3 Min

17 ปีคดีตากใบ ‘อาชญากรรมโดยรัฐ’ ‘พี่โทนี่’ จำไม่ค่อยได้ แต่หลายคนยังไม่ลืม

3 Min
367 Views
26 Oct 2021

Select Paragraph To Read

  • ไม่มีรัฐบาลชุดไหนนำผู้กระทำผิดในคดีตากใบมาลงโทษ

ปี 2547 ในรัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ที่ตอนนี้คนรุ่นใหม่ในคลับเฮาส์คุ้นเคยในนาม ‘โทนี่ วู้ดซัม’ คือปีที่เกิดเหตุการณ์รุนแรงครั้งใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างน้อย 3 เหตุการณ์ และบางเหตุการณ์ อดีตนายกฯ บอกว่า “จำไม่ค่อยได้”

  • เหตุการณ์ที่ 1 เกิดขึ้นในวันที่ 4 มกราคม คือ การปล้นอาวุธปืนจากค่ายค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘ค่ายปิเหล็ง’ เพราะตั้งอยู่ในตำบลปิเหล็ง อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ถูกเปรียบเหมือนเป็น ‘ปฐมบท’ ของ ‘ไฟใต้’ เพราะครั้งนั้นมีทหารเสียชีวิต 4 นาย และผู้ก่อเหตุได้อาวุธปืนไป 413 กระบอก หลังจากนั้นมีการโจมตีเจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดขึ้นต่อเนื่อง
  • เหตุการณ์ที่ 2 เกิดขึ้นในวันที่ 28 เมษายน มีกลุ่มผู้ก่อเหตุโจมตีหน่วยงานและฐานที่มั่นของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงพร้อมกันนับร้อยจุด และเจ้าหน้าที่ระบุว่าผู้ก่อเหตุหนีเข้าไปในมัสยิดกรือเซะ สถานที่สำคัญทางศาสนาของจังหวัดปัตตานี และมีการยิงตอบโต้จากกลุ่มผู้ติดอาวุธ ทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิต และทางการไทยใช้อาวุธยิงโจมตีผู้ที่อยู่ในมัสยิด โดยมีผู้เสียชีวิตในบริเวณมัสยิดทั้งหมด 32 ราย
  • เหตุการณ์ที่ 3 เกิดขึ้นในวันที่ 25 ตุลาคม ที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งครบรอบ 17 ปีในวันนี้พอดี และเป็นเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดถึง 85 รายในวันเดียว และเป็นความตายที่เกิดขึ้นในระหว่างที่ประชาชนถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงควบคุมตัว

ทางด้าน ‘อังคณา นีละไพจิตร’ อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ระบุผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในวันนี้ว่า ‘เหตุการณ์ตากใบ‘ ถือเป็นหนึ่งในอาชญากรรมโดยรัฐ (State Crime) แม้รัฐบาลพลเรือนจะพยายามเยียวยาความเสียหายทางการเงินแก่ครอบครัว แต่ไม่มีรัฐบาลชุดใดที่ยอมรับความผิดที่เกิดขึ้นด้วยการนำคนผิดมาลงโทษ และคืนความยุติธรรมให้ผู้เสียหายและครอบครัว

อดีต กสม.กล่าวถึงรัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่ก้าวสู่ตำแหน่งหลังยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณเมื่อปี 2549 โดยระบุว่า แม้รัฐบาลนี้จะกล่าวคำขอโทษพี่น้องประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แทนรัฐบาลทักษิณ และต่อมารัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ให้การชดใช้เยียวยาด้านการเงินแก่ญาติผู้เสียชีวิต ผู้พิการ ผู้บาดเจ็บ และผู้สูญหาย แต่จนปัจจุบันก็ยังไม่มีการเปิดเผยความจริง และไม่มีผู้ใดออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นครั้งนั้น

ไม่มีรัฐบาลชุดไหนนำผู้กระทำผิดในคดีตากใบมาลงโทษ

เหตุการณ์ตากใบเริ่มขึ้นหลังจากประชาชนจำนวนหนึ่งมารวมตัวประท้วงหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ เพราะชาวบ้านที่เป็นสมาชิกของชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) รวม 6 คน ถูกตำรวจจับกุมและตั้งข้อกล่าวหาว่านำอาวุธของทางการให้มอบไปให้กลุ่มผู้ก่อความรุนแรง และการชุมนุมยืดเยื้อโดยมีผู้ยืนมุงดูเหตุการณ์อีกจำนวนหนึ่ง จนกระทั่งมีการปะทะเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่จึงยิงแก๊สน้ำตาและมีการใช้อาวุธจริงยิงใส่ผู้ชุมนุม โดยระบุว่าตอบโต้ผู้ชุมนุมที่ซุกซ่อนอาวุธ

หลังจากนั้น ผู้ชุมนุมและผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์รวม 1,370 คน ถูกเจ้าหน้าที่ทหารนำตัวขึ้นยานพาหนะของทางการรวม 28 คันเพื่อเคลื่อนย้ายไปค่ายทหารที่อยู่ห่างออกไปราว 150 กิโลเมตร ทำให้เกิดสภาพแออัดในรถ ผู้ถูกจับกุมส่วนใหญ่ถูกบังคับให้ ‘นอนคว่ำหน้าซ้อนกันหลายชั้น’ จึงมีผู้เสียชีวิต 78 รายเพราะขาดอากาศหายใจ รวมกับผู้เสียชีวิตจากกระสุนปืนในที่เกิดเหตุก่อนหน้านั้น 7 ราย เป็น 85 ราย และมีผู้สูญหายอีก 7 ราย

ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นคือ ‘ทักษิณ ชินวัตร‘ และผู้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก คือ ‘พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ’ รองนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ส่วน รมว.กระทรวงกลาโหม คือ ‘พล.อ.สัมพันธ์ บุญญานันต์’ และเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายใต้การประกาศกฎอัยการศึก ซึ่งมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน โดยผู้ที่ดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 ที่รับผิดชอบพื้นที่เกิดเหตุ คือ ‘พล.ท.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี’

ภายหลังมีการตั้งคณะกรรมการอิสระที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ตากใบขึ้นมา และรายงานดังกล่าวระบุว่าผู้ที่มีอำนาจรับผิดชอบ “ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง” ใช้กระสุนจริงสลายชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ ทั้งยังให้ทหารเกณฑ์และทหารพรานที่ไม่มีประสบการณ์เข้าดูแลเหตุการณ์ดังกล่าว

ขณะที่ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ไม่ได้ซุกซ่อนอาวุธตามที่เจ้าหน้าที่ระบุตอนแรก เพราะอาวุธที่พบในวันต่อมา คือ 26 ตุลาคม เป็นอาวุธที่ทางการระบุว่า “งมได้จากแม่น้ำ” แต่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงไม่พบหลักฐานเพียงพอบ่งชี้ว่าเป็นอาวุธของผู้ชุมนุม แม้ในที่เกิดเหตุจะมีร่องรอยกระสุนยิงจากฝั่งผู้ชุมนุม แต่ก็มีจำนวนไม่มากและไม่กี่คน ไม่ตรงกับคำกล่าวของเจ้าหน้าที่ที่บอกว่าผู้ชุมนุม “มีอาวุธจำนวนมาก”

นอกจากนี้ รายงานสอบข้อเท็จจริงในคดีนี้ยังระบุด้วยว่า เมื่อมีการพบผู้เสียชีวิตในรถบรรทุกขณะลำเลียงคนลงจากรถบรรทุก ณ เรือนจำทหารบกที่อยู่ปลายทาง เจ้าหน้าที่ควบคุมดูแลการลำเลียง “ไม่ได้สั่งการให้ดำเนินการใดกับรถบรรทุกที่จอดรออยู่ และไม่ได้แจ้งให้ผู้ควบคุมรถคันอื่นทราบ” จึงไม่ได้ดำเนินการใดๆ เพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น ถือเป็นการละเลย “เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น และเป็นการกระทำที่ไม่รับผิดชอบ”

อ้างอิง:

  • รายงานของคณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริง กรณีมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547. https://bit.ly/3GjEEqz
  • #17ปีโศกนาฏกรรมตากใบ : #17YearTakbaiTragedy #ความไร้ยางอายในการรับผิดของรัฐ #รัฐทหาร
    https://www.facebook.com/angkhana.nee