เพื่อนแต่งงานอีกแล้ว
เพื่อนมีลูกแล้ว
เพื่อนมีลูกอีกคนแล้ว
แต่เราอายุสามสิบกว่าแล้ว ยังไม่ได้แต่งงาน
และก็ดูไม่ใกล้เคียงจะได้แต่ง
แล้วก็ไม่พร้อมที่จะมีลูกเลยด้วย
เราแปลกไหมนะ?
สำหรับคุณสุภาพสตรีอายุ 30 ปี ที่ยังไม่แต่งงาน หรือเป็นโสดอยู่ เชื่อว่าอาจจะมีความรู้สึกกดดันกันบ้าง อาจจะไม่ใช่แรงกดดันจากตัวเอง แต่เป็นเหมือนแรงกดดันจากภายนอก ครอบครัว ผู้คน และมาตรฐานค่านิยมของสังคมที่ใครก็ไม่รู้สร้างขึ้นไว้
ดูเหมือนว่าสำหรับคุณผู้หญิง ช่วงวัย 30 อาจจะบวกลบนิดหน่อย ก็ควรเป็นวัยที่มีครอบครัว ลงหลักปักฐานได้แล้ว (ในอดีตกาลหรือบางวัฒนธรรมอาจจะอายุน้อยกว่านั้นด้วยซ้ำ)
โดยที่เพศหญิงอาจจะรู้สึกกดดันมากกว่า ถ้าไม่นับเรื่องค่านิยมของสังคม แล้วปรับโฟกัสมามองเชิงชีววิทยา ทางกายภาพของเพศหญิง พวกเธอสามารถมีลูกได้ในช่วงเวลาที่จำกัด (ช่วงเวลาที่เหมาะสมแก่การตั้งครรภ์) แต่เพศชายกลับมีช่วงเวลาที่ยาวกว่านั้นมาก ถึงแม้อายุมาก แต่อสุจิก็ยังสามารถทำงานได้อยู่ อาจจะมีประสิทธิภาพน้อยลงไปบ้างเท่านั้นเอง
สิ่งที่เราอยากจะบอกก็คือ คุณผู้หญิงและคุณผู้ชายทุกท่าน อาจไม่ต้องกังวลกันไป เพราะวันนี้ เราจะมาพาทุกท่านมาทำความรู้จัก ‘waithood’ ปรากฏการณ์ที่คนรุ่นใหม่ แต่งงาน มีลูก หรือเป็นผู้ใหญ่ช้าลง ซึ่งกำลังเกิดขึ้นทั่วโลก แน่นอน คุณไม่ได้แปลกแยก เพราะคลื่นลูกใหม่ของการใช้ชีวิตมีส่วนสำคัญในประเด็นนี้เช่นกัน
‘waithood’ เป็นคำที่ผสมกันระหว่างคำว่า wait ที่แปลว่า รอคอย และ hood ที่มาจาก childhood หรือ adulthood ที่แปลว่าช่วงวัยนั่นเอง
พอมารวมกันก็เกิดคำว่า waithood ที่อาจแปลเป็นไทยว่า สภาวะรอ
มีการศึกษาวิจัยพบว่า ‘คนรุ่นใหม่’ อยากทำอย่างอื่นก่อน ที่จะแต่งงานหรือมีลูก ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การท่องเที่ยว แต่กว่าจะเรียนจบปริญญาตรี จบปริญญาโท กว่าจะท่องเที่ยว มันก็ไม่แปลกอะไรที่สาวๆ จะมีอายุถึงเลขสามแล้วอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
รวมถึงโอกาสที่เปิดกว้างมากขึ้น ผู้หญิงไม่ได้จำเป็นต้องแต่งงานเพื่อพึ่งพาผู้ชาย เพื่อให้ผู้ชายคอยดูแล แต่พวกเธอมีการศึกษาที่สูงขึ้น (บางประเทศค่าเฉลี่ยระดับการศึกษาของเพศหญิงสูงกว่าผู้ชายด้วยซ้ำ) มีโอกาสในการทำงานที่ดี ‘การแต่งงาน’ ไม่ได้มีความจำเป็นหากเทียบกับแต่ก่อน
ไม่ใช่แค่เรื่องของการแต่งงาน แต่ ‘waithood’ ทำให้คนรุ่นใหม่เป็นผู้ใหญ่ตามแบบฉบับแต่ก่อนช้าลง รวมถึงเรื่องการทำงาน การย้ายออกจากบ้านพ่อแม่ การซื้อทรัพย์สินเป็นของตัวเอง
ส่วนประเด็นคนรุ่นใหม่ไม่อยากมีลูก เราจะพบเลยว่าหากเทียบรุ่นตายาย (บางท่านอาจจะเสียชีวิตไปแล้ว) จะมีลูกประมาณ 5-8 คน บางท่านอาจจะมากถึง 10 คนเลยด้วยซ้ำ ส่วนคนรุ่น Gen X (คนที่เกิดในช่วงปี 1965-1980) ก็จะมีลูกประมาณ 1-2 คน ส่วนคนรุ่นใหม่มักจะมีลูกช้า มีลูกน้อย แตกต่างจากอดีต
