พอพูดถึงเรื่องน้ำท่วมสำหรับ กทม. เขาให้เรียกว่าน้ำรอระบาย การแก้ไขปัญหา มักจะหาทางออกที่ง่ายที่สุดโดยไม่ยึดหลักทางวิชาการ และความคุ้มทุนในเชิงเศรษฐศาสตร์ คงได้ข่าวบ่อย ๆ กันว่า อุโมงค์ยักษ์เพื่อระบายน้ำของ กทม. และกำลังจะมีการก่อสร้างอีกหลายแห่ง
ถ้าฟังดูเผิน ๆ ด้วยเหตุผลก็พอจะเข้าใจทำไมเขาจึงเลือกแก้ปัญหาด้วยวิธีนี ปัญหาหลักที่เป็นจุดในการตัดสินใจคือเรื่องที่ดินสำหรับขยายหรือก่อสร้างคลองระบายน้ำเพราะในเขต กทม. มีบ้านเรือนอยู่เต็มไปหมด จะต้องมีการเวนคืนที่ดิน หรือกรณีบ้านเรือนรุกล้ำแนวคลองระบายน้ำ ก็ติดปัญหาไม่สามารถจะฟ้องรื้อถอนบ้านเรือนเหล่านี้ได้ แต่ความเป็นจริงแล้วเป็นเพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเลือกวิธีเลี่ยงปัญหา แทนการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และมีเรื่องประชานิยมคะแนนเสียงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
เคยสงสัยไหมครับว่า ทำไมทีจะสร้างโครงการรถไฟฟ้าหรือถนนเชื่อมทางลัดใน กทม.ซึ่งล้วนต้องมีการเวนคืนที่ดินจำนวนมาก สามารถทำได้ทั้งๆ ที่ขีดเส้นแผนที่ในเขตกทม.ต้องเจอกับอาคารบ้านเรือนทั้งนั้นแต่พอพูดถึงการขยายแนวคลองหรือขุดคลองใหม่ ข้ออ้างที่ว่าทำไม่ได้เพราะติดปัญหาเวนคืนที่ดิน มันช่างเป็นแนวคิดที่ประหลาดไม่สมเหตุสมผล
ทั้งนี้ พอเดาได้ว่าประชาชนเห็นประโยชน์ของถนนมากกว่าคลอง เพราะที่รอบๆ ถนนจะมีราคาสูงขึ้น การเจรจาต่อรองของบประมาณง่าย แต่ถ้าเป็นคลองไม่ทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้น กอปรกับมีพวกองค์กรเอกชนคอยสนับสนุนต่อต้านภายใต้ประเด็นมนุษยธรรม ไม่ได้คิดนอกกรอบว่าถ้ามีการพัฒนาพื้นที่สองฝั่งคลองอย่างถูกต้อง จะทำให้มีคุณค่ามหาศาลต่อประชาชนที่อยู่โดยรอบและลดความเสี่ยงจากน้ำท่วม (อย่าลืมว่าน้ำท่วมปี 2554 เกิดความสูญเสียมีมูลค่าสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท)
ทีนี้ หันมาดูด้านเทคนิคกันบ้าง ถ้าหน่วยงานมีความจริงจัง และพิจารณาออกแบบโดยครอบคลุมทุกมิติ น่าจะพอเปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย ระหว่างการขุดคลอง หรือฟื้นฟูแนวคลองเดิมกับการก่อสร้างอุโมงค์ได้ ขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบเบื้องต้นโดยไม่ลงลึกทางเทคนิคดังต่อไปนี
คลองระบายน้ำ
ข้อดี:
- ระบายน้ำดยแรงโน้มถ่วงโลก ไม่ต้องเปลืองพลังงานในการสูบน้ำ
- ใช้สำหรับเอนกประสงค์ ทั้งในการสัญจรทางน้ำ ด้านที่พักผ่อนหย่อนใจริมน้ำ ระบายน้ำฝน ฯลฯ
- กรณีเป็นคลองเดิม การขยายคลองตามเอกสารสิทธิของเดิม ไม่ต้องเสียงบประมาณในการเวนคืนที่ดิน
ข้อเสีย
- ต้องใช้พื้นที่บนบกในกรณีขุดคลองใหม่
- ติดขัดเรื่องการฟ้องรื้อถอนบ้านเรือนที่บุกรุก แท้จริงแล้วไม่น่าจะเป็นข้อเสียเช่น หน่วยงานรับผิดชอบ มักจะยกเป็นข้ออ้างเพราะอยากทำงานง่ายๆ และ
