4 Min

รู้จัก Nikola คู่แข่งที่น่ากลัวของ Tesla หรือสตาร์ทอัพแสนล้านลวงโลกรายใหม่?

4 Min
300 Views
06 Oct 2020

ในโลกของสตาร์ทอัพการกล่าวอ้างสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ และศักยภาพของบริษัทที่เกินจริงเพื่อสร้างความคาดหวังให้กับนักลงทุน เพิ่มมูลค่าบริษัทดูจะเป็นเรื่องปกติ ซึ่งในระดับทั่วไป ก็จะเป็นความท้าทายของบริษัทเองว่าจะสามารถดำเนินกิจการไปได้ใกล้กับที่ “โม้” ไว้แค่ไหน

อย่างไรก็ดี ในวงการสตาร์ทอัพก็มีบริษัทจำนวนหนึ่งที่สร้างบริษัทมา ระดมทุนหลักพันล้านหมื่นล้านมาด้วยจากคำโกหกล้วนๆ

ซึ่งตัวอย่างก่อนหน้านี้ที่โด่งดังก็ได้แก่ Theranos บริษัทที่ “โม้” ว่าสามารถสร้างชุดตรวจสารพัดโรคได้จากเลือดหยดเล็กๆ เจาะที่ปลายนิ้ว ก่อนที่จะถูกแฉว่าทั้งหมดคือการลวงโลกขนานใหญ่

และในปี 2020 นี้ คนก็สงสัยว่าบริษัทชื่อ Nikola จะเป็น Theranos เจ้าใหม่ที่โหดกว่าเดิม

1.

Nikola คืออะไร? อธิบายง่ายๆ Nikola คือ “แฝดคนละฝา” ของเทสล่า (Tesla)

สองบริษัทนี้ คอนเซ็ปต์คล้ายๆ กันคือ หยิบยืมชื่อบริษัทมาจากนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องอย่าง Nikola Tesla เหมือนกัน จะทำรถยนต์พลังงานสะอาดขายเหมือนกัน แต่ต่างกันที่เทสล่าจะใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ทาง Nikola จะใช้รถยนต์พลังไฮโดรเจน

ซึ่งพลังงานไฮโดรเจนและแบตเตอรี่พลังงานไฮโดรเจนมีจริงๆ ไม่ใช่พลังงานแบบ “ขี้โม้” มีคนสกัดมาทำได้จริงแล้วในทางวิทยาศาสตร์ และในแง่คอนเซปต์นี่คือพลังงานที่สุดยอดมาก เพราะไฮโดรเจนมีล้นเหลือบนโลก และในระดับคอนเซปต์ เครื่องยนต์นั้นสามารถใช้น้ำเปล่าแทนน้ำมันเลย เพราะในน้ำเปล่ามีไฮโดรเจนถึง 2 โมเลกุล (สูตรเคมีคือ H2O)

2.

สิ่งที่ท้าทายของ Nikola ก็คือ การเอาคอนเซ็ปต์พลังงานไฮโดรเจนมาใส่รถยนต์ให้ใช้ได้จริงๆ นี่แหละ

และนั่นก็คือ “ความยาก” ในทางวิศวกรรม เพราะเทคโนโลยีจำนวนมากในโลกต้องใช้เวลายาวนานหลังจากมีการ “ค้นพบ” ในการจะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ให้มนุษย์ใช้จริง

ความประหลาดของ Nikola ก็คือ บริษัทนี้เข้าไปซื้อขายในตลาดหุ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2020 แล้ว โดยที่บริษัทยังไม่มีสินค้าหรือบริการอะไรมาขายในตลาดแม้แต่ชิ้นเดียว

ขอเน้นว่า “ไม่มีสินค้าและบริการ” ไม่ใช่แค่ “ขาดทุน” แต่คือ “ไม่มีรายได้” เลย

3.

