไมเราต้องยกย่องคนที่ทำในสิ่งที่เขาต้องทำแต่แรกอยู่แล้วด้วย” บาห์รัมถามอย่างกราดเกรี้ยว “แล้วพอผมจะทวงเงินจากเขา ก็กลายเป็นผมเป็นคนชั่วไปเสียอย่างนั้นหรือ นี่มันอะไรกัน”
หากว่าเส้นเรื่องของ ‘โจรกลับใจ’ ผู้มีลูกชายติดอ่างแสนน่าสงสาร บาห์รัมก็ตกที่นั่งลำบากด้วยการถูกแขวนป้ายให้กลายเป็น ‘วายร้าย’ ของเส้นเรื่องนี้เพียงเพราะเขาทวงถามเงินที่ราฮิมโกงเขาไปในอดีต หากแต่ราฮิมในเวลานี้คือชายผู้ผ่องแผ้วและไม่อาจตั้งคำถามได้โดยตรง ไม่ใช่แค่เพราะเป็นใบหน้าของ ‘ความดี’ ที่สื่อเอาไปเล่าเป็นตุเป็นตะแล้วเท่านั้น หากแต่เขากลายเป็นใบหน้าของมูลนิธิการกุศลด้วย มิหนำซ้ำเรือนจำยังรับลูกด้วยการบอกว่า ราฮิมเป็นคนจิตใจดีงามและเป็นตัวแทนของเรือนจำ ถึงที่สุด -แม้เจ้าตัวจะไม่ได้เจตนาก็ตาม- แต่สังคมก็ผลักให้ราฮิมกลายเป็นสัญลักษณ์ของความผ่องแผ้วที่ใครก็แตะต้องไม่ได้ แม้ว่าคนนั้นจะเป็นเจ้าหนี้ที่ยังไม่ได้รับเงินคืนมาก็ตาม
สิ่งที่เป็นจุดแข็งและพิสูจน์ความเด็ดขาด แม่นยำในงานกำกับของฟาร์ฮาดี คือการที่เขาค่อยๆ เลี้ยงระดับความเครียดเขม็งในเรื่อง แม้คนดูจะเอาใจช่วยราฮิมมากแค่ไหน แต่เราต่างรับรู้ถึงความ ‘ไม่ชอบมาพากล’ ของความดีงามผ่องแผ้วในครั้งนี้ และความรู้สึกนี้ยิ่งชัดเจนเมื่อเห็นองค์กรต่างๆ ทั้งมูลนิธิ, เรือนจำ, สื่อมวลชน และหน่วยงานราชการ พยายามฉวยโอกาสจากชื่อเสียงของราฮิมในครั้งนี้ ซึ่งทำให้เขาต้องตกที่นั่งลำบากอีกครั้งเมื่อจำเป็นต้องสวมบทเป็น ‘คนดีที่ไม่อาจทำอะไรผิดบาป’ ตลอดเวลา พร้อมกันนั้นมันก็วิพากษ์วิจารณ์การเอาหน้าของสังคมอย่างดุดัน ทั้งมูลนิธิที่หัวเสียสุดขีดเมื่อพบว่าราฮิมมีจุดบกพร่องบางอย่างที่อาจ ‘แปดเปื้อน’ มาถึงตัว (ยังผลให้เกิดการผลักไสราฮิมอย่างรุนแรง), สื่อมวลชนที่พร้อมใจกันหันหลังให้เขาเมื่อเห็นข่าวเสียหายบางอย่าง จนราฮิมไม่ได้ดูเป็นคนดีและน่าสงสารอย่างที่พวกเขาพยายามเล่ามาโดยตลอดอีกแล้ว, หน่วยงานราชการที่เพียงแค่อยากมีบทบาทในการโหนกระแสและไม่ได้จริงจังอะไร เรื่อยไปจนเรือนจำที่หวังอยากกู้ชื่อเสียงของตัวเองคืนกลับมาหลังราฮิมถูกแฉ (หรือพูดให้ถูกคือ ไม่ได้เป็นอย่างที่สังคมคาดหวังกันไปเอง) จนส่งผลให้กระทำในสิ่งที่รุนแรงทางความรู้สึกอย่างที่สุด
มีอยู่หลายฉากทีเดียวที่ผู้เขียนดูแล้วนึกถึงบริบทแบบประเทศไทย ทั้งบทบาทของสื่อมวลชนที่มีส่วนในการสร้างเส้นเรื่องบางอย่างซึ่งกำหนดทิศทางและการรับรู้ของผู้คนในสังคมเป็นวงกว้าง การรายงานข่าวแต่ละครั้งมักเต็มไปด้วยบทบาทของคนดี, เหยื่อและคนชั่วช้า (ดังที่ปรากฏเป็นข่าวคราวใหญ่ กินเวลารายงานข่าวเกือบหนึ่งเดือนเต็มในช่วงเวลาที่ผ่านมา) ซึ่งไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด, พิธีการมากมายประดามีของเหล่าองค์กรการกุศลที่พยายามแปะป้ายว่าตนเป็นภาพแทนของความดีงามทั้งปวง และไม่อาจแปดเปื้อนความเลวร้ายใดๆ ได้ (ดังนั้น แม้ว่าจะมีคนที่เดือดร้อนมากๆ มาขอความช่วยเหลือ ก็ต้องพิจารณาว่าเขาหรือเธอนั้น ‘บริสุทธิ์ผุดผ่อง’ มากพอหรือไม่), หน่วยงานต่างๆ ที่พยายามโหนกระแสสังคมเพียงเพื่อให้ตัวเองถูกพูดถึง (หรือดูได้ทำงานทำการกับเขาบ้าง) ฯลฯ ทั้งหมดทั้งมวลนี้คงเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากว่าฟาร์ฮาดีไม่แม่นยำในงานกำกับมากพอ และนั่นหมายรวมถึงฉากบาดหัวใจในองก์ท้ายที่เป็นเสมือนบทสรุปของความโกลาหลทั้งมวล เมื่อทุกคนพยายามฉกฉวยใบหน้าของความดีงามไว้กับตัวจนอาจพลั้งมือกระทำในสิ่งที่สามานย์ และทำลายความเป็นมนุษย์ของตัวเองโดยไม่ได้ตั้งใจ
อย่างไรก็ตาม กรณีหนัง A Hero ก็มีประเด็นให้ต้องถกเถียงกันครั้งใหญ่ เมื่อล่าสุด ฟาร์ฮาดีถูกนักศึกษาในชั้นเรียนภาพยนตร์ของเขา ฟ้องว่าแท้จริงแล้วฟาร์ฮาดีลอกพล็อตหนังของเธอซึ่งแรกเริ่มนั้นทำเป็นหนังสั้น ติดตามเรื่องราวของนักโทษคนหนึ่งแถวละแวกบ้านของเธอซึ่งเธอหาข้อมูลและถ่ายทำด้วยตนเอง โดยเส้นเรื่องดังกล่าวนั้นใกล้เคียงกับเรื่องราวของราฮิมใน A Hero (รายงานจากนิตยสาร The Hollywood Reporter ระบุว่า แม้แต่เพื่อนร่วมชั้นของนักศึกษาก็ยังรู้สึกว่า พล็อตเรื่องจากหนังของฟาร์ฮาดีนั้นใกล้เคียงกับลูกศิษย์มากจนมองเป็นอื่นไม่ได้นอกจากลอกมา) ทั้งนี้ตัวฟาร์ฮาดียังไม่ออกมาตอบโต้กรณีนี้แต่อย่างใด
เรื่อง: Man on Film