4 Min

5 แนวคิด ปรัชญาชีวิตที่ทำให้ใจเราเป็นสุขมากขึ้น

4 Min
3863 Views
12 Oct 2020
  • ซิสุ
  • ฮุกกะ
  • ลากอม
  • อิคิไก
  • วะบิ-ซะบิ

5 ชื่อเหล่านี้หลายคนอาจจะคุ้นหู ผ่านตา และเข้าใจถึง แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าแตกต่างกันอย่างไร และมีที่มาที่ไปอย่างไร ในบทความนี้ BrandThink จะมาอธิบายอย่างย่อให้เข้าใจง่ายๆ และสำหรับใครที่อยากไปศึกษาแต่ละด้านต่อที่ท้ายบทความได้มีหนังสือทั้งแบบแปลไทยให้ไปศึกษาต่อได้ ในตอนนี้เราไปดูกันเลยดีกว่าแต่ละอย่างนั้นเป็นมาอย่างไร และเราจะนำมาปรับใช้ได้อย่างไรกันบ้าง

เริ่มแรกด้วยฝั่งยุโรปเหนืออย่างฟินแลนด์ก่อน นั่นก็คือ ซิสุ (Sisu)

เวลาพูดถึงฟินแลนด์ เราอาจนึกถึงประเทศที่มีการศึกษาดีที่สุดในโลก, ประเทศที่หนาวสุดขั้ว, ลายดอกไม้ของ Marimekko ไปจนถึง ตัวการ์ตูนอย่าง Mumin แต่แท้จริงแล้วฟินแลนด์มีอะไรซ่อนอยู่อีกมาก

ย้อนกลับไกลหน่อยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพโซเวียตในยุคนั้นแข็งแกร่งมาก ไม่ว่าจะบุกหรือยึดตีเมืองใดๆ ก็ยากที่ต้านทานได้ เว้นเสียแต่ที่ฟินแลนด์ที่ใช้คนน้อยกว่าน้อยยืนหยัดต้านทานกองทัพโซเวียตได้นานถึง 3 เดือน

สาเหตุอะไรที่ทำให้คนฟินแลนด์มีหัวใจที่แข็งแกร่งแบบนี้ได้? ในภาษาฟินนิชเรียกกันว่า ซิสุ (Sisu) อันหมายถึงความกล้าหาญและเด็ดเดี่ยว เป็นส่วนผสมของการฮึดสู้และความกล้าหาญ ความดื้อดึงและการยืนหยัดต่อสู้หลังจากที่คนอื่นๆ ยกธงขาวไปแล้ว

สไตล์ของซิสุที่เราเห็นจากวัฒนธรรมของฟินแลนด์ที่โดดเด่นคงจะหนีไม่พ้นการว่ายน้ำท่ามกลางน้ำแข็ง เราอาจจะกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า ซิสุคือ แนวความคิดที่ไม่ได้แสวงหาความสุข แต่เป็นการใช้ชีวิตในแบบที่ “ยอมรับ” และ “เผชิญหน้า” กับสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ต่างหาก

เชื่อกันว่า ซิสุ สามารถฝึกได้ ด้วยการปรับวิถีชีวิตบางประการ เช่น ตื่นเช้ากว่าปกติซักเล็กน้อย ลุกจากเตียง สวมชุดออกกำลัง แล้วก้าวออกไปสัมผัสสิ่งรอบตัว โดยเราสามารถทดสอบซิสุของตัวเองได้ตลอดทั้งวัน โดยการรวบรวมความกล้าเพื่อพูดคุยเรื่องยากๆ กับเพื่อนร่วมงาน เพื่อน หรือเพื่อนบ้าน หรือจะเริ่มต้นงานที่เลื่อนมานาน ได้หักห้ามใจไม่ดื่มชานมไข่มุก แต่รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ลงรถป้ายที่เร็วขึ้น แล้วเดินต่ออีกนิดเพื่อกลับบ้าน ทำความสะอาดบ้านด้วยตัวเอง ไปจนถึง อ่านหนังสือโดยไม่ล้มเลิกกลางคัน เป็นต้น