คนที่คุ้นกับวงจรธุรกิจสตาร์ทอัพก็คงงงไปด้วย เพราะกรณีนี้ “เพี้ยนจริงๆ” บริษัทที่เข้าตลาดหุ้นไปทั้งๆ ที่ยังขาดทุนหรือไม่มีกำไรเลยตั้งแต่เริ่มกิจการ เอาจริงๆ เราเห็นบ่อยและเป็นเรื่องปกติของสตาร์ทอัพ (ยกตัวอย่างแบบชัดๆ ก็ Uber นี่แหละ) แต่บริษัทที่ไม่มีรายได้เป็นชิ้นเป็นอัน เพราะไม่มีสินค้าและบริการอะไรมาขายเลย ถ้าในจังหวะเป็นสตาร์ทอัพถือเป็นเรื่องปกติ แต่จังหวะเข้าตลาดหุ้นแล้วโดยบริษัทยังหารายได้ใดๆ ไม่ได้เลยนี่ ดูจะผิดปกติแน่ๆ อย่างน้อยๆ ก.ล.ต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) ของอเมริกาไม่ยอมให้อะไรเกิดขึ้นแน่ๆ ในภาวะปกติ

เทคนิคการ “เล่นแร่แปรธาตุ” ทางการเงินที่ทำให้ Nikola เข้าตลาดหุ้นไปได้คือการรวมบริษัทกับ “บริษัทถือหุ้น” (holding company) ที่อยู่ในตลาดหุ้นอยู่แล้ว ซึ่งบริษัทพวกนี้ไม่ได้มีกิจการอะไรของตัวเอง แต่กิจการคือถือหุ้นบริษัทอื่นๆ (บริษัทแบบนี้ดังสุดก็ได้แก่ Berkshire Hathaway ของวอร์เรน บัฟเฟตต์) และพอบริษัทแบบนี้เข้าร่วมกับ Nikola

ทาง Nikola ก็เข้าไปอยู่ในตลาดหุ้นได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการปกติที่จะต้องถูกตรวจสอบทางบัญชีมากมายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการฉ้อโกง

4.

Nikola เข้าตลาดหุ้นไป และหุ้นก็พุ่งขึ้นกระฉูดมาก เพราะแนวโน้มปลายปี 2020 ค่อนข้างชัดเจนว่าหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีพลังงานสะอาดจะมีอนาคตที่ดี ดังจะเห็นได้จากหุ้น Tesla ที่ขึ้นสวนกระแสเศรษฐกิจมาตลอดการระบาดของโควิด-19 จนตอนนี้ราคาสูงจนเกินเหตุ นักลงทุนเริ่มถอย และพอ Nikola เข้ามาเป็นตัวเลือกใหม่สดๆ ร้อนๆ ของหุ้นกลุ่มเดียวกัน นักลงทุนก็เลยแห่กันไปซื้อ

ทีนี้ ปัญหาก็คือ นี่คือ “กระแส” ล้วนๆ นักลงทุนส่วนใหญ่อาจไม่ได้ไปดูจริงๆ ด้วยซ้ำว่า Nikola จริงๆ ทำได้ตามที่อวดอ้างไว้แค่ไหน

เพราะข้อเท็จจริงอย่างที่บอก Nikola ไม่ได้มีผลิตภัณฑ์อะไรขายมาในท้องตลาดเลย ทุกวันนี้มีแค่ ‘รถโปรโตไทป์’ เอาไว้โชว์นักลงทุน ถ้าโครงการของ Nikola สำเร็จจริงๆ สิ่งที่จะต้องตามมาคือการสร้าง “ปั๊มไฮโดรเจน” เพื่อเติมไฮโดรเจนให้รถ

ซึ่งเรื่องนี้ทาง Nikola ยังไม่มีโปรโตไทป์ด้วยซ้ำ ว่าบริษัทจะสร้างปั๊มอย่างไรและเท่าไร เพื่อตอบสนองรถที่ต้องใช้พลังงานไฮโดรเจนที่บริษัททำมาขาย

5.