- ต้องมีการดูแลรักษาและเฝ้าระวังการทิ้งขยะและน้ำเสีย
อุโมงระบายน้ำ
ข้อดี
- ไม่ต้องเวนคืนที่ดินบนพื้นผิว เพราะขุดอยู่ใต้ดิน
- หน่วยงานทำงานง่าย ไม่ต้องมีปัญหากับชุมชน
ข้อเสีย
- เมื่อเริ่มโครงการอุโมงค์ เท่ากับเริ่มเซ็นต์สัญญาซื้อไฟฟ้าเพื่อการสูบน้ำและเป็นสัญญาตลอดอายุของโครงการ ถ้าระบายน้ำเป็นระดับ 100cms ก็ต้องใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็กทีเดียว ค่าใช้จ่ายสูงและจ่ายระยะยาว
- ค่าก่อสร้างแพงมาก เมื่อเทียบกับการขุดคลอง อาจจะแย้งว่าถ้าต้องเวนคืนที่ดิน งบประมาณค่าเวนคืนจะสูงด้วย แต่เรามี พ.ร.บ. การจัดรูปที่ดินเพื่อการพัฒนา ซึ่งถ้านำ พ.ร.บ. นี้มาใช้ร่วมกับการพัฒนาที่ดินสองฝั่งคลอง เผลอ ๆ รัฐจะได้กำไรจากโครงการด้วยซ้ำ ซึ่งทางประเทศจีน ประเทศเกาหลีและประเทศญี่ปุ่นใช้วิธีนี อย่างได้ผล
- อุโมงค์เพื่อการระบายน้ำ มีปัญหาทางเทคนิคด้านอื่นๆ นอกจากเรื่องต้องสูบน้ำแล้วคือ การบำรุงรักษาเพราะอยู่ลึกและเต็มไปด้วยน้ำ ไม่สามารถจะเข้าไปสังเกตรอยรั่วและทำการบำรุงรักษาแบบอุโมงค์รถยนต์หรือรถไฟได้ เพราะอุโมงค์พวกนี้สามารถเข้าไปได้ตลอดเวลา อีกประการหนึ่งน้ำที่จะระบายหรือน้ำรอระบายในเขต กทม. เต็มไปด้วยขยะปฏิกูลแถมด้วยตะกอนแขวนลอยที่มากับน้ำในฤดูฝน อุโมงค์มีโอกาสอุดตันสูง (ปี 2554 ในคลองเต็มไปด้วยที่นอน เฟอร์นิเจอร์ที่ไม่ใช้ สารพัดชนิดที่ประชาชนใช้คลองเพื่อกำจัดสิ่งที่ไม่ใช้)
โดยสรุปการตัดสินใจเลือกรูปแบบโครงสร้าง นอกจากจะต้องพิจารณารอบด้านแล้ว ยังต้องพิจารณาถึงโอกาสของคนรุ่นต่อไปด้วย การตัดสินใจโดยเอาความสะดวกในปัจจุบันอาจจะเป็นการทำลายโอกาสการพัฒนาของคนรุ่นต่อไป เช่นกรณียอมร่นความกว้างของคลองเพราะมนุษย์ธรรม แต่เป็นการรับรองสิทธิให้กับกลุ่มบุคคลที่ไม่เคารพกฎหมายรุกล้ำที่สาธารณะ จะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีและเกิดความไม่เป็นธรรมในสังคม อีกทั้งในอนาคต หากมีความจำเป็นต้องขยายแนวเขตคลอง จะทำไม่ได้เพราะไปสร้างสิ่งก่อสร้างจำกัดตัวเองไว้ คนรุ่นต่อไปหมดโอกาสในการใช้ประโยชน์จากที่สาธารณะที่ในหลวงองค์ก่อนๆพระราชทานให้เพื่อสาธารณะประโยชน์ จึงสมควรที่จะได้มีการทบทวนกระบวนการและวิธีการพัฒนาเสียใหม่ เพื่อสร้างมาตรฐานบนพื้นฐานธรรมภิบาล ถูกต้องตามหลักวิชาการและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากกว่าแค่ชุมชนบางกลุ่ม การจัดหาที่ในบริเวณใกล้เคียงหรือแม้กระทั่งซื้อที่ดินเพื่อสร้างเป็นที่อยู่อาศัยให้ชุมชนที่จะต้องรื อถอนออกจากพื้นที่ ย่อมเป็นแนวทางที่ดีและคุ้มค่ากว่าการแก้ไขแบบง่ายๆ ตัวอย่างที่สำเร็จด้วยดีได้แก่ ชุมชนเคหะดินแดงของการเคหะแห่งชาติ ใช้เวลาและความพยายามมากแต่ได้ผลคุ้มค่า ตอบโจทย์ได้ทั งด้านสังคมและการพัฒนาคุณภาพชีวิต
#สมัชชารักษ์แม่น้ำลำคลอง