3 Min

เราจำเป็นต้อง ‘อาบน้ำ’ ทุกวันจริงเหรอ?

3 Min
1090 Views
06 Aug 2020

ชอบ ‘อาบน้ำ’ ไหมครับ?

ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ (บางคนอาจบอกว่า ขี้เกียจ) ก็คงต้องอาบน้ำกันทั้งนั้น ยิ่งช่วงหน้าร้อนตัวเหนียวๆ ยิ่งต้องอาบ

เมืองไทย หลายคนอาบน้ำวันละ 2 ครั้ง แต่บางคนอาจจะอาบแค่วันละ 1 ครั้ง

แต่รู้ไหมว่า ประเทศหลายแห่งในโลก คนไม่ได้อาบน้ำกันทุกวัน

1.
ประเทศ ‘เมืองหนาว’ ตั้งแต่ชาติยุโรปจนถึงจีน ญี่ปุ่น ไม่ได้อาบน้ำทุกวันจนเป็นปกติ แม้จะมีคนที่อาบน้ำทุกวัน แต่ก็มีไม่มาก

ค่าเฉลี่ยการอาบน้ำของประเทศเหล่านี้ ไม่ถึง 7 ครั้งต่อสัปดาห์

ข้อเท็จจริงเชิงสถิติระบุว่า คนอเมริกันถึง 1 ใน 3 ไม่ได้อาบน้ำทุกวัน คนจีนเพียง 1 ใน 5 เท่านั้นที่อาบน้ำทุกวัน และคนจีนอีกครึ่งประเทศ อาบน้ำราว 2 ครั้งต่อสัปดาห์เท่านั้น

ก่อนจะมองว่าคนไทยเป็นชาติรักสะอาด ลองมาดูกันก่อนว่า จริงๆ แล้วใน ‘ทางวิทยาศาสตร์’ เราควรจะอาบน้ำทุกวันไหม?

2.
ทุกวันนี้ ในทางวิทยาศาสตร์และสาธารณสุข ยังไม่มี ‘ข้อสรุป’ ว่ามนุษย์ควรจะอาบน้ำกี่ครั้ง หรือกระทั่งวิธีการอาบน้ำที่ถูกต้องคืออะไร

นี่คือเรื่องแปลกแต่จริง เราอยู่ในโลกที่มีไกด์ไลน์การล้างมือสู้โควิด-19 แบบ ‘มาตรฐานเดียว’ ทั่วโลก แต่กลับไม่มีมาตรฐานเดียวกันในการอาบน้ำ

และนี่เป็นเหตุผลให้คนทั่วโลกมีการอาบน้ำที่ต่างกันทั้งในเชิงความถี่และวิธีการ จนเป็นเหตุให้การอาบน้ำเป็นเรื่องของวัฒนธรรม จนถึงการเลี้ยงดูในครอบครัว

บางคนอาจสงสัยว่า การอาบน้ำเป็นกิจกรรม ‘ทำความสะอาด’ ร่างกาย ดังนั้น ยิ่งทำบ่อยก็ควรจะยิ่งดีไม่ใช่เหรอ?

ถ้าจะพูดสั้นที่สุดคือ “ใช่”

การทำความสะอาด โดยพื้นฐานย่อมดี แต่การอาบน้ำหรือการชำระผิวหนังใดๆ หาก ‘มากเกินไป’ ไม่ดีแน่นอน เพราะความชุ่มชื้นของผิวหนังจะหายไปหมด ทำให้ผิวแห้งและแตกได้

พอผิวแตกเป็นแผล พวก ‘เชื้อโรค’ ก็จะเข้าไปได้ และในด้านหนึ่ง ถ้าสบู่ที่ใช้ เป็นสบู่ฆ่าแบคทีเรีย การอาบน้ำบ่อยเกินไป ก็จะทำให้พวกแบคทีเรียที่ดีตายจากผิวหนังมากเกินไป

ดังนั้นการ ‘อาบน้ำมากไป’ เป็นสิ่งไม่ดีแน่ๆ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่มีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ แต่การ ‘อาบน้ำน้อยเกินไป’ ก็คงจะไม่ดีเช่นกัน ด้วยเหตุผลที่คนทั่วไปเข้าใจได้ไม่ยาก

ปัญหาคือโลกนี้ไม่สามารถตกลงกันได้ว่า ‘สมดุล’ คือตรงไหน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะลักษณะทางภูมิอากาศในแต่ละพื้นที่นั้นสัมพันธ์โดยตรงกับคำถามที่ว่า เราควรจะอาบน้ำถี่แค่ไหน?

3.
ในกรณีของบ้านเราและเมืองร้อนทั้งหลาย คงจะสมเหตุสมผลที่เราจะอาบน้ำอย่างต่ำวันละครั้ง เพราะไม่อาบก็ ‘ตัวเหนียว’

ส่วนจะอาบวันละ 2 ครั้งหรือไม่ นี่ก็อาจจะต้องถกเถียงกัน

ด้านเมืองหนาวที่ไม่ ‘ตัวเหนียว’ ก็เป็นอีกกรณี เพราะอากาศแห้งกว่าบ้านเรา และการอาบน้ำบ่อยๆ ทำให้ผิวแห้งแน่นอน

ในกรณีนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังย้ำว่า การอาบน้ำสระผมวันเว้นวัน น่าจะเป็นวิธีที่ดีต่อสุขภาพผิวที่สุด และไม่ควรจะอาบน้ำเป็นเวลานาน เรียกว่าแทบจะ “วิ่งผ่านน้ำ” และฟอกสบู่ตรงจุดที่อับ เช่น รักแร้และเป้าก็พอ

บางคนอาจรู้สึกพิลึกที่คนมีความรู้มาบอกให้คนไม่ควรจะอาบน้ำทุกวัน แต่ลองไปค้นดูจะพบคำแนะนำแบบนี้เต็มไปหมด แม้ว่าจะต่างกันในรายละเอียด แต่ประเด็นที่เหมือนก็คือ การอาบน้ำ (รวมถึงสระผม) ทุกวัน ไม่ใช่สิ่งที่ดี

ส่วนหนึ่งที่ ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ ออกมาพูดแบบนี้ ต้องเข้าใจก่อนว่าในเมืองหนาว คนอาบน้ำทุกวัน ไม่ใช่เรื่องความพยายามด้านสาธารณสุข แต่เป็นความพยายามของบริษัทที่ผลิตสบู่และแชมพู เพราะคนยิ่งอาบน้ำสระผมบ่อย สินค้าชำระร่างกายก็ยิ่งขายดี

ดังนั้นบริษัทผลิตสบู่ยาสระผมจึงโฆษณาให้คนอาบน้ำสระผมทุกวัน

เรื่องนี้ดีต่อผลกำไรของบริษัท แต่ไม่ดีต่อสุขภาพผิว

4.
ไม่ใช่ทุกคนบนโลกจะอาบน้ำวันละ 2 ครั้ง หรือกระทั่งอาบน้ำทุกวัน ทุกพื้นที่ต่างมีวัฒนธรรมการอาบน้ำเป็นของตัวเอง และไม่มี ‘มาตรฐานสากล’ ในเชิงสาธารณสุข

ดังนั้น ในแง่หนึ่ง ก็ไม่ควรไปมองชนชาติที่อาบน้ำน้อยกว่าเราว่า ‘สกปรก’ นะครับ

อ้างอิง: Euromonitor: https://bit.ly/2OJ162X
Harvard Health Publishing: https://bit.ly/39dr3kK
Business Insider: https://bit.ly/2OISNEf
The Atlantic: https://bit.ly/2BPh4WC