ดังนั้น นักลงทุนจำนวนหนึ่งจึงระมัดระวังไม่น้อยกับ Nikola และในนักลงทุนกลุ่มนี้ก็จะมีนักลงทุนกลุ่ม “แทงสวน” หรือที่เรียกกันว่า “ช็อร์ตเซลเลอร์” ซึ่งก็คือนักลงทุนที่จ้องจะทำกำไรจากการที่หุ้นบริษัทต่างๆ ตก

นักลงทุนกลุ่มนี้ออกรายงานว่า Nikola เป็นบริษัทที่หลอกลวงนักลงทุน และเคลมกันถึงขั้นว่าเอาจริงๆ รถรุ่นแรกของ Nikola ในวีดีโอโปรโมตนั้นจริงๆ วิ่งไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่ปล่อยเกียร์ว่างให้ไหลลงจากภูเขาให้ดูเหมือนวิ่งได้ และเหล่านักลงทุนก็โดนต้มกันจนเปื่อย โดยรายงานนี้ออกมาวันที่ 10 กันยายน 2020

แน่นอน ฝ่ายที่ปกป้อง Nikola ก็มีข้อแก้ต่างสารพัดให้กับข้อกล่าวหานี้ และพยายามจะบอกว่าพวกนักลงทุนกลุ่มที่ออกมาแฉก็แค่ต้องการจะ “ทุบหุ้น” เพื่อทำกำไร ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรในตลาดหุ้น และมันก็ทำหุ้นตกได้จริงๆ

6.

ประเด็นต่อมาก็คือพอรายงานออกมา ทาง กลต. และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐก็รับไม้ต่อในการไต่สวนกรณีฉ้อโกงของ Nikola ทำให้หุ้นตกอย่างต่อเนื่อง

กระทั่งในที่สุด วันที่ 21 กันยายน 2020 ทางผู้ก่อตั้งและประธานของ Nikola อย่าง Trevor Milton ก็ประกาศลาออกจากบริษัท และก็ไม่ต้องแปลกใจเลยว่าหุ้นจะร่วงต่อไปยาวๆ

แน่นอนในตอนนี้ เรายังไม่สามารถเคลมได้เต็มที่ว่า Nikola เป็นบริษัทที่หลอกลวงประชาชน แต่หลายๆ เหตุการณ์ที่ว่ามา ก็เรียกได้ว่าเราจะสงสัยว่า Nikola จะเป็นแบบนั้นก็ไม่แปลก

ทั้งนี้ ถ้า Nikola พัง บริษัทที่จะซวยตามก็คือ General Motors เพราะทาง General Motors ประกาศเป็นพาร์ตเนอร์กับ Nikola พร้อมกับร่วมทุนก่อนเกิดเรื่องฉาวได้ไม่นานเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2020 ในขณะที่รายงานฉาวเผยแพร่หลังจากนั้นสองวัน

และก็น่าจะซวยจริงๆ เพราะยอดขายรถยนต์ระยะยาวของบริษัทรถยนต์ใหม่ๆ นั้นไม่มั่นคงเลยกับโลกใหม่ที่คนต้องการพลังงานสะอาด และบริษัทรถยนต์เก่าๆ ก็พยายามจะร่วมมือกับบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อให้ได้เทคโนโลยีในการผลิตรถยนต์แบบใหม่มา ใส่กับโครงสร้างด้านการจัดจำหน่ายและการตลาดที่มีอยู่เดิม

7.

เรียกได้ว่าจังหวะนี้เป็นจังหวะสำคัญที่จะตัดสินว่าบริษัทรถยนต์อย่าง General Motors ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 20 จะอยู่หรือตาย

ถ้าข้อกล่าวหา Nikola เป็นจริง General Motors ซึ่งตกกระไดพลอยโจนมาเป็นพาร์ตเนอร์ก็คงจะพังหนักๆ เช่นกัน เพราะเป็นการเดินเกมพลาดในจังหวะหัวเลี้ยวหัวต่อพอดี…

อ้างอิง: