ความเหงา (loneliness) ดูเหมือนจะเป็นภาระทางจิตใจ หลายคนไม่อยากเหงา ค้นหาทุกวิถีทางเพื่อทำให้ตัวเองไม่ว่าง ติดต่อทุกคนเพื่อคลายเหงา วรรณกรรมและงานศิลปะที่หลากหลายเติบโตจากความเหงา อุตสาหกรรม ‘คลายเหงา’ เป็นหนึ่งในอุตสหกรรมที่สร้างมูลค่ามหาศาล หลายสิ่งของมนุษย์เชื่อมโยงกับอารมณ์นี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ความเหงาเป็นเพื่อนปกติของมนุษย์ที่เรารู้จักกันมาตั้งแต่เด็ก แต่ในหลายครั้ง ดูเหมือนว่าเราอาจจะไม่ได้รู้จักความเหงากันอย่างดีพอ
โดยประเด็นนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาจาก นักจิตวิทยาอย่าง Kasley Killam, MPH ผู้เชี่ยวชาญด้านศึกษาสังคมวิทยา จาก Harvard School of Public Health มาดูกันดีกว่า เรื่องของความเหงาข้อไหนที่เรามักจะเข้าใจผิดกันบ้าง
1.
ความเหงากับความโดดเดี่ยวทางสังคมเป็นเรื่องเดียวกัน (Self-isolation)
ศัพท์สองคำนี้ นับว่าเป็นศัพท์ที่คนเข้าใจผิดและมีการใช้ที่ซ้อนทับกันอยู่ตลอด ความโดดเดี่ยวทางสังคม สามารถเข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องของการ ‘อยู่คนเดียว’ การปลีกวิเวกออกจากผู้คน การไม่เข้าไปสัมผัสพื้นที่ที่มีมวลหมู่ประชาชนใช้ชีวิตอยู่
แต่ความเหงาแตกต่างกัน มันไม่ได้แปลว่าคุณจะต้องอยู่คนเดียวถึงต้องเหงา แต่เป็นเหมือนสภาวะที่คุณรู้สึกไม่เชื่อมต่อกับผู้คน ไม่ว่าจะอยู่คนเดียว หรือเดินอยู่ท่ามกลางเมืองใหญ่ ไม่ว่าคุณจะอยู่ท่ามกลางผู้คนมากมายขนาดไหน คุณก็รู้สึกเหงา
เช่น คุณจะรู้สึกเหงา ถ้าคุณไม่ได้มีความรู้สึกร่วม หรืออะไรที่เชื่อมต่อกับผู้คนเหล่านั้นได้เลย รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ถูกมองเห็น ไม่ได้ถูกรับฟัง หรือไม่มีคุณค่าสำหรับสังคมบางกลุ่ม
2.
ความเหงาเป็นสิ่งไม่ดี
เรามักจะวางอารมณ์เหงาไว้ในด้านลบ ด้านเดียวกับความเศร้า ด้านเดียวกับเรื่องราวน่าเสียใจ แต่เอาเข้าจริง ความรู้สึกในทุกด้าน ทั้งบวกและลบ ต่างเป็นอารมณ์ที่เราควรโอบกอดไว้ทั้งสิ้น พวกเราต่างเคยเหงากันเป็นธรรมดา มันเป็นเหมือนสัญญาณเตือนจากสมองว่าเรากำลังขาดบางสิ่งบางอย่าง มันคือสัญญาณที่เรียกเรากลับเข้าไปค้นหาคำตอบจากผู้คน หรือกำลังต้องการการเติมเต็มทางจิตใจ หรืออีกนัยหนึ่ง ความเหงาเป็นจุดกำเนิดของความคิดสร้างสรรค์ เป็นจุดกำเนิดของวรรณกรรมที่หลากหลาย และเป็นแรงบันดาลใจมากมายในการสรรค์สร้างงานศิลป์
แต่ถ้าความเหงาเริ่มเกาะกินจิตใจ เราก็ต้องยอมรับตามตรงว่า การจมอยู่มันมากเกินไป มันก็เป็นมะเร็งร้ายทางจิตใจที่ทำลายเราได้เช่นกัน
3.
ความเหงาเป็นปัญหาของคนแก่เท่านั้น
พอพูดถึงความเหงา เรามักคิดถึงภาพของผู้สูงอายุ ภาพของคนปลดเกษียณที่ต้องอยู่โดดเดี่ยว แต่ไม่ใช่เลย ความเหงาก็เข้าสัมผัสหัวใจของเด็กและวัยรุ่นได้เช่นกัน มีรายงานว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่อย่าง Gen Z และ Millenial ดูเหมือนเหงากว่าคนรุ่นก่อนอย่าง Baby Boomers เสียอีก
4.
ความเหงามีต้นกำเนิดจากเทคโนโลยี
ประเด็นนี้อาจจะมีความซับซ้อนอยู่บ้าง แต่อย่างที่เราทราบกันอยู่แล้ว พฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตหรือโซเชียลมีเดียที่มากจนเกินไป ย่อมทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ แต่ความเป็นจริง ความเหงาก็ไม่ได้มีต้นกำเนิดจากเทคโนโลยีไปเสียทั้งหมด
หากย้อนกลับไปดูที่คนรุ่นพ่อแม่ ถึงแม้จะเป็นวัยปลดเกษียณ แต่สมาร์ตโฟนกลายเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ทำให้พวกเขาสามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างว่างเว้น ถึงแม้จะมีวัฒนธรรมการใช้งานที่ต่างไปจากคนรุ่นใหม่บ้าง แต่เราก็พบว่ามันช่วยบำบัดความเหงาให้คนกลุ่มนี้ได้จริง
อาจจะต้องสรุปว่า การใช้โซเชียลมีเดียอย่างพอประมาณ หรือการใช้งานอย่างเหมาะสมน่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด สำหรับแก้เหงาหรือยิ่งเร่งเร้าให้เราตึงเครียด
5.
ความเหงาต้องแก้จากการมีเพื่อนเพิ่มเท่านั้น
ในวันที่เราต้องเปลี่ยนสถาบันการศึกษา หรือย้ายที่ทำงาน เรามักรู้สึกเหงาอยู่เสมอ หลายคนรู้สึกว่าจำเป็นต้องหาเพื่อนใหม่ในสังคมใหม่ให้เร็วที่สุด ซึ่งการมีเพื่อนในสังคมใหม่ก็นับว่าป็นเรื่องที่ดี แต่การดูแลความสัมพันธ์ที่ยังดำรงอยู่ก็เป็นสิ่งที่พึงกระทำเช่นกัน ลองหากิจกรรมทำร่วมกันให้มากขึ้น เชื่อเลยว่าพอคุณรู้สึกสนิทใจกับใครมากขึ้น ไว้วางใจใครมากขึ้น ความเหงาก็จางไปโดยปริยาย
หากคุณเหงา ก็ขอให้เป็นความเหงาที่ทำให้คุณขับเคลื่อนไปหาสังคม อย่าเป็นความเหงาที่เย็นเยือกไปถึงขั้วหัวใจจนทำร้ายร่างกายคุณเลย
อ้างอิง:
- Kasley Killam. 5 Major Myths About Loneliness. https://bit.ly/2EW7N0d