รู้ไหมว่าวันที่ 22 ก.ย. ของทุกปี ได้ถูกยกให้เป็น ‘วันแรดโลก’ (ที่หมายถึงแรดจริงๆ)
เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ‘แรด’ เป็นสัตว์ที่ถูกมนุษย์ล่าเพื่อเอานอไปขาย ส่งผลให้จำนวนแรกในธรรมชาติแทบทุกสายพันธุ์น้อยลงอย่างมาก และหลายสายพันธุ์ที่อยู่ในภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์อย่างยิ่ง ดังนั้นในแอฟริกาการปกป้องรักษาแรดซึ่งเป็นสัตว์ใหญ่เป็นสิ่งที่นักอนุรักษ์ให้ความสำคัญอย่างมาก และหลายครั้งที่ต้องมีการเคลื่อนย้ายแรดในธรรมชาติด้วยสาเหตุต่างๆ และวิธีขนย้ายด้วยเฮลิคอปเตอร์ยอดนิยมคือการ ‘หงายท้อง’ กลับหัวแรดเพื่อให้สะดวกกับการขนย้ายสำหรับระยะเวลาสั้นๆ

แรดหงายท้อง | BBC
แม้ว่าการห้อยหัวเป็นระยะเวลาสั้นๆ จะดูไม่มีปัญหาอะไรแต่มันไม่เคยมีการวิจัยอย่างจริงจังเพื่อค้นหาผลกระทบต่อตัวแรดจริงๆ ดังนั้นในปีที่ผ่านมา ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Cornell ในสหรัฐฯ จึงพยายามทุ่มแรงเพื่อหาคำตอบว่าตกลงมันมีผลกระทบอะไรกับตัวแรดรึเปล่า
โดยที่ในการทดลองทีมวิจัยได้ทำการวางยาสลบแรดดำ 12 ตัว และจัดแจงให้อยู่ในท่าหงายท้องเหมือนเวลาขนส่งทางอากาศเป็นเวลา 10 นาที แล้วตรวจสอบกล้ามเนื้อและการทำงานของอวัยวะภายในของพวกมัน โดยที่สรุปผลวิจัยคือการหงายแรดจนขาชี้ฟ้าตอนขนส่งไม่ได้มีผลอันตรายอะไรต่อสุขภาพร่างกายมันแต่อย่างใด
แรดที่หงายท้องขาชี้ฟ้ายังแข็งแรงดี การไหลเวียนของเลือดและการหายใจก็ปกติ ไม่มีความเสียหายต่อกระดูกและกล้ามเนื้อ
แต่งานวิจัยยังไปตรวจสอบท่าทางอื่นๆ ด้วย และพบว่าการนอนคว่ำแบบให้หน้าอกแรดแนบกับพื้นหรือนอนตะแคง กลายเป็นมีผลเสียต่อร่างกายเล็กน้อย โดนที่มีการหมุนเวียนของเลือด และการแลกเปลี่ยนก๊าซในปอดที่ไม่สม่ำเสมอกันนัก เนื่องจากถูกกดจากกล้ามเนื้อและกระดูก
เอาเป็นว่างานวิจัยนี้ทำให้เราได้ข้อสรุปว่าการเคลื่อนย้ายแรดแบบหงายท้องที่ทำๆ กันมาตลอดนั้น ไม่ได้มีปัญหาอะไรต่อร่างกายแรดเลย นักอนุรักษ์สามารถทำกันต่อไปได้หายห่วง
ส่วนทีมวิจัยก็ไม่ได้สูญเปล่าเสียทีเดียว เพราะงานวิจัยนี้ได้รับรางวัล Ig Nobel หรือรางวัลวิทยาศาสตร์ที่ไม่ค่อยจะมีสาระประจำปี 2021 ที่มอบให้กับงานวิจัยที่ดูเหมือนจะไม่มีสาระแต่ก็ช่วยพิสูจน์ให้เราได้เข้าใจในเรื่องต่างๆ ที่มองข้ามไปได้ อย่างน้อยก็ในเรื่องแรดหงายว่ามันจะไม่สร้างปัญหาต่อแรดจริงๆ
อ้างอิง
- BBC. Upside-down rhino research wins Ig Nobel Prize> https://bbc.in/3CobsMk