ถัดมา เจ้าของแนวคิด “ฮุกกะ” คือประเทศเดนมาร์ก

ในภาษานอร์เวย์ ฮุกกะ (Hygge) แปลว่า การอยู่ดีมีสุข โดย Meik Wiking ผู้เขียนหนังสือเรื่อง ฮุกกะ ปรัชญาความสุขฉบับเดนมาร์ก (Hygge: Danish Secrets to Happy) กล่าวว่า ฮุกกะคือศิลปะในการสร้างความใกล้ชิด ผูกพัน ความรู้สึกผ่อนคลายในจิตวิญญาณ และการหาความสุขจากสิ่งรอบตัวในปัจจุบัน แต่การใช้แค่คำว่า ความสุข เพื่อสื่อถึงฮุกกะ ก็อาจไม่ถูกถ้วนซะทีเดียว เพราะว่ากันว่า ฮุกกะ ไม่สามารถแปลให้เป็นคำในภาษาอื่นได้อย่างเที่ยงตรง ถ้าเทียบกับภาษาอังกฤษน่าจะใกล้เคียงกับคำว่า ‘cozy’ ที่หมายถึง ความสุขสบาย โดยเราสามารถมีฮุกกะเองง่ายๆ แบบไม่ต้องไปถึงเดนมาร์กได้ด้วยการสร้างบรรยากาศสบายๆ แบบที่ตัวเองชอบขึ้นมาเอง เช่น การทำอาหารอร่อยๆทานเองที่บ้าน การนั่งดูหนังกับครอบครัว การนั่งอ่านหนังสือในพื้นที่สบายๆ ไปจนถึง การได้ทำกิจกรรมร่วมกันกับคนในครอบครัวเพื่อสานสายพันธ์ เป็นต้น เพราะมนุษย์เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม จึงต้องเลือกที่จะอยู่กับมันอย่างมีความสุข

และแนวคิดสุดท้ายจากฝั่งยุโรป คือ “ลากอม” จากประเทศสวีเดน

หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพของแนวคิด “ลากอม” (Lagom) ชัดขึ้น คงต้องเปรียบเทียบภาพของฮุกกะเหมือนเปลวเทียน ฮุกกะคือการให้ความสำคัญกับความสุขชั่วขณะที่เป็นอยู่ แต่ลากอม คือ วิถีที่จะมาปรับสมดุลการใช้ชีวิตในภาพใหญ่ให้เข้าที่เข้าทางมากขึ้น

ลากอมมีรากศัพท์มาจากวลี “Laget om.” ที่ชาวไวกิ้งนิยมพูดขณะส่งแก้วไวน์วนรอบโต๊ะ โดยแต่ละคนให้จิบแต่พอประมาณเพื่อที่ว่าทุกคนบนโต๊ะจะได้ดื่มไวน์กันหมด เราจึงอาจแปล “ลากอม” อย่างง่ายว่าๆ “ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป พอดีๆ”

โดยเราสามารถนำลากอมมาปรับใช้กับชีวิตได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการกิน, เสื้อผ้า, การใช้ชีวิต ไปจนถึงการทำงาน ซึ่งคำว่า “พอดี” ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราจึงไม่อาจแนะนำความพอดีได้ แต่การสังเกตชีวิตในแต่ละช่วงของเราและค่อยๆ ปรับให้มันพอดี นี่อาจจะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้เราได้ลากอมในชีวิตมากขึ้น

มาถึงฝั่งญี่ปุ่นกันบ้าง ประเทศญี่ปุ่นเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีแนวคิดหลากหลาย ซึ่งไม่ว่าใครก็สามารถนำหลักนั้นไปผสมกับหลักนี้ แล้วเอามาลงตัวกลายเป็นอีกหนึ่งสูตรของชีวิตได้ โดยในครั้งนี้เรานำมา 2 แนวคิดที่โด่งดัง

อิคิไก

อิคิไกไม่มีคำแปลตรงตัวแต่ ใกล้เคียงกับคำว่าความสุขในการมีชีวิตอยู่ เพราะฉะนั้นการค้นพบ Ikigai จะทำให้เราสามารถตอบตัวเองได้ว่า วันนี้เราตื่นไปทำงานทำไม? โดย องค์ประกอบของ Ikigai คือใจกลางความสมดุลระหว่าง 4 สิ่ง

  1. สิ่งที่รัก / What you love
  2. สิ่งที่ทำได้ดี / What you are good at
  3. สิ่งที่มีประโยชน์ต่อสังคม / What the world needs
  4. สิ่งที่สร้างรายได้ / What you can get paid for

ดูอาจจะเป็นเรื่องยากที่คนทั่วไปจะหาจุดสมดุลในการใช้ชีวิตทั้ง 4 อย่างได้ บางคนมี 1 มี 2 มี 3 แต่ก็ย่อมดีกว่าไม่มีเลย โดย อิคิไกของแต่ละคนก็จะแตกต่างกันออกไป และอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามช่วงอายุ เหมือนกับเมื่อเราโตขึ้น ความชอบ ความต้องการเราก็อาจจะเปลี่ยนไป (อ่านอิคิไกอย่างละเอียดได้ที่: http://bit.ly/33QhLaS )

มาถึงอย่างสุดท้าย คือ วะบิ-ซะบิ

วะบิ-ซะบิ (Wabi-Sabi) มาจากคำว่า วะบิ (Wabi) ที่แปลว่าความเรียบง่าย ความสงบ รวมกันกับคำว่า ซะบิ (Sabi) ที่หมายถึง ความงามและคุณค่าตามกาลเวลา ที่อาจจะไม่สมบูรณ์แบบ แนวคิดของ วะบิ-ซะบิ จึงเป็นการทำความเข้าใจและการยอมรับในความจริงแท้ของธรรมชาติที่มีเกิดและดับ ให้เรามองเห็นถึงความงดงามที่ไม่สมบูรณ์ เช่น ริ้วรอยบนใบหน้า แผลเป็นตัว รอยแตกของไม้ ไปจนถึงสนิมบนเหล็ก ต้นมอสบนหิน และต้นไม้ที่ไร้ใบ เป็นต้น

แนวคิดของวะบิ-ซะบิไม่เพียงนำมาใช้กับชีวิต แต่ยังนำไปถึงการออกแบบต่างๆ ทั้งสถาปัตยกรรมและหัตถกรรม

การที่เราจะมีหรือเข้าใจวะบิ-ซะบิได้นั้น ไม่จำเป็นต้องไปไกลถึงญี่ปุ่น แต่เรานำหลักที่สำคัญที่สุดของแนวคิดนี้มาปรับใช้ได้ คือ เรื่องความเรียบง่าย ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างที่มันควรจะเป็น เพราะเราทุกคน รวมไปถึงของทุกชิ้นต่างก็มีเอกลักษณ์และความสวยงามในตัวเองอยู่แล้วหรือเรียกได้ว่า วะบิ-ซะบิ เป็นการยอมรับสิ่งต่างๆ ในแบบที่มันเป็น หรือยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเข้าใจนั่นเอง

โดยสรุปแล้ว ไม่ว่าจะแนวคิดไหนก็ล้วนสามารถทำให้เรามีความสุขในชีวิตขึ้นได้ ไม่จำเป็นที่ว่าเธอฮุกกะ ฉันลากอม คุณอิคิไก แต่เราใช้แนวคิดจากหลายๆ ที่เพื่อนำมาเป็นสูตรผสมของชีวิตที่ลงตัวของเรา สูตรของชีวิตไม่มีสูตรตายตัว ไม่มีหลักสูตรไหนที่เป๊ะพอดีกับชีวิตเราเท่ากับเราได้เป็นคนหาสูตรชีวิตของตนเอง ดังนั้นแล้วแนวคิดเหล่านี้จึงเป็นเหมือนแค่เครื่องนำทางหรือแผนที่ไม่ให้เราหลง แต่การจะเดินไปสู่เป้าหมายเป็นเราที่ต้องลงมือทำเอง

อ้างอิง:

  • หนังสือ Finding Sisu: In Search of Courage, Strength and Happiness the Finnish Way. http://bit.ly/34zIOHa
  • หนังสือ Lagom: The Swedish Art of Balanced Living. http://bit.ly/2JZwFUf
  • หนังสือ The Little Book of Hygge, The Danish Way to Live Well. http://bit.ly/34F2bPm
  • หนังสือ WABI-SABI วะบิ-ซะบิ. http://bit.ly/36GPjdl
  • หนังสือ The Little book of Ikigai อิคิไก: ความหมายของการมีชีวิตอยู่. http://bit.ly/34ytbzQ