วิวัฒนาการของควอนตัมคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนโลกเป็นหนัง Sci-Fi
ย้อนไปเมื่อปี ค.ศ. 1982 นักฟิสิกส์รางวัลโนเบล ริชาร์ด ไฟน์แมน เสนอว่าถ้าเราต้องการทำความเข้าใจธรรมชาติ เราควรมีคอมพิวเตอร์ที่ทำโดยการเรียงอะตอมเป็นตัวๆ และนำคุณสมบัติเชิงควอนตัมมาใช้
สมัยนั้นนักวิทยาศาสตร์หาว่าไฟน์แมนนั้นเพ้อเจ้อ เพราะคิดว่าการควบคุมอะตอมเป็นตัวๆ นั้นเป็นไปไม่ได้
ในปี ค.ศ. 1995 กลุ่มวิจัยของ ศ.เดวิด ไวน์แลน จาก National Institute of Standards and Technology ประเทศอเมริกา สาธิตการควบคุมอะตอมโดยใช้เทคโนโลยีกักขังไอออน ผลงานวิจัยนี้ทำให้ไวน์แลน ได้รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี ค.ศ. 2012
ในขณะเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนึงก็คิดว่า ควอนตัมคอมพิวเตอร์เป็นเรื่องไร้สาระ เพราะคอมพิวเตอร์ปัจจุบันก็ดีอยู่แล้ว
ในปี ค.ศ. 1994 ศ.ปีเตอร์ ชอร์ จาก MIT เสนออัลกอริทึมที่ทำให้ควอนตัมคอมพิวเตอร์สามารถแยกตัวประกอบได้เร็วกว่าทุกอัลกอริทึมที่ใช้บนคอมพิวเตอร์แบบปกติ ควอนตัมอัลกอริทึมตัวใหม่นี้ เร็วขนาดที่ทำให้ควอนตัมคอมพิวเตอร์แฮ็กระบบความปลอดภัยทางอินเตอร์เน็ต (RSA) ได้ภายในไม่กี่นาที
ต่อมานักวิทยาศาสตร์กลุ่มนึงก็ตั้งแง่ว่า ปีเตอร์ ชอร์ อาจจะแค่โชคดี จริงๆ แล้ว ในอนาคตอาจมีคนคิดอัลกอริทึมของคอมพิวเตอร์แบบปกติ ให้เร็วกว่าควอนตัมอัลกอริทึมของชอร์ก็ได้
ในปี ค.ศ. 2010 ศ.สก๊อต แอนรอลสันต์ และ ศ.อเล็กซ์ อาหิพอฟ พิสูจน์ทางคณิตศาสตร์ว่า มีปัญหาบางชนิด ที่เฉพาะควอนตัมคอมพิวเตอร์เท่านั้นที่แก้ได้ ต่อให้คุณฉลาดแค่ไหน เป็นไอน์สไตน์ กลับชาติมาเกิด ก็ไม่สามารถใช้คอมพิวเตอร์ปกติแก้ปัญหานี้ได้ ความ “เหนือกว่า” ของควอนตัมคอมพิวเตอร์นี้ถูกเรียกภายหลังว่า “Quantum Supremacy”
ถึงกระนั้น นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนึงก็ยังตั้งแง่ว่า การจะโชว์ Quantum Supremacy นั้นเป็นไปไม่ได้หรอก เพราะต้องควบคุมอะตอมหรือ “คิวบิต” จำนวนมาก
ในปี ค.ศ.2019 ทีมวิจัยจากบริษัทกูเกิ้ล สร้างควอนตัมคอมพิวเตอร์ขนาด 53 คิวบิต และแสดง Quantum Supremacy เป็นครั้งแรก
แต่นักวิจารณ์ยังไม่หยุดแค่นั้น หลายคนยังตั้งแง่ว่า Quantum Supremacy นั้น “ไร้ประโยชน์” เปรียบเสมือนรถที่วิ่งเร็วที่สุดในโลก แต่วิ่งตรงได้อย่างเดียว
ในเดือนตุลาคม ค.ศ.2020 ทีมวิจัยจากกูเกิ้ลและไอบีเอ็ม ตีพิมพ์ผลงานวิจัย ที่ปูรากฐานทางทฤษฏีของ Quantum Supremacy สำหรับการใช้งานปัญญาประดิษฐ์.
สุดท้ายแล้ว ควอนตัมคอมพิวเตอร์จะใช้ได้จริงปีนี้ ปีหน้า คงไม่มีใครตอบได้ แต่คงเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน ที่จะต้องพร้อมรับมือกับเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่เสมอ