จากข้อมูลของ งานวิจัยเรื่อง การส่งเสริมการมีบุตรผ่านการสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ (2559) โดย ผศ.ดร.มนสิการ กาญจนะจิตรา และคณะ ภายใต้โครงการวิจัยเรื่อง ความอยู่ดีมีสุขของครอบครัวไทย ของ ผศ.ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร และคณะ แห่งสถาบันวิจัยสังคมและประชากร มหาวิทยาลัยมหิดล สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ทำให้เราพอเข้าใจว่า สาเหตุหลักที่คนรุ่นใหม่ไม่อยากมีลูกก็เพราะกลัวเสียสมดุลการใช้ชีวิต
ซึ่งพอที่จะแบ่งออกได้เป็น 4 ปัจจัย
ปัจจัยในเชิงมหาภาค
ปัจจัยด้านสังคม
ปัจจัยด้านที่ทำงาน
ปัจจัยด้านบุคคล
ปัจจัยในเชิงมหาภาค: ชายหญิง มีบทบาทเท่ากันมากขึ้น ผู้หญิงไม่ได้มีหน้าที่ในการดูแลเลี้ยงลูกเสมอไป เพราะฉะนั้นถ้าสองฝ่ายออกไปทำงาน ก็ยังไม่อยากจะมีลูก หากไม่มั่นใจว่าจะมีคนดูแลได้ดี รวมถึงนโยบายของแต่ละบริษัทที่ยังไม่ตอบโจทย์ ดังนั้นการไม่มีลูกอาจดีกว่า
ปัจจัยด้านสังคม: ค่านิยมของสังคมที่เปลี่ยนไป ไม่ได้มองว่าลูกเป็นโซ่ทองคล้องใจ ไม่ได้มองว่าเป็นที่พึ่งยามชรา ไม่ได้มองว่าเป็นสิ่งสำคัญ
ปัจจัยด้านที่ทำงาน: นโยบายของแต่ละบริษัทหรือรัฐบาลที่ยังไม่ตอบโจทย์ ไม่ยืดหยุ่นและเปิดกว้างมากพอสำหรับการมีลูก
ปัจจัยด้านบุคคล: การเลี้ยงลูกมีราคาที่แพง มีสิ่งที่ต้องจ่าย ทั้งเวลาและชีวิต ไม่สามารถไปเที่ยว ไปใช้ชีวิต หรือใช้ชีวิตที่ยังอยากใช้ได้แบบเต็มที่ คนรุ่นใหม่เลยอยากเต็มที่กับชีวิต อยากมีความมั่นคง และอยากดูคนเบื้องหลังก่อน ที่จะมีลูก
แล้วคุณล่ะครับ คิดอย่างไรกับประเด็นนี้ คิดว่าคนรุ่นใหม่ไม่อยากมีลูกจริงไหม และอยากแต่งงานกันน้อยลงจริงหรือเปล่า?
สุดท้ายนี้ การใช้ชีวิตอาจไม่มีสูตรที่ถูกต้องตายตัว การแต่งงานอาจจะไม่ใช่คำตอบของชีวิต แต่การแต่งงานกับคนที่เรารักก็คงไม่ใช่เรื่องที่ผิด การมีลูกอาจไม่ใช่ค่านิยมของคนรุ่นใหม่ แต่ก็มีหลายท่านที่อยากเติมเต็มหัวใจด้วยชีวิตดวงน้อยอยู่เหมือนกัน
เอาเป็นว่า ใช้ชีวิตในแบบที่คุณอยากใช้ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้หนำใจ อยากเรียนสูงขนาดไหนก็เรียน จะเป็นโสด จะแต่งงาน หรือจะมีลูกก็เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของชีวิตเท่านั้นครับ
ไม่ใช่ทุกอย่างอย่างที่มันเคยเป็นเสียหน่อย
อ้างอิง: ศ.ดร.มนสิการ กาญจนะจิตรา และคณะ. การส่งเสริมการมีบุตรผ่านการสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ (2559). https://bit.ly/2AfztL4
Workpoint News. 30 ยังโสดไม่แปลก นักวิชาการชี้คนทั้งโลกเป็นเหมือนกัน. https://bit.ly/2yFwtXI
BBC. Why young adults are waiting to grow up. https://bbc.in/2yLJteA