2 Min

84,000 เซลล์มีหนาว งานวิจัยพบว่า ‘เรียนรู้ทุกวันตลอดชีวิต’ จะทำให้คุณแก่ไปสมองไม่เลอะเลือน

2 Min
763 Views
02 Jan 2023

ทุกวันนี้เรากำลังมุ่งหน้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ยุคที่คนส่วนใหญ่ในสังคมเป็นคนแก่ และปัญหาที่สำคัญที่สุดของคนแก่นั้นไม่ใช่เรื่องสุขภาพอย่างเดียว แต่ยังเป็นเรื่องสมองด้วย

ปัญหาที่เกิดกับสมองส่งผลทั้งต่อชีวิตประจำวันของตัวเองและสังคม เพราะสุดท้าย ความเสื่อมของสมองนั้นทำให้ผู้สูงอายุมีภาวะที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้และนี่คือภาระในทุกด้าน

ดังนั้นจึงมีการหาคำตอบว่า จะทำยังไงให้คนแก่มีสมองที่ดีไปนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้?

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า จริงๆ แล้วความยืนยาวของประสิทธิภาพของสมอง มันไม่ได้เกี่ยวกับพันธุกรรมมากไปกว่าพฤติกรรมที่เราใช้มาตลอดชีวิต

กล่าวคือ ถ้าคุณเป็นคนที่เรียนรู้ไม่หยุดมาตลอดชีวิตแก่ๆ ไปสมองคุณจะเสื่อมช้ากว่าชาวบ้าน ความจำคุณจะดี

อธิบายง่ายๆ ว่า ในเชิงกลไกสมองก็คือ ทุกครั้งที่เราเรียนรู้อะไรใหม่ๆ สมองมันจะเหมือนสร้างหน่วยความจำเพิ่ม และถ้าคุณสร้างไปเรื่อยๆหน่วยความจำมันจะมีเยอะ ซึ่งแก่ๆ ไปก็ต้องยอมรับว่าสมองคุณยังไงก็เสื่อม แต่ถ้าคุณมีหน่วยความจำเยอะมากๆ ความเสื่อมที่ว่ามันก็จะไม่ได้ส่งผลต่อชีวิตมาก เพราะคุณมีเหลือให้มันเสื่อมเยอะ หรือถึงเสื่อมไปเยอะ คุณก็ยังมีหน่วยความจำเหลือเฟือที่จะใช้ในชีวิต ให้ชีวิตมันดำเนินไปได้ตามปกติ

แต่ในทางกลับกัน ถ้าคุณเป็นคนที่ไม่เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เลยหน่วยความจำคุณก็จะมีน้อย และพอถึงจุดที่มันเสื่อม เสื่อมแป๊บเดียวมันก็ไม่เหลือ และคุณก็จะกลายเป็นคนแก่เลอะเลือน จำไม่ได้ว่าตัวเองเคยพูดหรือทำอะไร

ทีนี้ อะไรคือการเรียนรู้ที่ว่า?

มีงานวิจัยพบว่า จริงๆ คนที่มีการศึกษาสูงมักจะแก่ไปความจำดี แต่มันก็มีงานวิจัยพบเช่นกันว่า ถึงการศึกษาคุณไม่สูง แต่ถ้าคุณชอบฟังบรรยาย และเป็นคนอ่านเขียนอย่างสม่ำเสมอ คุณก็จะมีความจำดีตอนแก่ได้เช่นกัน

ดังนั้นมันขึ้นอยู่กับกิจกรรมของคุณมากกว่าระดับการศึกษาโดยตรง

ซึ่งเขาก็ยังบอกอีกว่าการเรียนรู้ของพวกคนที่แก่ๆ ไปแล้วความจำดี ที่ว่านี้มันไม่ใช่การเรียนรู้ในห้องเรียนหรือตามตำราเท่านั้น การเรียนรู้ทางปัญญาหรือทักษะทางร่างกายนั้นนับหมด หรือพูดอีกแบบก็คือ ไม่ว่าคุณจะอ่านหนังสือใหม่ๆ หรือเรียนรู้ทักษะงานฝีมือใหม่ๆ หรือเรียนรู้ทักษะการทำงานทางปัญญาใหม่ๆ หรือทักษะทางกีฬาใหม่ๆ หรือเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ก็ตาม ถือว่าได้หมด

แต่ประเด็นสำคัญคือ คุณต้องเรียนรู้อะไรที่ใหม่สำหรับคุณ คือยิ่งไม่เคยรู้มาก่อน ยิ่งไม่ถนัดคือยิ่งดี เพราะมันยิ่งจะทำให้สมองสร้างหน่วยความจำเพิ่มมากขึ้น

และนี่อาจเป็นเคล็ดลับว่าทำยังไงแก่ไปความจำจะไม่แย่ มันไม่ใช่ว่าคุณต้องมีพันธุกรรมที่ดี ไม่ใช่ว่าคุณต้องกินอะไร แต่มันอยู่ที่การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆที่คุณสั่งสมมาตลอดชีวิต ซึ่งจะส่งผลให้สมองคุณมีหน่วยความจำเยอะพอที่ถึงมันจะเสื่อมไปในยามชรา  ความจำรวมๆ ของคุณก็จะยังคงดีอยู่

อ้างอิง

  • CNBC. Brain expert: The No. 1 thing that sets ‘SuperAgers’ apart from people with ‘weak memory skills’. https://bit.ly/3C6BXZ4